สอนเสวนา_Cover_front
ทฤษฎีการศึกษาการศึกษา

หนังสือ สอนเสวนาสู่การเรียนรู้เชิงรุก

อ่าน 776 นาที

หนังสือเล่มนี้เขียนขึ้นเพื่อชี้แนวทางจัดการเรียนรู้แบบที่เรียกว่า active learningหรือการเรียนรู้เชิงรุก โดยมีเป้าหมายเพื่อฝึกนักเรียนให้เรียนรู้จากการปฏิบัติตาม ด้วยการคิดที่เรียกว่า การใคร่ครวญสะท้อนคิด (reflection) ที่นำไปสู่การฝึกทักษะการเรียนรู้ที่นักเรียนกำกับการเรียนรู้ของตนเอง (self-directed learning) เป็น ผ่านกระบวนการ สานเสวนา (dialogue) ระหว่างนักเรียนกับครู และระหว่างนักเรียนกับเพื่อนนักเรียนด้วยกัน

เขียนโดยศาสตราจารย์ นายแพทย์ วิจารณ์ พานิช
17 ธันวาคม 2564
บทที่ 3 สู่การสร้างผลลัพธ์ การเรียนรู้สูงในทุกด้าน
CP3.png

ผมตีความว่า แก่นคุณค่าของการสอนแบบสานเสวนา (dialogic teaching) คือการงอกงามความเป็นมนุษย์ผู้ก่อการ (agentic persons) ทั้งที่ตัวศิษย์และตัวครู เป็นการสร้างบุคลิกหรือคุณลักษณะของความเป็นผู้ก่อการที่มีทั้งความรู้ (knowledge) ทักษะ (skills) เจตคติ (attitude) และคุณค่า (values) เพื่อความอยู่ดีมีสุข (สุขภาวะ) ของตนเอง ครอบครัว ชุมชน ประเทศ และโลก 

ซึ่งหมายความว่า การสอนแบบสานเสวนาสร้างผลลัพธ์การเรียนรู้ระดับสูงในทุกด้าน พิสูจน์โดยโครงการทดลองแบบ RCT (Randomized Control Trial) ในอังกฤษ สนับสนุนโดย EEF (Equity Education Fund) ระหว่าง ค.ศ. 2014 - 2017 
โดยการทดลองใช้เวลาเพียง ๒๐ สัปดาห์ พบว่าผลลัพธ์การเรียนรู้ด้านภาษา (อังกฤษ) วิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ ในนักเรียนชั้นประถมศึกษากลุ่มทดลองสูงกว่ากลุ่มควบคุมถึงเท่ากับการเรียนรู้ ๒ เดือน หรือกล่าวใหม่ว่าการเรียนรู้ที่เกิดจากการสอนแบบสานเสวนา เป็นเวลา ๔.๗ เดือน เท่ากับการเรียนรู้จากการสอนแบบเดิม ๖.๗ เดือน 


เป็นทั้งการฝึกนักเรียนและการฝึกครู

การสอนแบบสานเสวนาโดยใช้กรอบปฏิบัติการสานเสวนาเพื่อเรียนรู้ (ที่จะนำเสนอในตอนต่อๆ ไป) ให้ผลทั้งเป็นการพัฒนาวิธีจัดการเรียนการสอน (epistemic development) หวังผลที่การเรียนรู้ของนักเรียน และเป็นการพัฒนารูปแบบของการพัฒนาครูประจำการ (professional development) หวังผลที่การเรียนรู้ต่อเนื่องของครู

โปรดสังเกตว่า กรอบปฏิบัติการสานเสวนาเพื่อเรียนรู้ ซึ่งเป็นเรื่องหลักของบันทึกชุด สอนเสวนาสู่การเรียนรู้ที่ลึกและเชื่อมโยง นี้ ให้ผลต่อการพัฒนาถึง ๔ เป้าหมาย คือพัฒนานักเรียน พัฒนาครู พัฒนาวิธีจัดการเรียนการสอน และพัฒนาวิธีพัฒนาครูประจำการ 

