สอนเสวนา_Cover_front
ทฤษฎีการศึกษาการศึกษา

หนังสือ สอนเสวนาสู่การเรียนรู้เชิงรุก

อ่าน 776 นาที

หนังสือเล่มนี้เขียนขึ้นเพื่อชี้แนวทางจัดการเรียนรู้แบบที่เรียกว่า active learningหรือการเรียนรู้เชิงรุก โดยมีเป้าหมายเพื่อฝึกนักเรียนให้เรียนรู้จากการปฏิบัติตาม ด้วยการคิดที่เรียกว่า การใคร่ครวญสะท้อนคิด (reflection) ที่นำไปสู่การฝึกทักษะการเรียนรู้ที่นักเรียนกำกับการเรียนรู้ของตนเอง (self-directed learning) เป็น ผ่านกระบวนการ สานเสวนา (dialogue) ระหว่างนักเรียนกับครู และระหว่างนักเรียนกับเพื่อนนักเรียนด้วยกัน

เขียนโดยศาสตราจารย์ นายแพทย์ วิจารณ์ พานิช
17 ธันวาคม 2564
บทที่ 10 กรอบปฏิบัติการที่ ๖ ขยายความ (Extending)
CP10.png

กรอบที่ ๖ “การพูดขยายความ” นี้ ต่อเนื่องมาจากกรอบที่ ๕ “ตั้งคำถาม” คือเมื่อมีการถามก็มีการตอบ ตามด้วยการประเมินหรือให้คำแนะนำป้อนกลับ ตามโมเดล IRE/ IRF ที่เราคุ้นเคยกันดีแล้ว การพูดขยายความช่วยให้ “จังหวะที่สาม” (the third turn) ของ IRE/ IRF ขยายยาวออกไป สร้างคุณค่าต่อการเรียนรู้เพิ่มขึ้นมากมาย ตรงตามเป้าหมายของการสอนแนวสานเสวนาในบันทึกชุดนี้ 

การพูดขยายความ ทำให้ “จังหวะที่สาม” เปลี่ยนจาก “ป้อนกลับ” (feedback) ไปเป็น “ป้อนไปข้างหน้า” (feed forward) สร้างการคิดและการเสวนาต่อเนื่อง โดยสำนักวิจัยต่างๆ ให้ชื่อกระบวนการพูดขยายความนี้มากมายหลากหลายชื่อ หลากหลายความหมาย ได้แก่ ขยายความ (elaboration) ถกเถียง (querying) พูดใหม่ (revoice) ใช้ถ้อยคำใหม่ (rephrase) ท้าทาย (challenge) สังเคราะห์ใหม่ (recapitulation) ทำความชัดเจน (clarify) สรุป (summarise) ทำนาย (predict)

การพูดป้อนไปข้างหน้านี้ ควรมาจากทั้งครูและนักเรียน โดยนักเรียนพูดมากกว่า เมื่อนักเรียนพูดครูฟังเพื่อทำความเข้าใจการคิดหรือวิธีคิดของนักเรียน และเพื่อใช้เป็นข้อมูลป้อนกลับแก่ครู สำหรับครูนำมาใช้ปรับปรุงการสอนของตน รวมทั้งเป็นข้อมูลเพื่อนำไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเพื่อนครูในกิจกรรม PLC

คำพูดใน “จังหวะที่สาม” นี้ อาจมีลักษณะต่างกันได้ ๒ แบบ คือ (๑) เป็นถ้อยคำเชิงเอื้อให้เกิดการคิดต่อเนื่อง สู่การทำความเข้าใจวิธีคิดและวิธีเรียนของตนเอง หนังสือใช้คำว่า facilitative feedback (๒) เป็นถ้อยคำที่บอกว่าคำตอบถูกหรือไม่ และควรทำอะไรต่อไปที่หนังสือใช้คำว่า directive feedback

