ทฤษฎีการศึกษาการศึกษา
หนังสือ สอนเสวนาสู่การเรียนรู้เชิงรุก
อ่าน 776 นาที
หนังสือเล่มนี้เขียนขึ้นเพื่อชี้แนวทางจัดการเรียนรู้แบบที่เรียกว่า active learningหรือการเรียนรู้เชิงรุก โดยมีเป้าหมายเพื่อฝึกนักเรียนให้เรียนรู้จากการปฏิบัติตาม ด้วยการคิดที่เรียกว่า การใคร่ครวญสะท้อนคิด (reflection) ที่นำไปสู่การฝึกทักษะการเรียนรู้ที่นักเรียนกำกับการเรียนรู้ของตนเอง (self-directed learning) เป็น ผ่านกระบวนการ สานเสวนา (dialogue) ระหว่างนักเรียนกับครู และระหว่างนักเรียนกับเพื่อนนักเรียนด้วยกัน
เขียนโดยศาสตราจารย์ นายแพทย์ วิจารณ์ พานิช
17 ธันวาคม 2564
บทที่ 6 กรอบปฏิบัติการที่ ๒ พื้นที่ปฏิสัมพันธ์ (Interactive Settings)
พื้นที่ปฏิสัมพันธ์เพื่อการเรียนรู้แบบสอนเสวนาอาจจำแนกออกได้เป็น ๔ มิติ คือ
(๑) ด้านปฏิสัมพันธ์ (relations) (๒) ด้านการจัดกลุ่ม (grouping) (๓) ด้านเทศะหรือพื้นที่ (space) (๔) ด้านกาละหรือเวลา (time)
ด้านปฏิสัมพันธ์ (Relations)
ปฏิสัมพันธ์เชิงสอนเสวนาในชั้นเรียนจำแนกง่ายๆ ออกเป็น ๓ แบบคือ (๑) ทั้งชั้น (๒) กลุ่มย่อย (๓) เรียนคนเดียว ซึ่งเมื่อนำมาจัดการชั้นเรียน จะจำแนกได้เป็น ๕ แบบคือ
สอนรวมทั้งชั้น
- ทำกิจกรรมกลุ่ม โดยครูเป็นผู้จัด
- ทำกิจกรรมกลุ่ม โดยนักเรียนเป็นผู้จัด
- สนทนากัน ๒ คน ระหว่างนักเรียนด้วยกัน
- สนทนากัน ๒ คน ระหว่างนักเรียนกับครู
- ขนาดของกลุ่ม ส่วนใหญ่กลุ่มละ ๖ - ๘ คน ขึ้นกับชิ้นงานที่จะทำ และขึ้นกับพื้นที่ทางกายภาพของห้อง หนังสือไม่เอ่ยว่าหากจำนวนสมาชิกมากเกินไปจะมีสมาชิกบางคนไม่ทำงาน ผมเคยเข้าใจเช่นนั้นมาตลอด จนได้ฟังเรื่องการจัดกลุ่มทำงานของนักศึกษาสาขาการจัดการ คณะบริหารธุรกิจและการบัญชี มหาวิทยาลัยขอนแก่นชั้นปีที่ ๔ เทอมที่ ๒ จึงได้ตระหนักว่าหัวใจสำคัญของจำนวนสมาชิกกลุ่ม อยู่ที่ปริมาณงานที่จะต้องแบ่งกันทำ https://www.gotoknow.org/posts/616107
- วิธีจัดสมาชิกกลุ่ม จัดได้หลากหลายแบบ ทั้งให้นักเรียนแบ่งกลุ่มกันเอง หรือใช้วิธีให้นับ ๑ ถึง ๖ (กรณีแบ่งเป็น ๖ กลุ่ม) หรือวิธีอื่น โดยมีหลักการว่าให้สมาชิกกลุ่มมีการทำงานร่วมกันอย่างเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน และเท่าเทียมกัน ไม่มีสมาชิกจำนวนหนึ่งร่วมกันยึดอำนาจเนื่องจากสนิทกัน รวมทั้งกลุ่มมีการทำงานแบบอิสระจากครูให้มากที่สุด หนังสือเอ่ยถึงวิธี จัดกลุ่มแบบคละ หรือแบบตั้งใจ (เช่น แยกเพศ แยกเด็กเก่งกับไม่เก่ง) โดยไม่ได้บอกว่าแบบไหนดีกว่าหรือเหมาะกว่าในสถานการณ์ใด
