สอนเสวนา_Cover_front
ทฤษฎีการศึกษาการศึกษา

หนังสือ สอนเสวนาสู่การเรียนรู้เชิงรุก

อ่าน 776 นาที

หนังสือเล่มนี้เขียนขึ้นเพื่อชี้แนวทางจัดการเรียนรู้แบบที่เรียกว่า active learningหรือการเรียนรู้เชิงรุก โดยมีเป้าหมายเพื่อฝึกนักเรียนให้เรียนรู้จากการปฏิบัติตาม ด้วยการคิดที่เรียกว่า การใคร่ครวญสะท้อนคิด (reflection) ที่นำไปสู่การฝึกทักษะการเรียนรู้ที่นักเรียนกำกับการเรียนรู้ของตนเอง (self-directed learning) เป็น ผ่านกระบวนการ สานเสวนา (dialogue) ระหว่างนักเรียนกับครู และระหว่างนักเรียนกับเพื่อนนักเรียนด้วยกัน

เขียนโดยศาสตราจารย์ นายแพทย์ วิจารณ์ พานิช
17 ธันวาคม 2564
บทที่ 9 กรอบปฏิบัติการที่ ๕ ตั้งคำถาม (Questioning)
CP9.png

ครูพึงแยกแยะคำถามตื้นกับคำถามลึกเป็นคำถามตื้นใช้ตรวจสอบความรู้ คำถามลึกใช้ตรวจสอบความคิด การสอนแบบสานเสวนามุ่งให้เกิดการเรียนรู้ที่ทำให้ผู้เรียนคิดเป็น คือคิดลึกและเชื่อมโยงกว้างขวาง

มีผู้แนะนำวิธีจำแนกชนิดของคำถามไว้ดังนี้
  • ความกว้าง (scope) (กว้าง หรือแคบ)
  • รูปแบบ (form) (คำถามปลายเปิด หรือคำถามปลายปิด)
  • หน้าที่ (function) (ถามข้อสังเกต ความจำ หรือความคิด)

นอกจากนั้น ยังมีผู้จำแนกคำถามออกเป็น ๒ กลุ่ม (domain) คือ 
  • กลุ่มถามความรู้ (cognitive domain) ถามความจำ ถามเชิงนิรนัย (deduction) หรือตีความ วินิจฉัย แก้ปัญหา ประเมิน
  • กลุ่มถามเพื่อการจัดการ (management domain) ถามให้ทำนาย ถามความรู้สึก ถามเพื่อเรียกความสนใจ ถามเพื่อควบคุมชั้นเรียน 
หลักการสำคัญคือ ใช้คำถามหลายๆ แบบคละกัน โดยครูมีสติอยู่ตลอดเวลาว่าต้องมีคำถามที่ซับซ้อน ต้องการความคิดชั้นสูงในสัดส่วนที่สูงพอ ผมเดาว่าน่าจะมีประมาณครึ่งหนึ่งของคำถามทั้งหมด ประเด็นนี้เป็นโจทย์วิจัยในบริบทโรงเรียนไทยได้ หนังสือ สอนอย่างมือชั้นครู บทที่ ๑๕ (หน้า ๑๕๒ - ๑๖๑) แนะนำวิธีตั้งคำถามไว้อย่างดีมาก http://lic.tsu.ac.th/testpdhttp://lic.tsu.ac.th/testpdf/modules/mod_photo/fileupload/407479520.766.pdff/modules/mod_photo/fileupload/407479520.766.pdf รวมทั้งในบทที่ ๑๙ (หน้า ๑๙๔ - ๒๐๑) ยังว่าด้วยเรื่อง เรียนโดยการตั้งคำถาม (inquiry-guided learning) 
 
เนื่องจากเป็นคำถามที่ซับซ้อน จึงต้องตามมาด้วย “เวลาคิด” สัก ๑ นาที และอาจใช้เทคนิค think - pair - share เพื่อกระตุ้นให้นักเรียนร่วมมือกันในการเรียนรู้ 

หนังสือแนะนำประเด็นที่ครูพึงทำความเข้าใจคำถาม ๔ หมวด ดังต่อไปนี้
  • การจัดการคำถาม ประกอบด้วยการจัดการ ๖ แบบคือ 
- เพื่อใช้จัดการกระบวนการในชั้นเรียนที่ใช้การตั้งคำถามเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนการสอน “ใครตอบได้ว่ากติกาที่เราได้ตกลงกันไว้เรื่องการอภิปรายในชั้นเรียนเป็นอย่างไรบ้าง” 

- กำหนดคิวตอบ โดยครูใช้คำถามว่า “ใครบอกครูได้ว่า...เป็นอย่างไร” ให้นักเรียนยกมืออาสาเป็นผู้ตอบ 

- ครูกำหนดตัวผู้ตอบ “สมเกียรติ เมื่อวานเราได้ข้อสรุปว่าอย่างไร”

- ให้เวลาคิด (thinking time) สำหรับคำถามที่ต้องคิดคำตอบ ที่เขาเรียกว่า authentic question 

- กระจายการมีส่วนร่วม ให้นักเรียนทุกคนได้ตอบหรือเสนอความเห็น

- ถามเพื่อขยายความ (extension) จากคำตอบของนักเรียนไปสู่ประเด็นเชื่อมโยงที่ซับซ้อนยิ่งขึ้น หรือขยายความลึกในมิติของความรู้ 

  • ลักษณะของคำถาม
  - เพื่อสอบความรู้ หรือความจำ

  - เพื่อสอบความคิดที่เรียกว่า “คำถามที่มีคุณค่าแท้จริง” (authentic question)

  • วัตถุประสงค์ของคำถาม เพื่อเริ่มการเสวนา
  - ทบทวนบทเรียนที่ผ่านมา “เมื่อวานเราเรียนเรื่อง...ไว้ว่าอย่างไรบ้าง”

  - ชวนทบทวนข้อเท็จจริง หรือสาระความรู้ ‘ใคร…’ ‘…อะไร’ ‘…ที่ไหน’ ‘…อย่างไร’ 

  - ชวนทบทวนเหตุผล ‘ทำไม…’

  - ชวนแลกเปลี่ยนสิ่งที่สังเกตเห็น หรือข้อคิดเห็น ‘ใครเคยสังเกต...บ้าง เห็นอะไรบ้าง’ ‘นักเรียนมีความเห็นเรื่อง...อย่างไร’

  - ชวนตีความหรือสรุปประเด็นเรียนรู้ (deduction) ‘จากเหตุการณ์...นักเรียนสรุปประเด็นเรียนรู้ว่าอย่างไร’

  - ชวนสะท้อนคิด หรือทำนาย ‘นักเรียนคิดว่าอะไรจะเกิดขึ้นถ้า...’ ‘ทำไมนักเรียนจึงคิดว่า...’ 

