สอนเสวนา_Cover_front
ทฤษฎีการศึกษาการศึกษา

หนังสือ สอนเสวนาสู่การเรียนรู้เชิงรุก

อ่าน 776 นาที

หนังสือเล่มนี้เขียนขึ้นเพื่อชี้แนวทางจัดการเรียนรู้แบบที่เรียกว่า active learningหรือการเรียนรู้เชิงรุก โดยมีเป้าหมายเพื่อฝึกนักเรียนให้เรียนรู้จากการปฏิบัติตาม ด้วยการคิดที่เรียกว่า การใคร่ครวญสะท้อนคิด (reflection) ที่นำไปสู่การฝึกทักษะการเรียนรู้ที่นักเรียนกำกับการเรียนรู้ของตนเอง (self-directed learning) เป็น ผ่านกระบวนการ สานเสวนา (dialogue) ระหว่างนักเรียนกับครู และระหว่างนักเรียนกับเพื่อนนักเรียนด้วยกัน

เขียนโดยศาสตราจารย์ นายแพทย์ วิจารณ์ พานิช
17 ธันวาคม 2564
บทที่ 16 สรุป และข้อเสนอให้นำไปใช้ ในโรงเรียนไทย (จบ)
CP16.png

บันทึกชุดสอนเสวนาสู่การเรียนรู้เชิงรุกนี้ ต้องการสื่อว่า คำพูดของครูมีความหมายต่อการเรียนรู้ของนักเรียนมากอย่างที่เราคาดไม่ถึง คำพูดของครูมีความละเอียดอ่อนต่อความรู้สึกของศิษย์ คำพูดของครูที่ถูกต้องตามหลักการให้ผลดีต่อการเรียนรู้ในทุกด้าน (domain) จึงได้มุ่งนำเสนอทั้งสาระด้านทฤษฎี และแนวทางปฏิบัติเพื่อให้ครูได้ฝึกทักษะการพูดแนวสานเสวนา (dialogue) นี้ 

นี่คือ “ปิยวาจา” เพื่อการเรียนรู้แห่งศตวรรษที่ ๒๑ โดยครูพูดแบบ “คุรุเสวนา” ซึ่งหมายถึงการสานเสวนาที่กระตุ้นโดยครู (คุรุ + สานเสวนา) เพื่อให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ที่ซับซ้อน ทั้งด้านสังคม การพัฒนาตัวตน การพัฒนาการพูด การพัฒนาความคิด การพัฒนาความรู้ ทักษะ บุคลิก อารมณ์ คุณค่า และอื่นๆ และการสอนแบบนี้เรียกว่า “สอนเสวนา” (สอน + สานเสวนา) (dialogic teaching) 

จากคุรุเสวนา (สานเสวนาที่กระตุ้นโดยครู) สู่ศิษย์เสวนา (สานเสวนาที่กระตุ้นโดยเพื่อนนักเรียนกันเอง) ด้วยเจตนาเอื้อให้เพื่อนเกิดการเรียนรู้ในมิติที่ลึกและเชื่อมโยง ด้วยเจตนาสร้างบรรยากาศการเรียนรู้แบบร่วมมือกัน ช่วยเหลือกัน ร่วมกันสร้างห้องเรียนและโรงเรียนให้เป็นพื้นที่แห่งความปลอดภัย และเป็นสัปปายะสถานเพื่อการเรียนรู้ร่วมกัน 

การใช้วาจาที่ถูกต้องเหมาะสมเป็นกลไกกระตุ้นสมอง ให้สมองเจริญงอกงาม โดยเฉพาะสมองส่วนสั่งสมงอกงามความดีงาม ดังนั้น คุรุเสวนาจึงมีผลสร้างความดีงาม และความงอกงามไม่เฉพาะต่อศิษย์ แต่ครูก็ได้รับอานิสงส์นี้ด้วย 

มองจากวิชาครู นี่คือส่วนหนึ่งของการพัฒนาทักษะของความเป็นครู ในการกระตุ้นพลังภายในตัวนักเรียนออกมากระทำการเพื่อการเรียนรู้ เป็นลักษณะหนึ่งของ pedagogy of active learning เป็นรูปแบบการเรียนสู่มิติที่ลึกและเชื่อมโยง เพราะเป็นการเรียนรู้ที่กระตุ้นให้คิดอยู่ตลอดเวลา 

