สอนเสวนา_Cover_front
ทฤษฎีการศึกษาการศึกษา

หนังสือ สอนเสวนาสู่การเรียนรู้เชิงรุก

อ่าน 776 นาที

หนังสือเล่มนี้เขียนขึ้นเพื่อชี้แนวทางจัดการเรียนรู้แบบที่เรียกว่า active learningหรือการเรียนรู้เชิงรุก โดยมีเป้าหมายเพื่อฝึกนักเรียนให้เรียนรู้จากการปฏิบัติตาม ด้วยการคิดที่เรียกว่า การใคร่ครวญสะท้อนคิด (reflection) ที่นำไปสู่การฝึกทักษะการเรียนรู้ที่นักเรียนกำกับการเรียนรู้ของตนเอง (self-directed learning) เป็น ผ่านกระบวนการ สานเสวนา (dialogue) ระหว่างนักเรียนกับครู และระหว่างนักเรียนกับเพื่อนนักเรียนด้วยกัน

เขียนโดยศาสตราจารย์ นายแพทย์ วิจารณ์ พานิช
17 ธันวาคม 2564
บทที่ 14 การพัฒนาครู
CP14.png

สาระในบันทึกชุด สอนเสวนาสู่การเรียนรู้เชิงรุก นี้ มีสองเป้าหมาย คือเพื่อพัฒนานักเรียน กับพัฒนาครู ในบันทึก ๑๓ ตอนที่ผ่านมา เน้นบทบาทของครู ในการใช้การสอนเสวนาเพื่อการเรียนรู้ของนักเรียน แต่ตอนที่ ๑๔ นี้ จะเป็นเรื่องการใช้การสอนเสวนาเพื่อการเรียนรู้ของครู เป็นการเรียนรู้จากการทำหน้าที่ครู หรือเรียนรู้จากห้องเรียน โดยมีปัจจัยเอื้อ ๔ ประการคือ (๑) การสอนเสวนา ที่นักเรียนแสดงบทบาทอย่างอิสระและสร้างสรรค์ (๒) ครูรวมตัวกัน เรียนรู้เป็นทีม ที่เรียกว่า “ชุมชนเรียนรู้ของครู” (PLC - Professional Learning Community) (๓) มีการเก็บข้อมูลพฤติกรรมของนักเรียนและของครูในห้องเรียน สำหรับนำมาเป็นข้อมูลประกอบการเรียนรู้ โดยการบันทึกวีดิทัศน์ และบันทึกเสียง (๔) มีครูพี่เลี้ยง (mentor) ช่วยสนับสนุนการเรียนรู้ 

ประเด็นสำคัญคือ กิจกรรมนี้ควรเป็นส่วนหนึ่งของการบริหารจัดการโรงเรียนอย่างเป็นทางการ ฝ่ายบริหารจัดเวลาทำงานสำหรับกิจกรรมนี้อย่างสม่ำเสมอ เช่นสัปดาห์ละครั้ง ครั้งละ ๒ - ๓ ชั่วโมง นอกจากจัดเวลาให้แก่กิจกรรมนี้ ฝ่ายบริหารยังให้ทรัพยากรสนับสนุน ได้แก่ (๑) ห้องประชุมที่เอื้อความสะดวกในการประชุม (๒) จัดให้มีพี่เลี้ยง (mentor) ที่เก่ง และที่สำคัญ (๓) จัดหาเครื่องถ่ายวีดิทัศน์มุมถ่ายกว้างและรับเสียงได้ไว ๑ เครื่อง เครื่องบันทึกเสียงขนาดเล็ก ๑ เครื่อง ซึ่งในเวลานี้ทั้งสองเครื่องราคารวมกันน่าจะเพียงหมื่นกว่าบาท และหากซื้อจำนวนมากราคาน่าจะลดลงไปได้มาก 