ใช้ทั้งการตั้งคำถามและขยายประเด็น

สอนเสวนา หรือการสอนแบบสานเสวนาเริ่มต้นที่คำถาม (questioning) แต่ไม่ได้จบที่การได้คำตอบ แต่ใช้การขยายประเด็น (extension) จากคำตอบไปสู่การเรียนรู้ที่กว้างขวางและลุ่มลึก ผ่านทั้งการสานเสวนา การค้นคว้า และปฏิบัติการเพื่อเรียนรู้ในสถานการณ์จริง 

มาตรการบูรณาการ

การเรียนแบบสานเสวนาใช้ได้กับการเรียนทุกสาระวิชา ทุกเป้าหมายการพัฒนานักเรียน เพราะการตั้งคำถามไม่มีพรมแดนสาระวิชา และคำถามที่ดีเชื่อมโยงสู่เรื่องราวในชีวิตจริง การเรียนแบบสานเสวนาจึงเป็นเครื่องมือหนึ่งของการเรียนรู้แบบบูรณาการ

มีหลักฐานจากการวิจัยที่อังกฤษระหว่าง ค.ศ. 2014 - 2017 ว่าการทดลองใช้กรอบปฏิบัติการสานเสวนาเพื่อเรียนรู้ ให้ผลยกระดับการเรียนรู้ของนักเรียนชั้นประถมทั้งด้านภาษา วิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ 


จุดคานงัดอยู่ที่ขั้นตอนที่สาม และคำตอบที่ไม่ได้ถาม

หนังสือเรียกขั้นตอนที่สามว่า the third turn โดยขั้นตอนที่ ๑ ของการสอนแนวเดิมคือการตั้งประเด็นหรือตั้งคำถาม (I – initiation) ตามด้วยคำตอบ หรือการตอบสนองของนักเรียน (R – response) เป็นขั้นตอนที่ ๒ ซึ่งในการสอนแบบ IRE/IRF (Initiation-Response-Evaluation/Feedback) ขั้นตอนที่ ๓ จะเป็นการเฉลยหรือให้คำแนะนำป้อนกลับสั้นๆ เป็นอันจบหนึ่งบทเรียนย่อย ซึ่งอาจใช้เวลาเพียงสองสามนาที ผลของการเรียนรู้เกือบทั้งหมดเน้นที่ความรู้หรือความจำ 

แต่ในสอนเสวนา ขั้นตอนที่ ๓ จะถูกครูตั้งประเด็นเสวนาต่อ เพราะในขั้นตอนที่ ๒ ครูจะให้นักเรียนบอกคำตอบที่แตกต่างกัน เมื่อนักเรียนคนที่ ๑ ให้คำตอบ ครูกล่าวว่า “ใครมีคำตอบที่ต่างจากนี้บ้าง” “คำถามนี้ตอบได้หลายแบบ จุดสำคัญอยู่ที่ข้อมูลหลักฐานสนับสนุน และคำอธิบาย” ขั้นตอนที่ ๓ จะถูกเปลี่ยนเป็นการเรียนแบบสานเสวนา (dialogic learning) ซึ่งในเหตุการณ์จริงนักเรียนอาจเสวนาโต้แย้งกันอย่างสนุกสนาน บรรยากาศในห้องเรียนจะดึงดูดนักเรียนทุกคนเข้าร่วม (student engagement) โดยอัตโนมัติ 

ที่จริงการสอนเสวนาเริ่มต้นตั้งแต่ขั้นตอนที่ ๑ (initiation) ที่ครูตั้งคำถามปลายเปิด หรือที่ในหนังสือเรียกว่า authentic question (คำถามที่มีคุณค่าแท้จริง) เพื่อเปิดช่องให้นักเรียนตอบได้หลายคำตอบ และเปิดช่องให้เกิดการสานเสวนาในขั้นตอนที่ ๓ ได้มากมายหลากหลายประเด็น เกิดการเรียนรู้ที่ซับซ้อน 

ในสภาพจริง นักเรียนอาจให้คำตอบไม่ตรงกับคำถาม เพราะเรื่องที่กำลังเรียนรู้หรือทำความเข้าใจอยู่นั้นมีความซับซ้อนหลายแง่มุม นักเรียนอาจจับแง่มุมอื่นเอามาตอบ เป็นโอกาสให้ครูได้ชี้ให้เห็นว่านักเรียนผู้นั้นรู้เรื่องนั้นในแง่มุมที่ต่างออกไป และชวนทำความเข้าใจแง่มุมนั้นเพื่อขยายการเรียนรู้ให้กว้างยิ่งขึ้น เป็นการฝึกให้นักเรียนมองเรื่องต่างๆ อย่างเชื่อมโยง 

