สอนเสวนา_Cover_front
ทฤษฎีการศึกษาการศึกษา

หนังสือ สอนเสวนาสู่การเรียนรู้เชิงรุก

อ่าน 776 นาที

หนังสือเล่มนี้เขียนขึ้นเพื่อชี้แนวทางจัดการเรียนรู้แบบที่เรียกว่า active learningหรือการเรียนรู้เชิงรุก โดยมีเป้าหมายเพื่อฝึกนักเรียนให้เรียนรู้จากการปฏิบัติตาม ด้วยการคิดที่เรียกว่า การใคร่ครวญสะท้อนคิด (reflection) ที่นำไปสู่การฝึกทักษะการเรียนรู้ที่นักเรียนกำกับการเรียนรู้ของตนเอง (self-directed learning) เป็น ผ่านกระบวนการ สานเสวนา (dialogue) ระหว่างนักเรียนกับครู และระหว่างนักเรียนกับเพื่อนนักเรียนด้วยกัน

เขียนโดยศาสตราจารย์ นายแพทย์ วิจารณ์ พานิช
17 ธันวาคม 2564
บทที่ 8 กรอบปฏิบัติการที่ ๔ พูดเพื่อสอน (Teaching Talk)
CP8.png

นี่คือการพูดของครู เพื่อกระตุ้นการเรียนรู้ของศิษย์

ที่จริงคำพูดเพื่อการเรียนรู้ของนักเรียนตามรายการในบันทึกที่แล้ว ก็เป็นคำพูดที่ครูใช้ในการสอนด้วยทั้งสิ้น แต่งานวิจัยบอกว่าครูใช้คำพูด ๔ ประการต่อไปนี้มากกว่า ได้แก่ พูดเพื่อจัดการสถานการณ์ (transactional) พูดเพื่อบอกกล่าว (expository) พูดเพื่อถาม (interrogatory) และพูดเชิงประเมิน (evaluative)

ครูที่เก่งสามารถใช้พลังของความรู้ความเข้าใจกลไกการเรียนรู้ของมนุษย์ ความรู้ความเข้าใจสาระวิชา และใช้คลังคำพูดของตนที่สั่งสมมา เพื่อกระตุ้นการเรียนรู้ของศิษย์ ไม่ใช่เพียงใช้การพูด ๔ หมวด ข้างบนเท่านั้น 

ปัจจัยที่ทำให้ทักษะการพูดเพื่อเรียนรู้ของเด็กเจริญงอกงามมาจากครูร่ำรวยคลังคำพูด และคำกระตุ้นการแลกเปลี่ยน ผสานกับการเป็นครูที่ทรงคุณค่าความเป็นครู และเน้นสร้างบรรยากาศด้านการต่างตอบแทน (reciprocity) หรือเอื้อเฟื้อต่อกันและกัน 

อย่างไรก็ตาม หนังสือ A Dialogic Teaching Companion แนะนำการพูดเพื่อสอน ๘ ประการต่อไปนี้ 
  • พูดเพื่อการท่องจำ (rote) เพื่อให้นักเรียนจำข้อเท็จจริง สูตร กิจกรรมประจำวัน หรือข้อความในตำรา โดยการพูดซ้ำๆ 
  • พูดเพื่อช่วยทวนความจำ (recitation) ครูใช้คำถามสั้นๆ ให้นักเรียนตอบ เป็นระยะๆ เพื่อให้นักเรียนทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว หรืออาจถามเพื่อย้ำสิ่งที่เป็นพื้นความรู้เดิมที่จะต้องเอามาต่อยอดความรู้ใหม่ 
  • พูดเพื่อสอน (instruction) บอกนักเรียนว่าจะทำอะไรต่อไป และทำอย่างไร 
  • พูดเพื่อบอกกล่าว (exposition) คล้ายการบรรยายสั้นๆ บอกข้อมูลหรือเรื่องราว อธิบายความคิดหรือวิธีการ หรือบอกให้จด
  • พูดเพื่อนำการอภิปราย (discussion) เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิด และข้อมูล เพื่อเผยมุมมองที่แตกต่างออกมา 
  • พูดเพื่อเสนอให้มีการตรวจสอบเหตุผลหรือข้อมูล (deliberation) เพื่อชั่งน้ำหนักความน่าเชื่อถือของแนวความคิด ข้อคิดเห็น หรือหลักฐาน 
  • พูดเพื่อให้มีการโต้แย้ง (argumentation) ให้มีการเสนอเรื่องใดเรื่องหนึ่งพร้อมข้อมูลหลักฐาน และเชื้อเชิญให้มีผู้โต้แย้ง 
  • สานเสวนา (dialogue) เป้าหมายคือความเข้าใจหรือมติร่วมของกลุ่ม ผ่านการตั้งคำถามอย่างเป็นระบบ และอย่างตรวจสอบ มีการถามตอบอย่างเป็นพลวัต ในลักษณะของการทำงานร่วมกันเป็นทีม ต่างตอบแทน และช่วยเหลือกัน ผ่านการตรวจสอบเข้มข้นจริงจัง เพื่อเป้าหมายอันทรงคุณค่าร่วมกัน 

ท่านผู้อ่านอ่านรายการการพูดเพื่อสอนทั้ง ๘ ประการแล้วอาจงง ว่าการสอนสมัยใหม่ยังสอนให้ท่องและช่วยทวนความจำอยู่อีกหรือ คำตอบคือใช่ การเรียนรู้ที่ดีต้องเรียนจากง่ายไปยาก และจากผิวไปสู่ลึกและเชื่อมโยง ตามรายละเอียดในหนังสือ 
ครูเพื่อศิษย์ สร้างการเรียนรู้สู่ระดับเชื่อมโยง https://plc.scbfoundation.com/educational-theory แต่การสอนแนวสอนเสวนาจะไม่หยุดอยู่ที่ IRE/ IRF แต่ครูจะมีคำพูดเพื่อให้เกิดการขยายความ (extension) จากคำตอบที่ได้รับ เริ่มจากการถามหาคำตอบที่ต่าง พร้อมเหตุผลและหลักฐานสนับสนุน