  - ชวนสะท้อนความรู้สึก ‘ในเรื่อง...ถ้านักเรียนเป็น...นักเรียนจะรู้สึกอย่างไร’


  • เพื่อตรวจสอบความคิด เหตุผล หรือข้อมูลหลักฐาน
  - ตรวจสอบความคิดที่อยู่เบื้องหลังพฤติกรรม ‘นักเรียนคิดอย่างไร จึงพร้อมใจกันทำ...’

  - ทำให้ความคิดที่อยู่เบื้องหลังคำตอบของนักเรียนมีความชัดเจน ‘เธออธิบายได้ไหมว่า คิดอย่างไรจึงตอบอย่างนั้น’ ‘ช่วยอธิบายว่าเธอหมายความว่าอย่างไร’

  - ให้นักเรียนประเมิน หรือตัดสิน ‘ตามในเรื่อง... นักเรียนคิดว่า... ทำถูกต้องตามหลักศีลธรรมหรือไม่ ขอให้ชี้แจงเหตุผล’

  • เพื่อขยายความ
  - ขยายความต่อเนื่องจากการเสวนาช่วงก่อน ‘ขอให้ยกตัวอย่างอีกตัวอย่างหนึ่งได้ไหม’ ‘ที่...อธิบายเรื่อง...นั้น ใครมีคำอธิบายแบบอื่นบ้าง’

  - เชื่อมโยงสู่ข้อสรุปที่ชัดเจนขึ้น ‘ใครเห็นด้วยกับ...ยกมือขึ้น’ ‘ใครจะอาสาสรุปประเด็นเรียนรู้เรื่อง...ไหม’

  • โครงสร้างของคำถาม
  - คำถามปลายเปิด ไม่เน้นคำตอบถูกผิด เพื่อกระตุ้นความคิดที่หลากหลาย

  - คำถามปลายปิด เน้นถามความจำ ทฤษฎี สูตร หรือเหตุการณ์

  - คำถามนำ ‘...ใช่หรือไม่’ เป็นคำถามเพื่อทวนความจำ

  - คำถามที่กระชับ หรือแคบ ถามจำเพาะประเด็น ต้องการคำตอบที่จำเพาะ 

  - คำถามเชื่อมสู่ประเด็นอื่น อาจเป็นชุดคำถามต่อเนื่องกัน เพื่อให้นักเรียนอธิบาย เป็นคำถามเพื่อขยายความคิด 

คำถามเพื่อตรวจสอบความคิด และคำถามเพื่อขยายความ เป็นเครื่องมือทำให้ IRE/ IRF ไม่หยุดอยู่ที่คำตอบ มีการเสวนาต่อเนื่อง ทำให้เกิดการเรียนรู้ระดับลึกและเชื่อมโยง 
 
เรื่องการใช้คำถามเพื่อการเรียนรู้ในชั้นเรียนนี้ ครูพึงระมัดระวังเรื่องการเมืองในชั้นเรียน ทั้งที่นักเรียนเป็นตัวการ และที่ครูเป็นตัวการ นักเรียนบางคนอาจต้องการอวดเก่ง (โชว์สาว?) ต้องการเกทับเพื่อน ครูอาจมีอคติรักนักเรียนบางคนเป็นพิเศษ หรือไม่ชอบหน้านักเรียนบางคน ครูต้องระมัดระวังอย่าให้ปัจจัยเหล่านี้เป็นต้นเหตุของการจัดการชั้นเรียนที่มีอคติ มีการใช้กระบวนการถามตอบเพื่อยกย่องนักเรียนบางคน หรือกลั่นแกล้งนักเรียนบางคน เขาแนะนำว่า หากครูรู้ว่าคำถามนั้นนักเรียนคนใดตอบไม่ได้ ก็ไม่ควรชี้ให้ตอบ เพราะจะเป็นการเสียเวลาเปล่าๆ แต่ก็มีวิธีแก้ด้วย ‘สิทธิในการเงียบ’ คือนักเรียนตอบไม่ได้ก็ยอมรับว่าตอบไม่ได้ ไม่มีการลงโทษใดๆ ไม่ว่าทางวาจา กิริยา หรืออื่นๆ 

ปฏิสัมพันธ์ในชั้นเรียนผ่านคำถามคำตอบและการคิดนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ครูเรียนรู้จากสถานการณ์จริง (ใน PLC) ได้ไม่รู้จบ โดยหนังสือให้ข้อแนะนำภาคปฏิบัติแก่ครู ๔ ข้อดังต่อไปนี้ 
  • ครูถามนักเรียนสองสามคน ให้พูดสิ่งที่ตนคิด เพื่อนๆ ในชั้นตั้งใจฟัง การเรียนรู้เกิดขึ้นทั้งในผู้พูดและผู้ฟัง
  • ครูควรให้นักเรียนสองสามคนได้เสวนาแลกเปลี่ยนยาวๆ ดีกว่าเสวนาสั้นๆ กับนักเรียนทุกคนอย่างทั่วถึง
  • การใช้หลักการให้โอกาสนักเรียนได้พูดทุกคน ไม่ควรใช้กับเวลาเพียง ๑ คาบ แต่ควรใช้กับเวลาในช่วงที่ยาวกว่านั้น เช่น ๑ วัน หรือ ๑ สัปดาห์
  • เน้นกติกา เมื่อมีคนพูด ทุกคนฟังและคิดตามไปด้วย เพราะการเรียนรู้เกิดขึ้นทั้งในคนพูดและในคนฟัง
  •  
เรื่องเล่าจากห้องเรียน