ทักษะที่สำคัญของครูคือ เมื่อนักเรียนตอบ ครูมองเห็นความคิดในสมองของนักเรียน ว่ากำลังคิดอะไรอยู่ (visible teaching) และใช้ข้อมูลนั้นคิดตั้งคำถามต่อ เพื่อใช้คำถามนั้นกระตุ้นการคิดต่อเนื่องของนักเรียน หรือกระตุ้นให้นักเรียนค้นหา


ข้อมูลนำมาสนับสนุนคำพูดของตน ซึ่งในอึดใจต่อมา นักเรียนอาจขอแก้คำพูด “ผม/ หนูขอแก้คำตอบครับ เพราะค้นดูแล้วที่ ... บอกว่า ... ที่ผม/ หนูตอบจึงผิด ขอแก้คำตอบเป็น ... โดยมีข้อมูลหลักฐานคือ ...” ในเวลาสั้นๆ นักเรียนได้เรียนรู้วิธีตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลประกอบการคิดและแสดงข้อคิดเห็น และเรียนรู้วิธีสานเสวนาอย่างมีข้อมูลหลักฐานประกอบ

Feed forward

นี่คือประเด็นสำคัญยิ่งของบทบาทครูในการสอนเสวนา คือต้องเปลี่ยนปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียนในกระบวนการ IRF (Initiation-Response-Feedback) โดยเปลี่ยนตัว F จาก feedback เป็น feed forward ซึ่งหมายความว่า ในการสอนแบบเดิม เมื่อนักเรียนตอบ ครูพูดโดยใช้คำพูดที่ชวนนักเรียนคิดย้อนกลับ (think back) ไปตรวจสอบว่าคำตอบของตนถูกหรือผิด แต่ในการสอนแบบสานเสวนา ครูใช้คำพูดที่ชวนนักเรียนคิดไปข้างหน้า (think forward) ว่าเรื่องที่เกี่ยวข้องกับประเด็นที่กำลังเรียนนั้นมันมีเรื่องราวต่อเนื่องอีก ซึ่งอาจเป็นเรื่องการเชื่อมโยงระหว่างสาระในวิชาภาษา กับสาระทางวิทยาศาสตร์ หรือเป็นการเชื่อมโยงประเด็นเชิงทฤษฎีเข้ากับเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงในโรงเรียน หรือในข่าวที่ฮือฮากันอยู่ในช่วงนั้นพอดี 

ครูต้องหาโอกาสใช้ feed forward เพื่อเชื่อมโยงประเด็นการเรียนรู้สู่ชีวิตจริงของนักเรียน การเรียนรู้ก็จะมีชีวิตชีวา และนักเรียนเห็นว่าบทเรียนนั้นมีคุณค่าต่อตนอย่างไร ช่วยให้นักเรียนสนใจการเรียน (student engagement) 

ใช้พลังรวมหมู่

พลังรวมหมู่ (power of the collective) เป็นกลไกที่บรรจุอยู่ในวิธีการสอนเสวนา เพราะเท่ากับนักเรียนมีปฏิสัมพันธ์กันอยู่ตลอดเวลา ทั้งในกลุ่มใหญ่ทั้งชั้น และในกลุ่มย่อย หนังสือบอกว่าปฏิสัมพันธ์ในชั้นเรียนใช้ ๓ หลักการคือ (๑) รวมหมู่ (collectivity) (๒) ต่างตอบแทน (reciprocity) และ (๓) สนับสนุนกัน (supportiveness) ซึ่งจะเป็นกำลังใจให้นักเรียนไม่กลัวความเสี่ยง และไม่กลัวผลที่จะเกิดตามมา เนื่องจากรู้สึกว่าชั้นเรียนเป็นพื้นที่ปลอดภัย 

