สอนเสวนา_Cover_front
ทฤษฎีการศึกษาการศึกษา

หนังสือ สอนเสวนาสู่การเรียนรู้เชิงรุก

อ่าน 776 นาที

หนังสือเล่มนี้เขียนขึ้นเพื่อชี้แนวทางจัดการเรียนรู้แบบที่เรียกว่า active learningหรือการเรียนรู้เชิงรุก โดยมีเป้าหมายเพื่อฝึกนักเรียนให้เรียนรู้จากการปฏิบัติตาม ด้วยการคิดที่เรียกว่า การใคร่ครวญสะท้อนคิด (reflection) ที่นำไปสู่การฝึกทักษะการเรียนรู้ที่นักเรียนกำกับการเรียนรู้ของตนเอง (self-directed learning) เป็น ผ่านกระบวนการ สานเสวนา (dialogue) ระหว่างนักเรียนกับครู และระหว่างนักเรียนกับเพื่อนนักเรียนด้วยกัน

เขียนโดยศาสตราจารย์ นายแพทย์ วิจารณ์ พานิช
17 ธันวาคม 2564
บทที่ 13 ดัชนีบอกความเป็นการสอน แบบสานเสวนา
CP13.png

ดัชนีบอกความเป็นการสอนสานเสวนาที่ดี มีการวิวัฒนาการเรื่อยมาเกือบ ๒๐ ปี  จากมีจำนวนถึง ๕๑ ข้อ ลงมาเหลือ ๑๕ ข้อในหนังสือ A Dialogic Teaching Companion ดังต่อไปนี้ 

๑. ให้เกียรติแก่นักเรียนทุกคน ในเรื่องสถานการณ์ ความต้องการ และสิทธิ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักเรียนจากชุมชนหรือครอบครัวด้อยโอกาส หรือมีปัจจัยด้านสังคมหรือด้านสุขภาพที่ทำให้แสดงออกต่อหน้าคนอื่นได้ยาก

๒. เห็นพ้องและเคารพต่อข้อพึงปฏิบัติในการพูด ฟัง และอภิปราย

๓. มีความพร้อมที่จะเอาใจใส่ทั้งต่อการพูดเอง และต่อความสัมพันธ์ของการพูดกับการอ่านและเขียน

๔. มีชุดแนวทางปฏิบัติด้านการสอน รูปแบบของปฏิสัมพันธ์ และรูปแบบการพูดของทั้งนักเรียนและของครู 

๕. ปฏิสัมพันธ์ที่ส่งเสริมให้นักเรียนคิด และคิดหลากหลายแบบ 

๖. คำถามที่เชื้อเชิญให้เกิดการคิดและเสวนาต่อเนื่อง ไม่ใช่เพียงให้ได้ถาม ไม่ใช่เพียงเพื่อให้ได้ทบทวนเรื่องราว ผมตีความว่า เป็นคำถามที่ทำให้เกิดกิจกรรมต่อเนื่องไปข้างหน้า ไม่เพียงเพื่อทบทวนกิจกรรมที่เกิดแล้ว

๗. คำตอบที่ไม่ใช่แค่ตอบแล้วจบ แต่ได้รับการตรวจสอบ และใช้ดำเนินการเสวนาต่อ

๘.คำป้อนกลับ (feedback) ที่ช่วยให้เกิดการคิดไปข้างหน้า (feed forward) และเสนอโดยทั้งนักเรียนและครู

๙. การเคลื่อนกิจกรรมเสวนาที่กระตุ้นและขยายบทบาทของนักเรียน

๑๐. การพูดแลกเปลี่ยนความคิดที่เกี่ยวพันต่อเนื่อง และทำให้เกิดคำถามที่ลึกขึ้น

๑๑. การอภิปรายที่แนวความคิดได้รับการแชร์ รับฟัง และตรวจสอบอย่างอิสระ

๑๒. การโต้แย้งที่มีการทดสอบและยืนยันหลักฐานและข้อเสนอ

๑๓. มีการจัดรูปแบบห้องเรียน จัดกลุ่มนักเรียน เวลา และความเร็วของการเรียน อย่างมีสมดุลระหว่างกิจกรรมทั้งชั้น กลุ่มย่อย และเรียนคนเดียว