- บทบาทของสมาชิกกลุ่ม มีได้หลายแบบ เช่น ทุกคนทำงานเดียวกันแล้วนำมาเปรียบเทียบกัน แบ่งหน้าที่กันทำ เพื่อผลงานชิ้นเดียวของกลุ่ม ทุกคนทำงานร่วมกันเพื่อบรรลุผลงานของกลุ่มชิ้นเดียว
นี่คือการจัดโต๊ะนั่งในห้อง ซึ่งควรเน้นความยืดหยุ่น เปลี่ยนแปลงได้ว่องไว ขึ้นกับกิจกรรมที่จะเกิดขึ้น เช่น จัดเป็นแถวอย่างชั้นเรียนทั่วไป ใช้ในกรณีครูเป็นผู้กำกับการเสวนาของทั้งชั้น หรืออาจจัดเป็นรูปเกือกม้า ครูอยู่ด้านว่างของเกือกม้า หรือจัดเป็นกลุ่มโต๊ะเพื่อการประชุมกลุ่มย่อย
การจัดรูปเกือกม้าคล่องตัวที่สุด เพราะปรับเป็นคุยเป็นคู่ หรือ ๔ คนได้ง่าย
ด้านกาละ (Time)
- ความยาวของบทเรียน
- สมดุลของกิจกรรมที่เน้นการพูด กับกิจกรรมที่เน้นการอ่านเขียน รวมทั้งปฏิสัมพันธ์ระหว่างกิจกรรม
- สมดุลของการพูดหลากหลายแบบ
- ความเร็ว เป็นเรื่องที่ต้องแยกแยะระหว่างความเร็วกับผลลัพธ์ที่ได้ ซึ่งต้องแยกระหว่างการสอนเนื้อหาได้ครบถ้วน กับการที่นักเรียนได้เรียนรู้อย่างมีคุณภาพสูง รวมทั้งต้องแยกแยะระหว่างความเร็วในการจัดการ กับความเร็วในปฏิสัมพันธ์ และความเร็วในการเรียนรู้ของนักเรียน ข้อพึงระวังคือ การเรียนรู้ต้องการเวลาคิด
เรื่องเล่าจากห้องเรียน
ในคาบเรียนนี้ คุณครูกิ๊ก - นินฤนาท นาคบุญช่วย ครูผู้สอนหน่วยวิชาภูมิปัญญาภาษาไทย ชั้นประถมปีที่ ๕ โรงเรียนเพลินพัฒนา มีโจทย์ให้นักเรียนปรุงการ “แปลงกาพย์เป็นกลอนจากเรื่องกล้วยๆ” ที่แต่ละกลุ่มแต่งกันเอาไว้ ให้มีความสละสลวยของรสและเสียงคำมากยิ่งขึ้นไปอีก
ก่อนหน้าที่ทุกคนจะลงมือทำงาน เรื่องที่นักเรียนต้องค้นหาให้พบก่อน เพื่อตั้งหลักเรื่องของความประณีตในการเลือกสรรคำมาใช้ คือ ความเข้าใจในการร้อยกรองดอกไม้ กับการร้อยกรองถ้อยคำมาใช้ในบทกลอน เมื่อนักเรียนทั้งห้องได้พูดคุยในประเด็นนี้ร่วมกันเรียบร้อยแล้ว ครูจึงให้แบ่งกลุ่มแยกย้ายกันไปทำงานในห้องย่อย
โจทย์ที่นักเรียนได้รับคือ ร้อยกรองถ้อยคำให้งดงาม (ทั้งเสียงและความหมาย) ดั่งอัญมณีที่เจียระไน
ข้าวหอม เขียนเล่าเรื่องการทำงานกลุ่มครั้งนี้เอาไว้ว่า