ครูใช้คำพูดที่ช่วยเปิดทางหรือชี้ทาง (scaffold) ให้นักเรียนเข้าถึงหลักการ และกรอบความคิดได้ง่ายขึ้น โดยหนังสือแนะนำว่า ครูพึงทำตัวเป็นนักปฏิบัติการสร้างสรรค์ (creative practitioner) สบายใจที่จะปล่อยให้มีบรรยากาศเงียบเป็นช่วงๆ และส่งเสริมให้มีการสับบทบาท คือแทนที่ครูเป็นผู้ตั้งคำถาม กลับมอบหมายหรือเปิดโอกาสให้นักเรียนเป็นผู้ตั้งคำถามเปิดประเด็นเรียนรู้ 

ข้อแตกต่างของกิจกรรมในชั้นเรียนที่ใช้การสอนเสวนากับชั้นเรียนที่สอนแบบเดิม

ในการทดลองเปรียบเทียบการสอนเสวนากับกลุ่มควบคุมที่สอนแบบเดิม โดยการวิจัยแบบ RCT ของอังกฤษ ระหว่าง ค.ศ. 2014 - 2017 ที่ให้ผลสรุปว่า การทดลองใช้เวลา ๒๐ สัปดาห์ นักเรียนกลุ่มทดลองมีผลการเรียนล้ำหน้ากลุ่มควบคุมเป็นเวลา ๒ เดือน ทีมวิจัยเอาข้อมูลมาวิเคราะห์หาข้อแตกต่างในชั้นเรียน ระหว่างการสอนทั้ง ๒ แบบ ได้ข้อสรุปความแตกต่างสำคัญ ๕ ประเด็น คือ พบว่าการสอนแบบสานเสวนา 

  • มีดุลยภาพระหว่างการใช้คำถามปลายปิดกับคำถามปลายเปิด ครูกลุ่มสอนแบบสานเสวนาใช้คำถามปลายเปิดมากกว่าครูกลุ่มสอนแบบเดิม
  • มีการเปลี่ยนรูปแบบของการพูดของครู โดยมีเวลาให้นักเรียนคิด ครูพูดทบทวนความหมายของคำพูดของนักเรียน เปลี่ยนคำพูดของนักเรียนให้เข้าใจง่ายหรือชัดเจนขึ้น “ครูคิดว่า เธอต้องการพูดว่า.... ใช่ไหม” “ครูเดาว่า เธอคิดว่า....” หรือขอให้นักเรียนพูดใหม่ โดยให้หาวิธีพูดที่เข้าใจง่ายขึ้น “พูดใหม่อีกทีได้ไหม” “สมชาย ช่วยพูดคำที่สมศรีตอบด้วยคำพูดของเธอเองได้ไหม” ถามหาข้อมูลหลักฐานสนับสนุนคำพูดของนักเรียน “ทำไมเธอจึงคิดอย่างนั้น” “หลักฐานยืนยันคำตอบของเธอคืออะไร” ท้าทายความน่าเชื่อถือของคำตอบของนักเรียน และให้นักเรียนช่วยกันยืนยันความถูกต้อง “เรื่องราวจะดำเนินไปเช่นนั้นเสมอไปหรือไม่” “หาก.... เหตุการณ์จะดำเนินไปอย่างไร” “คำตอบของเธอเป็นจริงเสมอไปหรือไม่” “มีสถานการณ์ใดบ้างที่คำตอบนี้จะไม่เป็นจริง” 
  • มีดุลยภาพระหว่างการถามความจำ (recitation) กับการสานเสวนา (dialogue) ครูใช้คำถามปลายเปิดมากขึ้นอย่างชัดเจน
  • มีดุลยภาพระหว่างคำพูดของนักเรียนแบบตอบสั้นๆ กับพูดแบบมีการขยายความ คำตอบสั้นๆ มักเป็นการตอบคำถามปลายปิดที่เน้นดูว่าตอบถูกหรือผิด ส่วนคำตอบยาวมักเป็นคำตอบต่อคำถามปลายเปิด ที่นักเรียนให้คำตอบพร้อมข้อมูลหลักฐานสนับสนุนหรืออ้างอิง และมีคำอธิบายการคิดหรือให้เหตุผล การสอนแนวสานเสวนามุ่งให้มีคำตอบแบบขยายความเพิ่มขึ้น 
  • รูปแบบการพูดของนักเรียน พบว่า นักเรียนในกลุ่มเรียนแนวสานเสวนา ให้คำอธิบายที่สะท้อนการคิดระดับสูงเพิ่มขึ้น ทั้งที่คำอธิบาย การวิเคราะห์ การโต้แย้ง และการตัดสิน รวมทั้งคำพูดมีลักษณะสานเสวนาเพิ่มขึ้น 