หลังจากที่ได้อ่านบันทึกชุด สอนเสวนาสู่การเรียนรู้เชิงรุก คุณครูกลอย - เกศรัตน์ มาศรี ครูผู้สอนหน่วยบูรณาการสู่ชีวิต ระดับชั้นประถมปีที่ ๖ โรงเรียนรุ่งอรุณ ได้นำทฤษฎี “การตั้งคำถาม” และหัวข้อ “วัตถุประสงค์ของคำถาม” ไปปรับใช้ในชั้นเรียนหน่วยบูรณาการสู่ชีวิต “ภูมิธรรม ภูมิไทย ในรามเกียรติ์” ในช่วงการแลกเปลี่ยนการสร้างสื่อวิดีโออิทธิพลของรามเกียรติ์ โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาผู้เรียนสู่สมรรถนะ “การคิดด้วยระบบคุณค่า และสื่อสารด้วยภาษาอย่างฉลาดรู้” เพื่อนำไปสู่ความเข้าใจความหมายของสิ่งต่างๆ ทั้งคำพูด การกระทำ ภาพ เสียง ตัวเลข สัญลักษณ์ โดยเชื่อมโยงความหมายกับตนเองได้ จากนั้นได้เขียนบันทึกเรื่องเล่าจากห้องเรียน โดยได้หยิบยกตัวอย่างการเรียนรู้ในชั้นประถมปีที่ ๖/๒ ภาคเรียนที่ ๑ ช่วง Learn From Home ผ่านโปรแกรม Google Meet และ Google Classroom มาแบ่งปัน ดังนี้

กระบวนการในคาบเรียนคือ การแลกเปลี่ยนการทำสื่อวิดีโอเล่าเรื่องอิทธิพลของรามเกียรติ์ที่ปรากฏอยู่ในสังคมไทย เพื่อให้นักเรียนได้ร่วมกันสังเกต แสดงความคิดเห็น แลกเปลี่ยนขั้นตอน และองค์ประกอบในการนำเสนอวิดีโอคลิปที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของงาน โดยลำดับแรกครูทบทวนเป้าหมายของการจัดทำวิดีโอเล่าเรื่องอิทธิพลของรามเกียรติ์ในสังคมไทยในประเด็นที่สนใจ ลำดับที่สองครูเปิดคลิปตัวอย่างของนักเรียนที่มีองค์ประกอบ และการวางลำดับที่ค่อนข้างสมบูรณ์มาเป็นสื่อให้นักเรียนในกลุ่มร่วมกันสังเกต วิเคราะห์จุดเด่นของคลิปร่วมกัน ลำดับที่สามครูตั้งคำถาม เพื่อสังเกต แสดงความคิดเห็นจุดเด่นและองค์ประกอบที่มีในคลิปของเพื่อน ลำดับต่อมานักเรียนที่เป็นเจ้าของตัวอย่างคลิปอิทธิพลของรามเกียรติ์ได้แลกเปลี่ยนขั้นตอนการทำงาน และเปิดโอกาสให้เพื่อนได้ซักถามสิ่งที่สงสัยร่วมกัน และลำดับสุดท้ายนักเรียนร่วมกันสรุปประเด็นที่ควรมีในคลิปก่อนกลับไปพัฒนางานของตนเอง เมื่อเสร็จสิ้นนักเรียนส่งคลิปวิดีโอทางโปรแกรม Google Classroom และครูช่วยอัปโหลดลงช่อง Youtube : Prathom 6 Roong-Aroon 

จากการรับชมวิดีโออิทธิพลของรามเกียรติ์ที่ปรากฏอยู่ในสังคมไทยหลังการเสวนาในชั้นเรียนแล้ว สะท้อนให้เห็นว่าในกระบวนการที่หยิบยกทฤษฎีการตั้งคำถามชวนแลกเปลี่ยนสิ่งที่สังเกตเห็น หรือข้อคิดเห็น มาใช้เป็นเครื่องมือในการเสวนา
แบบกัลยาณมิตรที่เอื้อให้นักเรียนเกิดแรงบันดาลใจในการปรับแก้ไขงาน ฝึกฝนการสังเกต วิเคราะห์สิ่งที่สังเกตอย่างละเอียด ทั้งภาพ ภาษา เสียงและสัญลักษณ์ต่างๆ รวมถึงได้เห็นแนวทางการพัฒนางานของตนเองด้วย ดังบทสนทนาต่อไปนี้

บทที่_๙.๑.png
ครูกลอย : สวัสดีค่ะ ครูก็เห็นว่าวิดีโอเราที่ทำออกมาน่าจะเผยแพร่ ให้เพื่อนห้องอื่น รวมถึงน้องๆ ที่เขาต้องกักตัวอยู่ที่บ้าน เขาอายุน้อยๆ เหมือนเรา แล้วก็ติดโควิด เขาต้องกักตัวที่โรงพยาบาล แล้วโรงเรียนรุ่งอรุณถือว่าเป็นศูนย์การเรียนรู้หนึ่งที่ประสานงานกับฝ่ายราชการที่จะส่งสื่อห้องเรา ป. ๖/๒ คุณครูก็ไปดูงานของคนที่ส่งมา มีประมาณ ๒ คนที่ยังไม่ได้ส่งมีทั้งคนที่แก้มาแล้วกับคนที่ยังไม่ได้แก้ 

เด็กๆ ลองดูว่าลองทายใจครูกลอยดู ทำไมถึงเลือกของน้ำตาลมาเป็นตัวอย่างในกลุ่มนี้

บทที่_๙.๒.jpg

  บทที่_๙.๓.png

เฟเฟ่ : เพราะมันครบทุกประเด็นเลยหรือเปล่าคะ เพราะมีทั้งหัวข้อ ข้อมูลอะไรต่างๆ

เพลิน : คือของน้ำตาลจะมีเพลงที่หลากหลาย แล้วก็ตอนสุดท้ายมีเหมือนสรุปอะไรให้ฟังนะคะ

ครูกลอย : มีหัวข้อที่ครบนะที่คุณครูให้โจทย์ย่อยไป แล้วก็มีภาพด้วย นอกจากมี ที่หลากหลายความหมายว่ามาจากไหน ส่วนท้ายยังไปขยายอีกว่ามาจากเหตุการณ์ไหน ลองดูจุดเด่นของวิดีโอนี้นะคะ ตอนแรกเราบอกว่ามีข้อมูลที่ครบถ้วน ลองอย่างอื่นที่ไม่ใช่ข้อมูลอย่างเดียวแล้วคิดว่าน้ำตาลในคลิปนั้นมีจุดเด่นอะไรบ้าง อันนี้ให้แต่ละคนต้องพูดเลยค่ะ 