ในคาบเรียนวิชาภูมิปัญญาภาษาไทย ครูกิ๊กให้โจทย์แต่งกลอนแปดเกี่ยวกับกล้วย และครูกิ๊กจัดกลุ่มย่อยให้ ในกลุ่มของฉันมีสมาชิก ๕ คน ได้แก่ ป้อน โมเก้ นะโม เบลล์ และข้าวหอม ในกลุ่มได้เริ่มต้นด้วยการหาตัวแทนแชร์หน้าจอและพิมพ์บทกลอนก่อน ซึ่งจะต้องมีคุณลักษณะคือพิมพ์ได้คล่อง ฉันจึงเป็นคนอาสา จากนั้นโมเก้และเบลล์ก็รับหน้าที่เป็นคนเลือกพื้นหลัง
พวกเราช่วยกันคิดคำจากกล้วย เริ่มแต่งจาก ป้อนคิดคำไว้ว่าจะแต่งอย่างไร แล้วเอามาคุยกับเพื่อนๆ แล้วเพื่อนๆ ก็ช่วยเอามาเรียบเรียงเป็นกลอน ข้าวหอมช่วยปรับแต่งคำให้คล้องจองมากขึ้น
เริ่มจากวรรคแรกก่อน ป้อนคิดคำว่า ชื่อและของดี ออกมาได้เป็นท่อนแรก จากนั้น โมเก้กับข้าวหอมคิดคำว่า มีค่าและโอชารส มารวมเป็นคำไพเราะคือ
ชื่อของดีมีค่าโอชารส
ในวรรคที่ ๒ นะโม ป้อน ช่วยกันคิดออกมาได้ว่า ผลสุกสดหวีเนื้อเครือจากสวน
ในวรรคที่ ๓ ป้อน โมเก้ เบลล์ ช่วยคิดคำออกมาได้เป็น แกะเปลือกปอกใส่ปากอยากจะชวน
ในวรรคที่ ๔ ป้อนคิดคำว่า ลงคอ โมเก้ คิดคำว่า นวล นุ่ม นิ่ม ข้าวหอมช่วยคิดคำว่า กัด กิน ด่วน แล้วนำมารวมกันเป็นวรรคสุดท้าย คือ กัดกินด่วนนวลนุ่มนิ่มลงคอ
เมื่อได้คำครบ ๔ วรรคแล้ว พวกเราก็นำวรรคต่างๆ มาเรียงเป็นกลอนแปด ๑ บท โดยข้าวหอมรับหน้าที่พิมพ์บทกลอน และข้าวหอมกับเบลล์ได้ช่วยกันตรวจสอบคำถูกผิด สุดท้ายโมเก้และเบลล์ก็ช่วยกันจัดวางพื้นหลังให้สวยงาม และนี่คือกลอนแปดของพวกเราค่ะ
ในคาบเรียนนี้ครูกิ๊กใช้การสอนรวมทั้งชั้น โดยใช้การสานเสวนามาสร้างให้นักเรียนมีแรงบันดาลใจ (motivation) ในการปรับปรุงแก้ไขผลงานให้ดีขึ้นกว่าเดิม ด้วยการเปรียบการร้อยกรองดอกไม้เข้ากับการแต่งบทร้อยกรอง ซึ่งต้องอาศัยความงามอย่างประณีตในการเลือกสรรคำให้เหมาะสม
การที่ครูจัดแบ่งกลุ่มให้ ช่วยให้นักเรียนได้ทำงานกับเพื่อนกลุ่มใหม่ และได้นำแรงบันดาลใจที่ได้รับจากขั้นนำ มาก่อเกิดเป็นบทสนทนาในหมู่เพื่อนกลุ่มเล็กๆ เพื่อร่วมกันบรรลุโจทย์งานสร้างสรรค์ที่ครูมอบหมายไว้ คุณภาพของคำกลอนจึงสะท้อนคุณภาพของการสานเสวนาได้อย่างหมดจด
ร้อยกรอง คุณครูกิ๊ก - นินฤนาท นาคบุญช่วย
ดาวน์โหลดเอกสาร
นักเขียน
ศาสตราจารย์ นายแพทย์ วิจารณ์ พานิช
รองประธานกรรมการมูลนิธิสยามกัมมาจล นายแพทย์ผู้สนใจประเด็นการศึกษา เจ้าของผลงานหนังสือเกี่ยวกับการจัดการเรียนรู้หลากหลายเล่ม ตั้งแต่ เลี้ยงลูกยิ่งใหญ่, วิถีสร้างการเรียนรู้เพื่อศิษย์ในศตวรรษที่ 21, สนุกกับการเรียนในศตวรรษที่ 21 ฯลฯ
แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน
เนื้อหาทั้งหมด