โปรดสังเกตว่า หนังสือเล่มนี้ไม่แนะนำให้ครูและโรงเรียนสร้างการเปลี่ยนแปลงภายใต้แนวคิดขาวกับดำ หรือถูกกับผิด และมุ่งใช้เฉพาะการสอนสานเสวนา แต่แนะนำให้ใช้แนวคิดใช้ทั้งสองแนว (แนวเก่ากับแนวสอนเสวนา) ในสัดส่วนที่เหมาะสม โดยมีการเก็บข้อมูลนำมาร่วมกันวิเคราะห์เพื่อการเรียนรู้ของครู 
 
นักเรียนทุกคนเป็นผู้ปราดเปรื่อง

ผมขอตั้งข้อสังเกตว่า การสอนแนวสอนเสวนา อยู่บนสมมติฐานว่านักเรียนทุกคนเป็นผู้ปราดเปรื่อง มีความคิดเป็นของตนเอง หากครูจัดพื้นที่เรียนรู้ที่นักเรียนรู้สึกปลอดภัย และมีโจทย์การเรียนรู้ที่นักเรียนสนใจ ความปราดเปรื่องของนักเรียนทุกคนจะถูกปลดปล่อยออกมาอย่างเป็นธรรมชาติ 

เท่ากับการสอนแนวสอนเสวนาใช้หลักการ high expectation, high support โดยปริยาย หลักการนี้จะช่วยลดความไม่เสมอภาคทางการศึกษาในชั้นเรียนได้ โดยที่ความไม่เสมอภาคนี้เกิดจากท่าที (หรือคำพูด) ที่ครูกระทำโดยไม่รู้ตัว ว่าครูไม่คาดหวังว่านักเรียนกลุ่มด้อยโอกาสจะมีผลการเรียนที่ดี ในการสอนแนวสอนเสวนา ครูสามารถใช้กระบวนการเป็นตัวบอกโดยนัย ว่านักเรียนทุกคนเป็นผู้ปราดเปรื่อง สามารถให้ข้อคิดเห็นที่มาจากความคิดของตนเองได้ สร้างสภาพที่นักเรียนทุกคนมีความคาดหวังสูง (high expectation) ต่อตนเอง อันเป็นจุดเริ่มต้นสู่ผลลัพธ์
การเรียนรู้ระดับสูง (อ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://www.gotoknow.org/posts/674205) (ดาวน์โหลดหนังสือ สอนเข้ม เพื่อศิษย์ขาดแคลน ได้ที่ http://bit.ly/33iD7wu) โดยนักเรียนกล้าคาดหวังสูง เพราะกระบวนการสอนแนวสอนเสวนาช่วยยืนยันว่า ครูพร้อมให้การสนับสนุนสูง (high support) ด้วย

เรื่องเล่าจากห้องเรียน
“การสอนแนวสอนเสวนา อยู่บนสมมติฐานว่านักเรียนทุกคนเป็นผู้ปราดเปรื่อง มีความคิดเป็นของตนเอง หากครูจัดพื้นที่เรียนรู้ที่นักเรียนรู้สึกปลอดภัย และมีโจทย์การเรียนรู้ที่นักเรียนสนใจ ความปราดเปรื่องของนักเรียนทุกคนจะถูกปลดปล่อยออกมาอย่างเป็นธรรมชาติ”

บทสนทนาจากห้องเรียนของคุณครูกานต์ – บัวสวรรค์ บุญมาวงษา หน่วยวิชาภูมิปัญญาภาษาไทย ชั้นประถมปีที่ ๔ โรงเรียนเพลินพัฒนา สะท้อนให้เห็นถึงการทำให้ห้องเรียนเป็นพื้นที่ปลอดภัย การเรียนรู้ร่วมกันผ่านโจทย์ที่น่าสนใจ ทั้งโจทย์ในชีวิตจริงของผู้เรียน ที่เนียนไปกับโจทย์ของครูในการผูกโยงให้การเรียนรู้วรรณกรรมเรื่องราชาธิราช เชื่อมร้อยกันไปกับทักษะภาษาทั้งการฟัง พูด อ่าน เขียน และคิด ด้วยเกมทางภาษาที่เตรียมเอาไว้อย่างเหมาะสมกับเนื้อหาในแต่ละคราว 