๑๔. วัฒนธรรมห้องเรียนที่พลวัตการเสวนาสะท้อนการทำงานเป็นกลุ่ม ต่างตอบแทน และสนับสนุนซึ่งกันและกัน รวมทั้งมีสาระและการดำเนินการที่ร่วมกันตรวจสอบอย่างละเอียด มีการสั่งสมความรู้และข้อมูลอย่างมีเป้าหมายชัดเจน

๑๕. มีจุดยืนหรือท่าทีของการสานเสวนาที่เน้นการเรียนรู้ ความรู้ และความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์พอๆ กันกับเป้าหมายจำเพาะของกิจกรรมที่กำหนด

จาก ๑๕ ตัวชี้วัด หนังสือเสนอว่า หากจะหาชุดตัวชี้วัดที่สั้นที่สุด ก็จะเหลือ ๒ ตัวชี้วัดคือ
  • การสอนที่ทำให้นักเรียนต้องคิด ไม่ใช่แค่พูดตามที่จำมาจากคนอื่นหรือที่อื่น
  • คำตอบที่นำไปสู่คำถามต่อเนื่อง

เรื่องเล่าจากเวทีสานเสวนาเพื่อพัฒนาครู

ความว่าการเรียนรู้สมัยใหม่เป็นที่รู้กันว่าการเรียนรู้แบบ passive มันไม่ทำให้รู้จริง เพราะฉะนั้นการเรียนรู้จะต้องให้เป็น active มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ หรือทั้งหมดเลย active learning นี้จริงๆ แล้วคือการ learning by doing เป็นการเรียนรู้ผ่านการกระทำ ทีนี้การพูดเป็นการกระทำอย่างหนึ่ง ก่อนจะพูดต้องคิดก่อนแล้วจึงพูด 

เพราะฉะนั้นการพูดคุยกันนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของ learning by doing และในหนังสือเล่มนี้จะชี้ให้เห็นว่าคำพูดของครูมีสารพัดแบบ แล้วก็มีพลังสูงมากต่อการเรียนรู้ของลูกศิษย์ ถ้าครูมีทักษะในการพูดอย่างเหมาะสมและถูกต้องตามจังหวะจะโคนของการเรียน 

การพูดของครูเพื่อกระตุ้นการเรียนของนักเรียน ตามแบบที่เรียกว่าที่ใช้กันทั่วไป ภาษาฝรั่งเขาเรียกว่า IRE ตัว I คือ initiate เริ่มต้น อาจจะใช้คำถาม อาจจะใช้คำพูดบางคำที่ก่อความสนใจ แล้วให้นักเรียน response คือตัว R ถ้าเป็นคำถามก็ให้นักเรียน response เป็นคำตอบ แล้วตัว E คือ evaluation ครูประเมินว่าเด็กเป็นอย่างไร นี่เป็นแบบที่ใช้กันอยู่โดยทั่วไป แต่ว่าตามหนังสือเล่มนี้เขาบอกว่าจะให้ดีควรจะเป็น IRF แทนตัว E ด้วยตัว F คือ feedback หมายความว่าพอครูประเมินแล้วไม่ใช่ประเมินถูกหรือผิด หรือเหมาะสมหรือไม่เหมาะสม แต่ว่ามีการตอบ feedback นักเรียนไปว่าที่เขาพูดเป็นอย่างไร ซึ่งหนังสือบอกว่าตัว F ไม่ควรจะเป็น feedback แต่ควรจะเป็น feed forward คือหมายความว่าเป็นการพูดสนองเด็กเพื่อให้เด็กคิดต่อไปอีกอย่างนี้เป็นต้น ทั้งหมดนี้เป้าหมายเพื่อให้นักเรียนเรียนได้ในมิติที่ลึก เป็น deep thinking skill 

