สอนเสวนา_Cover_front
ทฤษฎีการศึกษาการศึกษา

หนังสือ สอนเสวนาสู่การเรียนรู้เชิงรุก

อ่าน 776 นาที

หนังสือเล่มนี้เขียนขึ้นเพื่อชี้แนวทางจัดการเรียนรู้แบบที่เรียกว่า active learningหรือการเรียนรู้เชิงรุก โดยมีเป้าหมายเพื่อฝึกนักเรียนให้เรียนรู้จากการปฏิบัติตาม ด้วยการคิดที่เรียกว่า การใคร่ครวญสะท้อนคิด (reflection) ที่นำไปสู่การฝึกทักษะการเรียนรู้ที่นักเรียนกำกับการเรียนรู้ของตนเอง (self-directed learning) เป็น ผ่านกระบวนการ สานเสวนา (dialogue) ระหว่างนักเรียนกับครู และระหว่างนักเรียนกับเพื่อนนักเรียนด้วยกัน

เขียนโดยศาสตราจารย์ นายแพทย์ วิจารณ์ พานิช
17 ธันวาคม 2564
บทที่ 4 กรอบปฏิบัติการสานเสวนาเพื่อเรียนรู้
CP4.png

กรอบปฏิบัติการสานเสวนาเพื่อเรียนรู้นี้ ประกอบด้วย ๙ ส่วน ซึ่ง ๓ ส่วนแรกเป็นคำอธิบาย และ ๖ ส่วนหลังเป็นแนวทาง คือ (๑) เป้าหมาย (๒) ลักษณะพิเศษ (๓) ความแตกต่างระหว่างกรอบนี้กับกรอบชุดก่อน (๔) นิยาม (๕) ท่าที (๖) หลักฐานสนับสนุน (๗) หลักการ (๘) ชุดแนวทาง (๙) ตัวชี้วัด 

ตัวสาระหลักของกรอบปฏิบัติ คือ ชุดแนวทางสอนเสวนา (dialogic teaching repertoires) ๘ ชุด ที่แต่ละชุดจะเป็นหัวข้อของบันทึกต่อๆ ไป บันทึกชุดนี้พัฒนาขึ้นเพื่อช่วยเหลือให้ครูดำเนินการพัฒนาวัฒนธรรมของห้องเรียน และจัดการห้องเรียน พัฒนารูปแบบการพูดโต้ตอบระหว่างนักเรียนกับครู พัฒนาการดำเนินการเสวนาในห้องเรียน และการขับเคลื่อนต่อด้านการตั้งคำถาม (questioning) การขยายประเด็น (extending) สู่การอภิปราย (discussion) และการโต้แย้ง (argumentation)

เป้าหมาย (Purpose)

เป้าหมายของ กรอบปฏิบัติการสอนเสวนาเพื่อเรียนรู้ (dialogic learning framework) นี้ มีเป้าหมายเพื่อกำหนดและอธิบาย ธรรมชาติ (nature) มิติ (dimension) และองค์ประกอบ (elements) ของวิธีสอนแบบสานเสวนา กรอบปฏิบัติการนี้มีทั้งส่วนที่เป็นคำอธิบาย (descriptive) และส่วนที่เป็นข้อกำหนด (prescriptive) จัดทำขึ้นเพื่อเป็นเอกสารบอกแนวทางที่ครบถ้วน ไม่ใช่เพื่อเป็นคู่มือดำเนินการเสวนาเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยเฉพาะ 

กล่าวใหม่ว่า กรอบปฏิบัติการนี้ เป็นกรอบแนวทางสำหรับครูนำไปคิดรายละเอียดการดำเนินการเอง ไม่ใช่คู่มือที่บอกสูตรสำเร็จรูป 

ลักษณะพิเศษ (Distinctive features) 