บทที่_๓.๑.png

องค์ประกอบที่เหมาะเจาะงดงามลงตัวเหล่านี้นี่เอง ที่เอื้ออำนวยให้ความปราดเปรื่องของนักเรียนทุกคน ฉายประกายออกมาได้อย่างเป็นธรรมชาติ

นักเรียน : สวัสดีค่ะ/ ครับ คุณครูกานต์
ครูกานต์ : สวัสดีค่ะ เด็กๆ ทุกคน (ลากเสียงยาว) ทำไมเด็กๆ ชอบสวัสดีแบบช้าๆ “สวัสดีค่ะคุณครูกานต์” (เสียงครูพูดเร็วๆ กระฉับกระเฉง) น้ำเสียงให้มันสดใส ครึกครื้นหน่อย เราจะไม่ลากเสียงยาวนะคะ... เราจะพูดสวัสดีค่ะครูกานต์ ที่แสดงถึงความพร้อม พร้อมเรียนค่ะ ครึกครื้น ฮึกเหิม โอเคนะ วันนี้ครูกานต์เตรียมเกมมาให้เด็กๆ เล่นอีกแล้ว ซึ่งเกมนี้น่ารักมาก เพราะครูกานต์จะพาเด็กๆ ไปเที่ยวด้วย... อลันว่าอย่างไรจ๊ะ
อลัน : ทำไมกว่าจะได้ฟังเรื่อง พระเจ้าฟ้ารั่ว จะต้องมีผ่านด่านตลอดเลยครับ

บทที่_๓.๒.png

ครูกานต์ : ชีวิตคนเราเป็นแบบนี้ล่ะอลัน การที่เราอยากได้อะไร มันไม่ได้ได้มาโดยง่ายจริงไหมโอริว เราต้องฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ ก่อน ถึงจะได้สิ่งนั้นที่เราอยากได้ 
เจย่า : เหมือนหนูเลย คือหนูอยากกินไอติม แล้วหนูต้องวิ่งแข่งให้ชนะพ่อก่อนแล้ววันนั้นหนูชนะ เมื่อวานพ่อพาไปซื้อไอติมเลย
ครูกานต์ : นี่ไง เราจะได้เห็นคุณค่า พอเจย่ากินไอติม รู้สึกอย่างไรคะ
เจย่า : รู้สึกภูมิใจ ไม่เสียแรง 
ครูกานต์ : แล้วมันอร่อยมากขึ้นกว่าเดิมไหม ไอติม
เจย่า : อร่อยกว่าเดิม เพราะว่าเราทำ ไม่ได้ขอแล้วซื้อให้เลย แต่เราได้ผ่านด่านอะไรก่อน แล้ววันนั้นหนูวิ่งแข่งคือต้องเร็วด้วย เพราะว่าพ่อเป็นนักกีฬา แล้วต้องวิ่งสปีด ๕๐๐ - ๖๐๐ เมตรเลย ฝืนมากเลย 
ครูกานต์ : โอเค ยอดเยี่ยมมากเลย ขอบคุณเด็กๆ สำหรับการแลกเปลี่ยนเมื่อกี้นะ ว่ากว่าที่เราจะได้บางสิ่งบางอย่างมา มันต้องผ่านอุปสรรคอะไรมากมาย 

ทีนี้เรื่องราวของพระเจ้าฟ้ารั่วในตอนที่แล้ว ก็ได้แผ่ขยายอาณาเขตกว้างใหญ่ไพศาลได้สำเร็จ รวมทั้งได้ลูกสาวของเจ้าเมืองกำมะลานีมาเคียงคู่ด้วย 