มองจากมุมของความเสมอภาคทางการศึกษา บันทึกชุดนี้กระตุ้นให้ครูคำนึงถึงนักเรียนในชั้นที่ด้อยโอกาสในลักษณะต่างๆ หรือมองอีกมุมหนึ่งว่า เป็นนักเรียนที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษในบางด้าน ครูจะดำเนินการช่วยเหลือเป็นพิเศษ รวมทั้งกระตุ้นให้เพื่อนนักเรียนช่วยเหลือกันเองด้วย 

มองอีกมุมหนึ่ง นี่คือเรื่องภาษา วัฒนธรรม และชั้นเรียน ที่เชื่อมโยงกับการศึกษาและความไม่เท่าเทียมกันในสังคม บันทึกชุดนี้มุ่งส่งเสริมคำพูด ภาษา และปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ ที่ไม่เพียงส่งเสริมการเรียนรู้ แต่ยังส่งเสริมวัฒนธรรมที่ให้คุณค่าความเท่าเทียมกันในสังคม ที่สังคมไทยต้องการเป็นอย่างยิ่ง 

ในโลกสมัยใหม่ มนุษย์ดำรงชีวิตอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ “มีพิษ” นักเรียนจึงต้องได้รับการฝึกให้สามารถ “อยู่ในปากงูได้ โดยไม่โดนเขี้ยวงู” (คำของท่านพุทธทาส หมายความว่าอยู่ในโลกที่เต็มไปด้วย สิ่งยั่วกิเลสตัณหา โดยไม่ถูกพิษของมัน) “สอนเสวนาสู่การเรียนรู้เชิงรุก” จะค่อยๆ สร้างความเข้าใจมายาคติในโลกที่อยู่นอกโรงเรียน และรู้วิธีป้องกันไม่ให้ตนเองตกเป็นเหยื่อของปัจจัยลบในสังคม นี่คือส่วนหนึ่งของทักษะชีวิตที่ครูสามารถกระตุ้นให้นักเรียนร่วมกันทำความเข้าใจผ่าน “สอนเสวนา” ได้ คือนิสัยเรียนรู้จากการกระทำ

ยิ่งกว่านั้น ครูสามารถกระตุ้นความเป็น “ผู้ก่อการ” (agency) ที่อยู่ภายในตัวศิษย์ ให้ร่วมกันกระทำการเพื่อสร้างสรรค์ส่วนเล็กๆ ในชุมชนของตนได้ การเรียนรู้ที่แท้ไม่ได้หยุดอยู่แค่วาจาหรือการพูด หรือสานเสวนา ต้องไปสู่การกระทำเพื่อเป้าหมาย
ที่ยิ่งใหญ่ (purpose) ซึ่งเป็นผลประโยชน์ที่เลยประโยชน์ส่วนตน การนำเอาข้อสังเกต (observation) ที่ได้จากการกระทำการมาสานเสวนากันแบบสะท้อนคิด (reflection) จะนำไปสู่การเรียนรู้ในมิติที่ลึกและกว้างขวางยิ่งขึ้น 

คุรุเสวนา กระตุ้นสอนเสวนา เคลื่อนสู่การกระทำการที่มีเป้าหมายเล็กๆ ที่ยิ่งใหญ่ สู่การสะท้อนคิดจากประสบการณ์ของการกระทำ นำสู่การเรียนรู้ที่ยิ่งใหญ่ คือ นิสัยเรียนรู้จากการกระทำ และทักษะเรียนรู้จากการปฏิบัติ เป็นทักษะชีวิตที่เป็นคุณติดตัวไปตลอดชีวิต 

โรงเรียนต้องเป็นแหล่งฝึกทักษะทวนกระแสสังคมที่มีพฤติกรรมผิดๆ ให้แก่เยาวชน ทักษะการเป็นมนุษย์ผู้ก่อการ (agentic person) เริ่มต้นจากการตั้งคำถาม ลามสู่เสวนา ขยายความคิดต่อเนื่องสู่การปฏิบัติแล้วใคร่ครวญสะท้อนคิด เป็นวงจรเรียนรู้ที่ไม่มีวันจบ 