หมอนอิง : น่าสนใจค่ะ

ครูกลอย : ตรงไหนที่รู้สึกว่าน่าสนใจคะ

หมอนอิง : ก็การตัดต่อของน้ำตาลดูแล้วไม่น่าเบื่อค่ะ มีเพลง แล้วก็ชื่อเพลง

เฟเฟ่ : หนูว่าน้ำตาลที่ทำให้มันไม่น่าเบื่อเพราะว่าน้ำตาลใช้แอปพลิเคชันตัดต่อแล้วก็เพิ่มเอฟเฟกต์แล้วก็พวกสติกเกอร์ หรือว่าภาพอะไรพวกนี้ให้มันดูแบบน่าสนใจค่ะ

ครูกลอย : เพิ่มลูกเล่นใช่ไหม มีการตัดต่อวิดีโอ คราวนี้เป็นการคาดเดาเราก็วิเคราะห์ คราวนี้เรามาสัมภาษณ์น้ำตาล ถือว่าเป็นตัวแทนของกลุ่มนี้ ครูกลอยก็เห็นว่ามีหลายคนน่ะสิก็ค่อนข้างดีมากๆ เลย คนที่ทำมาแล้วก็ไปปรับไปแล้ว 
แต่เวลาเราอาจจะมีน้อย ฉะนั้นวันนี้ขอให้น้ำตาลช่วยแลกเปลี่ยน น้ำตาลลองวิเคราะห์หน่อยว่าทำไมครูกลอยถึงเลือกน้ำตาล น้ำตาลมีจุดเด่นไหน

น้ำตาล : หนูคิดว่าเพราะว่าบอกว่าหนูใส่พวกกับตัวการ์ตูนหรือว่าลูกเล่นในการตัดต่อแล้วก็ใส่เครดิตของภาพค่ะ แต่ว่าจริงๆ ตอนแรกหนูไม่ได้ใส่เครดิตแล้วครูกลอยก็ให้หนูมาปรับแก้ แล้วก็เหมือนเพิ่มหน้าตัวเองเข้าไปในตอนแรกค่ะ แล้วก็เรื่องเนื้อหาในตอนหลังที่หนูวิเคราะห์ตัวความหมายแล้วก็แรงบันดาลใจค่ะ จริงๆ หนูจะเอาอีกเพลงนึง แต่ว่าเพลงนี้ค่ะ ตามที่เขาเขียนมาของเพลงเขามีเขียนแรงบันดาลใจมาให้อยู่แล้ว แล้วหนูก็เลยมาวิเคราะห์ความหมายต่อเอาเองนะคะ

ครูกลอย : ดีค่ะน้ำตาลก็ไม่ได้เอามาหมดเลยเนอะ เราก็มีการวิเคราะห์แล้วก็เป็นความรู้ของตัวเองด้วย น้ำตาลก็เพิ่มเติมเครดิต เพราะบางคนเกือบผ่านก็ไม่ได้ใส่เครดิตให้ แล้วก็บางคนน่ะดีแล้ว แต่ขาดที่มาของเรื่อง เช่น บางคนเลือกขนมกระเช้าสีดามา แต่ว่าไม่บอกเลยว่า กระเช้าสีดามาจากตอนไหนของเรื่องรามเกียรติ์ ครูกลอยก็เลยคอมเมนต์ไปว่าเป็นเพิ่มเติมหน่อยนะ เพราะบางคนอาจมีแต่กระเช้าสีดา มันกลายเป็นว่าเป็นวิธีการทำขนม แต่เป้าหมายของเราคือต้องการให้เห็นว่าอิทธิพลของรามเกียรติ์ เราเรียนเรื่องรามเกียรติ์ตรงนี้ ถ้าหลายคนอยู่รุ่งอรุณมาแล้ว จะรู้ว่าเราเรียนรู้บูรณาการ และไม่ใช่ภาษาไทยอย่างเดียว แต่เราต้องเห็นว่าภาษาไทยมันเชื่อมโยงกับสังคมกับวิถีชีวิตคนนะคะ นี่ก็คือเป้าหมายที่เราทำเนาะ ทีนี้ให้น้ำตาลเล่าให้เพื่อนฟังว่ามีวิธีการทำงานในการตัดต่อวิดีโอเริ่มจากอะไรบ้าง

ครูกลอย : ก่อนที่น้ำตาลจะเริ่มทำวิดีโอ มีวิธีการทำงานอย่างไรบ้างคะ 

น้ำตาล : ของหนูเริ่มจากการค้นหาข้อมูล แบบว่าเราก็หาเพลงเปิดเว็บเกี่ยวกับว่าค้นหาเพลง ที่มีความหมายเกี่ยวกับรามเกียรติ์ และหลังจากนั้นหนูก็ไปเปิดเพลงนั้นใช้โทรศัพท์ แล้วก็แคปหน้าจอ เอาหน้าปกของคลิปเขามา เพราะว่าเราจะได้ไม่ต้องใส่เครดิตเขา บอกว่ามีเครดิตช่องในยูทูบแล้ว บอกว่าทุกอย่างเลย หลังจากนั้นหนูก็เริ่มตัดต่อคลิปเอาฉากดำเข้ามา แล้วก็ทำอินโทร หลังจากนั้นก็อัดเอาภาพใส่ให้หมด แล้วก็เริ่มอัดเสียงนะคะ แล้วก็ใส่ข้อความ ใส่ลูกเล่นแล้วก็ใส่เพลงค่ะ หลังจากนั้นก็รายละเอียดนะคะ

ครูกลอย : จุดเด่นของคลิปวิดีโอตัวอย่างของเพื่อนทั้งสองคน ทั้งของน้ำตาลและของกรคืออะไร ลองแลกเปลี่ยนเลยค่ะ ครูกลอยจะช่วยพิมพ์ น้ำตาลช่วยพูดก็ได้นะคะ

บทที่_๙.๔.png

น้ำตาล : ก็คือหนูคิดว่าของกรนะคะ เขาจะโดดเด่นเรื่องเสียงดังเสียงเบา และการใส่ พวกภาพนะคะ เป็นแบบภาพหลากหลาย แม้จะเป็นแค่กระเช้าสีดาอย่างเดียว แต่ว่าแบบใส่ภาพหลากหลายจากหลายๆ ที่ค่ะ

ครูกลอย : น้ำตาลพูดถึงการใช้เสียงหนักเบาเนอะ

น้ำตาล : เพราะหนูคิดว่าแบบว่าเรื่องนี้ การใช้เสียงค่ะ มันจะทำให้เราจะรู้ได้ว่าคนจะดูคลิปเราหรือเปล่า เพราะว่าถ้าเสียงเบาและเสียงดังอย่างเดียวมันจะน่าเบื่อ