กรอบปฏิบัติการนี้มี ๖ ส่วน คือ (๑) นิยาม มีการกำหนดนิยามทั้งของ สานเสวนา และของการสอนแนวสานเสวนา เพราะสองสิ่งนี้เป็นคนละสิ่ง (๒) ท่าที บอกเหตุผลของแนวทางดำเนินการในภาพใหญ่ (๓) หลักฐานสนับสนุน สรุปหลักฐานด้านการศึกษา ที่สนับสนุนการสอนเสวนาตามแนวทางที่เสนอ (๔) หลักการ บอกแนวทางประยุกต์ใช้ชุดแนวทางสอนด้วยสานเสวนา และบอกเกณฑ์ประเมินคุณภาพของการสอน (๕) ชุดแนวทาง ที่ครูนำไปปรับใช้ตามบริบทและความจำเป็น ชุดแนวทาง (repertoires) ประกอบด้วย (a) settings (b) forms (c) transactions (d) moves (๖) ตัวชี้วัด หนังสือลดจำนวนตัวชี้วัดลงจากกรอบชุดก่อนๆ เหลือเพียง ๑๕ ตัวชี้วัด สำหรับวัดการสอนแนวสอนเสวนา 

กล่าวได้ว่าเป็นกรอบปฏิบัติที่ยืดหยุ่น ครูนำไปปรับใช้ได้ แต่เป็นกรอบปฏิบัติที่มีทฤษฎีสนับสนุนอย่างแน่นแฟ้น ผมไม่ได้เน้นจับประเด็นเชิงทฤษฎีมาตีความลงไว้อย่างละเอียด คือผมเน้นภาคปฏิบัติมากกว่า  

ความแตกต่างระหว่างกรอบนี้กับกรอบชุดก่อน

แนวทางจัดการเรียนรู้แบบสอนเสวนาเริ่มพัฒนาตั้งแต่ ค.ศ. 2002 และมีวิวัฒนาการเรื่อยมา มีการปรับปรุงและทดสอบใหญ่ด้วย RCT ใน ค.ศ. 2014 - 2017 แล้วจึงปรับปรุงเสนอในหนังสือ A Dialogic Teaching Companion ที่ผมใช้เป็นต้นฉบับตีความมาเสนอในบันทึกชุดนี้
 
จำนวนชุดแนวทาง (repertoires) เพิ่มขึ้นจากมี ๓ ชุด ใน ค.ศ. 2002 (วิธีจัดการปฏิสัมพันธ์ พูดเพื่อสอน และพูดเพื่อเรียน) เพิ่มอีก ๓ ชุด จากงานวิจัย ค.ศ. 2014 - 2017 (การพูดในชีวิตประจำวัน การตั้งคำถาม และการขยายประเด็น) มาจนเป็น ๘ ชุด ในหนังสือ A Dialogic Teaching Companion 

นิยาม

สานเสวนา (dialogue) คือการแลกเปลี่ยนกันทางวาจา ที่มีความพิถีพิถันด้านสารสนเทศ ความคิด (idea) ข้อมูลหรือสารสนเทศ (information) และข้อคิดเห็น (opinion) โดยผมขอเพิ่มเติมว่า สานเสวนามีมิติด้านการฟังกัน และการไม่ด่วนตัดสิน อยู่ด้วย

สอนเสวนา เป็นแนวทางสอนด้วยคำพูดที่ใช้พลังของการสานเสวนา เพื่อกระตุ้นและขยายความคิดการเรียนรู้ การรู้ และความเข้าใจของนักเรียน และเพื่อเอื้อให้นักเรียนอภิปราย ให้เหตุผล และโต้แย้ง การสอนด้วยสานเสวนาเป็นการเชื่อม
การพูด การคิด ปฏิสัมพันธ์ทางสังคม ความรู้ และวัฒนธรรมเข้าด้วยกัน ก่อตัวเป็นกรอบความคิด ความเชื่อ และคุณค่า รวมทั้งพัฒนาวิธีพูดและวิธีฟัง 

ท่าที (Stance)

ท่าทีสำคัญของการสอนเสวนา คือ เพื่อให้นักเรียนตระหนักว่า การเรียนรู้เป็นกระบวนการปฏิสัมพันธ์ โดยที่ความเข้าใจนั้นเกิดจากประสบการณ์ตรงของตนเอง ผ่านความร่วมมือระหว่างครูกับนักเรียน และระหว่างนักเรียนด้วยกันเอง นำไปสู่การพัฒนาความรับผิดชอบของนักเรียนต่อการเรียนรู้ของตน และต่อสิ่งที่ตนเรียนรู้