กิจกรรมนี้สำคัญมากสำหรับครูเด็กเล็ก และครูประถม แต่ในครูสอนเด็กโตคือนักเรียนชั้นมัธยมก็จำเป็นเช่นกัน โดยจุดเน้นน่าจะต้องต่างกัน และแตกต่างกันไปตามโรงเรียนที่ดูแลเด็กจากครอบครัวที่มีชีวิตความเป็นอยู่แตกต่างกัน ในช่วงที่ผมกำลังเขียนบันทึกนี้ ได้มีโอกาสฟังผู้รู้พูดกันว่านักเรียนหลุดออกจากระบบการศึกษามากที่สุดตอนเรียนชั้น ม. ๒ และนักเรียนชั้นนี้มีปัญหาด้านพฤติกรรมสูงที่สุด จึงเกิดความคิดว่าน่าจะมีการวิจัยทดลองใช้วิธีสอนแนวสานเสวนาเพื่อป้องกันปัญหาพฤติกรรม และการหลุดออกนอกระบบการศึกษาในนักเรียนชั้น ม. ๒ ของโรงเรียนที่มีสถิติการออกจากโรงเรียนกลางคันสูง 

หนังสือแบ่งกิจกรรมพัฒนาครู โดยใช้การจัดการเรียนการสอนเสวนาออกเป็น ๗ กิจกรรมคือ (๑) การฝึกก่อนดำเนินการ (๒) การฝึกโดยพี่เลี้ยง (๓) การบันทึกวีดิทัศน์ และบันทึกเสียง (๔) วงจรการวางแผน ปฏิบัติ และทบทวน (๕) ดำเนินการทั้งโรงเรียน (๖) วัสดุและการเรียนรู้ของทีมครู (๗) การติดตามผลและสนับสนุน 

การฝึกก่อนดำเนินการ (Induction and training)

การฝึกก่อนดำเนินการต้องจำเพาะต่อแต่ละโครงการ หลักการร่วมคือครูต้องเข้าใจคุณค่าของโครงการทั้งต่อนักเรียนและต่อตนเอง จะกล่าวถึงรายละเอียดในหัวข้อ “หน่วยบทนำ” (orientation units) ข้างหน้า

การฝึกโดยพี่เลี้ยง (Mentoring)

เนื่องจากการทำหน้าที่ครูเป็นกิจกรรมที่ต้องการการฝึกทั้งเชิงเจตคติ คุณค่า ทักษะ และความรู้ (AVSK - Attitude, Values, Skills, Knowledge) การมีพี่เลี้ยงที่มีประสบการณ์และความสามารถสูงกว่าช่วยให้คำแนะนำ (mentoring) จึงมีความจำเป็นยิ่ง 

คำแนะนำสำคัญคือ ให้หลีกเลี่ยงวิธีทำหน้าที่พี่เลี้ยงแบบใช้ความสัมพันธ์เชิงอำนาจ เน้นทำหน้าที่ตรวจสอบ พี่เลี้ยงควรทำหน้าที่สร้างบรรยากาศการเรียนรู้ (ของครูและของพี่เลี้ยง) อย่างเป็นทีม มีการอภิปรายอย่างเปิดใจ ให้คำแนะนำแบบไม่ตัดสิน 

หน้าที่ของพี่เลี้ยง ได้แก่ (๑) ทำความเข้าใจเป้าหมายของโครงการ และวัสดุสนับสนุน อย่างถ่องแท้ (๒) สร้างความสัมพันธ์ในการอภิปรายในกลุ่มเพื่อนร่วมวิชาชีพตามแนวทางของการสานเสวนาตามที่กล่าวในบันทึกที่ผ่านมา ได้แก่ ใช้หลักการของการสอนแนวสานเสวนา ซึ่งได้แก่ ร่วมกันเป็นทีม ต่างตอบแทน สนับสนุนซึ่งกันและกัน ร่วมตรวจสอบข้อมูลหลักฐาน และมีเป้าหมายชัดเจน (๓) ชี้แนะ mentee ให้ดำเนินโครงการได้ลุล่วง (๔) ช่วย mentee ให้วางแผนกิจกรรมแต่ละช่วง ติดตามความก้าวหน้า และร่วมกันประเมิน (๕) บันทึกการตัดสินใจช่วงวางแผน การกำหนดเป้าหมาย และข้อสรุปที่ตกลงกัน (๖) ดูแลว่ามีการบันทึกวีดิทัศน์ และบันทึกเสียงตามที่กำหนด มีการจัดทำดัชนีและเก็บอย่างเป็นระบบ 

