สอนเสวนา_Cover_front
ทฤษฎีการศึกษาการศึกษา

หนังสือ สอนเสวนาสู่การเรียนรู้เชิงรุก

อ่าน 776 นาที

หนังสือเล่มนี้เขียนขึ้นเพื่อชี้แนวทางจัดการเรียนรู้แบบที่เรียกว่า active learningหรือการเรียนรู้เชิงรุก โดยมีเป้าหมายเพื่อฝึกนักเรียนให้เรียนรู้จากการปฏิบัติตาม ด้วยการคิดที่เรียกว่า การใคร่ครวญสะท้อนคิด (reflection) ที่นำไปสู่การฝึกทักษะการเรียนรู้ที่นักเรียนกำกับการเรียนรู้ของตนเอง (self-directed learning) เป็น ผ่านกระบวนการ สานเสวนา (dialogue) ระหว่างนักเรียนกับครู และระหว่างนักเรียนกับเพื่อนนักเรียนด้วยกัน

เขียนโดยศาสตราจารย์ นายแพทย์ วิจารณ์ พานิช
17 ธันวาคม 2564
บทที่ 7 กรอบปฏิบัติการที่ ๓ พูดเพื่อเรียนรู้ (Learning Talk)
CP7.png


สำหรับเด็กเล็ก ภาษาพูดทำหน้าที่ ๗ อย่างคือ (๑) เป็นเครื่องมือบอกความต้องการ (๒) เพื่อควบคุมหรือกำกับ (๓) เพื่อสื่อสารและปฏิสัมพันธ์ (๔) เพื่อแสดงออกทางอารมณ์ของตนเอง (๕) เพื่อหาคำตอบ (๖) เพื่อสนองตอบต่อการรับรู้เรื่องราว (๗) เพื่อสื่อสารข้อมูล โดย ๔ ข้อแรก เป็นการบอกความต้องการทางกายหรืออารมณ์ ๓ ข้อหลัง ช่วยให้เด็กทำความเข้าใจโลกรอบตัว คือเพื่อการเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ภายนอกตัว 

โปรดสังเกตว่า เด็กในฐานะมนุษย์ใช้การพูดเพื่อการเรียนรู้ทั้งเพื่อรู้จักตนเอง และเพื่อรู้จักโลก ผ่านการพูดหลากหลายแบบ แต่ในระบบการศึกษาแบบเดิม เมื่อเด็กเข้าโรงเรียน กลับถูกห้ามพูด ให้พูดได้เฉพาะเพื่อการตอบคำถามของครูเท่านั้น จึงเป็นการปิดกั้นการเรียนรู้อย่างเป็นธรรมชาติ การเรียนรู้แบบสานเสวนาจึงเป็นวิธีการแก้จุดอ่อนของการศึกษาในรูปแบบเดิม คือแทนที่จะห้ามพูด กลับส่งเสริมให้พูดเพื่อการเรียนรู้ของตนและของเพื่อนๆ

ครูจึงต้องมีทักษะ พูดเพื่อเคลื่อนการเรียนรู้ (talk move) ของศิษย์ โดยจับเอาประเด็นที่ศิษย์พูดมาพูดต่อ เพื่อกระตุ้นให้ศิษย์พูดเพื่อการเรียนรู้ในระดับที่ลึกและเชื่อมโยงยิ่งขึ้น ได้ผลดีทั้งต่อการพัฒนาสมอง และต่อความรู้ความเข้าใจเนื้อหาสาระในมิติที่ลึกและเชื่อมโยงยิ่งขึ้น 

ในการเรียนแบบสอนเสวนา นักเรียนต้องไม่พูดเพื่อเรียนรู้เพียงพูดตอบคำถามเท่านั้น นักเรียนต้องรู้จักพูดเพื่อตั้งคำถาม รู้จักพูดเพื่ออธิบายความคิด ขยายความคิดและตรวจสอบความคิด ซึ่งหมายความว่าต้องฟังและทำความเข้าใจผู้อื่นไปพร้อมๆ กัน การพูดเพื่อเรียนรู้จึงเป็นกระบวนการเชิงปฏิสัมพันธ์