การนำไปใช้ในโรงเรียนไทย
บท2.png
น่าจะมีขบวนการนำร่อง ทดลองเอาวิธีการตามในบันทึกชุดนี้ไปทดลองใช้ในโรงเรียนที่สมัครเข้ามาและได้รับการคัดเลือกสัก ๒๐ โรงเรียน โดยโรงเรียนต้องหาทรัพยากรสนับสนุน “กิจกรรมครูร่วมกันพัฒนาตนเอง” มาใช้จ่ายเอง หน่วยงานพี่เลี้ยงอาจเป็น กสศ. ร่วมกับมูลนิธิสยามกัมมาจล เรียกโครงการนี้ว่า “PLC สอนเสวนา” ดำเนินการ ๑ ปีการศึกษา ในโรงเรียนประถมในพื้นที่ห่างไกล มีเงื่อนไขว่า ต้องใช้วิธีการนี้ทุกห้องเรียนในชั้นประถมต้น หรือประถมปลายก็ได้

ทีมพี่เลี้ยงพัฒนาเครื่องมือวัดผลลัพธ์การเรียนรู้ที่ใช้ง่าย ไม่ยุ่งยาก เอาไว้ใช้วัด effect size ของการเรียนการสอนของแต่ละเทอม และของแต่ละปีการศึกษา สำหรับใช้วัดผลกระทบต่อผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักเรียนในโครงการ เทียบกับนักเรียนในโรงเรียนชั้นที่ไม่ได้ใช้ PLC สอนเสวนา ทีมพี่เลี้ยงอาจไปวัด effect size 
 
ก่อนเริ่มปีการศึกษา ทีมพี่เลี้ยงฝึกวิธีทำสอนเสวนาตามในหนังสือเล่มนี้ให้แก่ครูที่เข้าโครงการ เป็นการประชุมเชิงปฏิบัติการ ๒ วัน โดยแต่ละโรงเรียนมีครูพี่เลี้ยง (mentor) เข้ารับการฝึกด้วย แล้วแต่ละโรงเรียนไปดำเนินการเอง มีการประชุม Online PLC ร่วมกัน ๒๐ โรงเรียน โดยทีมพี่เลี้ยงเป็นผู้จัด เพื่อร่วมกันทำความเข้าใจว่าแต่ละโรงเรียนดำเนินการอย่างไร มีข้อค้นพบอะไร มีปัญหาอะไร เอามาแชร์กันและช่วยกันแนะนำวิธีแก้ปัญหา 

เมื่อจบปีการศึกษามีการประชุมปฏิบัติการอีก ๒ วัน เพื่อสรุปบทเรียน และร่วมกันคิดแนวทางพัฒนาครูต่อเนื่อง

เป็นการพัฒนาครูแนว “ครูพัฒนาตนเอง และพัฒนากันเอง” โดยมีเป้าหมายที่แท้จริงอยู่ที่การพัฒนาผลลัพธ์การเรียนรู้ของศิษย์

วิจารณ์ พานิช
๒๔ เมษายน ๒๕๖๔ ปรับปรุง ๒๗ เมษายน ๒๕๖๔

บท25.png

เรื่องเล่าจากเวทีสานเสวนาเพื่อพัฒนาครู

เวทีสานเสวนาเพื่อพัฒนาครูครั้งที่ ๔ จัดขึ้นเมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๒๘ ตุลาคม ๒๕๖๔ เป็นเวทีที่ครูต้นเรื่องทั้ง ๕ คน ที่ได้เคยนำเสนอผลการทดลองเอาหลักการสอนเสวนาไปใช้ในชั้นเรียนในเวทีครั้งที่ ๒ ได้กลับมาพบกันอีกครั้ง และยิ่งไปกว่านั้น เวทีนี้ยังเป็นเวทีสุดท้ายของโครงการอีกด้วย

คุณครูมิลค์ - นิศาชล พูนวศินมงคล ครูผู้สอนหน่วยภูมิปัญญาภาษาไทย ระดับชั้นประถมปีที่ ๓ โรงเรียนเพลินพัฒนา ได้นำคลิปการจัดการเรียนการสอนแผน “มโหสถชาดก” มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเพื่อนครู เมื่อคลิปจบลง คุณครูใหม่ - วิมลศรี ศุษิลวรณ์ กระบวนกรของเวทีได้ถามคำถามว่า 
  