ขอย้ำว่า ความรับผิดชอบสำคัญของพี่เลี้ยงคือ การบันทึกการตัดสินใจช่วงวางแผน การกำหนดเป้าหมาย และข้อสรุปที่ตกลงกัน 

ข้อสังเกตสำคัญอีกประเด็นหนึ่งคือกิจกรรม mentoring เชื่อมโยงอยู่กับการปฏิบัติ มีการปฏิบัติร่วมกันเป็นศูนย์กลาง การให้คำแนะนำโดยไม่มีการปฏิบัติร่วมกันเรียกว่า counseling 

การบันทึกวีดิทัศน์ และบันทึกเสียง (Video and audio recording)

บท57.png


นี่คือข้อมูลสำคัญให้ครูได้เรียนรู้จากการปฏิบัติ จากการให้ข้อมูลป้อนกลับแก่ตนเอง (self-feedback) และให้ข้อมูลป้อนกลับซึ่งกันและกัน (peer feedback) 

เสียงและภาพเคลื่อนไหวช่วยให้นำมาทบทวนร่วมกันว่าคำพูดที่ครู/ นักเรียน ใช้มีความเหมาะสมเพียงไร มีลู่ทางให้ปรับปรุงได้อย่างไรบ้าง นอกจากคำพูดแล้ว กิริยาท่าทางสีหน้าสื่อสารออกมาอย่างเหมาะสมหรือไม่ เป็นข้อมูลที่เมื่อสงสัยก็นำมาตรวจสอบเพื่อเรียนรู้ได้

ในบางประเทศ การถ่ายรูปและถ่ายวีดิทัศน์นักเรียนอยู่ภายใต้กฎหมายควบคุม ทำให้ยุ่งยาก ในประเทศไทยไม่มีปัญหานี้ แต่ก็น่าจะแจ้งให้ผู้ปกครองนักเรียนทราบหรือให้คำยินยอม เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาข้อขัดแย้งในภายหลัง 

วงจรการวางแผน ตั้งเป้า ปฏิบัติ และทบทวน
(Cycles of planning, target-setting, teaching and review) 
บท57.png
สรุปจากในหนังสือ ลากเข้าบริบทโรงเรียนไทย กิจกรรมควรเริ่มจากกิจกรรมปฐมนิเทศ ๒ วัน ตามด้วยกิจกรรม (วางแผน ปฏิบัติ ทบทวน) วงจรละ ๒ สัปดาห์ มีกิจกรรมทบทวนใหญ่ ๑ วัน ตอนกลางเทอม และ ๑ วันตอนสิ้นเทอม ดำเนินการต่อเนื่องทุกเทอม 

ดำเนินการทั้งโรงเรียน (Whole school buy-in)
บท57.png
กิจกรรมพัฒนาครูที่ฝังแทรกอยู่ในการสอนเสวนานี้ จะได้ผลดีจริงๆ ต้องเป็นกิจกรรมที่บูรณาการอยู่ในงานประจำของโรงเรียน

วัสดุและการเรียนรู้ของทีมครู (Materials and professional study)
บท57.png


หลักการสำคัญคือ ครูเรียนรู้จากการสังเกตการสอนของตนเองและของเพื่อนครู บันทึกชุด “สอนเสวนาสู่การเรียนรู้เชิงรุก” นี้ ตั้งใจให้เป็นวัสดุประกอบการเรียนรู้ของทีมครู ตามในหัวข้อย่อยนี้ วัสดุสำคัญคือบันทึกวีดิทัศน์และเสียงของการเรียนรู้ ๑ คาบ ทุกๆ ๒ สัปดาห์ ที่เมื่อนำเอามาเรียนรู้ในกระบวนการ PLC ที่จะกล่าวต่อไป จะเห็นความก้าวหน้าของครู และของนักเรียน อย่างน่าชื่นใจ 

การติดตามผลและสนับสนุน (Monitoring and support)
บท57.png


หนังสือให้ข้อมูลของโครงการทดลองในอังกฤษ ที่สนับสนุนโดย EEF ในปี 2014 - 2017 ว่ามีทีมสนับสนุนไปเยี่ยมโรงเรียนเพื่อตอบคำถาม และร่วมกันเอาบันทึกวีดิทัศน์และบันทึกเสียงมาร่วมกันเรียนรู้ อย่างน้อยโรงเรียนละ ๑ ครั้งในโครงการ
ซึ่งใช้เวลา ๒๐ สัปดาห์ 