การพูดเพื่อนำไปสู่การเสวนาแบบขยายความนี้ มีความเสี่ยงที่จะก่อความไม่เสมอภาคทางการเรียนรู้ในชั้นเรียนมากยิ่งกว่าการตั้งคำถามในบันทึกที่แล้ว มีผลการวิจัยที่ทำใน ๕ ประเทศที่เป็นสังคมที่ความเหลื่อมล้ำทางสังคมน้อยได้แก่ เดนมาร์ก ฟินแลนด์ ไอซ์แลนด์ นอร์เวย์ และสวีเดน ได้ผลว่าการให้คำพูดป้อนกลับ (feedback) ของครูแก่นักเรียนจากต่างสถานะทางเศรษฐกิจและสังคม มีความแตกต่างกัน รวมทั้งนักเรียนจากต่างสถานะดังกล่าวตีความคำพูดป้อนกลับเดียวกัน ต่างกัน นี่คือประเด็นอ่อนไหวที่สามารถนำมาเป็นโจทย์วิจัยชั้นเรียนในบริบทไทยได้

คำพูดในจังหวะที่สาม อาจเรียกว่าเป็นการพูดเพื่อเคลื่อนการเสวนาต่อ (talk move) โดยอาจทำได้ใน ๓ รูปแบบ (talk format) คือ ทำทั้งชั้น แบ่งกลุ่มย่อย หรือจับคู่นักเรียน การเคลื่อนการเสวนาต่อในจังหวะที่สาม เป็นกิจกรรมที่ขาดไม่ได้ในการสอนแนวสานเสวนา

หนังสือให้คำแนะนำ ๔ ประการสำหรับการพูดเพื่อนำสู่การขยายความ ดังนี้ 
(๑) เพื่อให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้อย่างได้ผลดีผ่านการอภิปราย ประการแรกต้องให้นักเรียนพูด เพื่อได้แสดงออกอย่างมีความหมาย และได้รับการรับฟังและเข้าใจ 
(๒) ต้องทำให้นักเรียนฟังซึ่งกันและกันอย่างตั้งใจ (๓) การอภิปรายต้องไม่ทำอย่างผิวเผิน นักเรียนต้องมีการเจาะลึกทำความเข้าใจเหตุผลของตนเอง (๔) เป้าหมายสำคัญที่สุดคือ เพื่อให้นักเรียนทำความเข้าใจเหตุผลของคนอื่น

การพูดเพื่อส่งเสริมการขยายความมี ๔ เป้าหมาย ๙ การขับเคลื่อน (move) ดังต่อไปนี้

เป้าหมาย : นักเรียนแต่ละคนแชร์ ขยาย และทำความชัดเจนต่อความคิดของตนเอง 
๑. มีเวลาคิด มีคนพูดและคนฟัง มีการเขียนในช่วงเวลาคิด มีช่วงเวลารอให้คิด 
๒. ขอให้พูดอีก “กรุณาพูดอีกทีได้ไหม” “เธอหมายความว่าอย่างไร” “ขอให้ยกตัวอย่างได้ไหม”
๓. หมายความว่าอย่างนี้ใช่ไหม “ขอครูทำความเข้าใจที่เธอพูด เธอหมายความว่าอย่างนี้ .... ใช่ไหม” 
เป้าหมาย : นักเรียนฟังซึ่งกันและกันอย่างตั้งใจ 
๔. ใช้คำพูดใหม่ หรือพูดซ้ำ “ใครจะช่วยพูดซ้ำตามที่สมศรีพูด ด้วยถ้อยคำของตัวเอง” “เพื่อนที่จับคู่กันพูดว่าอย่างไร”
เป้าหมาย : นักเรียนทำให้เหตุผลชัดเจนหรือลึกซึ้งขึ้น
๕. ถามหาหลักฐาน หรือวิธีให้เหตุผล “ทำไมเธอจึงคิดอย่างนั้น” “หลักฐานคืออะไร” “เธอได้ข้อสรุปนั้นมาอย่างไร” “มีข้อความในหนังสือตรงไหนที่ทำให้เธอคิดอย่างนั้น”
๖. ท้าทาย หรือหาตัวอย่างแย้ง “เป็นอย่างนั้นเสมอไปไหม” “แนวคิดนี้เข้ากันได้กับตัวอย่างของสมชายไหม” “หากสัตว์ตัวนั้นไม่ใช่สุนัขแต่เป็นแมว จะเกิดเหตุการณ์นั้นไหม”