ครูใหม่ : เวทีวันนี้เป็นเวทีที่ ๒ แล้ว ครูมิลค์ได้เรียนรู้อะไรบ้างคะ

ครูมิลค์ : สิ่งแรกเลยคือได้เรียนรู้ความพิถีพิถันในการเลือกสรรสิ่งที่ครูจะนำมาสร้างการเรียนรู้ในชั้นเรียน รู้สึกได้ว่าถ้าเราใช้เวลาและเลือกสรรมาเป็นอย่างดี เรื่องที่เลือกมานั้นจะกลายเป็นประเด็นที่ชวนให้เด็กๆ อยากรู้อยากเห็นและอยากบอกเล่าเรื่องราวความรู้ที่เชื่อมโยงกับเรื่องราวของครู ในคาบเรียนนี้จึงเกิดเป็นบทสนทนาตลอดทั้งคาบเรียน ตั้งแต่ต้นจนจบ

ครูใหม่ : เรื่องที่เลือกมาเรียนเป็นเรื่องที่เกิดจากคำถามคำตอบที่ไม่สิ้นสุด ตั้งแต่วิธีการนำมาเลือกว่าจะเรียนเรื่องไหนดี จนกระทั่งได้คำตอบร่วมกันว่าจะเรียนเรื่องหุงข้าวเปรี้ยว เพราะเรื่องนี้ดูจะท้าทายกว่าเรื่องอื่นๆ เป็นการนำเรื่องของปัญหาเข้ามาสร้างปัญหาให้ทั้งชั้นเรียนช่วยกันคิดแก้ไข

คุณสมพล ชัยศิริโรจน์ ผู้ทรงคุณวุฒิของโครงการ ได้ร่วมเติมเต็มว่า ผมดูแล้วเพลิดเพลินไปกับปฏิกริยาของเด็กๆ นะ ระหว่างที่ดูคลิปจากห้องเรียนนี้ ผมเกิดคำถามว่าครูมิลค์ทำอะไรกับเด็กมาก่อนหน้านั้น ผมรู้สึกว่าการเชื่อมโยงระหว่างครูกับเด็กมีอยู่ในระดับหนึ่งแล้ว ผมรู้สึกว่าเด็กๆ พร้อม เด็กๆ ตื่น พวกเขาตื่นเต้นกับคำถามที่ได้มา มีความกระตือรือร้นที่จะตอบ เรื่องที่ยกมามีความน่าสนใจ แต่ก็เชื่อว่าถ้าถามเรื่องอื่น พวกเขาก็พร้อมที่จะตอบ จากบทสนทนาของครูมิลค์และครูใหม่ที่เกิดขึ้นก่อนหน้าว่าเด็กรู้สึกท้าทายจึงเลือกเรื่องนี้มาเรียนรู้ ผมขอคิดในอีกมุมหนึ่งว่าถ้าเด็กไม่ได้รู้สึกเชื่อมโยงกับครูมาก่อน เกร็งๆ และระมัดระวังตัว รู้สึกไม่ปลอดภัยเขาอาจจะไม่เลือกเรื่องที่ท้าทาย เขาจะหันไปเลือกเรื่องที่ตอบง่ายแทนที่จะเลือกเรื่องที่ท้าทาย เพราะรู้สึกปลอดภัยกว่า ผมจึงสงสัยใจว่าครูมิลค์ทำอย่างไร แล้วความท้าทาย ความยาก ความขัดแย้งว่า หุงข้าวอย่างไรโดยไม่ใส่หม้อ ไม่ใช้ไฟ นี่เป็นความขัดแย้งที่มาจุดประกายของการเรียนรู้เมื่อเด็กมีความพร้อม มีความสนใจ 

ครูมิลค์ : พยายามมองย้อนกลับมาดูตัวเองเหมือนกันค่ะว่า เราทำอะไรในห้องเรียนที่ทำให้เด็กไว้เนื้อเชื่อใจที่จะตอบคำถาม และรู้สึกสบายที่จะแลกเปลี่ยนกับเราอย่างสม่ำเสมอ คิดว่าปัจจัยแรก คือ เรื่องของกติกาค่ะ เรื่องของผู้พูดและผู้ฟัง เป็นสิ่งที่ครูมิลค์เองให้ความสำคัญมากๆ ว่า เมื่อไรที่มีผู้พูดครูมิลค์ก็จะตั้งใจฟังเขา เช่นเดียวกันครูมิลค์จะย้ำเด็กๆ ว่าเมื่อไรที่เพื่อนพูดเราต้องตั้งใจฟังเพื่อนเหมือนกัน
 