เขาแนะนำว่า โรงเรียนที่อยู่ใกล้กันอาจสนับสนุนซึ่งกันและกันโดยผลัดเปลี่ยนกันทำหน้าที่ฝ่ายเยือนไปเยี่ยมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ 

กิจกรรมเตรียมความพร้อม (Orientation units)
บท57.png


นี่คือส่วนของการร่วมกันทำความเข้าใจความรู้เชิงทฤษฎี หลักการของแนวปฏิบัติ และวางแนวทางของโครงการร่วมกันโดยมีเอกสารให้อ่านก่อน (ในกรณีของไทย ก็คือบันทึกชุดนี้) ทั้งครูและพี่เลี้ยงในโครงการต้องเข้าร่วม โดยแต่ละหน่วยใช้เวลาไม่เกิน ๑ ชั่วโมง จะดำเนินการรวดเดียวให้เสร็จภายใน ๒ วันก็ได้ หรือจะกระจายไปจัดวันละ ๑ หน่วยก็ได้

ตามในหนังสือมี ๗ หน่วยเตรียมความพร้อม คือ 

  • หน่วยที่ ๑ วางแผนโครงการ มีเป้าหมายเพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดร่วมกันทำความเข้าใจโครงการ และกำหนดกิจกรรมของโครงการ เช่น กำหนดวันเวลาของหน่วยที่ ๒ - ๖ กำหนดวันทบทวนใหญ่กลางเทอมและปลายเทอม กำหนดระยะเวลาของหนึ่งวงจร (ไม่จำเป็นต้อง ๒ สัปดาห์อย่างในหนังสือ) การนัดหมายกับพี่เลี้ยง ตรวจสอบว่ามีวัสดุ (เครื่องบันทึกเสียง และวีดิทัศน์) ที่เหมาะสมไว้ใช้งาน การแจ้งนักเรียน ผู้ปกครอง คณะกรรมการโรงเรียน เป็นต้น 
  • หน่วยที่ ๒ การสอนแนวสานเสวนา หลักการและท่าที ทำความเข้าใจและยอมรับการเข้าสังเกตและบันทึกวีดิทัศน์ และเสียง นำมาวิเคราะห์ วิธีแยกแยะระหว่างการพูดในห้องเรียนเพื่อทวนความจำกับการพูดเพื่อกระตุ้นการคิด หากพบแบบหลังมีวิธีแยกระดับอย่างไร เข้าใจความแตกต่างระหว่างการสอนแนวสานเสวนากับการสอนแนวเดิม สานเสวนากับการโต้แย้งต่างกันอย่างไร มีวิธีทำให้การโต้แย้งมีบทบาทเด่นในการพูดในห้องเรียนได้อย่างไร ครูที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับโครงการคล้ายๆ กันจะเชื่อมโยงสู่โครงการนี้ได้อย่างไร จะกระตุ้นให้นักเรียนพูดได้อย่างไร สิทธิในการเงียบกับสิทธิในการพูดจะต้องได้รับการยอมรับอย่างไร จะช่วยเหลือนักเรียนที่มีปัญหาการพูดและแสดงออกอย่างไร 
  • หน่วยที่ ๓ การสอนแนวสานเสวนา กรอบแนวทางปฏิบัติ เป็นการนำประเด็นสำคัญจากบันทึกที่ ๘ กรอบปฏิบัติที่ ๔ พูดเพื่อสอน (teaching talk) มาทำความเข้าใจร่วมกัน รวมทั้งทำความเข้าใจกรอบปฏิบัติอีก ๗ กรอบ และร่วมกันเปรียบเทียบกับวิถีปฏิบัติในปัจจุบัน และร่วมกันกำหนดการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ 
  • หน่วยที่ ๔ ฟัง อ่าน ดู บันทึกเสียงการสนทนาในห้องเรียน ๕ - ๗ นาที (หากมีอยู่ในรูปวีดิทัศน์ จัดการเปลี่ยนเป็นบันทึกเสียง) นำมาถอดเสียงเป็นเอกสาร ในเอกสารมีระบุว่าครูหรือนักเรียนพูด โดยไม่ต้องระบุชื่อ แล้วเอาเฉพาะเสียงมาฟังร่วมกัน ให้ร่วมกันวิเคราะห์ว่า (๑) ครูพยายามทำอะไร (๒) เป็นการพูดเพื่อสอนในระดับใด (๓) ได้ยินนักเรียนพูดเพื่อเรียนในระดับใด 