การเรียนแนวสอนเสวนา ให้คุณค่าต่อข้อเท็จจริงและสูตรต่างๆ ด้วย แต่ไม่หยุดนิ่งอยู่แค่นั้น ยังมีการนำความรู้เหล่านั้นไปทดสอบในสถานการณ์ที่แตกต่างหลากหลาย เพื่อให้เห็นว่าในชีวิตจริงความรู้ไม่ได้แข็งทื่อ หยุดนิ่ง แต่มีการปรับตัวเปลี่ยนแปลงขยายความไปตามสถานการณ์ต่างๆ

การพูดเพื่อสอนจึงใช้การพูดหลากหลายแบบ แต่ที่ใช้มากที่สุดคือการพูด ๔ ประการหลัง คือ พูดเพื่อนำการอภิปราย พูดเพื่อเสนอให้มีการตรวจสอบ พูดเพื่อให้มีการโต้แย้ง และพูดสู่สานเสวนา ซึ่งเป็นการพูดของครูที่กระตุ้นให้นักเรียนคิดซับซ้อน คิดระดับสูง (higher-order thinking)

เรื่องเล่าจากห้องเรียน

วันแรกของสัปดาห์ คุณครูกิ๊ฟ - จิตตินันท์ มากผล มาพบกับนักเรียนห้อง ๒/๔ พร้อมกับแผนการเรียนรู้ “ลายไทย ลายน้ำ” ที่เตรียมมาอย่างดี เด็กๆ ที่โรงเรียนเพลินพัฒนามีประสบการณ์การวาดลายไทยมาตั้งแต่อยู่ชั้นประถมปีที่ ๑ เรื่องการวาดลายไทยนี้จัดอยู่ในหลักสูตรที่มีขึ้นเพื่อสร้างให้เด็กๆ ได้สัมผัสรับรู้ถึงสุนทรียภาพอย่างไทย ด้วยการลงมือหัดเขียนเส้นไทยแบบต่างๆ ไปพร้อมๆ กับการหัดเขียนตัวอักษรไทย

นักเรียน : สวัสดีค่ะ/ ครับ คุณครูกิ๊ฟ

ครูกิ๊ฟ : สวัสดีค่ะ สวัสดีทุกคนเลยนะ ถามเด็กๆ ก่อนว่ามีใครจำได้บ้างว่าครั้งที่แล้วเด็กๆ ทำงานเกี่ยวกับหัวข้อหรือเรื่องอะไรไปเอ่ย ใครยังจำได้

รักเอย : ประสบการณ์สอนใจ หรือว่าคุณครูที่เรารัก

เด็กผู้ชาย : คุณครูในดวงใจ

บทที่_๘.๑.png
ครูกิ๊ฟ : เยี่ยมมากเลย เราได้เขียนเกี่ยวกับเรื่องประสบการณ์สอนใจ หรือว่าคุณครูในดวงใจใช่ไหม ทีนี้ทบทวนเด็กๆ ก่อนว่า เด็กๆ จำได้ใช่ไหมว่าจริงๆ แล้วใครที่สามารถเป็นครูให้เราได้บ้าง ใครเอ่ยที่สามารถสอนเราได้ 

ผิงผิง : พ่อแม่ 

ครูกิ๊ฟ : ผิงผิงบอกว่าพ่อแม่

ผิงผิง : คนในครอบครัว

ครูกิ๊ฟ : คนในครอบครัว มีใครอีก

ผิงผิง : ประสบการณ์

ไทม์ : ทุกคนสามารถเป็นคุณครูได้ถ้าเกิดเขาสอนเรา

ครูกิ๊ฟ : ทุกๆ คนสามารถเป็นคุณครูเราได้ ที่เขาเป็นคนสอนเราใช่ไหม ไม่ว่า คุณครูจริงๆ คุณพ่อคุณแม่ หรือคนในครอบครัว ใครก็แล้วแต่เลยที่สอนเรา คนนั้นสามารถเป็นครูของเราได้ แล้วนอกจากนั้นแล้วมีใครสามารถเป็นครูให้เราอีก... รักเอยคะ รักเอย นอกจากคนในครอบครัวหนู หรือบุคคลแล้วนี่ มีใครสามารถเป็นครูสอนเราได้อีกบ้าง หนูนึกถึงใครลูก

รักเอย : หนูคิดว่าทุกคนเลย เพราะว่าทุกคนมีประสบการณ์มากกว่าพวกเรา พวกเราเป็นเด็กยุคใหม่ เขาเป็นคนที่โตมาก่อนเรา เขาก็มีประสบการณ์ รู้มาก่อนเราทุกคนเลย ไม่ว่าจะเป็นตายายปู่ย่า หรือน้าๆ อาๆ อะไรอีกมากเลย

บทที่_๘.๒.png
ครูกิ๊ฟ : เยี่ยมมาก สิ่งที่รักเอยแลกเปลี่ยนมาดีมากเลยนะเด็กๆ ใครก็แล้วแต่ ที่มีประสบการณ์มากกว่าเรา สิ่งที่เขาสอน สิ่งที่เขาบอกเรา เพราะว่าเขามีประสบการณ์มาก่อน ดังนั้นคนที่มีประสบการณ์มาก่อนเขาจะมีสิ่งที่สามารถเตือนหรือบอกเด็กๆ ได้ เพื่อไม่ให้เด็กๆ อาจจะเกิดเหตุการณ์เหมือนที่เขาเคยเกิดขึ้นมาได้ ดังนั้นคนที่มีประสบการณ์เยอะกว่าเขาก็จะสามารถสอนในสิ่งต่างๆ ของเราได้ดีมากเลยนะ เอ้า... น้องต้นปาล์มว่าไงนะ