อีกท่าทีหนึ่งคือ เพื่อให้นักเรียนได้ตระหนักว่า การเรียนรู้ไม่เพียงเป็นกระบวนการถ่ายทอดและรับถ่ายทอด แต่ยังเป็นกระบวนการที่มีการต่อรองและการสร้างสรรค์ขึ้นเอง และในที่สุดแล้วแต่ละคนเรียนรู้ด้วยตนเอง จากการได้สัมผัสความรู้ ทั้งด้วยตนเองและจากการทำกิจกรรมร่วมกับเพื่อนๆ 

อีกท่าทีหนึ่งคือ เพื่อพัฒนารูปแบบการเรียนรู้ที่มีการเสวนาเป็นศูนย์กลาง ระหว่างตัวเรากับคนอื่น ระหว่างความรู้ส่วนบุคคลกับความรู้ส่วนรวม ระหว่างปัจจุบันกับอดีต และระหว่างวิธีสร้างความหมายหลากหลายรูปแบบ 


จะเห็นว่า คำว่า “ท่าที” (stance) ของหนังสือ ในวัฒนธรรมไทยน่าจะหมายถึง ความเชื่อในคุณค่าของการสอนแบบสานเสวนา

ในการสอนเสวนา การสอนและการเรียนจะทำให้การเรียนรู้จากการคิด (cognitive learning) กับการเรียนรู้จากกระบวนการทางสังคม (social learning) เป็นสิ่งเดียวกัน โดยที่กระบวนการทางสังคมรวมถึงพัฒนาการ (developmental) ปฏิสัมพันธ์ (relational) วัฒนธรรม (cultural) และกระบวนการ (procedural) 

เชื่อว่า การศึกษาเป็นกระบวนการพัฒนาการมีเป้าหมายชีวิตของตนเอง และการมีความรับผิดรับชอบ (accountability: developmental, relational, ethical, cultural) โดยผมขอเพิ่มเติมว่าอาจมองได้จากมุมของการพัฒนาตัวตน หรือ Chickering’s seven vectors of identity development https://studentdevelopmenttheory.weebly.com/chickering.html เชื่อว่า ความเข้าใจหรือการเรียนรู้เป็นผลผลิตของการโต้แย้ง การทำความเข้าใจที่หลากหลาย ในหลากหลายสถานการณ์ (ratiocinative, epistemological, cultural, procedural) 

เชื่อว่า การศึกษามีมิติของความตระหนักในกาละ เทศะ และบุคคล เรียนรู้จากคนอื่น สถานที่อื่น ในเวลาอื่น (developmental, relational, cultural, ontological) 

ผมขอตีความว่า การเรียนรู้จากสอนเสวนาช่วยทะลายกรงขังอันคับแคบของ “การศึกษาในรูปแบบ” ที่พัฒนาขึ้นมารับใช้สังคมที่ตีกรอบแข็งทื่อตายตัว สู่การเรียนรู้ในรูปแบบที่ใช้อิสรภาพของความเป็นมนุษย์เป็นพลังยิ่งใหญ่สู่การเรียนรู้เพื่อการดำรงชีวิตในโลกยุค VUCA (volatile - เปลี่ยนเร็วและรุนแรง uncertain - ไม่แน่นอน complex - ซับซ้อน ambiguous - กำกวม)

หลักฐานสนับสนุน (Justification)