หลังจากนั้นแจกกระดาษเอกสารถอดเสียง และให้ฟังเสียงอีกครั้งหนึ่งแล้วอภิปรายร่วมกันเรื่อง (๑) หาช่วงที่เมื่อครูตั้งคำถาม นักเรียนตอบเป็นคำพูดต่อเนื่องกันหลายขั้นตอนจนบรรลุคำตอบ (๒) หาช่วงที่เมื่อครูตั้งคำถาม นักเรียนตอบแล้วจบ (๓) ตรวจหาช่วงที่หลายคำถามนำไปสู่การอภิปรายที่เข้มข้นต่อเนื่อง (๔) ตามข้อ ๓ หากการอภิปรายไม่เข้มข้นและต่อเนื่อง ร่วมกันอภิปรายว่าครูควรตั้งคำถามอย่างไร เพื่อให้ได้การอภิปรายที่เข้มข้นและต่อเนื่อง 

ขั้นที่ ๓ ให้กลุ่มดูวีดิทัศน์ (ทั้งฟังและดู) และร่วมกันอภิปรายว่า (๑) เห็นอวัจนภาษา ที่ไม่รับรู้ตอนฟังตอนใดบ้าง อวัจนภาษานั้นๆ มีผลต่อการพูดอย่างไร (๒) การได้สังเกตการณ์สอนสั้นๆ นี้ ๓ ครั้ง ข้อตัดสินต่างไปจากตอนได้ฟังอย่างเดียวมากแค่ไหน ในลักษณะใด อะไรเป็นตัวทำให้ต่าง

  • หน่วยที่ ๕ พูด อ่าน เขียน เน้นทำความเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างภาษาพูดกับภาษาเขียน ซึ่งมีความแตกต่างในแต่ละประเทศ และแต่ละพื้นที่ในประเทศเดียวกัน ดูรายละเอียดได้ในบันทึกที่ ๒ โจทย์ที่นำมาหารือกันควรมาจากปัญหาที่ครูประสบในเรื่องการพูดและเขียนของนักเรียน 
  • หน่วยที่ ๖ สานเสวนาและหลักสูตร อภิปรายร่วมกันเรื่องการบรรจุการฝึกพูดไว้ในหลักสูตร เชื่อมโยงกับรายวิชา หรือสาระการเรียนรู้ (การพูดกระตุ้นการคิดและนำไปสู่ความเข้าใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเข้าใจระดับลึกและเชื่อมโยง) โดยต้องแยกระหว่างชั้นประถมกับมัธยมและอุดม 
    • ชั้นประถม ทำอย่างไรจึงจะทำให้มีการให้ความสำคัญต่อการพูดทั่วทั้งหลักสูตร ทำอย่างไรครูประจำวิชาจึงจะช่วยครูประจำชั้นยกระดับคุณภาพของการพูดในวิชาที่ตนไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญ 
    • ชั้นมัธยมและอุดม ในกรณีของรายวิชา ทำอย่างไรจึงจะมีการยกระดับการพูดในห้องเรียนสู่สานเสวนา (ไม่ใช่สื่อสารสาระวิชาเท่านั้น) ธรรมชาติของแต่ละสาขาวิชาหรือรายวิชานำไปสู่การพูดที่มีธรรมชาติเป็นการเสวนาได้อย่างไร ลักษณะจำเพาะของแต่ละสาขาวิชานำไปสู่การประยุกต์ใช้กรอบปฏิบัติบางกรอบมากกว่ากรอบอื่นๆ อย่างไร 
  • หน่วยที่ ๗ ข้อพึงปฏิบัติ เป็นการประชุมสำรวจความพร้อมในการลงมือดำเนินการพัฒนาครู (ซึ่งเป็นการที่ครูร่วมกันพัฒนาตนเอง โดยมีระบบสนับสนุน) โดยตอบคำถามต่อไปนี้ ผู้เกี่ยวข้องเข้าใจหลักการในบันทึกชุดนี้แล้วใช่ไหม แต่งตั้งครูพี่เลี้ยง (mentor) แล้วใช่ไหม ครูพี่เลี้ยงเข้าใจบทบาทของตนเองดีแล้วใช่ไหม การตัดสินใจเรื่องแผนและผลการทบทวนตรวจสอบผลจะต้องมีการจดบันทึก มีระบบบันทึกและผู้รับผิดชอบแล้วใช่ไหม เครื่องมือที่ต้องการใช้มีพร้อมแล้วใช่ไหม ได้ตรวจสอบว่าเครื่องมือเหล่านั้นใช้การได้ดีแล้วใช่ไหม เมื่อเปิดเครื่องบันทึกวีดิทัศน์ และเครื่องบันทึกเสียง เสียงที่ออกมาดังชัดเจนดีใช่ไหม ได้ทดสอบตำแหน่งวางกล้องถ่ายวีดิทัศน์หลายๆ จุดแล้วใช่ไหม เข้าใจกิจกรรมในแต่ละวงรอบแล้วใช่ไหม พร้อมเริ่มวงรอบแรกแล้วใช่ไหม 