ต้นปาล์ม : ประสบการณ์ก็เป็นคุณครูสอนใจเราได้

ครูกิ๊ฟ : เยี่ยมมาก ขอบคุณต้นปาล์มมาก นอกจากบุคคลต่างๆ แล้ว ประสบการณ์ก็สามารถเป็นคุณครูสอนใจเราได้ เพราะว่าประสบการณ์ต่างๆ จะสอนให้เราไม่ทำสิ่งนั้นผิดอีก หรือว่าได้เรียนรู้จากสิ่งที่เราเคยทำไปแล้วและมันอาจจะเกิดสิ่งที่ไม่ดีเกิดขึ้น หรืออาจจะเกิดอะไรที่เป็นอันตรายต่อตัวเองเกิดขึ้น เมื่อกี้บอกไปแล้วว่ากิจกรรมของเราจะมีความแตกต่างจากครั้งก่อนๆ เพราะว่าเด็กๆ ต้องตั้งใจฟัง ขอเลยนะ ขอให้เด็กๆ ตั้งใจฟังอย่างจดจ่อเลยนะ ลองฟังนะทุกคน ตั้งใจฟังนะ หลับตาฟังให้ดีนะ... (ครูเปิดคลิปเสียงน้ำหยด) เสียงเมื่อกี้คือเสียงอะไรเอ่ย ใครจะตอบยกมือขึ้น

บอส : ปิงปอง

ครูกิ๊ฟ : มีคนบอกว่าเสียงปิงปอง... เบนโตะ เสียงอะไรเอ่ย

เบนโตะ : หยดน้ำ

หนูเอวา : ได้ยินเสียงหยดน้ำเหมือนเบนโตะ

รักเอย : หนูขอเพิ่มเติมเสียงหยดน้ำได้ไหมคะ 

ครูกิ๊ฟ : ได้ค่ะ รักเอย

รักเอย : มันเป็นเสียงหยดน้ำหยดเดียว มันไม่ได้มีหลายหยด

ครูกิ๊ฟ :   เป็นเสียงหยดน้ำที่เป็นหยดเดียว ค่อยๆ หยด ทีละหยดๆ ใช่ไหม มีใครคิดว่าไม่ใช่หยดน้ำบ้าง ทีนี้เด็กๆ ลองมาฟังอีกหนึ่งเสียงว่ามันคือเสียงของอะไรนะ นอกจากนั้นคือเสียงอะไร ฟังให้ดีนะ (ครูเปิดคลิปเสียงน้ำไหลและมีเสียงนกร้อง) เสียงนี้คือเสียงอะไรเอ่ย... ฟินน์ครับ

ฟินน์ : เสียงฝนตกครับ

หนูเอวา : ครูคะ ขอเพิ่มเติมค่ะ

ครูกิ๊ฟ : เดี๋ยวแป๊บหนึ่งค่ะ... กรครับ กรคิดว่าคือเสียงอะไรเอ่ย

กร : น้ำไหลครับ

ครูกิ๊ฟ : น้ำไหลเหรอคะ ใช่ไหมลูก เมื่อกี้มีอาขอเพิ่มเติมอะไรนะ

มีอา : หนูอยากเพิ่มเติมของฟินน์ก็คือน้ำไหล อย่างนี้หนูคิดว่าน่าจะเป็นไหลทีเดียวเลย ไม่ได้ไหลหนึ่งหยด แล้วก็รอไว้แป๊บหนึ่งแล้วมันก็ไหลลงมาอีก

หนูเอวา : หนูได้ยินเสียงอีกอย่างหนึ่งคือหนูได้ยินเสียงนกร้องค่ะ

ครูกิ๊ฟ : ได้ยินเสียงนกร้องด้วย เต็งหนึ่งยกมือ... เต็งหนึ่งอยากบอกว่าอะไรครับ

เต็งหนึ่ง : ผมอยากบอกว่ามันคือลำธารเล็กๆ ครับ

ครูกิ๊ฟ :  มันคือเสียงลำธารเล็กๆ เอ้า... กะทิค่ะ 

กะทิ : เหมือนเสียงน้ำตก

ครูกิ๊ฟ : เอ้า... เหมือนเสียงน้ำตก โอเค เยี่ยมมากเลย เมื่อกี้มีอาช่วยสรุปให้แล้วว่าน้ำอันนี้มันมีความแตกต่างจากน้ำอันแรก อันแรกเป็นเสียงน้ำ เสียงน้ำหยด ค่อยๆ หยดทีละหยดใช่ไหม แต่อันนี้เป็นเสียงของน้ำที่ไหลไปเลยโดยที่ ไม่มีอะไรมากั้นเลย มีเพื่อนบางคนเปรียบเทียบว่ามันอาจจะเหมือนกับลำธารเล็กๆ มีเพื่อนได้ยินเสียงนอกจากน้ำ ได้ยินเสียงลำธารด้วยนะ ทีนี้ครูกิ๊ฟอยากถามเด็กๆ ว่าเมื่อเด็กๆ ได้ฟังเสียงทั้ง ๒ เสียงแล้ว เด็กๆ รู้สึกมีความแตกต่างกัน อย่างไรบ้างคะ... มีอา เชิญค่ะ

บทที่_๘.๓.png
มีอา : น้ำหยด หนูรู้สึกเหมือนเวลาหนูเกาะอยู่บนต้นไม้แล้วหนูค่อยๆ หล่นลงมาค่ะ 

ครูกิ๊ฟ : แล้วอย่างไรต่อ

มีอา : น้ำที่ไหลลงมาแรงๆ ถ้าเกิดเป็นความรู้สึกของหนู เหมือนหนูกำลังเล่นสไลเดอร์น้ำไหลค่ะ

ครูกิ๊ฟ : มันมีความรู้สึกเป็นอย่างไรกว่า

มีอา : น้ำไหลรู้สึกว่ามันรุนแรงกว่าอันแรก 

ครูกิ๊ฟ : มันรู้สึกถึงความรุนแรงมากกว่าใช่ไหม คนอื่นล่ะคะ ความรู้สึกที่ได้ฟังแล้วความแตกต่างมันแตกต่างกันอย่างไรเอ่ย

ครูกิ๊ฟ : ใครดีเอ่ย ใครอยากตอบกดหัวใจซิ ตอนนี้เด็กๆ กดสติ๊กเกอร์หัวใจค้างไว้ ไม่รู้เลยว่าใครอยากตอบ... ฟินน์เชิญครับ

ฟินน์ : เสียงแรกจะเป็นเสียงเป็นแบบน้ำค่อยๆ หยดลงมา แต่เสียงที่ ๒ จะเป็นแบบตกหนักๆ เลย 