ครูกลอย : ทำให้น่าสนใจ เคยดูการพากย์การ์ตูนหรือพากย์หนังไหม

น้ำตาล : เคยค่ะ

เพลิน : คือมันจะเหมือนแบบขึ้นลงๆ ทำให้เหมือนแบบรู้สึกตื่นเต้นแล้วก็ทำให้ฟังไปด้วย มันก็ไม่น่าเบื่อเพราะว่ามันเป็นเทคนิคต่างๆ ที่เขาใช้ในการนำเสนอค่ะ

ครูกลอย : บางคนใช้เสียงอย่างเดียวเลยไม่พิมพ์เลย เกิดอะไรขึ้น

น้ำตาล : ก็คือบางทีถ้าสมมติเราอธิบายไม่ดี เขาจะไม่เข้าใจเรื่องประเด็นหลักที่เราจะพูด เราก็เลยต้องใส่ข้อความลงไป ตอนแรกหนูไม่ได้ใส่ข้อความค่ะ

เพลิน : ที่ใส่ข้อความ เพราะว่าบางคนที่เขาแบบอาจจะฟังไม่ทันนะคะ เขาก็จะได้อ่านด้วย และการที่เราพูดไปด้วย ถ้าสมมติว่าเขาอ่านไม่ทัน ก็อาจจะฟังว่ามันเป็นยังไงค่ะ

ครูกลอย : เยี่ยมมากเลย

น้ำตาล : หลายคนนะคะจะติดขัดเรื่องการพูด จำบทไม่ได้ ก็คิดว่าการพากย์เป็นอะไรที่ดี เพราะว่าเราจะเว้นวรรคได้ สมมติว่าถ้าเราพูดเท่านี้จบ เราก็หยุดอัดเสียง แล้วก็ขยับมานิดนึงเป็นการเว้นวรรคให้มันมีลูกเล่นอย่างนี้ค่ะ แล้วก็ทำให้เหมือนไม่ติดขัดเรื่องการจำบท แต่จำแค่บางประโยคแล้วมาพูดต่อให้มีการเว้นวรรคบ้าง

เพลิน : หรือว่าเราอาจจะดูไปพากย์ไปก็ได้

ครูกลอย : ข้อความส่วนไหนที่ควรใส่บ้าง

น้ำตาล : หัวข้อที่เราพูด เรื่องอิทธิพลรามเกียรติ์นะคะ หนูก็ใส่ แล้วก็พูดหัวข้อย่อย เรื่องหนูเลือกเพลง หนูก็จะเขียนไปว่าเราเลือกการทำเพลง การนำตัวละครออกมาเกี่ยวข้อง

เพลิน : นอกจากเขียนหัวข้อขยายประเด็นหลัก หรือว่าสิ่งที่เราพูดหลักๆ หรือว่า สิ่งที่เราพูดหลักๆ ตอนนั้นนะคะ

เฟเฟ่ :หนูคิดว่ามันแล้วแต่ค่ะ บางครั้งที่เราจะนำเสนอเราอาจจะมีประเด็นที่น่าสนใจเราก็ใส่ข้อความที่น่าสนใจไปก็ได้ หรือว่าถ้าเกิดบางครั้งไม่ใช่ประเด็นหลักอะไรอย่างนี้นะคะ ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องใส่ก็ได้ค่ะ

ครูกลอย : แล้วคนอื่นๆ ล่ะคะ มิสา ในช่วงท้ายของมิสาใส่อะไรเอ่ย

มิสา : ใส่ข้อมูลว่ามาจากไหนค่ะ

ครูกลอย : ใส่ข้อมูลนะ ที่มาที่เราจะอธิบายไปแล้วว่าช่วงท้ายหรือมีช่วงที่กำลังพูดเลยก็ได้ ส่วนหนึ่งที่น้ำตาลแลกเปลี่ยนไปว่าครูให้ไปเพิ่มเติม เนื้อหาตอนนี้น้ำตาลช่วยขยายหน่อยค่ะ เนื้อหาควรเป็นยังไงบ้าง (ใน) หัวข้อย่อย

น้ำตาล : ก็คือเหมือนจะมีที่มา สำหรับคนอื่นที่ทำเรื่องขนมหวาน ส่วนใหญ่ที่ทำสํานวนไทยก็ที่มาว่ามาจากตัวไหนในรามเกียรติ์ หรือว่าตัวละครอะไรในรามเกียรติ์ แล้วก็เหตุผลที่เขาตั้งชื่อนั้น แล้วก็ขยายว่าแบบว่าทำไมเขาถึงตั้งชื่อนี้ เช่น ถ้าเป็นขนม เพราะว่าเหมือนอะไร ในตอนไหนนะคะ

ครูกลอย : น่าจะเหตุการณ์ใดในเรื่อง เพราะว่าถ้าเราเล่าเฉพาะเนื้อหาที่เราเลือกมาเลยมันจะไม่เห็นความเชื่อมโยงของอิทธิพลของรามเกียรติ์ ฉะนั้นเพิ่มเหตุการณ์เข้าไปนิดหนึ่ง ซึ่งหลายคน (ทำ) ช่วงเกริ่นดีแล้วว่ามีอะไรบ้าง ยกตัวอย่างแล้วค่อยไปเจาะเฉพาะเรื่องนั้นชัดๆ ใครมีคำถามอะไรไหมคะ ถ้าไม่มีเดี๋ยวจะให้แยกย้ายไปแก้ไขงาน งั้นกลุ่มนี้เชิญออกได้เลยค่ะ
บท9.png
เรื่องการใช้คำถามเพื่อการเรียนรู้ในชั้นเรียน หากครูตั้งคำถามอย่างเป็นลำดับ มีคำถามย่อยเพื่อขยายคำตอบจะเป็นการช่วยให้ผู้เรียนได้คิดระดับลึก แต่บางครั้งครูต้องพึงระวังว่า หากครูตั้งคำถามด้วยภาษาที่นักเรียนยังไม่รู้จักความหมาย นักเรียนบางคนอาจไม่สามารถระบุคำตอบออกมาได้ทันที นอกจากนี้ ครูยังต้องให้เวลาเพื่อให้นักเรียนได้คิดใคร่ครวญก่อนตอบ ไม่ด่วนรับคำตอบ หรือตั้งคำถามขยายความเข้าใจ ทั้งนี้ บางคำถามที่ระบุในแผนการสอนสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์ในห้องเรียน หากในกรณีที่นักเรียนไม่สามารถตอบคำถามได้จริงๆ นักเรียนมีสิทธิตอบว่า “ไม่รู้” คือนักเรียนตอบไม่ได้ ครูก็ต้องยอมรับว่าตอบไม่ได้ 