หากโรงเรียนไทยจะนำไปใช้ ควรปรับให้เหมาะสมต่อบริบทของโรงเรียน ไม่จำเป็นต้องมี ๗ หน่วย จะมากหรือน้อยกว่านี้ และปรับสาระให้เหมาะสมต่อบริบทของโรงเรียน และที่สำคัญควรใช้กระบวนการสานเสวนา หากอ่านตามที่เขียนมา จะเห็นว่า ต้องมีการเตรียมพร้อมอย่างรอบคอบมาก

เนื่องจากบทนี้ค่อนข้างยาว จึงแบ่งช่วงหลังซึ่งว่าด้วยตัวกิจกรรมพัฒนาครูรวม ๘ วงรอบ และ ๒ กิจกรรมทบทวน ไปไว้ในบันทึกที่ ๑๕

เรื่องเล่าจากเวทีสานเสวนาเพื่อพัฒนาครู

เวทีสานเสวนาครั้งที่ ๓ ที่จัดขึ้นในวันพฤหัสบดีที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๖๔ เป็นเวทีที่ครูต้นเรื่องทั้ง ๕ คน ที่นำเสนอผลการทดลองเอาหลักการสอนเสวนาไปใช้ในชั้นเรียนในเวทีแรกได้กลับมาพบกันอีกครั้ง

คุณครูกานต์ - บัวสวรรค์ บุญมาวงษา ครูผู้สอนหน่วยภูมิปัญญาภาษาไทย ระดับชั้นประถมปีที่ ๔ โรงเรียนเพลินพัฒนา ได้นำคลิปการจัดการเรียนการสอนแผน “คุณค่าของนิทานพื้นบ้าน ๔ ภาค” มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเพื่อนครู 

ครูกานต์เล่าว่าตอนแรกรู้สึกกังวลใจว่า นักเรียนจะสามารถสนทนาต่อยอดประเด็นในเรื่องของคุณค่าต่อไปได้เรื่อยๆ หรือเปล่า เพราะเรื่องคุณค่าเป็นเรื่องของการเรียนรู้ในระดับเชื่อมโยงที่เกิดจากการคิดใคร่ครวญ และด้วยความที่ตนเองเป็นมือใหม่ในเรื่องการสอนในแนวสานเสวนา จึงได้ให้เวลานักเรียนเตรียมตัวเรียบเรียงประเด็นเรื่องของคุณค่าของตำนานพื้นบ้านเอาไว้ล่วงหน้า 

ผลปรากฏว่า มีนักเรียนถึงสองคนที่กล้าท้าทายตัวเองด้วยการนำเสนอเรื่องของคุณค่าออกมาในรูปของเพลงพวงมาลัยซึ่งเป็นเพลงพื้นบ้านที่ได้เรียนรู้กันไปในสัปดาห์ก่อน ส่วนนักเรียนอีกคนหนึ่งตั้งใจเรียบเรียงคุณค่าออกมานำเสนออย่างเป็นระบบได้อย่างสมบูรณ์แบบ ซึ่งเกินความคาดหมายของครูไปมากทีเดียว