การริเริ่มวิธีการใหม่ที่แตกต่างไปจากความเคยชินเดิมๆ ย่อมมีคำถามเสมอ การใช้การสอนแนวสอนเสวนาแทนการสอนแบบเดิม มีหลักฐานสนับสนุนอย่างน้อย ๘ ประการ ดังนี้ 
  • การพูดกระตุ้นการคิด การพูดกับการคิดเป็นกลไกทางสมองที่เชื่อมโยงกัน ภาษาช่วยสร้างการเชื่อมโยงใยประสาทในสมอง กลไกนี้สำคัญมากในช่วงชีวิตระยะเด็กเล็ก และวัยรุ่น ในกระบวนการพูดและแลกเปลี่ยนความคิดกับผู้อื่น เราเรียนรู้วิธีคิดไปพร้อมกัน 
  • การพูดกระตุ้นการเรียนรู้ การเรียนรู้เป็นกระบวนการทางสังคม การพูดช่วยเป็นโครงร่าง (scaffold) ของการคิด จากคิดแบบเดิมสู่การคิดแบบใหม่ ในห้องเรียนการพูดช่วยดึงดูดความสนใจและแรงจูงใจของนักเรียน ช่วยให้ใจจดจ่ออยู่กับงาน และเพิ่มผลลัพธ์การเรียนรู้ 
  • การพูดนำสู่การรู้จริง (mastery) นักเรียนเพิ่มความลึกและเชื่อมโยงของตนในประเด็นเรียนรู้ผ่านการพูด เป็นเจ้าของภาษาและหลักการที่พูดออกมา นำสู่ความคล่องแคล่วเชี่ยวชาญในความรู้นั้น 
  • การพูดฝึกการสื่อสาร มนุษย์ใช้ภาษาทุกประเภทเพื่อแลกเปลี่ยนและต่อรองความหมาย และสื่อสารกิจกรรมในชีวิตประจำวัน โดยภาษาที่ใช้มากที่สุดคือภาษาพูด  
  • การพูดนำสู่ความสัมพันธ์ การพูดสร้างและกระชับความสัมพันธ์ทางสังคม การเรียนรู้ผ่านการพูดได้ทั้งความรู้และความสัมพันธ์ ในขณะที่การอ่านและเขียนมักเป็นกระบวนการที่ทำคนเดียว การพูดนำสู่ความสัมพันธ์ ความร่วมมือ และการสร้างความเป็นพวกพ้อง รวมทั้งยังได้ฝึกพูดแบบโต้แย้ง หรือปะทะ โดยไม่สูญเสียความสัมพันธ์อันดีระหว่างกัน 
  • การพูดนำสู่การดื่มด่ำวัฒนธรรม การพูดนำสู่การเข้าร่วมกิจกรรมทางวัฒนธรรมกับผู้อื่นในชุมชน ช่วยให้ปัจเจกบุคคลมีที่ยืนในชุมชน และช่วยให้ชุมชนมีที่ยืนอยู่ภายในบุคคล ซึ่งหมายความว่าช่วยให้บุคคลผู้นั้นมีจริตทำเพื่อชุมชน 
  • การพูดในฐานะการฝึกเป็นพลเมืองในระบบอบประชาธิปไตย การพูดเป็นกิจกรรมหลักของกิจกรรมประชาคม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของประชาธิปไตย ทั้งประชาธิปไตยและสถาบันทุกระดับต้องการคนที่มีความสามารถนำเสนอ ประเมิน โต้แย้ง ท้าทาย และทดสอบข้อโต้แย้งและวาทกรรมของผู้อื่น พูดเพื่อสอน คำพูดที่เตรียมมาอย่างดีของครูช่วยให้ครูเข้าถึงความคิดของนักเรียน ซึ่งนำไปสู่การวินิจฉัยความต้องการคิดออกแบบกิจกรรมหรืองานประเมินความเข้าใจ ประเมินความก้าวหน้า ให้คำแนะนำป้อนกลับที่มีความหมาย และช่วยสนับสนุนนักเรียนให้ผ่านพ้นความท้าทายที่เผชิญ ทั้งหมดนั้นคือ การสอนที่ทรงประสิทธิผล 
หลักการ (Principles)

หลักการพูดในห้องเรียน เพื่อให้นักเรียนบรรลุผลลัพธ์การเรียนรู้ที่ดี มี ๖ ประการ คือ
  