นอกจากนี้ นักเรียนยังมี “สิทธิในการเงียบ” โดยไม่มีการลงโทษใดๆ ไม่ว่าทางวาจา กิริยา หรืออื่นๆ แต่นั่นไม่ใช่ปลายทางที่ครูจะยินยอมต่อการตอบว่า “ไม่รู้” ของนักเรียนผู้นั้น ครูต้องมีวิธีเปลี่ยนความไม่รู้เป็นความรู้ร่วมกันโดยตั้งคำถามให้เพื่อนร่วมเสวนาช่วยกันหาคำถาม แม้จะไม่ใช่คำตอบในใจของนักเรียนผู้นั้น แต่ครูต้องแสดงเจตจำนงว่าไม่มีคำตอบถูกผิดในการแสดงความคิด รวมถึงเป็นการขยายความคิดให้ผู้ร่วมเสวนาได้หยิบยกประเด็นที่ไม่รู้มาหาคำตอบร่วมกัน 

หากท่านใดได้อ่านบทสนทนาชั้นเรียนของครูกลอยในคาบนี้แล้ว อาจจะตั้งข้อสังเกตว่า ชั้นเรียนนี้มีกี่คน ทำไมนักเรียนเสวนากันอยู่ไม่กี่คน การสอนแบบเสวนาที่ดีต้องให้เด็กได้แสดงความคิดเห็นทุกคนหรือไม่ นักเรียนที่ไม่ค่อยได้แสดงความคิดเห็นจะเกิดการเรียนรู้ในคาบนี้หรือไม่ และมีวิธีการตรวจสอบนักเรียนรายบุคคลอย่างไร 

ข้อความบางตอนในบันทึกชุด สอนเสวนาสู่การเรียนรู้เชิงรุก ๙ กรอบปฏิบัติการที่ ๕ ตั้งคำถาม ได้กล่าวถึงการที่ “ครูถามนักเรียนสองสามคน ให้พูดสิ่งที่ตนคิด เพื่อนๆ ในชั้นตั้งใจฟัง การเรียนรู้เกิดขึ้นทั้งในผู้พูดและผู้ฟัง” และ “ครูควรให้นักเรียนสองสามคนได้เสวนาแลกเปลี่ยนยาวๆ ดีกว่าเสวนาสั้นๆ กับนักเรียนทุกคนอย่างทั่วถึง” ได้กลายมาเป็นกุญแจสำคัญของจุดตั้งต้นในการจัดกระบวนการเสวนาในชั้นเรียนที่ทำให้เกิดประสิทธิภาพ ดังนั้น ในชั้นเรียนนี้จึงปรากฏภาพของนักเรียน ๓ - ๔ คน มาเสวนาแลกเปลี่ยนกันยาวๆ มีประเด็นต่อยอดอย่างมีประโยชน์ต่อเพื่อนร่วมชั้น ซึ่งเห็นได้จากการแสดงความคิดเห็นที่ตอบคำถามจากคำตอบของเพื่อน งานเขียนสรุปลำดับการสื่อสารรูปแบบวิดีโอ และวิดีโอเล่าเรื่องอิทธิพลของรามเกียรติ์ในสังคมที่นักเรียนได้นำข้อคิดเห็นจากการแลกเปลี่ยนไปพัฒนาจนสมบูรณ์ขึ้น รวมไปถึงการใช้ “คำถามเพื่อตรวจสอบความคิด และคำถามเพื่อขยายความเป็นเครื่องมือที่ไม่หยุดที่คำตอบ การเสวนาต่อเนื่อง ทำให้เกิดการเรียนรู้ระดับลึกและเชื่อมโยง หลักการสำคัญคือ ใช้คำถามหลายๆ แบบคละกัน โดยครูมีสติอยู่ตลอดเวลาว่าต้องมีคำถามที่ซับซ้อน ต้องการความคิดชั้นสูงในสัดส่วนที่สูงพอ อาจใช้เทคนิค think – pair – share เพื่อกระตุ้นให้นักเรียนร่วมมือกันในการเรียนรู้” อีกด้วย

สิ่งสำคัญที่สุดในวันนี้ที่ครูกลอยได้มอบให้กับนักเรียนซึ่งจะมีประโยชน์ไปจนชั่วชีวิต ด้วยการทำให้พวกเขามีความมุ่งมั่นต่อการทำงานให้มีคุณภาพสูง ที่เริ่มจากการที่ครูพาตั้งเป้าหมายสูง แล้วนำพาให้นักเรียนทุกคนได้รู้จักวิธีการบรรลุเป้าหมายนั้นด้วยตนเอง จากการเรียนรู้วิธีการทำงานของเพื่อนบางคนที่เดินทางไปถึงเป้าหมายนั้นมาก่อนแล้ว ด้วยการใช้คำถามตรวจสอบวิธีการไปถึงผลลัพธ์ที่ต้องการนั่นเอง

๙.๑_ภูมิธรรมภูมิไทย1.png
ภูมิธรรม ภูมิไทย ในรามเกียรติ์ คุณครูกลอย – เกศรัตน์ มาศรี

บท9.png

เรื่องเล่าจากห้องเรียน

ภาคเรียนที่ ๑ คุณครูแบงก์ - ภิญโญ เสาร์วันดี ครูผู้สอนหน่วยสตูดิโอสื่อสร้างสรรค์และผลิตภัณฑ์เพื่อสังคม ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๔ - ๕ โรงเรียนรุ่งอรุณ ได้วางแผนการเรียนรู้ภายใต้หน่วยการเรียนรู้ “Creative Platform: Niche for COVID-19” ที่มีเป้าหมายการเรียนรู้คือ รับรู้และเข้าใจสถานการณ์เศรษฐกิจในช่วงการระบาดของโรคโควิด ๑๙ ว่าส่งผลต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่ผู้ค้าขายในปัจจุบันเป็นอย่างมาก อันเกิดจากระบบการค้าและการตลาดแบบดั้งเดิม หรือแม้กระทั่งการตลาดแบบใหม่ที่ปรับต่อสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด ๑๙ ได้ยาก มีจุดติดขัดเกิดขึ้น นักเรียนสามารถร่วมคิดออกแบบและสร้างแพลตฟอร์มที่สามารถช่วยเหลือชุมชนเหล่านั้น ให้สามารถทำมาหากินได้มากขึ้น 

