สอนเสวนา_Cover_front
ทฤษฎีการศึกษาการศึกษา

หนังสือ สอนเสวนาสู่การเรียนรู้เชิงรุก

อ่าน 776 นาที

หนังสือเล่มนี้เขียนขึ้นเพื่อชี้แนวทางจัดการเรียนรู้แบบที่เรียกว่า active learningหรือการเรียนรู้เชิงรุก โดยมีเป้าหมายเพื่อฝึกนักเรียนให้เรียนรู้จากการปฏิบัติตาม ด้วยการคิดที่เรียกว่า การใคร่ครวญสะท้อนคิด (reflection) ที่นำไปสู่การฝึกทักษะการเรียนรู้ที่นักเรียนกำกับการเรียนรู้ของตนเอง (self-directed learning) เป็น ผ่านกระบวนการ สานเสวนา (dialogue) ระหว่างนักเรียนกับครู และระหว่างนักเรียนกับเพื่อนนักเรียนด้วยกัน

เขียนโดยศาสตราจารย์ นายแพทย์ วิจารณ์ พานิช
17 ธันวาคม 2564
บทที่ 5 กรอบปฏิบัติการที่ ๑ วัฒนธรรมปฏิสัมพันธ์(Interactive Culture)
CP5.png


ห้องเรียนที่ให้ผลลัพธ์การเรียนรู้สูงจากการพูด ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง (นักเรียนและครู) ต้องมีความเข้าใจร่วมกันเกี่ยวกับกติกาที่ใช้จัดการการพูด หรือจัดการปฏิสัมพันธ์ ซึ่งเมื่อปฏิบัติไปนานๆ ก็จะกลายเป็นความเข้าใจร่วมกันโดยไม่ต้องเห็นข้อเขียนกติกา แต่เมื่อเริ่มต้นน่าจะต้องมีการทำความตกลงกติกาและเขียนติดไว้ในห้องสำหรับเตือนใจ ย้ำว่ากติกาต้องมาจากการอภิปรายและทำความตกลงกันในชั้น ไม่ใช่ครู หรือโรงเรียนกำหนด 

ตัวอย่างเช่น เราฟังอย่างตั้งใจ เรามองหน้าผู้พูด เราเคารพความคิดเห็นของผู้อื่น เราพูดทีละคน เราไม่พูดแซงกันหรือพูดซ้อนกัน ไม่แย่งกันพูด ไม่ผูกขาดการพูดไว้คนเดียว ให้เวลาคนอื่นสำหรับคิด เป็นต้น 

ข้อสรุปจากงานวิจัยใน ๕ ประเทศ (อังกฤษ สหรัฐอเมริกา อินเดีย ฝรั่งเศส และรัสเซีย) บอกว่า ประเด็นเชิงวัฒนธรรมในห้องเรียนที่ผู้สอนแบบสานเสวนาพึงตระหนักถึงมี ๖ มิติ คือ
(๑) ประเด็นเชิงสังคมชีวิตฆราวาส (temporal) 
(๒) ประเด็นเชิงกระบวนการ (procedural)
(๓) พฤติกรรม (behavioral) 
(๔) ปฏิสัมพันธ์ (interactive)
(๕) ภาษา (linguistic)
(๖) หลักสูตร (curricular) 
เนื่องจากการสอนเสวนาเน้นความร่วมมือ ครูจึงต้องระมัดระวังไม่ให้บรรยากาศแข่งขัน หรือเล่นเกมเอาชนะระหว่างนักเรียนเข้ายึดครองห้องเรียน ครูต้องมีวิธีทำให้นักเรียนทุกคนมีโอกาสพูดเท่าๆ กัน

อีกประเด็นหนึ่งคือ โอกาสและความกล้า (ของทั้งนักเรียนและครู) ในการเข้าสู่การเสวนาประเด็นที่มีข้อโต้แย้ง มีความล่อแหลม หรืออ่อนไหวทางสังคมหรือความเชื่อ 

ครู (และเพื่อนนักเรียน) พึงตระหนักว่า นักเรียนบางคนต้องการการสนับสนุนหรือโอกาสพูดแตกต่างจากคนอื่นๆ เพราะการพูดเป็นเรื่องยากสำหรับเขา ครูและเพื่อนๆ ต้องให้โอกาสด้วยความเห็นอกเห็นใจ ซึ่งอาจส่งผลให้นักเรียนที่อ่อนแอด้านการพูด กลายเป็นคนที่มั่นใจในตนเองที่จะแสดงข้อคิดเห็นที่เฉียบแหลม แตกต่างจากข้อคิดเห็นของคนอื่น 