  • สะท้อนความเป็นทีมเดียวกัน (collective) เพื่อให้ห้องเรียนเป็นพื้นที่เรียนรู้ร่วมกัน
  • สะท้อนความเกื้อหนุน (supportive) ให้นักเรียนรู้สึกว่าห้องเรียนเป็นพื้นที่ปลอดภัยที่จะแสดงออกได้อย่างอิสระตรงไปตรงมา ไม่กลัวผิด รวมทั้งมีบรรยากาศของความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เพื่อบรรลุผลลัพธ์การเรียนรู้ไปด้วยกัน
  • ต่างตอบแทน (reciprocal) นักเรียน (และครู) รับฟังซึ่งกันและกัน แลกเปลี่ยนความคิด ตั้งคำถาม แสวงหาทางเลือกหรือแนวคิดอื่น โดยครูช่วยให้นักเรียนมีโอกาสแสดงพฤติกรรมนี้อย่างเพียงพอ
  • อภิปรายตรวจสอบข้อเท็จจริงร่วมกัน (deliberative) เพื่อนำมุมมองที่แตกต่าง หรือข้อโต้แย้งมานำเสนอ และทำความเข้าใจร่วมกัน นำไปสู่การกำหนดจุดยืนร่วมกัน
  • สั่งสม (cumulative) โดยนักเรียน (และครู) เรียนรู้แบบต่อยอดจากตนเองและผู้อื่น เกิดเป็นชุดความรู้ ความคิด ความเข้าใจร่วมกัน กระบวนการนี้ครูต้องมีทักษะและศิลปะในการช่วยตะล่อม
  • มีเป้าหมาย (purposeful) แม้การสานเสวนาในห้องเรียนเน้นเสวนาแบบปลายเปิด แต่ก็มีเป้าหมายหลักเป็นตัวกำหนดโครงสร้างของกระบวนการ 
ชุดแนวทาง (Repertoires)

นี่คือหัวใจของบันทึกชุด สอนเสวนาสู่การเรียนรู้เชิงรุก นี้ เขาย้ำว่าเป็นแนวทางที่ให้อิสระครูในการเลือกใช้ และใช้อย่างมีวิจารณญาณ ไม่ใช่ใช้อย่างแข็งทื่อเถรตรง โดยตระหนักว่าการสอนเป็นกิจกรรมที่ซับซ้อนยิ่ง เป้าหมายหลักของการใช้ชุดแนวทางนี้คือ เพื่อให้เสรีภาพในการคิดและการแสดงออกของนักเรียน สู่การเรียนรู้รอบด้าน และลึกและเชื่อมโยง ไม่หยุดอยู่ที่การเรียนรู้เป็นส่วนเสี้ยว ตื้น และมีอคติหรือคับแคบ 

เนื่องจากชุดแนวทางนี้เป็นแนวทางสอนเสวนา จึงควรทำความเข้าใจ “การสอน” ร่วมกันเสียก่อน เขาให้นิยามการสอนว่า “เป็นการกระทำที่ใช้วิธีการ ก เพื่อหนุนให้นักเรียนเรียนรู้ ข” ขยายความต่อได้ว่า การสอนมีโครงสร้าง (structure) และรูปร่าง (form) อยู่ภายในและกำกับโดย เทศะ (space) กาละ (time) และแบบแผน (patterns) การจัดระบบนักเรียน (student organization) โดยดำเนินการเพื่อเป้าหมายอย่างใดอย่างหนึ่ง 

การสอนจึงเป็นเรื่องของเป้าหมายและวิธีการ
 
ผู้เขียน (Robin Alexander) เสนอกรอบเพื่อทำความเข้าใจการสอนไว้ดังนี้

CP4-1.png
จุดสนใจของชุดแนวทางการสอนเสวนาคือ ปฏิสัมพันธ์ 

องค์ประกอบของชุดแนวทาง

สิ่งที่ควรทำความเข้าใจคือ ๕ ระดับของการพูดโต้ตอบแลกเปลี่ยน จากระดับสูงสุดไปสู่ระดับเล็กที่สุดคือ (๑) บทเรียน (lesson) (๒) ธุรกรรม (transaction) (๓) การแลกเปลี่ยน (exchange) (๔) การเคลื่อน (move) (๕) การกระทำ (act) โดยที่การกระทำเป็นหน่วยเล็กที่สุด แยกย่อยไม่ได้อีกแล้ว เช่น ถาม แย้ง ตัวอย่างของการเคลื่อนคือ IRE/ IRF คือหลายการกระทำ หรือชุดการกระทำ เป็นการเคลื่อน
กระบวนการเรียนการสอน 