ครูกิ๊ฟ : ใช่ แล้วมันให้ความรู้สึกที่แตกต่างกันอย่างไร ถ้าเปรียบเทียบกัน อันแรกมันเป็นอย่างไร อันที่ ๒ มันเป็นอย่างไร... หนูเอวาเชิญค่ะ

หนูเอวา : อันแรกที่เป็นหยดน้ำ หนูรู้สึกเหมือนเราเอามือมารองน้ำให้มันหยด แต่อันที่ ๒ ที่เป็นน้ำไหล เหมือนเราอยู่ในทะเล น้ำในทะเลมันก็ไหล

ครูกิ๊ฟ : ไหลไปเรื่อยๆ หนูเอวากำลังบอกว่าเสียงน้ำอันแรกเหมือนเราเอาอะไรไปขวางมันใช่ไหม ที่มันไหลหยด มีเสียงของน้ำน้อย เหมือนเอามือไปรองมัน แต่เสียงน้ำอันที่ ๒ คล้ายๆ กับเสียงทะเล ที่มันไหลผ่านเราไปเร็วๆ และมันไหลอย่างรุนแรงใช่ไหม โอเค ขอบคุณมากเลยค่ะ ทีนี้ครูขอถามเด็กๆ ว่าถ้าสมมติว่าเราจะเปรียบเทียบน้ำทั้ง ๒ เสียงนี้เหมือนกับความรู้ของเด็กๆ... รักเอย เชิญค่ะ

รักเอย :  มันเหมือนการเรียนรู้ที่ อันที่ ๑ มันจะสงบนิ่งใจเย็น อันที่ ๒ จะทำอะไรเร็วๆ ตลอดเลย อันที่ ๒ มันจะเหมือนการเรียนรู้ที่เราไม่มีการอยู่เฉยๆ เราจะทำตลอด เราไม่ลีลา อันที่ ๑ มันก็เหมือนเราลีลา

ครูกิ๊ฟ : เมื่อกี้รักเอยเขาได้แลกเปลี่ยนไปแล้ว คนอื่นล่ะ น้ำที่ค่อยๆ หยดทีละหยดๆ กับน้ำที่ไหลเป็นลำธารไปเลย คิดว่าเปรียบเสมือนกับการเรียนรู้ที่เป็นแบบไหนลูก มีใครอยากตอบบ้าง มีอาเหรอคะ... ผิงผิงแป๊บหนึ่งนะ 

มีอา : เป็นอันแรก หนูคิดว่าเหมือนเวลาเราลีลา เหมือนเราค่อยๆ ทำงานช้าๆๆๆ แล้วก็ช้าๆ ลงค่ะ อันที่ ๒ เหมือนเราเร่งเพื่อที่เราอยากจะทำอย่างอื่น 

ครูกิ๊ฟ : ขอบคุณมากเลยค่ะ ผิงผิง เชิญค่ะผิงผิง

ผิงผิง : ก็คือหนูคิดว่าน้ำที่ค่อยๆ ไหลเหมือนคนคนนั้นค่อยๆ รับความรู้นิดหนึ่งๆๆ ช้าๆ แต่อีกคนหนึ่งรับความรู้ทุกอย่างเลยไม่หยุด เหมือนมีน้ำเต็มแก้วแล้วน้ำก็หยดๆๆ เต็มแก้วแล้วมันก็ลดลง แล้วก็หยดใหม่ จนเต็ม ไม่หยุด แต่อีกคนน้ำหยดยังไม่เต็มแก้วหนึ่งเลย

บทที่_๘.๔.png
ครูกิ๊ฟ : แต่ว่าค่อยๆ เพิ่ม ค่อยๆ เพิ่มเข้าไปเรื่อยๆ ใช่ไหม จากทีละหยดๆ ใช่ไหมคะ ผิงผิงเยี่ยมมาก สิ่งที่ผิงผิงแลกเปลี่ยนมานั้นดีมาก น้ำหยดเล็กๆ นั้นเปรียบเสมือนคนที่ค่อยๆ รับความรู้มาทีละน้อยๆ จนมันเต็ม แต่คนที่เปรียบเทียบกับการเรียนรู้ที่เป็นน้ำไหลแรง เขามีการเรียนรู้อยู่ตลอดเวลาเด็กๆ น้ำค่อยๆ ไหลไปเรื่อยๆ จนน้ำเต็มแก้วแล้ว แล้วมันก็กลายเป็นน้ำหยดใหม่อีก แล้วสุดท้ายมันก็จะกลายเป็นน้ำเต็มแก้ว 

การเรียนรู้นั้นก็เกิดการหมุนเวียนขึ้นไปเรื่อยๆ ไปเรื่อยๆ ดังนั้นสิ่งที่ผิงผิงแลกเปลี่ยนมานั้นถูกต้องเลย ไม่ว่าเด็กๆ จะมีการเรียนรู้แบบไหน ทั้งเป็นการเรียนรู้ที่เป็นน้ำทีละหยดๆ หรือเป็นการเรียนรู้ที่เป็นน้ำที่ไหลเสียงดังๆ นี่ก็ถือว่าเป็นนักเรียนรู้ที่ดีได้เหมือนกัน ดังนั้น ครูกิ๊ฟเชื่อว่าถ้าเด็กๆ เป็นนักเรียนรู้แล้ว เด็กๆ ก็จะสามารถเรียนรู้สิ่งต่างๆ ได้ดีทุกอย่างเลยนะคะ 

ทีนี้นอกจากมีเสียงให้เด็กๆ ฟังแล้ว ครูกิ๊ฟยังมีภาพให้เด็กๆ ดูด้วย เดี๋ยวเรามาดูกันนะว่าภาพภาพนี้มันคือภาพอะไร เมื่อกี้ให้ดูแล้วเป็นภาพหยดน้ำ เสียงที่ ๑ คือเสียงของหยดน้ำ อันที่ ๒ คือเสียงของลำธารแบบนี้เลย 

บทที่_๘.๕.pngกิจกรรมต่อจากนี้ ครูให้นักเรียนดูสารคดีสั้นๆ เรื่องน้ำคือชีวิต แล้วชวนพูดคุยกันเรื่องประโยชน์ของน้ำ 