คำแนะนำที่ครูกานต์ได้นำไปปรับใช้ในการจัดกระบวนการเรียนรู้ครั้งใหม่นี้ คือ การขับเคลื่อนการเรียนรู้ด้วยการใช้คำถามเพื่อขับเคลื่อนการสนทนา แล้วขยายความด้วยคำว่า “ทำไม...” เพื่อต่อยอดความคิดของนักเรียนให้พวกเขาได้เล่าเพิ่มเติมว่าเหตุใดเขาจึงคิดเช่นนั้น ซึ่งก่อนเริ่มวงสนทนาครูได้บอกกติกาเพื่อผ่อนคลายความกังวลใจของนักเรียนว่าวงสนทนานี้จะไม่มีผิด ไม่มีถูก แต่เราจะช่วยกันพูด ช่วยกันต่อยอดความคิดจากคำตอบของเพื่อนออกไป โดยที่เราจะไม่ตัดสินความคิดของเพื่อน และเราจะฟังกันอย่างตั้งใจ

เมื่อครูกานต์ย้อนดูวีดิทัศน์การบันทึกการเรียนการสอนก็พบว่า ทันทีที่ครูเปิดเวทีให้กับการสนทนา ก็มีนักเรียนอาสาอยากแลกเปลี่ยนคุณค่าเรื่องของที่ตนค้นพบจากการเรียนรู้ตำนานพื้นบ้าน ๔ ภาคกันอย่างต่อเนื่อง และเมื่อครูถามแต่ละคนลึกลงไปว่าทำไมจึงคิดเห็นเช่นนั้น ครูและเพื่อนก็ได้รับฟังคำตอบที่น่าทึ่ง เช่น

เอิง : หนูได้รู้ว่าถ้าโลภมากมันจะเป็นอย่างไร หนูได้เรียนรู้จากเกาะหนูเกาะแมวค่ะเรื่องนี้ของหนูจะเกริ่นมาก่อนนะคะ (ร้องเป็นเพลงพวงมาลัย)

     ...เอ้อระเหยลอยมา สงขลานั้นมีเกาะมากมี 
     ตำนานเกาะหนูเกาะแมวมีลูกแก้วมณีวิเศษดี 
     พ่อค้านำของมาขายรีบจับจ่ายของกันทุกนาที 
     พวกแมวหมาน่าเอ็นดูเลี้ยงอุ้มชูดั่งลูกแก้วมณี 
     แอบฟังจนรู้ภาษาได้นำพาลูกแก้วมณีนี้ 
     ขโมยลูกแก้วมณีดูท่าทีเราจะต้องรีบหนี 
     อยากได้ไม่รู้จักพอสิ่งนี้หนอไม่เคยได้มีดี 
     ความโลภนั้นมีมากมายสลายหายมลายกลายชีวี 
     แมวหนูกลายเป็นเกาะช่างเหมาะเจาะมีหาดทรายดีดี 
     พวงเจ้าเอ๋ยวารี สมิหลานี้น่าไปเอย...

ครูกานต์ : โอ้โห... ปรบมือให้ก่อน ปรบมือให้กับเพลงพวงมาลัย ชื่นชมทั้งตัวมิกกี้ (นักเรียนที่นำเสนอด้วยเพลงพวงมาลัยคนก่อนหน้านี้) และตัวเอิงเลยที่ท้าทายตนเองในการแต่งเป็นเพลงเป็นกลอนออกมาไม่ใช่เรื่องง่ายนะที่ต้องสรุปทุกอย่างที่คิดออกมาเป็นกลอน อธิบายขยายความเพิ่มเติมได้เลยค่ะเอิง

เอิง : ก็คือเพราะว่าเนื้อเรื่องนี้สอนให้รู้ว่าเพราะความโลภเหมือนคำว่า โลภมากลาภหาย ลาภที่จะหายก็คือชีวิตของตัวเอง ตำนานนี้จึงสอนให้รู้ถึงคุณค่าของชีวิตแล้วก็สอนให้รู้ว่าโลภมากลาภจะหายค่ะ