ปัจจัยที่สองเป็นเรื่องการให้ความสำคัญกับคำตอบของเด็กๆ จะเห็นว่าจะมีการเอ่ยถึงชื่อหรือทวนคำตอบที่เด็กๆ พูด คนที่ได้ตอบจะรู้สึกว่าเขามีตัวตนและเขาก็ได้เป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนห้องเรียน 

ปัจจัยต่อมาน่าจะเป็นท่าทีและน้ำเสียงของตัวครูที่ทำให้เด็กๆ รู้สึกเป็นมิตร รู้สึกสบาย อยากจะพูดคุยกับเรา เด็กก็เลยกล้าที่จะแชร์เรื่องที่ตัวเองคิดออกมาอย่างเป็นธรรมชาติ 

คุณสมพล : ขอบคุณมากครับ ผมคิดว่าบทเรียนสำคัญอยู่ตรงที่ผมได้ยินเมื่อกี้นี้ด้วย

ครูใหม่ : น่าจะมีเรื่องความคงเส้นคงวาของครูด้วยนะคะ เพราะบางทีเด็กก็ทำตัวไม่ถูก ถ้าวันหนึ่งครูเป็นอย่างหนึ่ง และเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา เมื่อเด็กได้เป็นอิสระในทางความคิดเขาก็จะพบว่าที่ห้องนี้แหละที่เขาทำแบบนั้นได้

คุณครูปาด - ศีลวัต ศุษิลวรณ์ ผู้ทรงคุณวุฒิอีกท่านหนึ่ง ได้ร่วมเสนอแนะว่า การหยิบชาดกขึ้นมาเรียน ก้าวต่อไปควรไปให้ถึง virtue คือการมาพูดคุยกันว่าความดี ความจริง ความงาม คืออะไร คำถามพวกนี้ในวิชาปรัชญาเรียกว่า “big question” ชาดกเป็นสติปัญญาในระดับ big question ในมุมหนึ่งชาดกเรื่องนี้เล่ามาเพื่อให้เด็กเข้าใจได้ด้วย ชั้นเรียนของครูมิลค์ในแง่พื้นฐานของ dialogue พบว่าเด็กเริ่มมี divergent เกิดความคิดที่หลากหลาย มีอิสระ สบายตัว สบายใจที่จะพูด มีการสนทนาที่แสดงการถ่ายเท character ขึ้นมาได้แล้ว น่าพาไปให้ถึง big question ผมคิดว่าคำถามเหล่านี้
น่าลองนำไปถามให้พวกเขาลองพูดคุยกันดูบ้าง

ศ. นพ.วิจารณ์ พานิช ได้ร่วมเติมเต็มว่า ถ้าหากมองในมุมมองของภาษา ชื่อข้าวเปรี้ยวตีความได้ว่า นี่เป็นชื่อของข้าว จะเปรี้ยวหรือไม่เปรี้ยวก็ไม่เป็นไร เพราะเป็นวิสามานยนาม มโหสถน่าจะเล่นลูกนี้ ในขณะที่คนทั่วไปจะใช้คำว่าเปรี้ยวเป็นคำคุณศัพท์มาขยายความคำว่าข้าว บอกให้รู้ว่าข้าวนี่มีรสเปรี้ยว ในเชิงของภาษาก็จะอธิบายได้ ๒ แบบ 

ประสบการณ์จากชั้นเรียนของครูมิลค์กำลังบอกเล่าข่าวสารสำคัญกับทุกคนว่า การสอนเสวนาจะให้ผลลัพธ์ที่ดีเป็นพิเศษ เมื่อครูและเด็กสามารถเชื่อมโยงถึงกัน โดยเรื่องราวหรือประเด็นที่เลือกมาเรียนรู้ร่วมกันในชั้นเรียนนั้นเป็นประเด็นที่ทุกคนสามารถต่อยอดความคิดโดยใช้ทั้งประสบการณ์เดิม จินตนาการ และข้อมูลในรูปแบบต่างๆ เพื่อให้ได้มาซึ่งคำตอบที่มีความเป็นไปได้ ไม่ใช่คำตอบปลายปิด หรือคำตอบที่ถูกต้องที่สุดเพียงคำตอบเดียวซึ่งจะดียิ่งขึ้นไปอีก หากชั้นเรียนนั้นชวนกันตั้งคำถามและหาคำตอบต่อสิ่งที่เรียกว่า “โจทย์ใหญ่” ของชีวิต