ดี : ประโยชน์ของน้ำคือเวลาเราอยู่ใกล้น้ำแล้วเราจะเย็น และสมัยก่อนคนใจเย็นมาก เพราะว่ามีคนชอบสร้างบ้านอยู่ใกล้ๆ น้ำ หรือว่าอยู่ในน้ำเลยค่ะ

ครูกิ๊ฟ : ใช่ อาจจะช่วยทำให้คนรู้สึกเย็นสบายมากกว่าตอนนี้นะ เพราะว่าบ้านอยู่ติดกับน้ำเลย  

ลูกบัว : ครูกิ๊ฟ บ้านหนูอยู่ใกล้น้ำ

ครูกิ๊ฟ : แล้วเป็นอย่างไรบ้าง บ้านอยู่ใกล้น้ำ เป็นอย่างไรบ้างคะ

ลูกบัว : มีคนมาพายเรือขายของ

ครูกิ๊ฟ : ลูกบัว ลูกบัวบ้านอยู่ริมน้ำแล้วมันเป็นอย่างไร นอกจากมีคนมาขายของ แล้วมีความรู้สึกอย่างไรที่แตกต่างไปจากบ้านที่อยู่บนพื้นปกติแบบนี้บ้าง มันเป็นอย่างไร

ลูกบัว : ตรงท่าเรือหนูมันจะมีรูๆ แล้วเวลาเรือซิ่งมาเร็วๆ มันจะเย็นๆ ตรงขา

บทที่_๘.๖.pngครูกิ๊ฟ : เพราะว่าพอเรือขับผ่าน มันจะมีลมพัดใช่ไหม และกับความเย็นของน้ำทำให้เรารู้สึกเย็นสบายมากกว่าตอนเราอยู่บ้านธรรมดาแบบปัจจุบันใช่ไหมคะ โอเค... หนูเอวา สุดท้าย

หนูเอวา : เราสามารถนำไปทำอาหาร ทำน้ำซุปได้ แล้วก็เอาน้ำไว้กิน กับเอามาทำอาหารได้ค่ะ

ครูกิ๊ฟ : ส่วนใหญ่น้ำก็จะเป็นส่วนประกอบสำคัญในชีวิตของเราเลยใช่ไหม คือเอาไว้ใช้และเอาไว้ดื่มเอาไว้กิน ทีนี้เด็กๆ รู้สึกว่าน้ำมีคุณค่าต่อเราอย่างไรบ้างคะ 

ดีดี : สมมติเวลาเราไปที่อื่นแล้วเราไม่มีข้าวกิน แต่มีน้ำเราก็สามารถอยู่รอดได้

ครูกิ๊ฟ : โอ้โห เยี่ยมมาก

บทที่_๘.๗.pngดีดี : ถ้าเรากินข้าว แต่เราขาดน้ำ ประมาณ ๗ วันเราจะตายค่ะ

ครูกิ๊ฟ : ใช่ แม้ว่าเราจะไม่ได้กินข้าว แต่เรายังได้กินน้ำอยู่ เราก็จะมีชีวิตรอด แต่ถ้าเด็กๆ อยู่แบบไม่ได้กินน้ำเลย ไม่มีน้ำตกไปถึงในร่างกายเลย เด็กๆ อาจจะถึงเสียชีวิตได้นะ เพราะว่าน้ำมีความสำคัญต่อร่างกายของเรามากเลย มีใครอยากเพิ่มเติม 

มีอา : หนูจะเพิ่มเติมว่าเวลาเราไม่สบาย หรือว่าเราไอเราต้องกินน้ำเยอะๆ ด้วยค่ะ 

ครูกิ๊ฟ : ใช่ เพราะฉะนั้นน้ำสำคัญต่อเรามากเลยใช่ไหม... รักเอยค่ะ

รักเอย : มาเอาไปทำศิลปะไทยได้ค่ะ

ครูกิ๊ฟ : เอาไปทำศิลปะไทยได้อย่างไรเอ่ย

รักเอย : คือคนโบราณเขาชอบเอาลายน้ำมาวาดลายน้ำตรงผนังวัด เป็นลายน้ำ ผนังวัด เขาจะวาดแบบมีพวกพญานาคบนสวรรค์จะใช้ลายน้ำทำตรงนี้

ครูกิ๊ฟ : น้ำก็คือเป็นส่วนประกอบศิลปวัฒนธรรมไทยก็คือการเอาไปวาดลายไทยนั่นเองใช่ไหม ครูกิ๊ฟขอจบที่ตรงนี้เลยนะคะ ทีนี้เด็กๆ จะได้เรียนรู้แล้วว่าน้ำมีประโยชน์และมีคุณค่ามากมายเลย ทั้งกับสิ่งมีชีวิตต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นคน เป็นสัตว์ หรือว่าเป็นพืช ทุกอย่างต้องอาศัยน้ำในการดำรงชีวิตใช่ไหม และนอกจากสิ่งเหล่านั้นแล้วน้ำยังเป็นส่วนประกอบของลายไทยด้วย เพื่อนได้เฉลยมาแล้ว... เด็กๆ คิดว่าวันนี้เราจะมาเรียนเกี่ยวกับเรื่องของอะไรเอ่ย เมื่อเราพูดถึงน้ำแล้วนี่

รักเอย : ลายน้ำ

มีอา : หยดน้ำ

บทที่_๘.๘.png
ครูกิ๊ฟ : เด็กๆ เคยเรียนเกี่ยวกับลายน้ำตอนอยู่ชั้น ๑ เป็นลายน้ำแบบไหนคะ ใครจำได้บ้าง คล้ายๆ อะไรนะ 

ดีดี : เป็นแบบคล้ายๆ wifi

ครูกิ๊ฟ : ให้ดู มันคล้ายๆ กับแบบนี้ใช่หรือไม่ แบบนี้ใช่ไหม

บทที่_๘.๙.png
ดีดี : แต่ถ้าเราตัดสีฟ้าให้เหลือแต่สีขาวมันจะเหมือน wifi

ครูกิ๊ฟ : มันคือลักษณะของลายน้ำที่เป็นเหมือนรูปเกล็ดปลานั่นเองใช่ไหม เหมือนกับเกล็ดปลา แล้วก็เหมือนหยดน้ำที่เพื่อนทำมือให้ดู 