ครูกานต์ : โลภมากลาภหายก็เป็นสำนวน เด็กๆ ทีนี้เรื่องของเอิงน่าสนใจมาก เพื่อนๆ มาเปิดหูเปิดตาฟังกันดีกว่า เรื่องนี้ก็น่าสนใจเช่นเดียวกัน ทำไมเอิงถึงเลือกเรื่องคุณค่าของชีวิต ทำไมเราไม่มองประเด็นอื่น ประเด็นนี้ดีกว่าประเด็นอื่นอย่างไร 

เอิง : ก็คือที่หนูเลือกเรื่องนี้ก็เพราะว่าหนูชอบชีวิตแล้วก็เรื่องความโลภค่ะ บางทีหนูก็เป็นคนโลภมากค่ะ หนูก็เลยกะว่าจะทำแบบนี้ให้เรียนรู้ด้วยตัวเอง แล้วก็ให้คนอื่นเรียนรู้ด้วยค่ะ

ครูกานต์ : นั่นหมายความว่าเรื่องนี้ก็เป็นข้อคิดสอนใจให้หนูไม่โลภเหรอ หรืออย่างไร 

เอิง : ใช่ค่ะ หนูจะได้ไม่โลภแล้ว

ครูกานต์ : ยกตัวอย่างได้ไหม

เอิง : ก็คือส่วนใหญ่ตอนเด็กๆ หนูเป็นคนที่อยากได้ไปทุกสิ่งทุกอย่างเลย อะไรเจ๋งก็อยากได้ อะไรสวยก็อยากได้ค่ะ พ่อกับแม่หนูก็สอนว่าถ้าโลภมากมันจะไม่ดีต่อตัวเองในภายหลัง พอหนูมาฟังเรื่องนี้มันก็เหมือนกันเลยค่ะ เวลาโลภมากลาภก็จะหาย

ครูกานต์ : มีใครเป็นแบบเอิงบ้างไหม... 

นอกจากนี้ตัวครูเองไม่สามารถคาดเดาได้เลยว่าคุณค่าที่นักเรียนค้นพบจะมีประเด็นอะไรบ้าง นักเรียนจะมีมุมมองอย่างไร ดังนั้นครูจึงต้องเตรียมความพร้อมก่อนเข้าสอนล่วงหน้า โดยการอ่านงานเขียนของนักเรียน และมองหาประเด็นที่น่าสนใจเพื่อลองตั้งคำถามต่อยอดเพื่อให้นักเรียนที่นำเสนอและเพื่อนๆ ได้ร่วมแสดงความคิดเห็นต่อยอดกันไปได้อีก สิ่งที่ควรแก้ไขคือครูยังเป็นผู้ถามคำถามและเป็นตัวเชื่อมบทสนทนาของทุกคนเข้าหากัน หากครูเปิดโอกาสให้นักเรียนได้ถามเพื่อนอาจจะทำให้ได้มุมมองที่แตกต่างหลากหลายไปอีก เพราะเป็นมุมมองของเพื่อนในวัยเดียวกัน ซึ่งตอนนี้ยังอาจจะยังเป็นเพียงบทสนทนาที่เกิดขึ้นด้วยคำถามจากมุมมองของผู้ใหญ่คือตัวครูเท่านั้น

๑๔_คุณค่าตำนาน1.png

คุณค่าตำนานพื้นบ้าน ๔ ภาค คุณครูกานต์ – บัวสวรรค์ บุญมาวงษา
ดาวน์โหลดเอกสาร
ศาสตราจารย์ นายแพทย์ วิจารณ์ พานิช
นักเขียน
ศาสตราจารย์ นายแพทย์ วิจารณ์ พานิช
รองประธานกรรมการมูลนิธิสยามกัมมาจล นายแพทย์ผู้สนใจประเด็นการศึกษา เจ้าของผลงานหนังสือเกี่ยวกับการจัดการเรียนรู้หลากหลายเล่ม ตั้งแต่ เลี้ยงลูกยิ่งใหญ่, วิถีสร้างการเรียนรู้เพื่อศิษย์ในศตวรรษที่ 21, สนุกกับการเรียนในศตวรรษที่ 21 ฯลฯ
แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน
profile
กรุณา Login ก่อน comment
เนื้อหาทั้งหมด