เป้าหมาย : นักเรียนคิดร่วมกันกับผู้อื่น
๗. เห็นด้วย/ ไม่เห็นด้วย และให้เหตุผลว่าทำไม “ที่เธอพูดเหมือนหรือต่างจากที่ศักดาพูด หากต่าง ต่างตรงไหน” “คนทั่วไปคิดเรื่องที่บุญช่วยพูดว่าอย่างไร” “มีใครอยากพูดตอบประเด็นที่ไพบูลย์พูดไหม”
๘. พูดเสริม “ใครจะช่วยพูดเสริมจากที่ปราณีพูดไปแล้ว” “ใครจะช่วยเสนอเพิ่มเติมให้ข้อเสนอของสถาพรประสบความสำเร็จไหม” 
๙. อธิบาย “ใครจะช่วยอธิบายได้ไหมว่าที่สุนทรีพูด เธอหมายความว่าอย่างไร” “มีใครจะช่วยอธิบายด้วยคำพูดของตนเองไหม ว่าทำไมสมเดชจึงมีคำตอบนั้น” “ปราโมทย์ช่วยอธิบายข้อมูลหลักฐานที่อารีเสนอได้ไหม” 

สมัยผมเป็นเด็ก คงจะเป็นนักเถียงและก่อความขัดแย้ง คือนำไปสู่การทะเลาะกัน ผู้ใหญ่จึงสอนว่าเมื่อเราคิดไม่เหมือนเขาอย่าเถียง ให้นิ่งเสีย “อย่าต่อความยาวสาวความยืด” จะเห็นว่า บันทึกชุดนี้แนะนำในทางตรงกันข้าม คือให้ใช้ความไม่เห็นพ้องเพื่อการเรียนรู้ร่วมกัน แต่ต้องมีวิธีพูดและสื่อสารอย่างสุภาพ มีท่าทีเชิงบวก ไม่นำไปสู่การวิวาท

เรื่องเล่าจากห้องเรียน

ในการประชุมแกนนำกลุ่มผู้บริหารช่วงชั้นร่วมกับคุณครูกลุ่มงานวิชาการ เมื่อวันอังคารที่ ๒๓ มีนาคม ๒๕๖๔ คุณครูใหม่ - วิมลศรี ศุษิลวรณ์ ได้นำประชุมโดยการสานเสวนา เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ต้องการคือ รูปแบบของการอบรมเชิงปฏิบัติการ เพื่อที่จะพัฒนาคุณครูในช่วงชั้นที่ ๑ - ๒ ของโรงเรียนเพลินพัฒนาทั้ง ๘๐ กว่าคน ให้เกิดความตระหนักในคุณค่าของการพัฒนาหน้างานประจำสู่งานวิจัย (Routine to Research)

บทที่_๑๐.๑.png
ครูใหม่ : พี่ขอให้ทุกคนย้อนขึ้นไปที่หัวกระดาษก่อนนะคะ เป้าหมายของเราในวันนี้ คือ เราจะออกแบบ workshop ที่เป็น active learning เพื่อนำพาให้ผู้เข้าร่วมทุกคน ได้นำเอาประสบการณ์ในการทำวิจัยของตนออกมา แล้วสังเคราะห์ออกมาเป็นความรู้มือหนึ่ง ซึ่งการสังเคราะห์ความรู้นี้จะนำไปสู่อะไร “คุณค่าแท้ของการทำงาน R2R” ใช่ไหมคะ เราจะทำอย่างไรทำให้ครูเข้าถึงแก่นตัวนี้ ได้ภายใต้เวลาที่แต่ละฐานมีอยู่คือ ๙๐ นาที 