เราเคยเรียนลายน้ำแบบเป็นหยดน้ำ กับแบบเป็นลายน้ำแบบเกล็ดปลาแบบนี้ แต่ว่าตอนอยู่ชั้น ๒ เด็กๆ จะได้เรียนลายน้ำอีกแบบหนึ่งซึ่งมันจะเป็นลายน้ำที่มีลักษณะคล้ายกับคลื่นน้ำ อันนี้เหมือนกับลายน้ำที่เป็นน้ำนิ่งๆ ใช่ไหม แต่ว่าลายน้ำที่เราจะได้เรียนในชั้น ๒ จะเป็นลายน้ำที่เป็นลายน้ำเหมือนคลื่นทะเล มันจะมีความเคลื่อนไหว 

เด็กๆ ลองดูภาพตัวอย่างนี้นะ รูปนี้ให้ความรู้สึกแตกต่างจากลายน้ำเมื่อกี้อย่างไรบ้าง ไหนใครอยากบอกความรู้สึกครูกิ๊ฟ

รักเอย : มันเป็นลายน้ำที่ยากและเป็นเหมือนการเคลื่อนไหว

บทที่_๘.๑๐.pngมีอา : มันเหมือนตาเลยค่ะ

ครูกิ๊ฟ : ใช่ มันเหมือนกับมีการเคลื่อนไหวอยู่ในภาพภาพนี้ใช่ไหม ทั้งที่ภาพนี้เป็นภาพวาดแบบเป็น ๓ มิติ หรือเปล่า

ดีดี : ไม่ใช่ ๓ มิติ แต่เป็นภาพนิ่งค่ะ

ครูกิ๊ฟ : อ๋อ เป็นภาพนิ่งเลยนะ แต่ว่าภาพนี้มันสามารถทำให้เรารู้สึกว่ามีความเคลื่อนไหวอยู่ได้ ดังนั้นเด็กๆ คิดว่าลายน้ำแบบนี้มีความแตกต่างจากลายน้ำแบบเดิมอย่างไร เส้นมันเป็นอย่างไร เส้นของลายเป็นอย่างไร

รักเอย : เส้นมันมีความละเอียดกว่าค่ะ

ครูกิ๊ฟ : นอกจากเส้นมีความละเอียดแล้ว เส้นเป็นอย่างไรอีก ขอบคุณรักเอยมากเลย 

รักเอย : เส้นมันมีความคล้องจอง หรือว่ามันตรงกันอยู่ค่ะ

ครูกิ๊ฟ : มันมีความคล้องจองกันอย่างไร มันไปทิศทางเดียวกันใช่ไหม

รักเอย : มันไปด้วยกันๆ

มีอา : มันไปทางไหนก็ไปทางนั้นค่ะ

ครูกิ๊ฟ : เขาเรียกว่าเส้นของลายมันมีความลื่นไหล

หนูเอวา : เส้นมันต่อเนื่องกันค่ะ

ครูกิ๊ฟ : โอ้โห ยอดเยี่ยมมากค่ะ เส้นมีความต่อเนื่อง มีความลื่นไหลกันนะ แล้วก็ มันไปในทิศทางเดียวกัน เพราะฉะนั้นมันทำให้เราเกิดความรู้สึกว่ามันอาจมีการเคลื่อนไหว รู้สึกว่ามีความเคลื่อนไหวอยู่ในภาพภาพนี้ อันนี้มีปลาด้วย ให้ดูภาพถัดไป ภาพนี้คล้ายๆ อันเมื่อกี้เลย ผสมผสานระหว่างภาพลายน้ำแบบเดิม คล้ายๆ เกล็ดปลา ผสมกับลายน้ำแบบคลื่นเข้าไปแบบนี้

กวี : อันนี้มีสัตว์ประหลาดด้วย

บทที่_๘.๑๑.pngครูกิ๊ฟ : ไม่ใช่สัตว์ประหลาด เด็กๆ เคยได้ยินว่าสัตว์ป่าหิมพานต์หรือเปล่า สัตว์แบบนั้นจะเป็นสัตว์แบบไหน สัตว์แบบนั้นจะต่างจากสัตว์ทั่วไปอย่างไรเอ่ย

กวี : เคยได้ยินครับ 

มีอา : มันจะเป็นลายไทยผสมค่ะ

ครูกิ๊ฟ : มันเป็นสัตว์ที่มีลายไทยผสม และตัวของเขาเป็นสัตว์ชนิดเดียวหรือเปล่า

เด็กผู้หญิง : ไม่ใช่ค่ะ

เด็กผู้ชาย : ไม่ครับ มีสัตว์หลายชนิดเลยครับ

ครูกิ๊ฟ : ใช่ ตัวของเขาจะมีสัตว์หลายอย่างผสม อันนี้มีทั้งปลา มีทั้งขาด้วย และยังมีเขี้ยวด้วยนะ คือมีปลาผสมกับสัตว์ตัวอื่นๆ อีก บางอันก็เป็นนกกับตัวคน อย่างนี้ก็มี บางอย่างเป็นเหมือนเป็นคนแต่มีงวงอะไรแบบนี้ คือเขาจะมีการผสมผสานระหว่างสิ่งมีชีวิตหลายอย่างลงไปอยู่ในตัวๆ เดียวกัน เขาเรียกว่า สัตว์ป่าหิมพานต์นะ เป็นสัตว์ซึ่งอยู่ในวรรณคดี ไม่มีอยู่จริง เป็นเรื่องเล่า เป็นตำนานเฉยๆ 
   
ให้ดูภาพต่อไป อันนี้เป็นเกล็ดปลาเหมือนกัน เป็นลายน้ำแบบเกล็ดปลา เด็กๆ ลองสังเกตลายน้ำของเขาแต่ละเส้นมันเป็นอย่างไร เขาวาดแบบมั่วๆ หรือเปล่า ใช่ไหม เขาอยากวาดเขาวาดไปเลยหรือเปล่า