การพูดเพื่อเรียนรู้ของนักเรียนมี ๘ แบบ ที่มีส่วนซ้อนทับกัน คือ 

  • พูดเพื่อจัดการสถานการณ์ (transactional) ได้แก่ การถาม ตอบ บอก สอน อธิบาย อภิปราย
  • พูดเพื่อบอกกล่าว (expository) ได้แก่ อ่านให้ฟัง นำเสนอและอธิบาย บอก อธิบาย บอกรายละเอียด ขยายความ
  • พูดเพื่อถาม (interrogatory) ใช้คำถามหลากหลายแบบในหลากหลายบริบท ได้แก่ ยื่นข้อเสนอ ถาม ถามหาข้อมูล ให้คำตอบ 
  • พูดเพื่อสำรวจไปข้างหน้า (exploratory) เพื่อเจาะหาความคิด อาจโดยเสนอแนะ คาดเดา ตั้งสมมติฐาน หรือพูดลอยๆ หรือโดยถามเจาะประเด็น หรือให้เกิดความชัดเจน 
  • พูดเพื่อตรวจสอบความน่าเชื่อถือของเหตุผลหรือข้อมูลหลักฐาน (deliberative) เป็นการพูดเชิงเหตุผลและข้อโต้แย้ง โดยให้เหตุผล ตั้งคำถาม โต้แย้ง ปกป้อง ให้สมมติฐาน ท้าทาย พิสูจน์ วิเคราะห์ สังเคราะห์ ชักจูง ตัดสิน 
  • พูดเชิงจินตนาการ (imaginative) โดยใคร่ครวญและบอกโอกาสที่อาจเป็นไปได้ ผ่านการพูดแบบคาดเดา สร้างภาพ พูดลอยๆ บอกเล่า ทำนาย 
  • พูดแสดงความคิด (expressive) บอกความรู้สึก ความคิด ข้อสงสัย 
  • พูดเชิงประเมิน (evaluative) พูดบอกข้อมูล ข้อคิดเห็น การคาดการณ์ ข้อโต้แย้ง เพื่อนำไปสู่การตัดสิน 
ผมขอตั้งข้อสังเกตว่า ในชีวิตจริงการพูดไม่ได้เกิดขึ้นโดดๆ แต่เกิดขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ที่สื่อสารกันหลายช่องทาง โดยการพูดเป็นเพียงช่องทางหนึ่งเท่านั้น ในการสื่อสารมีการส่งสารและรับสารต่อเนื่องกันเกือบจะทันที ดังนั้น การพูดเพื่อเรียนรู้จึงต้องคู่กับการฟังและรับสารจากช่องทางอื่นๆ นำมาตีความเพื่อส่งสารกลับ เกิดปฏิสัมพันธ์และการเรียนรู้ 

ครูต้องเข้าใจความหมายเชิงลึกของการพูดและการสื่อสารของศิษย์ เข้าใจไปถึงความรู้สึกนึกคิดของศิษย์ และใช้ความเข้าใจนั้นในการออกแบบกิจกรรมต่อไป (อย่างทันควัน) เพื่อกระตุ้นการเรียนรู้ของศิษย์

เรื่องเล่าจากห้องเรียน

เมื่อวันอังคารที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๖๔ คุณครูอั๋น - กรวิทย์ ตรีศาสตร์ ได้ส่งแผนการเรียนรู้ เรื่อง “ใช้สื่อเรียนรู้อย่างชาญฉลาด” มาถึงคุณครูใหม่ - วิมลศรี ศุษิลวรณ์ ในไลน์กลุ่มภูมิปัญญาภาษาไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๕ พร้อมกับไลน์มาว่า “พี่ใหม่ฝากดูแผนให้หน่อยนะครับ ว่ามีความกลมกล่อมหรือยัง” ครูใหม่ได้ตอบกลับไปว่า “โครงใหญ่ใช้ได้แล้วจ้ะ แต่น่าจะมีคำถามที่ชวนสงสัยเปิดนำมาให้นักเรียนได้พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดกันก่อน เช่น “นักเรียนเชื่อไหมว่าคนสมัยก่อนมีชีวิตที่อุดมสมบูรณ์ได้ โดยไม่ต้องมีเงินติดตัวแม้แต่บาทเดียว” “ชีวิตที่อุดมสมบูรณ์คืออะไร” เป็นต้น เมื่อดูคลิปจบ
ลองตั้งคำถามว่า “วัฒนธรรมแบบนี้ดีงามไหม” ฯลฯ