ที่เขียนเป้าหมายเอาไว้ว่าสังเคราะห์ความรู้มือหนึ่งนั้น พี่ขอถามว่าความรู้มือหนึ่ง ได้มาจากอะไร เราจะจัดกลุ่มผู้เข้าร่วมของเราจากเกณฑ์อะไร ณ วันนี้ทุนของสมาชิกแต่ละคนอยู่ที่ไหน ก็อยู่ที่การทำวิจัยบทที่ ๑ จนถึงบทที่ ๕ จนกระทั่งพวกเขาได้คำตอบต่อคำถามบางอย่างที่เขาเลือกมาทำเป็นคำถามวิจัย ในวันนี้เราต้องการจะชี้ให้เขาได้เห็นว่า ในเส้นทางที่ทุกคนผ่านมา การทำงานวิจัยก่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจในความเชื่อมโยงจากหน้างานปกติอย่างไร และเกิดการย้อนมองว่าคุณค่าของงานวิจัยแต่ละบทคืออะไร มีรสชาติเฉพาะตัวอย่างไร

เอาล่ะ ตอนนี้ขอให้ทุกคนค่อยๆ คิดออกแบบกิจกรรมของแต่ละฐานนะว่า จะทำให้ครูเข้าถึงคุณค่าของงานวิจัยแต่ละบทได้โดยวิธีอะไร เงื่อนไขคือ กิจกรรมที่คิดขึ้นจะต้องมีลักษณะเป็น active learning เพื่อให้ผู้เข้าร่วมได้เข้าถึงหัวใจที่แท้จริงของงานวิจัย ๕ บท โดยให้ฐานแต่ละฐานนำพาไปสู่การเข้าถึงความสำคัญของการทำงานวิจัยไล่ไปเป็นลำดับ ตั้งแต่ฐานแรก คือบทที่ ๑ ฐานที่สอง คือบทที่ ๒ ฐานที่สาม คือบทที่ ๓ ฐานที่สี่ คือบทที่ ๔ ฐานที่ห้า คือบทที่ ๕ เราคาดหวังว่าเมื่อครูได้เข้าครบทุกฐานแล้วเขาจะรู้เองว่าสิ่งที่เขากำลังทำนั้นคือเส้นทางแห่งคุณค่า พี่ขอย้ำว่าแต่ละฐานต้องใช้วิธีการที่แตกต่างกัน เพราะงานวิจัยแต่ละบทก็มีลักษณะเฉพาะที่มีเสน่ห์ของตัวเอง

ตอนนี้เรามีสมาชิกกี่คนอยู่ในห้อง ลองแบ่งกลุ่มกันคิดกิจกรรมการเรียนรู้สำหรับฐานแต่ละฐาน ซึ่งก็คือ บทที่ ๑ บทที่ ๒ บทที่ ๓ บทที่ ๔ บทที่ ๕ ใครหลงเสน่ห์บทไหนก็ไปอยู่ฐานนั้นนะคะ 

หลังจากนี้ไปเราจะให้เวลากระบวนกรทั้งหลายคิดนะคะ ถ้ามีคำถามอะไร ถามเข้ามาในไลน์กลุ่มได้เลยค่ะ 

ขอแนะนำว่าคนที่จะเลือกออกแบบฐานการเรียนรู้บทที่ ๑ ได้ จะต้องมีความเป็น อินทรี ประกอบกับความเป็น หมี ด้วย คนที่จะทำบทที่ ๒ ได้ต้องใช้ความเป็น หมี มากหน่อย ส่วนคนที่จะทำบทที่ ๓ ซึ่งการออกแบบกระบวนการวิจัย จำเป็นต้องใช้ความรอบคอบของ หมี มาวางแผน ใช้ความเป็น กระทิง มาช่วยทำให้งานเก็บข้อมูลบรรลุเป้าหมายว่าเมื่อไรงานควรจะเสร็จแค่ไหน แล้วคนที่ทำบทที่ ๔ ก็ต้องใช้ความเป็น หมี ข้อมูลทั้งหลายจึงจะจัดกลุ่มจัดจำแนกประเภทออกมาได้ และสุดท้ายบทที่ ๕ คนที่จะอภิปรายผลต้องเอา กระทิง อินทรี หมี มารวมร่างกัน (อ่าน คนสี่ทิศ ประกอบความเข้าใจเพิ่มเติม) 