ข้อพึงตระหนักอีกข้อหนึ่งคือ นักเรียนจากบางวัฒนธรรมอาจมีความยากลำบากที่จะร่วมเสวนาหรือ ให้ข้อคิดเห็นในบางประเด็นที่ในสังคมของเขาเป็นเรื่องต้องห้าม 

วิถีปฏิบัติตามปกติ หรือมาตรฐาน (norms) สำหรับห้องเรียนที่สอนแบบสานเสวนาอาจแบ่งออกเป็น ๓ กลุ่ม คือ (๑) ด้านการสื่อสาร (communicative) (๒) ด้านการถกเถียง (deliberative) และ (๓) ด้านความรู้ (epistemic) 

ข้อปฏิบัติด้านการสื่อสาร

เป็นลักษณะของธุรกรรม (transaction) หรือกิจกรรมการพูด เช่น ฟังซึ่งกันและกันอย่างตั้งใจ สบตาผู้พูดหรือผู้ที่เราพูดด้วย ไม่ขัดจังหวะหรือพูดแทรกในขณะที่ผู้อื่นกำลังพูด ไม่ครอบครองเวทีพูดอยู่คนเดียว ส่งเสริมให้ผู้อื่นพูด ให้เวลาผู้อื่นคิด เป็นต้น 

ข้อปฏิบัติด้านการถกเถียง

เป็นกติกาด้านการอภิปราย ถกเถียง และโต้แย้ง เช่น เสนอจุดยืนชัดเจนที่สุดเท่าที่จะทำได้ แยกระหว่างข้อเท็จจริงกับข้อคิดเห็น ยื่นข้อเสนอพร้อมข้อมูลหลักฐานและเหตุผล พร้อมที่จะท้าทายข้อเสนอที่มีผู้ให้ไว้ โดยมีเหตุผลประกอบ เสนอจุดยืนโดยพร้อมที่จะปรับปรุงเปลี่ยนแปลงหากมีคำแนะนำที่ดีของผู้อื่น

ข้อปฏิบัติด้านความรู้

เป็นกติกาว่าด้วยเนื้อหาความรู้ในการอภิปราย ซึ่งแตกต่างไปตามกลุ่มสาระ (domain) หรือรายวิชาในหลักสูตร หรืออาจแตกต่างไปตามแต่ละบทเรียนก็ได้ ประเด็นเอาใจใส่ในที่นี้เป็นเรื่องถ้อยคำที่ใช้ในกลุ่มสาระ ไม่แตะเข้าไปถึงศัพท์เทคนิคของแต่ละกลุ่มสาระหรือรายวิชา 

ในที่นี้เราสนใจการใช้ถ้อยคำที่สะท้อนการคิด และการให้ความหมาย ซึ่งในบางกลุ่มสาระ เช่น วรรณคดี ประวัติศาสตร์ และหน้าที่พลเมือง มีประเด็นอ่อนไหวทางสังคมที่จะต้องระมัดระวัง ซึ่งในชั้นมัธยมและอุดมศึกษามีมากกว่าในชั้นประถม 

สรุปกรอบปฏิบัติการที่ ๑ ได้ว่า เป็นเรื่องของการสร้างวัฒนธรรมการพูดเพื่อการเรียนรู้ร่วมกัน 

เรื่องเล่าจากห้องเรียน
 
คุณครูกิ๊ฟ - จิตตินันท์ มากผล ครูผู้สอนหน่วยวิชาภูมิปัญญาภาษาไทย ระดับชั้นประถมปีที่ ๒ โรงเรียนเพลินพัฒนา นำเอาการสานเสวนาเข้าไปในชั้นเรียนด้วยการสร้างแผนการเรียนรู้ ที่มีชื่อว่า “กลอนเพลง”

แผนการเรียนรู้แผนนี้ มีขึ้นเพื่อสร้างความสนุกสนานในการทำความรู้จักกับเสียงของคำที่มีอยู่รอบๆ ตัวให้กับเด็กๆ เริ่มจากการนำเสนอเสียงของคำพยางค์เดียวที่นักเรียนรู้จักคุ้นเคย เช่น เสียงกระดิ่งกริ๊งๆ แล้วนำมาแปลงให้มีความไพเราะมากยิ่งขึ้น เป็นเสียงกระดิ่งกรุ๊งกริ๊ง 

บทที่_๕.๑.png
จากนั้นจึงให้เด็กๆ ช่วยกันหาเสียงที่มีความไพเราะจากสิ่งที่อยู่รอบๆ ตัว ในขั้นนี้เองที่ชั้นเรียนจะเต็มไปด้วยการสนทนาถึงสิ่งต่างๆ ว่ามีเสียงอย่างไร นักเรียนแต่ละคนเล่าถึงเสียงที่ตนเองสนใจได้อย่างมั่นใจ เพราะเป็นประสบการณ์ตรงของเขาเองจึงรู้สึกสบายใจ เมื่อต้องนำเสนอก็จะยิ้มอย่างภาคภูมิใจเมื่อมีเพื่อนให้ความสนใจกับเสียงนั้นเป็นพิเศษ และเมื่อถึงเวลาที่ต้องเขียนให้ถูกว่าเสียงเหล่านั้นสะกดอย่างไร ครูก็เปิดโอกาสให้ทุกคนก็จะช่วยกันสะกดได้อย่างเต็มที่ บรรยากาศของการเรียนรู้จึงอบอวลไปด้วยความสุข