หลังจากที่ร่วมกันคิดแต่งแต้มแผนการเรียนรู้ให้มีความสมบูรณ์แล้ว ครูอั๋น กับ คุณครูกิ๊ก - นินฤนาท นาคบุญช่วย ครูคู่วิชาก็ได้ไปทำการวางลำดับขั้นของกระบวนการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับเวลาการเรียนในรูปแบบออนไลน์ที่มีอยู่ ๙๐ นาที โดยได้เพิ่มเรื่องของ การฝึกพูดเพื่อเรียนรู้ ลงไปในแผนการจัดการเรียนรู้ เพื่อเพิ่มเติมความกลมกล่อมให้กับการเรียนรู้เอาไว้ ดังนี้ 

๑. ขั้นนำ 
๑.๑ ให้นักเรียนเข้าโปรแกรม zoom มาให้พร้อมหน้า จัดเตรียมเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ให้เรียบร้อยพร้อมใช้งาน อยู่ในพื้นที่ที่เหมาะสมพร้อมเรียน จัดเตรียมอุปกรณ์สำหรับเรียนรู้วิชาภูมิปัญญาภาษาไทยให้พร้อม ทั้งเครื่องเขียน และสมุด

๑.๒ ครูชวนให้นักเรียนนำคู่มือกำกับตนเองเพื่อมายืนยันกับเป้าหมายที่ตั้งไว้ และมุ่งมั่นตั้งใจทำให้ได้ตามเป้าหมาย 

๑.๓ ครูเปิดภาพวาดลายเส้นการ์ตูนวิถีชีวิตชาวไทยสมัยก่อน ให้นักเรียนดู เพื่อกระตุ้นจินตนาการ และก่อความเชื่อมโยงกับประสบการณ์จริง จากนั้นถามนักเรียนว่า “เชื่อไหมว่าคนสมัยก่อนมีชีวิตที่อุดมสมบูรณ์ได้ โดยไม่ต้องมีเงินติดตัวแม้แต่บาทเดียว” และ “ชีวิตที่อุดมสมบูรณ์คืออะไร” ให้นักเรียนแลกเปลี่ยนร่วมกันอย่างอิสระ 

๑.๔ ครูชวนนักเรียนมาดูข่าว “ข้าวชาวนาแลกปลาชาวเล” ผ่านวีดิทัศน์ เพื่อให้เห็นถึงวิถีชีวิตคนไทยที่มีมาแต่ไหนแต่ไร และยังคงมีให้เห็นอยู่ทั่วไปในชนบท

๑.๕ เมื่อดูวีดิทัศน์จบแล้ว ครูถามว่า “วัฒนธรรมที่ใครมีอะไรก็มาแบ่งปันกันแบบนี้ดีงามไหม” ให้นักเรียนแลกเปลี่ยนร่วมกัน

๑.๖ ครูพูด “เมื่อสักครู่เราได้รับรู้การแบ่งปันผ่าน “ข่าว” ที่เป็นสื่อภาพและเสียงแล้ว คราวนี้เราลองมารับรู้การแบ่งปันผ่าน “ข่าว” สื่อสิ่งพิมพ์กันบ้าง 

๑.๗ ครูถามนักเรียนว่า คำว่า “ข่าวในภาษาอังกฤษ คือคำว่าอะไร” (NEWS) “แล้วคำว่า NEWS มีที่มาจากคำว่าอะไรบ้าง” “ข่าวนี้เป็นเรื่องราวของคนในภาคใด” 

๑.๘ ครูเปิด PDF ข่าวหนังสือพิมพ์ออนไลน์ “ข้าวชาวนาแลกปลาชาวเล” ให้นักเรียนอ่าน 

๑.๙ ให้นักเรียนแลกเปลี่ยนร่วมกันเป็นการสรุปอีกครั้งว่า เห็นวิถีชีวิตของคนไทยอย่างไรบ้างจากเรื่องที่ได้อ่าน 

๑.๑๐ ให้นักเรียนสะท้อนว่าตนเองถนัด ชื่นชอบ หรือเรียนรู้กับสื่อไหนได้ดีมากกว่ากัน ระหว่างสื่อวีดิทัศน์กับหนังสือ หากเลือกวีดิทัศน์ให้กดไลก์ เลือกหนังสือให้กดหัวใจ ครูดูแนวโน้มในการเลือกสื่อของนักเรียนในห้องพร้อมสะท้อนให้นักเรียนรับทราบ ก่อนจะพานักเรียนไปหาข้อดีข้อด้อยของสื่อแต่ละประเภท

๒. ขั้นก่อเกิดโจทย์งาน
โจทย์ : สื่อที่ชอบ สื่อที่ใช่
๑. ข้อดีและข้อด้อยของสื่อวีดิทัศน์
๒. ข้อดีและข้อด้อยของสื่อหนังสือ
๓. สื่อที่ฉันชอบ ถนัด และเรียนรู้ได้ดีที่สุดคือ... เพราะ...
 