ในซีรีส์ของ Online PLC คราวนี้ก็เพื่อที่จะให้ครูที่ได้นำเอาต้นฉบับชุดนี้ไปทดลองใช้ แล้วเอามาแชร์กันนะครับ เพื่อการเรียนรู้ร่วมกันในเรื่องคำพูดของครูเพื่อกระตุ้นให้เด็กได้คิด ได้เรียนเยอะ ไม่มีจบสิ้น พัฒนาได้ไม่จบสิ้น เรียนรู้ได้ไม่จบสิ้น ที่เขียนไว้ในหนังสือนี้เป็นเพียงตัวอย่าง หรือว่าเป็นเพียงการจุดชนวนเท่านั้น แล้วที่เรามา PLC กันนี้ก็เช่นเดียวกัน โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ครูมาเรียนรู้กัน”

หลักคิดในการออกแบบกระบวนการเรียนรู้ของเวทีสานเสวนาเพื่อพัฒนาครูทั้ง ๔ ครั้ง คุณครูใหม่ - วิมลศรี ศุษิลวรณ์ ใช้คลิปจากห้องเรียนของคุณครูต้นเรื่องที่มีความยาวประมาณ ๕ นาที คราวละ ๕ เรื่อง มาเป็นจุด initiate การเสวนา โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิเป็นผู้ response หลัก เพื่อทำการ feed forward ให้ครูต้นเรื่องและครูที่เข้ามาร่วมเรียนรู้กับวง มองเห็นประเด็นเรียนรู้ที่น่าสนใจจากกรณีศึกษาที่ยกขึ้นมาเป็นตัวอย่างร่วมกัน 

จากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันอย่างเข้มข้นในเวทีแรก คุณครูปาด - ศีลวัต ศุษิลวรณ์ ได้ตั้งข้อสังเกตว่า “ต้องขอขอบคุณคุณครูทุกท่านเลยนะครับ ที่เอาตัวอย่างมาเรียนรู้ด้วยกัน ทำให้ผมเองได้เรียนรู้อะไรอีกมาก โดยเฉพาะในขั้นของการ initiate ด้วยประสบการณ์ที่น่าสนใจ หรือประสบการณ์แปลกๆ เช่นเสียงน้ำจากห้องเรียนของคุณครูกิ๊ฟ initiate ด้วยข่าวจากห้องเรียนของห้องเรียนคุณครูกิ๊ก และ initiate การ dialogue ด้วยงานของเด็กจากห้องเรียนของคุณครูกลอย ตัวที่ครูหยิบมา initiate แต่ละอย่างมันส่งผลต่อน้ำหนักและโฟกัสของการ dialogue ที่ไม่เหมือนกัน ประสบการณ์แปลกๆ มันก็ให้ dialogue ในแบบที่มีลักษณะแบบไปทางความรู้สึกนึกคิดและโปร่งเบามากที่สุด ถ้าเทียบกับ ๓ แบบ แบบของข่าวก็จะอยู่ตรงกลางๆ มันมี content อยู่ระดับหนึ่ง แต่ก็ยังมีความโปร่งเบาอยู่ระดับหนึ่ง พอมาถึงการเอางานมาเป็นจุด initiate มันก็จะให้ dialogue ที่มีโฟกัสและมีน้ำหนักมาก ซึ่งมีข้อดีข้อเสียต่างกัน ถ้าเราต้องการ dialogue ที่มีโฟกัสมีน้ำหนัก งานนี่รู้สึกว่าจะให้ผลสูง แต่ในทางกลับกัน งานก็จะให้บรรยากาศของการ dialogue ซึ่งโปร่งเบาน้อยลง ถ้าเทียบกับตัวอื่นๆ หรือตัวอื่นมันให้ความโปร่งเบาแต่ว่ามันจะต้องมีปัญหาในการคุมให้สู่เป้าหมายของชั้นเรียนอีกนะครับ 