ตัวชี้วัด (Indicators)
ตัวชี้วัดความเป็นการสอนเสวนามี ๑๕ ตัว ได้แก่
  • เคารพสถานการณ์ ความต้องการ สิทธิ ของนักเรียนทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง
  • นักเรียนจากครอบครัวหรือชุมชนที่สถานการณ์ทางสังคมหรือด้านสุขภาวะ ทำให้ไม่มีโอกาสฝึกแสดงออกต่อหน้าผู้อื่น มีกติกาที่ตกลงกันเรื่องการพูด ฟัง และอภิปราย และทุกคนเคารพและปฏิบัติตามกติกานั้น
  • มีการเตรียมความพร้อมเพื่อเอาใจใส่ทั้งที่การพูด และที่การคิดใหม่ เชื่อมโยงไปยังการอ่านและเขียน
  • มีแนวทางกว้างๆ และยืดหยุ่นของกลยุทธ์การสอน ปฏิสัมพันธ์ และรูปแบบของการพูดของนักเรียนและครูปฏิสัมพันธ์ที่กระตุ้นให้นักเรียนคิด และคิดในแนวทางต่างๆ กัน
  • คำถามที่ต้องการคำตอบที่มากกว่าการทวนความจำ และทั้งนักเรียนและครูเป็นผู้ถาม
  • คำตอบที่ได้รับการตรวจสอบ ติดตาม และขยายต่อ ไม่ใช่ตอบแล้วก็จบ
  • คำแนะนำป้อนกลับที่ชวนให้คิดไปข้างหน้า (feed forward) และเสนอโดยทั้งครูและนักเรียนด้วยกัน
  • การเคลื่อนขยายแนว (extending moves) เพื่อตรวจสอบการเรียนรู้ และขยายความร่วมมือในการเรียนรู้ของนักเรียน 
  • การแลกเปลี่ยน (exchanges) ที่เชื่อมโยงกันเป็นประดุจห่วงโซ่ของคำถามที่ลึกขึ้นเรื่อยๆ 
  • การอภิปรายที่แนวคิดได้รับการแลกเปลี่ยนอย่างอิสระ มีการรับฟัง และทำความเข้าใจการโต้แย้งเพื่อทดสอบ และเรียกหาข้อมูลหลักฐาน และกรณีตัวอย่าง
  • แบบแผนการจัดระบบชั้นเรียนในด้านการจัดการพื้นที่ จัดกลุ่มนักเรียน กาละ ความเร็ว และสมดุลระหว่างปฏิสัมพันธ์ทั้งชั้น เป็นกลุ่ม และเฉพาะตัว
  • วัฒนธรรมชั้นเรียนที่พลวัตการพูดมีลักษณะรวมกลุ่ม ต่างตอบแทน และสนับสนุนต่อกัน มีเนื้อหาและพัฒนาการที่ม
  • การพิจารณาและคลี่คลายข้อโต้แย้ง มีการสั่งสมต่อยอด และมีเป้าหมาย
  • เห็นท่าทีเชิงสานเสวนาชัดเจนในการเรียน ความรู้ และปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ 

    มีข้อเสนอว่าแก่นของตัวชี้วัดการสอนเสวนา ๒ ประการคือ (๑) การสอนทำให้นักเรียนต้องคิดเอง ไม่ใช่จำความคิดของคนอื่นเอามาพูด (๒) คำตอบต้องนำไปสู่คำถามต่อเนื่อง มิฉะนั้นไม่เป็นการสานเสวนา

เรื่องเล่าจากห้องเรียน

คุณครูมิลค์ - นิศาชล พูนวศินมงคล ครูผู้สอนหน่วยวิชาภูมิปัญญาภาษาไทย ระดับชั้นประถมปีที่ ๓ โรงเรียนเพลินพัฒนา เริ่มต้นนำเอากระบวนการเรียนรู้แบบสานเสวนาเข้าไปในชั้นเรียนด้วยการสร้างแผนการเรียนรู้ที่มีชื่อว่า “พิชิต ๓ ด่าน เชี่ยวชาญอักษรสูง” 