ถ้าพี่จะอธิบายให้เข้าใจได้ง่ายๆ ก็คือ เหมือนตอนเราเดินเข้าไปในแต่ละห้องในบ้าน แม้ว่าห้องนั้นจะอยู่ในบ้านหลังเดียวกันก็ตาม แต่เวลาที่เราเดินเข้าไปในบ้านแล้วเปิดประตูห้องแรกเข้าไปปุ๊บ เจอห้องรับแขกแล้วรู้สึกยังไง พอเดินไปเจอห้องอาหารเรารู้สึกยังไง แล้วพอเดินเข้าไปในห้องนอนเรารู้สึกยังไง มันคนละอารมณ์กันเลย 

น้องๆ นึกออกไหมว่าในการจะนำเอาหัวใจของงานวิจัยแต่ละบทตีความออกมาเป็นฐานกิจกรรมนั้น ถ้าเราออกแบบฐานแต่ละฐานได้ดี ครูที่เข้าร่วมกิจกรรมจะเกิดความเข้าใจ และมีความฮึกเหิมที่จะไปเอาชนะงานในบทนั้นๆ อย่างมีปัญญา อย่างมีความสุข อย่างเห็นคุณค่า ซึ่งมีลักษณะเฉพาะตัวที่ไม่เหมือนกัน ความเข้าใจเรื่องนี้สำคัญมากที่ทำให้ครูได้พบกับบรรยากาศ และความมีเสน่ห์ของงานวิจัยว่าน่าสนุกขนาดนี้เชียวหรือ เราต้องออกแบบกิจกรรมให้ครูได้ไปพบส่วนดีที่สุดของบทที่ ๑ จากนั้นไปพบส่วนดีที่สุดของบทที่ ๒ ๓ ๔ และ ๕ ว่าทำอย่างไรครูถึงจะได้ไปท่องเที่ยวในอุทยานงานวิจัยที่สนุกขนาดนี้ได้ล่ะ 

สมมติว่าถ้าเป็นเรา เมื่อเราเข้ามาแล้วเราเจอห้อง workshop อย่างนี้ เราเห็นบรรยากาศเห็นเครื่องเคราอยู่ในห้อง workshop เราก็นึกสนุกอยากเล่นด้วยแล้วใช่ไหม ไม่ว่าเด็กไม่ว่าผู้ใหญ่ พี่ว่าเขาก็น่าจะเกิดความสนใจว่า ในห้องนี้จะมีอะไรรอเขาอยู่นะ คือ ชั้นเรียนที่ดีนี่ต้องขนาดว่าแม้จะยังไม่พูดอะไรกันเลยก็ยังเห็นความน่าสนใจปรากฏอยู่ในอุปกรณ์ข้าวของเครื่องใช้ การจัดวางรวมถึงสายตาของผู้ที่เดินเข้ามา 

ถ้าเราสังเกตเป็น เราจะเห็นเลยว่าแต่ละคนเขาเดินเข้ามาด้วยความจำเจ หรือว่ามาพร้อมกับความตื่นตัว มีความสนใจใคร่รู้อะไรแค่ไหน และเมื่อครูเขาเข้ามาในพื้นที่ที่เราจัดไว้เฉพาะ พี่ก็อยากให้คุณครูทุกคนที่เข้าไปในแต่ละฐานรู้สึกแปลกใหม่ ตื่นตาตื่นใจในรูปแบบที่มีความแตกต่างกันไป 