ดังนั้นตอนนี้ผมกำลังรู้สึกว่าจาก ๓ - ๔ ตัวอย่างที่ผ่านมานี้ ทำให้เริ่มมองเห็นแล้วว่าครูน่าจะลองทำความรู้จักกับเครื่องมือ initiate ที่แตกต่างกันแล้วก็รู้จุดอ่อนจุดแข็งของมัน แล้วลองออกแบบว่าทำอย่างไรให้ dialogue ของเรามีความโปร่งเบา ราบรื่น ขณะเดียวกันก็มีโฟกัส มีน้ำหนัก ที่จะไปสู่เป้าหมายของชั้นเรียน พูดง่ายๆ ว่าไปสู่เป้าหมายของแผนการสอนได้ด้วย การปรับสัดส่วนของตัวจุดประกายหรือตัวที่เราเอามาวางไว้ให้เกิด dialogue บางทีอาจจะต้องใช้หลายๆ แบบหรือไม่ สลับไปสลับมาอะไรแบบนี้นะ อันนี้ผมยังไม่เห็นทางออกที่ชัดนะครับ แต่ว่าเริ่มมองเห็นว่าตัวที่เราใช้จุด dialogue มันให้น้ำหนักกับบรรยากาศคนละชนิดกัน นี่คือประเด็นที่ผมอยากจะนำเสนอครับ”


ในเวทีสานเสวนาครั้งที่ ๒ ที่จัดขึ้นเมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๖๔ คุณครูเปีย - วรรณวรางค์ รักษทิพย์ ได้นำเสนอคลิปการจัดกระบวนการเรียนรู้ในช่วง ‘เพลินเรียนรู้’ ตอนประเมินปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งบ้านขุนสมุทรจีน จ.สมุทรปราการ ของหน่วยวิชาโครงงานฐานวิจัย ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖ โรงเรียนเพลินพัฒนา ด้วยวิธีการสร้างความเข้าใจในเหตุปัจจัยของปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งด้วยการอุปมาแต่ละปัจจัยกับตัวผู้เล่นในเกมการแข่งขันฟุตบอล และใช้การรับชมเกมฟุตบอลเป็นตัว initiate การสานเสวนาในคาบเรียนที่มีขึ้นเพื่อฝึกสมรรถนะในการทำโครงงานฐานวิจัยจากการใช้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งบ้านขุนสมุทรจีนเป็นเนื้อหาช่วยฝึก 

พื้นที่ของบ้านขุนสมุทรจีนมีความน่าสนใจตรงที่อยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ อีกทั้งชุมชนมีการดำเนินการแก้ปัญหาในเรื่องการกัดเซาะชายฝั่งหลากหลายรูปแบบด้วยกัน บ้านขุนสมุทรจีนจึงเป็นแหล่งเรียนรู้เรื่องราวเกี่ยวกับภัยพิบัติที่ทางโรงเรียนเพลินพัฒนาจะต้องนำนักเรียนชั้น ๖ ออกไปศึกษาภาคสนามทุกปี แต่ในการสอนให้ผู้เรียนมีความเข้าใจและเห็นภาพรวมของสถานการณ์ปัญหา จนเกิดความเข้าใจอย่างถ่องแท้นั้นยังคงเป็นเรื่องที่ยากอยู่พอสมควร

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด ๑๙ ที่นักเรียนต้องเรียนรู้อยู่ที่บ้าน และไม่สามารถลงไปศึกษาปัญหาจริงจากพื้นที่ภาคสนามได้ คณะครูจึงได้ร่วมมือกันออกแบบกระบวนการเรียนรู้ให้นักเรียนได้ศึกษาค้นคว้าข้อมูล แสดงความคิดเห็นต่อปัญหา และสร้างมโนทัศน์ร่วมกันบนพื้นที่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้เสมือนเพื่อสร้างความตระหนักต่อปัญหาดังกล่าว

แผนการสอนในครั้งนี้มีความร้อยเรียงต่อเนื่องจากครั้งก่อน ซึ่งนักเรียนได้รู้จักกระบวนการเกิด และการหายไปของชายฝั่ง รู้ข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับบ้านขุนสมุทรจีน อีกทั้งยังได้สำรวจปัจจัยที่ก่อให้เกิดการงอกและการกัดเซาะของชายฝั่งมาก่อนหน้านี้แล้ว โจทย์สำคัญของวันนี้จึงเป็นการประเมินปัญหาเพื่อมองเห็นจุดอ่อน และโอกาสในการแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งที่บ้านขุนสมุทรจีน 