๑๖.๑_มโหสถชาดก1.pngมโหสถชาดก คุณครูมิลค์ - นิศาชล พูนวศินมงคล 

ถัดจากนั้น คุณครูเปีย - วรรณวรางค์ รักษทิพย์ ครูผู้สอนหน่วยวิชาโครงงานฐานวิจัย ระดับชั้นประถมปีที่ ๖ โรงเรียนเพลินพัฒนา ได้นำคลิปการจัดการเรียนการสอนแผน “พร้อมให้ - ใฝ่รับ” มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกับเพื่อนครูเพื่อนำเสนอประสบการณ์เรื่องของการเปิดพื้นที่ให้เด็กๆ ได้พูดคุยกันเอง ตามที่ได้รับคำแนะนำจากผู้ทรงคุณวุฒิไปเมื่อครั้งก่อน

ครูเปียเล่าว่าประสบการณ์ก่อนหน้านี้คือ หากครูให้เด็กๆ ไปแบ่งกลุ่มพูดคุยกันเอง เด็กก็มักจะปิดไมค์ ปิดจอซึ่งอาจเป็นเพราะไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร ครั้งนี้จึงเริ่มจากการมีคู่สาธิตให้ทุกคนได้เห็นบทบาทที่ถูกต้องเหมาะสม และเพื่อให้ตัวครูผู้สอนเองได้มองเห็นความเป็นไปได้ ปัญหา หรืออุปสรรคที่จะเกิดในห้องเรียนย่อยล่วงหน้า ครูเปียจึงเลือกคู่สาธิตมาทดลองวิพากษ์งานกันผ่านกระบวนการดังกล่าว โดยได้ติดต่อนักเรียนที่พร้อมจะร่วมมือมาได้ ๒ คน คือ ต้นไม้ และต้นข้าว มาเป็นนักเรียนสาธิต การดำเนินการแนะนำงานกันผ่านไปได้ด้วยดี นักเรียนทั้งคู่เล่าถึงความรู้สึกสนุกและบทบาทที่ได้รับด้วยความกระตือรือร้น ทำให้ครูเกิดความมั่นใจที่จะเชิญชวนเจียอี้ ซึ่งเป็นเพื่อนสนิทกับต้นไม้ และเป็นเด็กที่เปิดใจพร้อมปรับปรุงงานอยู่แล้วก็รับหน้าที่เป็นผู้ “ใฝ่รับ” โดยมี ต้นไม้ เป็นฝ่าย “พร้อมให้” และมีต้นข้าวมาเป็นผู้สังเกตการณ์และกล่าวสะท้อนปรากฏการณ์ ที่พบเห็น

ศ. นพ.วิจารณ์ พานิช ได้ร่วมเติมเต็มว่า โอกาสหน้าอยากให้มีการชวนกันวาง criteria ว่าการเป็นฝ่ายให้ที่ดีกับการเป็นฝ่ายรับที่ดีมีลักษณะอย่างไรบ้าง แล้วคอยดูว่าผลที่ออกมาจะแตกต่างจากที่ผ่านมาอย่างไร ผมชอบมากว่านี่คือ peer evaluation เป็น peer feedback แล้วก็ยังมี observer learning ว่าเพื่อนที่ทำหน้าที่สังเกตการณ์ได้เรียนรู้อะไรบ้าง นี่ดีมากเลยเพราะเป็นการเรียนรู้อีกชั้นหนึ่ง ขอบคุณมากครับ