ขั้นตอนแรก เป็นการทบทวนการผันอักษรสูงที่เคยเรียนรู้มาก่อนหน้านี้ ด้วยการหาอาสามาสมัคร ๑๐ คน มาทดลองผันอักษรสูงที่เรียนมาแล้วคนละ ๑ ชุด จากคำที่ครูเตรียมไว้ทั้งหมด ๑๐ ชุด แล้วชวนกันสังเกตคำที่นักเรียนพบว่าคำที่มีวงสีฟ้าคือ
คำที่มีความหมาย จากนั้นครูจึงชวนคุยกันเรื่องความหมายของคำจากประสบการณ์ของนักเรียนว่า คำเหล่านั้นหมายถึงอะไรได้บ้างเพื่อเป็นการอุ่นเครื่องให้การสนทนาเริ่มต้นขึ้น

บทที่_๔.๑.png
ในขั้นทบทวนนี้สามารถเอื้อให้นักเรียนเกือบทั้งชั้นได้เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการ เริ่มจากการมีอาสาสมัคร ๑๐ คนที่เป็นตัวหลักในการอ่าน แล้วยังมีเสียงจากเพื่อนที่คอยตั้งข้อสังเกต และช่วยกันอธิบายความหมายของคำต่างๆ อีกไม่น้อย

ด่านที่ ๑ อ่านอย่างไรให้ลองผัน ครูเตรียมคำ ๒ พยางค์ ที่เขียนด้วยอักษรสูงมาให้นักเรียนอ่านพร้อมกันเพื่อเรียกความมั่นใจอีก ๕ คำ 

เมื่ออ่านออกเสียงพร้อมกันแล้ว ครูขอให้นักเรียนบางคนช่วยอธิบายถึงลักษณะของสิ่งนั้น เช่น คำว่า ขี้เถ้า นักเรียนคนแรกตอบว่าเป็นผงๆ เมื่อครูถามต่อว่าเกิดขึ้นเมื่อไร นักเรียนอีกคนอธิบายว่าเกิดขึ้นเมื่อเราเอาถ่านไปเผา แล้วก็จะมีขี้เถ้าสีเทาๆ ออกมา จากนั้นเพื่อนอีกคนช่วยอธิบายเพิ่มเติมว่า ขี้เถ้ามาจากถ่านที่เราเอามาทำอาหาร แล้วมันจะเหลือเศษเป็นขี้เถ้า แล้วครูจึงเฉลยด้วยความหมายที่เขียนไว้ในพจนานุกรมโดยเชื่อมโยงจากความเข้าใจของนักเรียนที่ได้กล่าวไปเมื่อครู่

บทที่_๔.๒.png
ด่านที่ ๒ เขียนอย่างไรให้ลองผัน

ด่านนี้ครูนำรูปอาหารที่เขียนด้วยอักษรสูง ๕ จาน มาให้นักเรียนดู แล้วให้นักเรียนเขียนชื่ออาหารตามเสียงที่ครูพูด นับเป็นการเขียนตามคำบอกที่เรียกความตื่นเต้นฮือฮาได้ไม่น้อย มีนักเรียนคนหนึ่งตั้งข้อสังเกตว่าทำไมชื่ออาหารถึงมีแต่คำว่าผัดทั้งนั้นเลย 

บทที่_๔.๓.png
ด่านที่ ๓ เช็กให้ชัวร์แต่ละตัวผันอย่างไร

ด่านนี้เป็นชื่อขนมที่ในแต่ละชื่อจะสะกดด้วยอักษรกลางและอักษรสูงปะปนกันอยู่ ในการผันจึงมีความยากมากขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง ชื่อด่านนี้จึงคิดขึ้นมาเพื่อให้นักเรียนเพิ่มความระมัดระวังในการเขียนไปในตัว ตัวอย่างเช่น ปุยฝ้าย