ในการจัดการเรียนการสอน ครูได้หยิบยกเอาเรื่องที่หลายคนคุ้นเคย นั่นคือ เกมการแข่งขันฟุตบอล มาเป็นสถานการณ์เทียบเคียงกับสถานการณ์การกัดเซาะชายฝั่งที่บ้านขุนสมุทรจีน โดยเริ่มจากให้นักเรียนได้รู้จักกับฝ่ายรุก ฝ่ายตั้งรับในสนามแข่ง ประเมินศักยภาพของผู้เล่นแต่ละฝ่ายในเกมฟุตบอล จากนั้นจึงยกสถานการณ์ประลองระหว่างฝ่ายรุกที่เป็นตัวการการกัดเซาะได้แก่ ลม คลื่น และฝ่ายตั้งรับได้แก่ ป่าชายเลน สิ่งมีชีวิตที่ก่อให้เกิดการหมุนเวียนธาตุอาหารของป่าชายเลน ตะกอน กระซ้า บริเวณชายฝั่งซึ่งนักเรียนได้เรียนรู้มาแล้วว่าเป็นปัจจัยที่ช่วยรักษาชายฝั่งไว้ นอกจากนี้ ครูยังได้เปิดตัวผู้เล่นที่อ่อนแอซึ่งอยู่บนชายฝั่ง ได้แก่ นากุ้ง (การทำนากุ้งจะต้องมีการขุดตักหน้าดินที่เกิดจากตะกอนสะสมออกไป ทำให้แผ่นดินหายไปอย่างรวดเร็วโดยมนุษย์) ซึ่งเป็นตัวการที่ทำให้ชายฝั่งหายไปอย่างรวดเร็ว ผู้เรียนจะต้องถ่ายถอดประสบการณ์จากสนามฟุตบอลมาสู่สนามแข่งบ้านขุนสมุทรจีน เพื่อประเมินศักยภาพในการตั้งรับ และบอกได้ว่าผู้เล่นคนสำคัญของบ้านขุนสมุทรจีนที่ต้องรักษาไว้คือใคร และผู้เล่นที่แสนอ่อนแอที่ทำให้ชายฝั่งโดนทำลายได้ง่ายคือใคร โดยในท้ายที่สุด นักเรียนสามารถลงความเห็นได้ว่าผู้เล่นที่อ่อนแอคือนากุ้ง และป่าชายเลนคือผู้เล่นที่มีความสามารถสูงซึ่งต้องรักษาไว้ 

บทที่_๑๓.๑.png
บทที่_๑๓.๒.png

ในส่วนของตัวผู้สอน ครูเปียได้เขียนบันทึกประสบการณ์ครั้งนี้เอาไว้ว่า...

“ผู้สอนได้ใช้คำแนะนำในเรื่องการใช้คำถาม และการสร้างการพูดในจังหวะที่สาม มาปรับใช้เพื่อดำเนินการสนทนาขับเคลื่อนบทเรียนไปสู่เป้าหมายตลอดกระบวนการเรียนรู้

ในการใช้คำถาม ผู้สอนใช้คำถามเพื่อเริ่มการสนทนา ชวนแลกเปลี่ยนสิ่งที่สังเกต ซึ่งคำถามสองรูปแบบนี้จะอยู่ในส่วนของการเริ่มต้นบทเรียน หรือเมื่อเคลื่อนคำถามไปสู่เรื่องใหม่ และใช้คำถามชวนสะท้อนคิด ทำนาย เพื่อให้ผู้เรียนได้ใคร่ครวญก่อนพูดหลังจากการสนทนาดำเนินไประยะหนึ่ง

ส่วนการใช้จังหวะที่สาม ผู้สอนได้ใช้วิธีชวนให้ออกความเห็น ชวนขยายความ พูดใหม่ ใช้ถ้อยคำใหม่ ทำความชัดเจน สรุป ทำนาย ซึ่งผู้สอนจะสลับแต่ละวิธีกันไปตลอดบทเรียน เพื่อกระตุ้นการคิดและการสนทนาหลากมุม