กวี : ไม่ใช่ เขาวาดอย่างตั้งใจ

รักเอย : เป็นระเบียบเรียบร้อย

เด็กผู้ชาย : เหมือนดูภาพ ๓ มิติ

มีอา : มันเหมือนเกล็ดของปลาที่ซ้อนๆ กัน 

บทที่_๘.๑๒.pngครูกิ๊ฟ : ใช่ มันมีความคล้ายกับเกล็ดของปลาใช่ไหม ซ้อนกันๆ ไปเรื่อยๆ

หนูเอวา : มันเหมือนคลื่นน้ำ เหมือนไล่สีด้วยค่ะ

ครูกิ๊ฟ : ใช่ สีที่เขาใช้มีการไล่สีด้วย... โนบุว่าไงลูก

โนบุ : มันเหมือนก้อนเมฆครับ

ครูกิ๊ฟ : เพราะว่าอะไรถึงเหมือนก้อนเมฆ

โนบุ : เพราะว่ามันยึกยักไปมาครับ

ครูกิ๊ฟ : อีกรูปก็คล้ายเดิมนะ อันนี้เป็นลายน้ำแบบเป็นคลื่นจริงๆ เด็กๆ ลองดูเส้นเขา มีความโค้งและมีความอ่อนช้อย คล้ายๆ กับเส้นลายน้ำบนคลื่นทะเลเลย หรือจะเป็นน้ำที่เป็นม้วนๆ แบบนี้เป็นคลื่นทะเลจริงๆ แล้วก็ม้วนๆๆ แบบนี้ ก็ได้เช่นกัน

รักเอย : มีการใช้สีอื่น ที่ไม่ใช่สีน้ำ

ครูกิ๊ฟ : ได้ ใช้สีที่หลากหลายเพื่อทำให้เราเห็นถึงความแตกต่างของน้ำแต่ละชั้นแบบนี้ หรือเป็นแบบนี้ก็ได้อีกเหมือนกัน

รักเอย : เหมือนสวรรค์ ๖ ชั้นเลยค่ะ

บทที่_๘.๑๓.png
บทที่_๘.๑๔.png
ครูกิ๊ฟ : อันนี้เหมือนกว่ามีสีทองด้วย เป็นภาพลายน้ำ แต่เป็นลายน้ำที่เติมลายไทยลงไปนะ เด็กๆ จะเห็นว่ามันมีความคดโค้ง มีลายเถา มีลายกนก มีลายเปลวที่เด็กๆ เคยเรียนไปใช่ไหม

ครูกิ๊ฟให้ดูตัวอย่างเลยแล้วกัน ภาพนี้เป็นของรุ่นพี่ เขาวาดลาย อันนี้เป็นแบบง่ายๆ เหมือนตอนเด็กๆ อยู่ชั้น ๑ ใช่ไหม วาดลายน้ำเหมือนเกล็ดปลาแต่ใส่ดอกดาวเรืองไปด้วย เป็นต้นข้าวและมีลายน้ำ

บทที่_๘.๑๕.pngกเอย : หนูไม่รู้เลยว่าอันนี้เป็นพี่ ป. ๒ วาด 

ครูกิ๊ฟ : ใช่ อันนี้มีความซับซ้อนมากขึ้น และมีดอกบัวด้วยนะ 

รักเอย : หนูว่าภาพนั้นของคุณครูวาด 

ครูกิ๊ฟ : ใช่ภาพนั้นคุณครูวาด แต่ว่าภาพนี้ของพี่ นอกจากลายน้ำที่ใส่ลายไทย เขายังใส่ลายน้ำลงไปในดอกไม้ที่เขาวาดอีกด้วย นี่ให้เด็กๆ ดูตัวอย่าง นี่ระบายสีแล้วใช้พื้นที่ของหน้ากระดาษให้เต็มหน้ากระดาษเลย หรือสุดท้ายเด็กๆ อาจจะวาดรูปแบบนี้ก็ได้ เป็นเกล็ดปลาเล็กๆ ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นรูปน้ำเท่านั้นนะ เด็กๆ สามารถสร้างสรรค์รูปภาพที่ใช้ลายน้ำในการวาดได้ แต่ถ้าเป็นลายน้ำได้เลยก็จะเยี่ยมมาก ก็คือใครอยากวาดเป็นปลาแบบนี้ แต่ว่าใช้ลายน้ำใส่ลงไปก็ได้เช่นกัน เอาทั้งลายน้ำแบบเดิมที่เคยเรียนมา ผสมกับลายน้ำที่เราเคยเรียนใหม่ในครั้งนี้ก็ได้
     
ทีนี้ครูกิ๊ฟจะให้โจทย์แล้วนะ 
     
วันนี้เราจะมาสร้างสรรค์ลายน้ำกัน ซึ่งให้เด็กๆ ไปดูชีทที่ครูกิ๊ฟให้ มันจะมีแบบคล้ายๆ ชีทบางๆ เกี่ยวกับลายไทยที่เป็นลายไทยพื้นฐานจะมีลายไทยที่เด็กๆ เคยเรียนไปแล้วนั่นล่ะ เด็กๆ สามารถดูตัวอย่างลายไทยจากตรงนั้นได้เลย แล้วก็วาดเสร็จแล้ว ระบายสีให้สวยงาม พร้อมกับตั้งชื่อภาพให้ด้วย 

แต่ว่าถ้าใครอยากฝึกมือก่อนนะ ในซองภาษาไทยจะมีแบบฝึกหัดที่เป็นแบบฝึกหัดลายเถาขด เถาเลื้อย เด็กๆ คิดว่าลายนี้มีความสอดคล้องอะไรกับลายน้ำที่เราเรียนอยู่

บทที่_๘.๑๖.png
รักเอย : มันดูเป็นลายที่เหมือนลายน้ำ และมันมีเส้นเป็นลายน้ำพื้นฐาน 

ครูกิ๊ฟ : มันคล้ายลายน้ำพื้นฐาน แต่เส้นของลายเถาขดเถาเลื้อยมันเป็นอย่างไร  มันคล้ายกับลายน้ำอย่างไร เส้นมันเป็นอย่างไร  