บทที่_๔.๔.png
เมื่อเขียนกันครบทั้ง ๑๐ คำ แล้วก็มาถึงเวลาของการเฉลย 

บทที่_๔.๕.pngครูใช้คำพูดในช่วงนี้ว่า “ขอสำรวจหน่อยว่าวันนี้ใครผันวรรณยุกต์ได้คล่องแคล่วมากๆ เลย ได้ไป ๑๐ คะแนนเต็ม ยกมือขึ้นมาเลย... วาว! ขอบอกว่านี่คือไม่ธรรมดา ไม่ธรรมดาเลยจริงๆ” แล้วชวนคุยต่อไปว่าคนที่ผิด ผิดเพราะอะไร ด่านไหนยากที่สุด 

ทั้งห้องลงความเห็นว่าด่านขนมยากที่สุด ไม่เว้นแม้แต่คนที่เขียนได้คะแนนเต็ม ๑๐ หลายคนก็ยังมีความเห็นเป็นอย่างเดียวกัน ครูจึงชวนพิจารณาคำเหล่านั้น เพื่อให้นักเรียนได้พูดทบทวนออกมาด้วยตนเองว่าเมื่อเป็นคำอักษรกลางก็ต้องผัน ๕ เสียง พอคำต่อมาเป็นอักษรสูงก็ต้องผัน ๓ เสียง การเขียนให้ถูกจึงเป็นเรื่องยาก


บทที่_๔.๖.pngเมื่อมาถึงข้อสรุปสำคัญ ครูจึงเน้นทั้งด้วยคำพูดและข้อเขียนด้วยการพิมพ์ขึ้นบนจอภาพว่า เกมด่านที่ ๓ คือสถานการณ์จริงที่เราจะพบเจอได้ในชีวิตประจำวัน

บทที่_๔.๗.png
ภารกิจสุดท้ายที่ครูให้นักเรียนร่วมกันทำในวันนี้คือ การสรุปความรู้เรื่องของการผันอักษรกลางและอักษรสูงจากการเปรียบเทียบความแตกต่าง ซึ่งครูออกแบบให้นักเรียนได้เรียบเรียงความคิดให้เป็นระบบ ด้วยการใช้ตารางมาบันทึกความรู้ที่มีผู้นำเสนอขึ้นมา รวมทั้งได้วงเล็บชื่อของผู้นำเสนอด้วย แล้วจึงสรุปปิดท้ายด้วยการยกตัวอย่างคำ เพื่อความสะดวกในการทบทวนความจำหากนำมาอ่านในภายหลัง

บทที่_๔.๘.png
จะเห็นได้ว่าการสอนแบบสานเสวนาที่เกิดขึ้นกับชั้นเรียนของครูมิลค์ในครั้งนี้ เป็นกระบวนการที่ร้อยเรียงกันมาตั้งแต่ขั้นทบทวนความรู้ ขั้นดำเนินการสร้างประการณ์การเรียนรู้ ขั้นประเมินความรู้ ไปจนกระทั่งถึงขั้นของการสรุปความรู้ร่วมกันของนักเรียน ซึ่งเป็นบทเรียนที่มีครบถ้วนทั้งตัวชิ้นงาน กิจกรรม ปฏิสัมพันธ์ และการประเมิน ตามที่ได้เสนอไว้ใน “กรอบเพื่อการทำความเข้าใจการสอน” นั่นเอง

๔_พิชิตอักษรสูง1.png

พิชิต ๓ ด่าน เชี่ยวชาญอักษรสูง คุณครูมิลค์ - นิศาชล พูนวศินมงคล




ดาวน์โหลดเอกสาร
ศาสตราจารย์ นายแพทย์ วิจารณ์ พานิช
นักเขียน
ศาสตราจารย์ นายแพทย์ วิจารณ์ พานิช
รองประธานกรรมการมูลนิธิสยามกัมมาจล นายแพทย์ผู้สนใจประเด็นการศึกษา เจ้าของผลงานหนังสือเกี่ยวกับการจัดการเรียนรู้หลากหลายเล่ม ตั้งแต่ เลี้ยงลูกยิ่งใหญ่, วิถีสร้างการเรียนรู้เพื่อศิษย์ในศตวรรษที่ 21, สนุกกับการเรียนในศตวรรษที่ 21 ฯลฯ
แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน
profile
กรุณา Login ก่อน comment
เนื้อหาทั้งหมด