เมื่อย้อนดูบันทึกวิดีโอขณะสอน ผู้สอนเห็นว่าตนเองใช้เทคนิคการกำหนดผู้ตอบ การกระจายการมีส่วนร่วม และการถามเพื่อขยายความ เนื่องจากผู้สอนสังเกตว่า การเรียนออนไลน์ในเด็กโตนั้น นักเรียนจะขอยกมือตอบเองน้อยลง ดังนั้น การเรียกให้ผู้เรียนตอบจึงเป็นการขับเคลื่อนบทเรียนไปได้ อย่างไรก็ตาม ผู้สอนต้องมีการเตรียมการอย่างมากในชั้นเรียนที่มีการเสวนา เริ่มตั้งแต่การวางแผนเลือกจังหวะคำถาม และคาดการณ์ว่า คำถามลักษณะนี้ ใคร หรือนักเรียนกลุ่มใดร่วมตอบได้ดี การสังเกตท่าทีของผู้เรียนหลังพูดคำถาม เพื่อดูว่าใครมีสายตา หรือแสดงอาการพร้อมตอบ รวมถึงการจดจำว่าใครเคยรู้และบอกเล่าหรือค้นคว้าเรื่องอะไรไว้จนแม่นยำในชั้นเรียนก่อนหน้าบ้าง การทำการบ้านมาก่อนเช่นนี้ ทำให้สามารถเลือกผู้เรียนโดยไม่สร้างความอึดอัดกดดันแก่ผู้ที่ถูกเลือกให้ตอบ นอกจากนี้ ผู้สอนยังได้ตรวจสอบการติดตามการสนทนา รวมถึงความคิดเห็น ความเข้าใจเป็นระยะผ่านคำถามที่ให้แสดงออกผ่านภาษากาย เช่น เห็นด้วยยกมือ คิดว่าไม่ดีให้ทำสัญลักษณ์กากบาท รวมถึงพยายามแทรกสลับคำถามจังหวะที่สามเพื่อตะล่อมเข้าสู่ใจความสำคัญในบทเรียนนั้น

บทที่_๑๓.๓.png

อย่างไรก็ตาม ผู้สอนได้เห็นสิ่งที่ควรปรับปรุงเช่นกัน เริ่มจากในบางจังหวะ ผู้สอนไม่ได้ให้เวลานักเรียนพูดให้จบ มีการตัดบทเพื่อรักษาคาบเรียนให้จบในเวลา สิ่งนี้มีผลเสียคือ ทำให้นักเรียนขาดโอกาสที่จะเล่าให้ลึกถึงแก่นความคิด หรือสิ่งที่อยากสื่อสารออกมาจริงๆ ซึ่งผู้สอนควรสร้างคำถามจากคำพูดของนักเรียน มากกว่าจะกังวลกับคำถามที่เตรียมมา เพื่อให้คำพูดของเพื่อนที่กล้าเปิดใจคนแรก เป็นตัวกระตุ้นประกายความคิดของคนอื่นให้ล้อมวงเข้ามามากขึ้น อีกทั้งผู้สอนควรฝึกให้เด็กได้ใช้ความไม่เห็นพ้องเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน เช่น การหาตัวอย่างมาแย้ง การท้าทายว่าสิ่งที่คิดจะเป็นเช่นที่ว่ามาเสมอไปหรือไม่ รวมถึงเชื้อเชิญให้ความเห็นต่างเกิดขึ้นได้อยู่เสมออย่างปกติ เพื่อสร้างให้ความปกติใหม่ที่น่าตื่นตาตื่นใจนี้ กลายมาเป็นวัฒนธรรมการเรียนรู้ที่ทุกคนคุ้นเคย”

๑๓_กัดเซาะชายฝั่ง1.png

เพลินเรียนรู้ คุณครูเปีย – วรรณวรางค์ รักษทิพย์
ดาวน์โหลดเอกสาร
ศาสตราจารย์ นายแพทย์ วิจารณ์ พานิช
นักเขียน
ศาสตราจารย์ นายแพทย์ วิจารณ์ พานิช
รองประธานกรรมการมูลนิธิสยามกัมมาจล นายแพทย์ผู้สนใจประเด็นการศึกษา เจ้าของผลงานหนังสือเกี่ยวกับการจัดการเรียนรู้หลากหลายเล่ม ตั้งแต่ เลี้ยงลูกยิ่งใหญ่, วิถีสร้างการเรียนรู้เพื่อศิษย์ในศตวรรษที่ 21, สนุกกับการเรียนในศตวรรษที่ 21 ฯลฯ
แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน
profile
กรุณา Login ก่อน comment
เนื้อหาทั้งหมด