รักเอย : มันเหมือนคลื่นทะเลที่เราชอบวาดปกติ 

ครูกิ๊ฟ : มันมีลักษณะคล้ายกับคลื่นทะเล ถ้าเด็กๆ อยากฝึกมือก่อนในการทำให้เส้นมีความอ่อนช้อย หนูสามารถไปทำแบบฝึกหัดอันนี้ได้ก่อน ครูกิ๊ฟใส่ไปให้แล้วในซอง มีหลายหน้าเลย มีทั้งแบบเถาเดี่ยว มีทั้งเถาไขว้ คือเป็นเส้นแล้วมาไขว้กัน ๒ เส้น เป็นลายก้านขด ค่อยๆ คด ค่อยๆ โค้งไป 

มีลายน้ำหลายแบบเลยนะ อันนี้ก็เป็นแบบก้านขดแบบเป็นเส้นคู่ แล้วอันนี้ที่ครูกิ๊ฟบอก เป็นลายไทยพื้นฐานให้เด็กๆ ได้ดูและสามารถวาดตามได้เลย 

ทีนี้งานในวันนี้ให้เด็กๆ สร้างสรรค์ลายน้ำ เมื่อกี้บอกไปแล้ว ฟังให้ดีนะ ครูกิ๊ฟให้เด็กๆ ฝึกมือในการวาดเส้นลายน้ำอันนี้ลงแบบฝึกหัด จะทำหรือไม่ทำก็ได้ แล้วก็ไม่ต้องส่งมา เด็กๆ ไม่ต้องถ่ายรูปส่งมานะ แต่ถ้าจะทำ จะดีมากเลย เพราะว่าเด็กๆ ได้ฝึกมือตัวเองให้มีความอ่อนช้อยมากขึ้น ดังนั้น ทำเสร็จแล้วให้เด็กๆ ไปวาดรูปลงในสมุดลายไทย สมุดที่เด็กๆ วาดรูปลายไทยเกี่ยวกับสระอัวจำได้ไหม สมุดไม่มีเส้น วาดรูปลงในนั้นนะ จะเป็นแนวตั้งหรือแนวนอนก็ได้ จะวาดรูปในแนวตั้งหรือในแนวนอนก็ได้ หนูสามารถทำได้ทั้ง ๒ แนวเลย ตั้งหรือนอนก็ได้ แต่ว่าแบบฝึกหัดนี้จะทำหรือไม่ทำก็ได้ แล้วก็ไม่ต้องถ่ายรูปส่งมา ถ่ายรูปส่งมาแค่สมุดลายไทยที่ทำชิ้นงานเสร็จแล้วเรียบร้อยนะ มีใครมีคำถาม มีใครสงสัยบ้างไหมเอ่ย น้องต้นปาล์มเชิญค่ะ 

ต้นปาล์ม : ผมมี ๒ อย่างที่อยากถามครับ คือวาดเป็นคลื่นสึนามิ คลื่นใหญ่กับเป็นปลาที่เราวาดตอน ป. ๑ ได้ไหมครับ 
ครูกิ๊ฟ : ได้ ได้ทั้งหมดเลยค่ะ 


บทสนทนาข้างต้น เกิดขึ้นในช่วงเวลาของการสร้างแรงบันดาลใจในการเรียนรู้ เป็นไปอย่างเต็มอิ่มตลอดระยะเวลา ๔๕ นาทีเต็ม ที่คุณครูเรียงร้อยจากการเชื่อมการเรียนรู้จากระดับผิว สู่การเรียนรู้ระดับลึก และระดับเชื่อมโยงอย่างเป็นลำดับ โดยอาศัยการจัดวางการเรียนรู้จากประสบการณ์เดิมที่เกิดขึ้นก่อนหน้า มาสู่การเรียนรู้ผ่านผัสสะทางหู ที่เริ่มต้นจากการฟังเสียงน้ำ สู่การเปิดรับสัมผัสทางตา ทั้งจากการรับชมวีดิทัศน์ เพื่อเชื่อมร้อยความรู้และประสบการณ์หลากหลายเข้ามาหากัน และการรับชมภาพของลายน้ำแบบต่างๆ ที่ครูเรียงลำดับเอาไว้ เพื่อเอื้อให้ทุกคนได้เดินทางผ่านประสบการณ์ไปด้วยกัน เรื่อยมาจนกระทั่งมาถึงการศึกษาผลงานของรุ่นพี่ ตามด้วยวิธีการฝึกมือในแบบฝึกหัดที่คุณครูได้จัดเตรียมไว้ให้ ก่อนจะเริ่มงานจริง เพื่อให้เด็กๆ มีความพร้อมที่จะแปลงประจุของพลังที่มีอยู่อย่างเต็มเปี่ยม ไปสู่การลงมือทำงานอย่างเต็มฝีมือ

นอกเหนือไปจากการพูดชวนคิดชวนคุยของครู ที่เกิดขึ้นอย่างมีจังหวะจะโคน อ่อนโยนและเป็นธรรมชาติแล้ว สื่อประเภทต่างๆ ที่ครูร้อยเรียงไว้อย่างเป็นลำดับนี่เอง ที่เป็นปัจจัยความสำเร็จของการสร้างบทสนทนาเรื่องความงามในเส้นสายของลายน้ำแบบต่างๆ ให้เกิดขึ้นกับชั้นเรียนวันนี้ได้อย่างน่าประทับใจ

๘_ลายไทย_ลายน้ำ1.png

ลายไทย ลายน้ำ คุณครูกิ๊ฟ – จิตตินันท์ มากผล
ดาวน์โหลดเอกสาร
ศาสตราจารย์ นายแพทย์ วิจารณ์ พานิช
นักเขียน
ศาสตราจารย์ นายแพทย์ วิจารณ์ พานิช
รองประธานกรรมการมูลนิธิสยามกัมมาจล นายแพทย์ผู้สนใจประเด็นการศึกษา เจ้าของผลงานหนังสือเกี่ยวกับการจัดการเรียนรู้หลากหลายเล่ม ตั้งแต่ เลี้ยงลูกยิ่งใหญ่, วิถีสร้างการเรียนรู้เพื่อศิษย์ในศตวรรษที่ 21, สนุกกับการเรียนในศตวรรษที่ 21 ฯลฯ
แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน
profile
กรุณา Login ก่อน comment
เนื้อหาทั้งหมด