อย่าลืมว่าในการจัดงาน KM (Knowledge Management) ในทุกครั้งที่ผ่านมา เราจะใช้ห้องเรียนสาธิตแบบนี้เป็นห้อง input ครู สำหรับแสดงให้ครูเห็นว่าเงื่อนไขในการจัดกระบวนการเรียนรู้ไม่มีวันสิ้นสุด แล้วถ้าครูยิ่งพิถีพิถันกับการคิดมากเท่าไร มันก็ยิ่งน่าสนใจมากขึ้นเท่านั้น เพราะฉะนั้น เราต้องใช้โอกาสที่เรามีอยู่นี้ให้ดีที่สุด

ขอให้ทุกคนสนุกกับการคิดกิจกรรมให้เต็มที่ เดี๋ยว ๑๔.๐๐ น. เรามาเจอกันนะคะ ขอบคุณมากค่ะ กินข้าวให้อร่อย 
บท11.png
เมื่อถึงเวลานัดหมายทุกคนก็กลับเข้าที่ห้องประชุม สมาชิกที่เลือกทำฐานการเรียนรู้ในบทที่ ๑ นำเสนอก่อนเป็นลำดับแรก เมื่อพูดคุยปรับแต่งรูปแบบกิจกรรมกันจนทุกฝ่ายเห็นพ้องแล้ว สมาชิกที่เลือกทำฐานการเรียนรู้ในบทที่ ๒ ก็นำเสนอเป็นลำดับถัดมา

สมาชิกของกลุ่มที่ ๒ ประกอบไปด้วยคุณครูโอ่ง - นฤนาท สนลอย คุณครูหนึ่ง - ศรัณธร แก้วคูณ และคุณครูสุ - สุภาพร กฤตยากรนุพงศ์ 

ครูโอ่ง : เราจะมีอ่าง ๓ อ่าง อ่างที่ ๑ คือผงแห้งๆ อ่างที่ ๒ คือผงที่ผสมน้ำ อ่างที่ ๓ คือน้ำผสมสี มาให้สมาชิกในห้องทายว่าเป็นแป้งอะไร โดยใช้ตาดู ใช้จมูกดม หรือจะใช้มือจับก็ได้ เพื่อตอบคำถามให้ได้ว่า ผงนี้คืออะไร พอเขาทายว่าเป็นแป้งข้าวโพด ก็ให้เขาไปหาข้อมูลต่อว่าแล้วแป้งนี้ทำเป็นกาวได้ไหม

ครูใหม่ : แล้วเขาจะหาข้อมูลด้วยอะไร ใช้โทรศัพท์ของเขาเหรอ 

ครูนุช : มีแนวโน้มว่าจะตอบได้เลยโดยไม่ต้องหาข้อมูลนะ

ครูโอ่ง : แต่แป้งนี้ไม่ได้ทำกาวได้เลยนะ ต้องผสมอย่างอื่นก่อนถึงทำได้

ครูใหม่ : แล้วมันจะกลายเป็นกาวได้เลยเหรอโอ่ง* 

ครูโอ่ง : ทำได้ค่ะ แต่ต้องผสมสารอื่น เช่น ไซรัปในข้าวโพด แล้วก็น้ำส้มสายชู ถึงจะเป็นกาว เพราะถ้าคนแล้วแล้มผสมน้ำเฉยๆ มันจะเป็นตะกอน จะเป็นกาวไม่ได้

ครูหนึ่ง : มันจะเหมือนราดหน้า

ครูโอ่ง : ใช่ๆ เหมือนราดหน้า

ครูใหม่ : (หัวเราะ) อะ ที่นี้โดยหลักการมันก็พอไปได้แล้ว แต่ไฮไลต์มันอยู่ที่ไหน หาให้เจอก่อน

ครูโอ่ง : ไฮไลต์จะอยู่ที่การได้สัมผัส แล้วบอกได้ว่า คืออะไร เพราะอะไร
บท11.png
ครูใหม่ : แต่ทีนี้โอ่ง...การทดลองของโอ่งเป็นการให้เหตุผลได้โดยอาศัยสัมผัส ที่ไม่ต้องการการสืบค้นสักเท่าไร แต่ในบทที่ ๒ ของงานวิจัย จะต้องอาศัยข้อมูลจึงจะได้คำตอบที่ต้องการหรือเปล่านะ