คุณวรวัจน์ สุวคนธ์ ผู้ทรงคุณวุฒิของโครงการ ได้กล่าวเสริมในประเด็นเดียวกันว่า ผมเห็นด้วยกับคุณหมอวิจารณ์มากๆ เพราะนี่เป็นวิธีการเดียวกันกับที่ผมใช้กับผู้บริหารธนาคารเช่นเดียวกันนะครับ การที่เปิดโอกาสให้มีการฝึกการให้ feedback ระหว่าง
สองคน แล้วก็มี observer ที่คอยสังเกตการณ์แล้วก็ให้คำแนะนำ เพราะนี่เป็นอีกทักษะที่สำคัญมากๆ ในการใช้ชีวิตในปัจจุบัน นอกจากนั้นยังเป็นแบบฝึกที่ดีมากๆ ที่ช่วยสร้างให้เด็กเกิด growth mindset พร้อมเปิดใจรับฟัง เรียนรู้ แล้วยังรู้สึกว่าเรายังพัฒนาต่อได้ โดยที่ใช้ feedback จากเพื่อนๆ แล้วก็เป็นโอกาสให้เกิด self reflection ด้วย คือการสะท้อนคิดถึงตัวตนของตัวเอง ที่อยากจะเสริมครูเปีย ๒ เรื่องคือ เรื่องแรกคล้ายๆ คุณหมอวิจารณ์ คือ เมื่อกี้ตอนที่ได้ฟังเด็กๆ คุยกัน เขาจะเน้นเรื่องของเนื้อหา ผมอยากจะเพิ่มว่าแม้แต่ในตัวของผู้รับเองว่า เขามีความรู้สึกอย่างไรเวลาที่ได้ยิน feedback แบบนี้ แล้วผมว่าจะเป็นตัวสะท้อนด้วยว่า ผู้ให้เองให้ในลักษณะแบบนี้ตัวคนรับเขารู้สึกอย่างไร การให้บางอย่างทำให้คนรับรู้สึกอยากจะไปปรับปรุงเปลี่ยนแปลงตัวเอง การให้บางอย่างอาจจะทำให้เกิดความรู้สึกต่อต้านว่าทำไมให้ feedback แบบนี้ ผมว่านี่ก็อาจจะเป็นประเด็นการเสวนาที่มาคุยกันได้นอกเหนือจากเรื่องของเนื้อหา เรื่องของความรู้สึกที่เกิดขึ้นกับทั้งผู้ให้กับผู้รับ ตัวผู้ให้เองก็น่าจะได้เรียนรู้อะไรหลายๆ อย่าง อาจจะมาชวนกันคุยด้วยว่าจากการที่เราให้นี่เราได้เรียนรู้อะไรจากเรื่องนี้บ้าง นี่เป็นข้อแรกที่อยากฝากไว้

ข้อที่ ๒ ผมไม่แน่ใจว่าจะยากไปสำหรับเด็กรึเปล่า แต่เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่เราให้ความสำคัญกับผู้นำ หรือผู้บริหารในทุกระดับขององค์กร คือเรื่องของ coaching คือการให้ feedback โดยที่ไม่ได้ให้ feedback ตรงๆ แต่ว่าใช้เป็นลักษณะของคำถาม เพื่อให้คนรับไปพิจารณาเองว่าคนรับจะสามารถปรับปรุงสิ่งที่เขาทำอยู่ได้อย่างไร โดยที่ไม่ต้องให้ความคิดเห็นของตัวเอง หรือไม่ต้องไปตัดสิน อันนี้ผมว่าเป็นอีกทักษะหนึ่งที่น่าสนใจ จากที่ได้เห็นจากในคลิปคิดว่าเด็กๆ น่าจะทำได้ เป็นทักษะค่อนข้าง advance และเป็นสิ่งที่เราต้องการมากในปัจจุบัน

คุณครูปาด - ศีลวัต ศุษิลวรณ์ ได้ร่วมเสนอแนะว่า ผมเคยเห็นว่าวงประชุม lesson study ระดับนานาชาติ จะมีคนนำเสนอ และมีคนที่ response สุดท้ายคนที่นำเสนอจะต้องทำการ response to response อีกที ในมุมของผม นี่เป็นธรรมเนียมที่ดี และอยากจะชวนให้เด็กลองฝึกทักษะนี้ คือการตอบสนองต่อการตอบสนองของคนอื่น ซึ่งเขาจะต้องฝึกตัวเองอีกขั้น ต้องละความยึดมั่นในตัวเอง และสื่อสารกลับไปอย่างสร้างสรรค์ ตรงประเด็น ตอบได้ว่าอะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้ อะไรที่คิดว่ายังมีข้อน่าสงสัยอยู่