การเรียนรู้ในสตูดิโอสื่อสร้างสรรค์และผลิตภัณฑ์เพื่อสังคมของภาคเรียนนี้ เริ่มต้นด้วยการเรียนออนไลน์มาจนถึงปัจจุบัน (เดือนสิงหาคม ๒๕๖๔) อันเนื่องมาจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด ๑๙ ที่มีความรุนแรงมากขึ้น ทำให้การจัดการเรียน การสอนและการเรียนรู้ของนักเรียนลดประสิทธิภาพ ไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่ได้วางไว้ตั้งแต่แรก ไม่ว่าจะเป็นการเข้าใจปัญหาจากการลงมือทำงาน การทำงานร่วมกันเป็นทีม การทำงานเพื่อพัฒนาทักษะของนักเรียนแต่ละคน แต่ครูแบงก์ก็ได้พยายามที่จะให้นักเรียนได้เข้าใจปัญหาของสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด ๑๙ โดยเฉพาะสถานการณ์การทำธุรกิจของผู้ประกอบการว่าเกิดอะไรขึ้นกับพวกเขาบ้าง ผ่านการพูดคุย ทำงาน และประสานงานกับผู้ประกอบการ เพื่อสร้างภาพของเรื่องราว เหตุและผลกระทบ หรือแม้กระทั่งแนวทางในการแก้ปัญหาของกลุ่มคนเหล่านั้น รวมทั้งนักเรียนมีส่วนในการร่วมช่วยเหลือหรือบรรเทาปัญหานั้นได้อย่างไร

การเรียนการสอนที่จะยกตัวอย่างต่อไปนี้ อยู่ในช่วงระหว่างการทำโครงงานที่นักเรียนแต่ละกลุ่มได้เลือกกลุ่มผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด ๑๙ โดยกำลังเข้าสู่กระบวนการรวบรวมข้อมูลและวิเคราะห์ปัญหา จนนำไปสู่การหาแนวทางในการร่วมช่วยเหลือหรือบรรเทาปัญหานั้น ซึ่งนักเรียนได้ใช้วิธีการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) ในการทำงาน และกระบวนการทั้งหมดอยู่ภายใต้แนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) ในเป้าหมายที่ ๘ คือการส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่อเนื่อง ครอบคลุม และยั่งยืน การจ้างงานเต็มที่ มีผลิตภาพ และการมีงานที่เหมาะสมสำหรับทุกคน และในคาบนี้จะเป็นการนำเสนอความคืบหน้าของการทำโครงงาน และตรวจสอบความเข้าใจในการทำงานของกลุ่มนักเรียน กลุ่มที่เลือกศึกษาผู้ประกอบการ “คุณปรีดา - ร้านวัตถุดิบอาหารทะเล” ที่กลุ่มนี้มีสมาชิกประกอบด้วย อัญ เอย กุงซุ้ง และอิน ซึ่งครูแบงก์จะใช้การถามเพื่อเริ่มการเสวนา เพื่อขยายความ และเพื่อตรวจสอบความคิด เหตุผล หรือข้อมูลหลักฐาน 

ครูแบงก์ : มา... ถึงเวลาแล้วครับ เปิดกล้องเลยทุกคน ก่อนอื่นอยากให้อัปเดตนะครับว่าแผนสัปดาห์นี้เราจะทำอะไรกันบ้างในแต่ละกลุ่มย่อยนะครับ เริ่มกลุ่มไหนก่อนก็ได้เลย เชิญ เอาเป็นกลุ่มอัญ (กลุ่มวัตถุดิบอาหารทะเล) ขึ้นมาก่อนก็ได้ครับ... มา กลุ่มอัญขึ้นมาก่อนเลย เชิญอัปเดตก่อน

อัญ : รู้สึกว่ากลุ่มอัญต้องหาข้อมูลเพิ่มเติมเยอะมาก เพราะว่ามันเป็นเรื่องซีพี (เจริญโภคภัณฑ์) ใช่ไหมคะ

ครูแบงก์ : ขอย้อนหน่อยว่าอาทิตย์ที่แล้วเราทำอะไรเสร็จ แล้วเราต้องทำอะไรต่อ ติดขัดอะไร

บทที่_๙.๕.png
อัญ :ตอนแรกกลุ่มอัญจะทำเรื่องซีพี เลยไปถามจากพี่ปรีดา (ผู้ประกอบการที่นักเรียนเลือก) แต่ว่าเขาไม่ได้ตอบละเอียดอะไรขนาดนั้น เหมือนว่าเขาพบปัญหาก็จริง แต่ไม่ได้รู้สึกว่าเป็นปัญหาสำหรับเขาขนาดนั้น ลักษณะการตอบของเขาเลยตอบแบบกว้างๆ พวกเราเลยคิดว่าเราจะไปค้นจากกูเกิล เพื่อลองศึกษาเกี่ยวกับซีพีเองเลย พอไปเสิร์ชมาก็พบว่ามีคนทำ SWOT (หลักการการวิเคราะห์ทางการตลาดเพื่อวางแผนการทำธุรกิจ ประกอบด้วย Strengths (จุดแข็ง)/ Weaknesses (จุดอ่อน)/ Opportunities (โอกาส)/ Threats (อุปสรรค)) อยู่แล้วหลายแหล่ง ก็เลยคิดว่าสามารถเอาข้อมูล มาต่อยอดได้ ตอนนี้ก็กำลังค่อยๆ อ่านข้อมูลแล้วมาเขียนสรุปให้มันตรงกับหัวข้อของเรา เรื่องกระทบต่อผู้ค้ารายย่อยอย่างไร

ครูแบงก์ : จริงๆ ในกลุ่มใหญ่กลุ่มนี้ มี ๓ กลุ่มย่อย ซึ่งมีกลุ่มที่ได้เครื่องมือ SWOT ไปแล้ว ๒ กลุ่มย่อย ยังเหลืออีก ๑ กลุ่มย่อย ที่ยังไม่ได้เครื่องมือนี้ไปใช้ ทีนี้ขอย้อนกลับมาถามที่กลุ่มอัญอีกทีว่า ใครก็ได้ในกลุ่มนี้ ทั้งเอย อัญ กุงซุ้ง เห็นว่าเครื่องมือที่ครูได้ให้ไป ช่วยทำให้เห็นภาพการทำโครงงาน หรือมีความชัดเจนขึ้นมากน้อยเพียงใด 