ครูหนึ่ง : ต้องทำให้ได้คำสำคัญมาก่อน

ครูโอ่ง : แล้วเอาคำสำคัญไปสืบค้นต่อ 

ครูใหม่ : อยากให้ลองช่วยกันคิดขยายโจทย์นี้ต่อไปว่าจะสามารถทำให้โจทย์นี้ซับซ้อนขึ้นกว่านี้อีกจะได้ไหม เพื่อที่เขาจะได้นำข้อมูลที่สืบค้นมาไปสร้างประโยชน์ให้กับการทดลองได้มากขึ้นกว่านี้ ภายใต้โครงสร้างอันนี้ เราจะทำอะไรได้มากขึ้นไปอีกหรือเปล่า

ครูโอ่ง : แป้งข้าวโพดเป็นอาหาร... แป้งข้าวโพด 

ครูหนึ่ง : ต้องมีตัวแปรอื่น

ครูสุ : ให้ความร้อนลงไป

ครูโอ่ง : ให้ความร้อน... เออ! น่าสนใจ 

ครูสุ : น้ำเย็น น้ำอุ่น

ครูใหม่ : แล้วยังไง ถ้าใส่น้ำร้อนลงไปแล้วจะเกิดอะไรขึ้นคะ

ครูโอ่ง : แป้งจะละลาย แล้วจับตัวเป็นก้อน

ครูสุ : ทำไมแป้งถึงจับตัวเป็นก้อน จะใช้ทฤษฎีอะไรมาอธิบาย

ครูใหม่ : แล้วการจับตัวเป็นก้อนนี้ก่อให้เกิดผลดียังไงไหมคะ

ครูสุ : การจับตัวเป็นก้อนมีทั้งแบบนิ่ม ไม่นิ่ม

ครูโอ่ง : มันขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำด้วย อันนี้เอาไปทำเป็นของเล่นได้ด้วยนะ คือว่า ถ้าเอาแป้งข้าวโพดไปผสมน้ำแล้วให้เด็กไปเหยียบ ถ้าเด็กยืนอยู่เฉยๆ เท้าก็จะจมลงไปที่แป้งเลย แต่ถ้าเด็กเคลื่อนที่ไปมา เท้าก็จะไม่เลอะแป้ง มันจะไม่ติดเท้า เอาไปทำของเล่นก็ได้ค่ะ

ครูใหม่ : แล้วคุณสมบัติอันนี้ เราเอาไปทำอะไรต่อได้อีกไหมคะ

ครูหนึ่ง : เอาไปทำแป้งโดว์ได้มั้ย 

ครูโอ่ง : แป้งโดว์ทำยังไง

ครูหนึ่ง : แป้งโดว์ทำจากแป้งข้าวโพดก็ได้ ไม่ต้องเคี่ยวก็ได้ ใส่น้ำแล้วคนให้เข้ากันได้เลย เอาไว้ให้เด็กๆ ปั้นเล่น ช่วยพัฒนากล้ามเนื้อมือให้แข็งแรง

ครูเล็ก : เอาไปทำเป็นครีมนวดผมก็ได้นะ

บทที่_๑๐.๒.png

ครูใหม่ : คือถ้าโอ่งจะเล่นกับแป้ง ก็มีให้ลองทำตั้งแต่ขั้นที่ ๑ ว่าวัตถุดิบมันเป็นแบบนี้เพราะถ้าเรามีความรู้แบบนี้เราแปลงมันไปเป็นอย่างนี้ เป็นสมุดตารางมันคือ A พอเรามีความรู้ชุดนึงขึ้นมาแล้วทำให้มันเป็น AB และพอเรามีความรู้อีกชุดนึงแล้วทำให้มันเป็น ABC ได้ ครูที่ได้เข้าเล่นที่ฐานนี้ก็จะรู้สึกแปลกใจมากเลยว่าของง่ายๆ แค่นี้นะ เพียงแค่เรามีความรู้เพิ่มขึ้นน่ะ จาก A มันกลายเป็น ABC ได้เลยนะ
    