ครูเปีย : มีเด็กสะท้อนมาเหมือนกันว่ายังอยากให้มีครูอยู่ด้วย

ครูปาด : ใช่ เพราะจุดเริ่มต้นในการทำให้ทั้งหมดเป็น ownership ของเด็กนี้ยากอยู่แล้วนะ แต่พอเด็ก มี divergent มีความคิดที่หลากหลายแล้ว เด็กกับเด็กจะ convergent หรือรวมความคิดที่หลากหลายกลับมา ก็ไม่ง่าย ถ้าเด็กกับเด็กมีครูคอยตะล่อมความคิดให้ก็จะง่ายสำหรับเขา แต่พอไม่มีครูแล้วเด็กกับเด็กต้อง convergent กันเองนี่เป็นทักษะที่สำคัญมาก เรื่องนี้จะเกิดขึ้นได้ ต้องฝึกตอบสนองต่อการตอบสนองก่อน ถ้าเขาทำได้ เขาจะมีความสามารถในการพากลุ่มของตัวเองไปสู่ข้อสรุปร่วมที่ดีกว่าเดิม หรืออาจจะไปถึงการสังเคราะห์ใหม่ก็ได้ สามารถทำให้ความเห็น ก กับความเห็น ข ซึ่งน่าสนใจทั้งคู่ และมีหลักฐานสนับสนุนความคิดที่แข็งแรงทั้งคู่ ไม่รู้ว่าอะไรถูกอะไรผิด แบบนี้ต้องไปหาจุดที่สังเคราะห์ใหม่ที่ดีกว่าความเห็นเดิม ลำพังมีครูอยู่ด้วย นี่ก็เป็นโจทย์ยากของครูแล้ว ครูจะเล่นเกมนี้ได้นี้ไม่ง่ายเลย แต่จุดสูงสุดเลยคือเด็กเล่นเกมนี้โดยไม่มีครู 

ครูเปีย : เปียมองว่านี่เป็นการฝึกแบบเป็นขั้นบันไดนะคะ ถ้าเขาได้เห็นขั้นบันไดนี้ แล้วเริ่มเห็นว่าใครทำได้ เปียว่าเด็กไปได้

ศ. นพ.วิจารณ์ : เป็นไปได้ไหมที่จะชวนเด็กที่ได้รับคำแนะนำสะท้อนคิด ว่าตรงจุดไหนที่คำแนะนำซึ่งอาจจะเป็นคำถาม ช่วยให้เกิดคุณค่าต่องานของเขา หรือเกิดคุณค่าต่อตัวเขาแต่อาจจะไม่เกิดคุณค่าโดยตรงต่อตัวชิ้นงาน เช่น ทำให้เขาคิดขยายไปจากเดิม และนึกถึงประเด็นอื่นๆ ได้อีก นึกได้ว่าชิ้นงานของเขายังขาดประเด็นอะไรที่น่าเติมเพิ่มเข้าไป หรือข้อสะกิดนั้นช่วยทำให้เขาใส่หลักฐานข้อมูลต่างๆ ทำให้เกิดความแม่นยำน่าเชื่อถือขึ้น อันหลังนี้ผมคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์มาก เพราะข้อสะกิดตรงนี้จะเป็นการตั้งคำถามเชิงไม่ค่อยเชื่อ ต้องการหาหลักฐานให้ชัดเจนขึ้นอีกหน่อย ผมว่านี่น่าจะเป็นข้อเรียนรู้สำหรับในวงทั้งหมดได้ดีมาก ขอบคุณครับ

๑๖.๒_พร้อมให้ใฝ่รับ1.png
พร้อมให้ - ใฝ่รับ คุณครูเปีย - วรรณวรางค์ รักษทิพย์
ดาวน์โหลดเอกสาร
ศาสตราจารย์ นายแพทย์ วิจารณ์ พานิช
นักเขียน
ศาสตราจารย์ นายแพทย์ วิจารณ์ พานิช
รองประธานกรรมการมูลนิธิสยามกัมมาจล นายแพทย์ผู้สนใจประเด็นการศึกษา เจ้าของผลงานหนังสือเกี่ยวกับการจัดการเรียนรู้หลากหลายเล่ม ตั้งแต่ เลี้ยงลูกยิ่งใหญ่, วิถีสร้างการเรียนรู้เพื่อศิษย์ในศตวรรษที่ 21, สนุกกับการเรียนในศตวรรษที่ 21 ฯลฯ
แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน
profile
กรุณา Login ก่อน comment
เนื้อหาทั้งหมด