อัญ : มันก็เห็นภาพชัดขึ้นนะคะ พอเรารู้ว่าเราจะเขียนอะไรบ้าง เพราะว่า SWOT มันมี ๔ หัวข้อที่เราจะต้องหาข้อมูลมาใส่ มันก็จะเห็นว่าในซีพีมีจุดอ่อนจุดแข็งอย่างไรบ้าง เขามีโอกาสอะไรมากกว่าคนอื่น หรือว่าเขาต้องประสบอะไร เราก็จะรู้ว่าเราจะต้องแก้ปัญหาของผู้ค้ารายย่อยอย่างไร

ครูแบงก์ : มีคนอื่นช่วยเสริมไหม

กุงซุ้ง : ค่ะ ก็เหมือนกับที่อัญพูดไป มันทำให้เห็นชัดขึ้น เราลองไปทำ SWOT ของทั้งมุมผู้ประกอบการ และมุมของธุรกิจซีพีมาแล้ว แต่ว่ามันยังมีตรงที่ไม่เข้าใจคือ Opportunities กับ Threats 

ครูแบงก์ : ครูนุกจะช่วยเติมไหมว่าสองตัวนี้คืออะไร

ครูนุก : ค่ะ ได้ค่ะ... โอกาส หรือ Opportunities ในแง่ของซีพี ก็อาจจะเป็นระบบทุนนิยมที่คนรักความสะดวกสบาย เขาจึงมีโอกาสตรงนี้ มันเลยทำให้เอื้อจนกลับมาเป็นจุดแข็งของเขา Opportunities กับ Strengths มันจึงเอื้อต่อกัน แต่ไม่ใช่การเอื้อกันโดยตรง เพียงแต่ว่าจุดแข็งบริษัทเป็นคนกำหนดหรือควบคุมมันเองได้ แต่ Opportunities มันหมุนอยู่รอบโลก เกิดขึ้นเป็น Trend หรือพฤติกรรมของผู้บริโภคก็ได้ หรือจะเป็นเทคโนโลยีหลายๆ อย่างที่เปลี่ยนไป ตรงนี้เลยทำให้เป็นโอกาสได้ หรือแม้กระทั่งอาจจะไม่แค่ตัวบุคคล อาจจะเป็นรัฐบาลก็ได้ ของโลก ของประเทศ ก็จะเป็นโอกาสได้เช่นเดียวกัน ส่วนอุปสรรคเช่นเดียวกันเลย สโคปเดียวกัน แต่เป็นแง่ลบ 

หลังจากนั้นครูแบงก์ก็ได้พูดคุย ซักถาม และเติมประเด็นการทำงานให้กับนักเรียนกลุ่มที่เหลือ และครูนุกที่เป็นครูช่วยสอน ได้ช่วยให้ความรู้ในเรื่อง SDGs (Sustainable Development Goals) แก่นักเรียน แล้วจึงเข้าสู่ประเด็นซักถามความเข้าใจกับนักเรียน

บทที่_๙.๖.png
บทที่_๙.๗.png

ครูแบงก์ : ทีนี้ ครูจะถามย้อนจากสิ่งที่ได้ฟังจากครูนุกไปเมื่อสักครู่ คิดว่าสิ่งที่ครูเอามาพูดวันนี้ เรื่อง SDGs มันจะไปช่วยอะไรเรื่องของโปรเจกต์ของเราบ้าง 

เอย : คิดว่าน่าจะได้นะ น่าจะทำให้เราคิดได้หลากหลายมุมมากขึ้น อย่างที่ครูบอกว่าเลือกเรื่องหนึ่ง มันก็โยงไปได้อีกหลายเรื่อง ก็จะทำให้เราเห็นมุมที่กว้างขึ้น

ครูแบงก์ : คำถามสุดท้ายก่อนไป วันนี้เราได้ประเด็นอะไรไปในการทำโปรเจกต์ต่อ

กุงซุ้ง : การทำ SWOT ค่ะ

ครูแบงก์ : มีเรื่อง SWOT ที่จะต้องเอาไปทบทวนอีกทีหนึ่งนะในบางกลุ่ม แล้วประเด็นอื่นล่ะ
 
เอย : จะได้รู้ว่าเราแก้ปัญหาอะไรกันแน่ คือตอนนี้เรายังไม่ได้เลือกใช่ไหมว่าเราจะแก้ปัญหาตรงจุดไหน พอฟังอันนี้น่าจะทำให้เลือกได้ชัดเจนมากขึ้นค่ะ

ครูแบงก์ : สำหรับวันนี้ หวังว่าทุกคนจะได้หมุดหมายในการไปทำงานต่อนะครับ 

การได้เสวนาพูดคุยทำความเข้าใจในประเด็นการทำโครงงานร่วมกับนักเรียนในครั้งนี้ ทำให้ครูสามารถประเมินได้ว่านักเรียนยังมีข้อติดขัดในการทำงานในเรื่องใด ด้วยการใช้บันไดของคำถามอย่างเป็นลำดับขั้น เพื่อเชื่อมโยงความรู้ความเข้าใจเดิมเข้ากับความรู้เพิ่มเติมที่เพิ่งได้รับไป ซึ่งจะช่วยให้การทำโครงงานในขั้นถัดไปสามารถขับเคลื่อนไปได้ด้วยความรู้และความเข้าใจที่เกิดขึ้นจากตัวนักเรียนเอง

๙.๒_โครงงานเพื่อสร้างงานให้ยั่งยืน1.png
โครงงานเพื่อสร้างงานให้ยั่งยืน คุณครูแบงก์ – ภิญโญ เสาร์วันดี
ดาวน์โหลดเอกสาร
ศาสตราจารย์ นายแพทย์ วิจารณ์ พานิช
นักเขียน
ศาสตราจารย์ นายแพทย์ วิจารณ์ พานิช
รองประธานกรรมการมูลนิธิสยามกัมมาจล นายแพทย์ผู้สนใจประเด็นการศึกษา เจ้าของผลงานหนังสือเกี่ยวกับการจัดการเรียนรู้หลากหลายเล่ม ตั้งแต่ เลี้ยงลูกยิ่งใหญ่, วิถีสร้างการเรียนรู้เพื่อศิษย์ในศตวรรษที่ 21, สนุกกับการเรียนในศตวรรษที่ 21 ฯลฯ
แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน
profile
กรุณา Login ก่อน comment
เนื้อหาทั้งหมด