ทำให้เขาเห็นว่าถ้าเรารู้มากขึ้นน่ะ สิ่งเดิมที่เคยรู้จักน่ะ จะกลายเป็น ๑ ๒ ๓ ได้เลยนะ แล้วมันน่ามหัศจรรย์ว่า แล้วจาก ๓ แบบที่ได้ทดลองทำดูนี้แล้วยังเป็นอะไรอีกได้ไหม
     
สมมติว่าเรามีให้ลองทำแบบน้ำราดหน้า โดยเอาไปผสมกับน้ำร้อนแล้วก็เครื่องปรุงอื่นๆ และถ้าเราไปผสมกับอีกอย่างหนึ่งจะกลายเป็นของเล่นเด็ก แต่ถ้าผสมกับอีกอย่างก็จะกลายเป็นครีมนวดผม มันเหมือนกับเป็นโต๊ะทดลองอยู่ประมาณ ๓ ฐานในห้องนั้นเพื่อเห็นว่าความรู้ในเรื่องเดียวกัน เมื่อมันซับซ้อนขึ้นไปอีก ซับซ้อนขึ้นไปอีกมันกลายเป็นอื่นได้
     
แล้วให้เขาไปหาหลักการมาสนับสนุนว่าทำไมถึงเป็นแบบนี้ได้ ตบท้ายด้วยการประเมินผลด้วยกิจกรรมสุนทรียสนทนา เชื่อมเข้าหาประสบการณ์จริงในการทำบทที่ ๒ ของแต่ละคน

เมื่อได้แนวคิดและกระบวนการทำงานที่ชัดเจนแล้ว แต่ละคนก็แยกย้ายกันไปทำงานด้วยความสุขใจ และคณะทำงานทุกคนก็สุขใจยิ่งกว่า เมื่อคุณครูที่มาเข้าร่วม workshop ต่างพากันสะท้อนผลเป็นเสียงเดียวกันว่า “การทำกิจกรรมที่ได้เรียนรู้ผ่านการลงมือปฏิบัติแบบนี้ทำให้เราเห็นภาพ และเชื่อมโยงความสำคัญของแต่ละบทเข้าหากันได้อย่างเข้าใจมากยิ่งขึ้น อีกอย่างคือ กิจกรรมที่ได้ทำในแต่ละฐานสะท้อนให้เราเห็นตัวเราเองด้วยว่าเราทำวิจัยบทไหนได้ดี ยังขาดทักษะอะไร หรือต้องปรับปรุงอะไร วันนี้ทั้งสนุกและได้ทบทวนตัวเองด้วยค่ะ”

บทที่_๑๐.๓.png

ประมวลภาพการเรียนรู้ในฐานที่ ๒

บทที่_๑๐.๔.png

บทที่_๑๐.๕.png

บทที่_๑๐.๖.png

บทที่_๑๐.๗.png

บทที่_๑๐.๘.png
ตกผลึกการเรียนรู้ร่วมกันเมื่อได้เรียนรู้ครบทั้ง ๕ ฐาน
ดาวน์โหลดเอกสาร
ศาสตราจารย์ นายแพทย์ วิจารณ์ พานิช
นักเขียน
ศาสตราจารย์ นายแพทย์ วิจารณ์ พานิช
รองประธานกรรมการมูลนิธิสยามกัมมาจล นายแพทย์ผู้สนใจประเด็นการศึกษา เจ้าของผลงานหนังสือเกี่ยวกับการจัดการเรียนรู้หลากหลายเล่ม ตั้งแต่ เลี้ยงลูกยิ่งใหญ่, วิถีสร้างการเรียนรู้เพื่อศิษย์ในศตวรรษที่ 21, สนุกกับการเรียนในศตวรรษที่ 21 ฯลฯ
แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน
profile
กรุณา Login ก่อน comment
เนื้อหาทั้งหมด