เมื่อวานเกร็ดความรู้ของเราเป็นเรื่องของอักษร ๓ หมู่ ซึ่งมีหมู่หนึ่งที่บ่งบอกว่า “ฉันมีคู่นะ” วันนี้เด็กๆ จะต้องหาคู่ให้เจอ เพื่อที่ว่าจะได้ไปพบกับเรื่องราวที่มันเข้มข้นมากขึ้น คาบเมื่อวานครูกานต์บอกว่าเรื่องราวมีความเกี่ยวข้องกับเลข ๕ ใช่ไหม 
แล้วเด็กๆ ก็บอกว่ามันคืออักษรกลางแน่นอนเพราะมันผันได้ห้าเสียง แต่ในวันนี้ค่ะ หนึ่งในอักษรสามหมู่อีกเช่นกัน แต่หมู่นี้มีความบ่งบอกว่ามีคู่... ดูซิว่าเด็กๆ จะรู้ไหมว่าหมู่นั้นคือหมู่อะไร 

กอซอง : อักษรต่ำคู่ค่ะ
ครูกานต์ :(นะโมยกมือ) นะโมล่ะ
นะโม : อักษรสูงครับ เพราะว่าอักษรสูงมีคู่กับต่ำคู่ เพราะว่าอักษรต่ำเดี่ยวเป็นอักษรต่ำแต่ก็ยังไม่มีคู่ครับ 
ครูกานต์ : ขอบคุณกอซองกับนะโมมากๆ เลย ยังไม่บอกหรอกว่าถูกหรือผิดนะ เดี๋ยวเราไปดูกันดีกว่า 

วันนี้ครูกานต์จะพาเด็กๆ ไปเที่ยวสวนสัตว์กัน แต่สวนสัตว์ของครูกานต์พิเศษกว่าที่อื่น มันคือสวนสัตว์อักษร ๓ หมู่นั่นเอง ในสวนสัตว์นี้เด็กๆ จะต้องใช้สายตาในการสังเกตอักษรสามหมู่นะ สังเกตอักษร ๓ หมู่เท่านั้น โอเคไหม เพราะว่าครั้งก่อนเด็กๆ ได้รู้จักกับอักษรกลางไปแล้ว เดี๋ยวมาดูกันว่าสวนสัตว์อักษร ๓ หมู่ที่มันมีเพิ่มเติมขึ้นมาอีก มีอะไรบ้าง

บทที่_๓.๓.png
เด็กๆ ต้องดูโจทย์ดีๆ นะ ถ้าพร้อมแล้วขอรีแอ็กชันรูปหัวใจค่ะ 

ขอรีแอ็กชันรูปหัวใจรัวๆ ขอบคุณลิน อลัน โอ้โห... เพียบเลย ครูกานต์แทบพูดไม่หมดนะ เอ้าไปกันเลยค่ะ สวนสัตว์อักษร ๓ หมู่

ครูกานต์ : ข้อแรก ถามว่าสัตว์ชนิดไหนอยู่ในหมู่อักษรกลางค่ะ โอ้โห... กอซองยกมือได้อย่างรวดเร็ว 
กอซอง : คำว่ากวางค่ะ
ครูกานต์ : เพราะอะไรคะ
กอซอง : เพราะว่าเราจะดูว่าตัวข้างหน้าคืออะไรค่ะ จะรู้ว่าเป็นอักษรไหนต้องดูตัวข้างหน้า ไม่ใช่ตัวสะกด และตัวข้างหน้าคือ ก ไก่ คืออยู่ในอักษรกลางค่ะ
ครูกานต์ : น้ำหวานค่ะ
น้ำหวาน : หนูคิดว่าเป็นกวางเหมือนกันค่ะ เพราะว่า ก ไก่ เป็นตัวอักษรกลางที่อยู่ในอักษรกลางค่ะ แล้วก็เราดูจากตัวหน้า และส่วนตัวสะกดมันเป็นตัวสะกดออกเสียงเฉยๆ แต่ตัวหน้ามันเป็นตัว...
ครูกานต์ : เป็นตัวอะไรเอ่ย เขาเรียกว่าอะไร พยัญชนะต้นใช่ไหม
น้ำหวาน : ค่ะ ส่วนตัวหลังมันเป็นตัวสะกดเฉยๆ มันไม่ใช่เป็นตัวอักษรอะไรอย่างนี้ค่ะ
ครูกานต์ : โอเค ขอบคุณน้ำหวานค่ะ แล้วก็ลินจ้ะ
ลิน : หนูก็คิดว่ากวางค่ะ เพราะว่าเราจะดูที่ตัวพยัญชนะต้นว่าอยู่ในอักษรกลางหรือเปล่า แล้ว ก ไก่ ก็อยู่ในอักษรกลาง หนูเลยตอบว่าอักษรกลางค่ะ
ครูกานต์ : โอเคค่ะ อย่างนั้นเรามาดูกันดีกว่าว่าใช่กวางอย่างที่เพื่อนพูดหรือเปล่า ใครคิดว่ากวางเหมือนกันสามารถส่งรีแอ็กชันมาได้เลยนะ ไปดูกันค่ะ ถูกต้องค่ะ กวางอยู่ในหมู่อักษรกลางนั่นเอง 