บทที่_๕.๒.pngความสุขของทุกคนทวีมากยิ่งขึ้น เมื่อครูนำเอาคำสี่พยางค์บนกระดาน มาประกอบให้เป็นกลอนเพลงที่เกิดจากการนำเสียงคำเหล่านั้นมาสลับตำแหน่งกลับไปกลับมา ให้เกิดเป็นเสียงที่ไพเราะและสนุกสนาน

บทที่_๕.๓.png
ความสนุกที่เกิดขึ้นดึงดูดให้เด็กทุกคนมีส่วนร่วม และอยากจะทดลองแต่งกลอนเพลงจากเสียงที่ตนเองเลือก แต่ก่อนจะปล่อยให้เด็กแต่ละคนลงมือทำงาน ครูมีโจทย์ให้ทดลองคิดกลอนเพลงด้วยกันสัก ๑ บทก่อน เพื่อเสริมสร้างความมั่นใจและความเข้าใจที่มีให้มากขึ้นยิ่งไปอีก

บทที่_๕.๔.pngเด็กๆ ได้นำเอาเสียงของกรรไกรที่ดังฉึบฉับมาแต่งเป็นกลอนเพลงของห้อง ๒/๒ จากข้อเสนอของคิน ซึ่งในขั้นตอนนี้ ครูยังสามารถเพิ่มกระบวนการสานเสวนาเข้ามาได้ตั้งแต่ขั้นของการนำเสนอเสียงคำที่ตนเองเลือกให้กลุ่มเพื่อนได้รับรู้ และการฝึกให้ทุกคนได้เรียนรู้เรื่องของการเสนอและการรับฟังความคิดเห็นที่ยากขึ้นไปกว่าขั้นของการนำเสนอเสียงไพเราะให้คุณครูบันทึกบนกระดาน

ในขั้นของการตกลงเลือกว่าจะใช้เสียงไหนก็เป็นอีกขั้นตอนหนึ่งที่จะขยายผลเรื่องของการฝึกให้เหตุผลในเรื่องความสนุก ความไพเราะ และความหมายของเสียงได้ หากข้อสรุปนำไปสู่ความเห็นที่แตกต่างก็จะเกิดทางเลือกที่ต้องตัดสินใจ หรือมิเช่นนั้นก็อาจจะทำให้ได้กลอนเพลงที่เกิดขึ้นจากการฝึกฝนร่วมกันเพิ่มมาอีกสองสามบท ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ายินดีเพราะยิ่งได้ฝึกฝนมากขึ้นเท่าไร ความคล่องแคล่วก็จะยิ่งเพิ่มพูนมากขึ้น เพียงนั้น

กิจกรรมการฝึกฝนที่สนุกอย่างนี้ ช่วยให้สมาชิกทุกคนได้เรียนรู้ทั้งเรื่องของการสะกดคำ การผันวรรณยุกต์ และการฝึกเขียนเสียงคำที่มีท่วงทำนองคล้องจอง ซึ่งเป็นพื้นฐานของการแต่งกลอนสี่อย่างเป็นธรรมชาติ โดยอาศัยการสานเสวนามาสร้างวัฒนธรรมการพูดเพื่อการเรียนรู้ร่วมกันได้อย่างกลมกลืน

๕_กลอนเพลง1.png
กลอนเพลง คุณครูกิ๊ฟ - จิตตินันท์ มากผล
ดาวน์โหลดเอกสาร
ศาสตราจารย์ นายแพทย์ วิจารณ์ พานิช
นักเขียน
ศาสตราจารย์ นายแพทย์ วิจารณ์ พานิช
รองประธานกรรมการมูลนิธิสยามกัมมาจล นายแพทย์ผู้สนใจประเด็นการศึกษา เจ้าของผลงานหนังสือเกี่ยวกับการจัดการเรียนรู้หลากหลายเล่ม ตั้งแต่ เลี้ยงลูกยิ่งใหญ่, วิถีสร้างการเรียนรู้เพื่อศิษย์ในศตวรรษที่ 21, สนุกกับการเรียนในศตวรรษที่ 21 ฯลฯ
แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน
profile
กรุณา Login ก่อน comment
เนื้อหาทั้งหมด