บทที่_๓.๔.png
ข้อต่อไปเลยค่ะ สัตว์ชนิดไหนอยู่ในหมู่อักษรสูง เรียวคุง
เรียวคุง : ผึ้งครับ เพราะว่า “ผีฝากถุงข้าวสารให้ฉัน” ครับ คำว่า ผี คือ ผ ผึ้ง ครับ

บทที่_๓.๕.png
ครูกานต์ : โอ้โห... โอเค เมื่อกี้มีใครยกมืออีก ใครนะ เจนน่าค่ะ
เจนน่า : เหมือนเรียวคุงค่ะ เพราะว่า ผ ผึ้ง เป็นอักษรสูง
ครูกานต์ : ใครตอบเหมือนเรียวคุงส่งรีแอ็กชันมาได้เลยนะ ส่งรีแอ็กชันมาได้เลย 
ข้อเมื่อกี้ใครที่ตอบกวางถูก เขียนดาวให้ตัวเองด้วยคนละหนึ่งดวง ทางที่ดีเด็กๆ เขียนคำตอบลงในสมุดตัวเองได้เลย น้ำหวานจ้ะ
น้ำหวาน : อักษรสูง ผ ผึ้ง ค่ะ เพราะว่ามันออกเสียงสูงอยู่แล้ว เราก็สามารถดู (จากเสียง)
ได้เลย เพราะว่า ผึ้ง จะเป็นเสียงสูงเลยค่ะ
ครูกานต์ : เยี่ยมค่ะ อย่างนั้นเรามาดูกันดีกว่าว่าใช่ผึ้งหรือเปล่า ถูกต้องค่ะ ใครตอบว่าผึ้งรับไปอีกคนละหนึ่งดวงเลยค่ะ

ภารกิจของนักเรียนห้อง ๔/๑ ในการฝึกฝนหลักภาษาเรื่องอักษร ๓ หมู่ ซึ่งเป็นเรื่องที่ยุ่งยากและซับซ้อนยังคงดำเนินต่อไปอย่างสนุกสนานจนกระทั่งครบ ๘๐ นาทีเต็ม พวกเขาได้เก็บเกี่ยวความรู้และฝึกปรือเรื่องการผันอักษรสูง ร่วมกับอักษรต่ำคู่ ที่ช่วยให้สามารถผันเสียงได้ครบ ๕ เสียง แล้วคำว่า คา ข่า ข้า/ ค่า ค้า ขา ก็ได้กลายมาเป็นบทส่งท้ายของไวยากรณ์ที่นำพาเข้าสู่วรรณกรรมเรื่องราชาธิราช ตอน ศึกชิงอำนาจ ที่ทุกคนเฝ้ารอ

๓_สวนสัตว์อักษรสามหมู่.png
สวนสัตว์อักษร ๓ หมู่ คุณครูกานต์ – บัวสวรรค์ บุญมาวงษา

ดาวน์โหลดเอกสาร
ศาสตราจารย์ นายแพทย์ วิจารณ์ พานิช
นักเขียน
ศาสตราจารย์ นายแพทย์ วิจารณ์ พานิช
รองประธานกรรมการมูลนิธิสยามกัมมาจล นายแพทย์ผู้สนใจประเด็นการศึกษา เจ้าของผลงานหนังสือเกี่ยวกับการจัดการเรียนรู้หลากหลายเล่ม ตั้งแต่ เลี้ยงลูกยิ่งใหญ่, วิถีสร้างการเรียนรู้เพื่อศิษย์ในศตวรรษที่ 21, สนุกกับการเรียนในศตวรรษที่ 21 ฯลฯ
แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน
profile
กรุณา Login ก่อน comment
เนื้อหาทั้งหมด