๓. ขั้นออกแบบ 
๓.๑ ครูเปิด PPT ตัวอย่างเครื่องมือการทำงาน เช่น ตาราง อินโฟกราฟิก ผังมโนทัศน์ ให้นักเรียนดูเป็นแรงบันดาลใจ
๓.๒ นักเรียนทำการสำรวจว่าตนเองเหมาะกับการใช้สื่อประเภทไหนมากที่สุด ระหว่างวีดิทัศน์กับหนังสือ

๔. ขั้นทำงาน 
นักเรียนทำการวิเคราะห์ข้อมูลตามโจทย์ที่กำหนดออกมาโดยใช้เครื่องมือที่เหมาะสม เช่น ตาราง อินโฟกราฟิก ผังมโนทัศน์ เป็นต้น

๕. ขั้นอภิปราย 
๕.๑ ครูเปิดห้องย่อยให้นักเรียนแลกเปลี่ยนแนวความคิดร่วมกัน
๕.๒ ให้ตัวแทนแต่ละห้องย่อยออกมานำเสนอแนวความคิดของเพื่อนๆ ในกลุ่ม ที่ห้องใหญ่ว่าเป็นไปในทิศทางใด 
๕.๓ ครูพูดแนะนำส่งท้ายว่า เมื่อเรารู้แนวทางการเรียนรู้ของตนเองแล้วว่าชอบสื่อแบบไหน ให้ไปฝึกจากสิ่งที่ชอบก่อน แต่เมื่อเราต้องทำงานบางอย่างแล้วสื่อที่ชอบให้เราไม่ได้ เราก็ต้องไปหาจากอีกสื่อหนึ่งเพื่อทำให้เกิดการเรียนรู้ได้ดียิ่งขึ้น

ในตอนเย็นวันนั้นครูใหม่ได้ไลน์เข้าไปบอกกับกลุ่มว่า “พี่ว่าคลิปการเรียนการสอน และเรื่องเล่าจากชั้นเรียน ตอน ขาว ข่าว ข้าว ของอั๋นกับกิ๊ก น่าจะเป็นตัวอย่างที่จะนำมาใช้ประกอบความเข้าใจในเนื้อหาของตอนนี้ได้อย่างเหมาะสมมากๆ เลย”
ครูกิ๊กตอบกลับมาว่า “ตอนสอนอาจจะตื่นเต้นเลยนะคะเนี่ย ๕๕๕๕๕”

บทที่_๗.๑.png

เช้าวันศุกร์ที่ ๒๕ มิถุนายน ๒๕๖๔ ในคาบเรียนภูมิปัญญาภาษาไทย ของห้อง ๕/๒ ครูกิ๊ก
เริ่มจัดกระบวนการเรียนรู้ตามแผนที่เตรียมไว้ด้วยหัวใจที่เบิกบาน

ครูกิ๊ก :วันนี้ครูจะชวนเด็กๆ มาดูอะไรบางอย่าง เด็กๆ เชื่อไหมว่าคนสมัยก่อน
เขามีชีวิตที่อุดมสมบูรณ์ได้โดยไม่ต้องมีเงินติดตัวเลยแม้แต่บาทเดียว

บทที่_๗.๒.png


ครูกิ๊ก : เขามีชีวิตที่อุดมสมบูรณ์ได้โดยที่ไม่ต้องมีเงินติดตัวเลยแม้แต่บาทเดียวเลยเด็กๆ เมื่อกี้มีเสียงแทรกออกมานิดหนึ่งว่าเชื่อนะ แต่ทีนี้ครูกิ๊กก็อยากที่จะถามเด็กๆ ว่าแล้วชีวิตที่สมบูรณ์ในรูปแบบนั้น ชีวิตที่สมบูรณ์แบบที่ว่านี้คืออะไรหรือ เป็นแบบไหนชีวิตที่สมบูรณ์ที่ครูกิ๊กพูดถึงตอนนี้ เอ้า... ปาล์ม 
เชิญค่ะ 

ปาล์ม :คือถ้าสมมติว่าคนหนึ่งมีอาหารอย่างหนึ่ง แล้วเราก็มีอาหารอีกอย่างหนึ่ง ถ้าเราอยากกินอาหารที่อีกคนหนึ่งมีเราก็อาจจะเอาไปแลกกัน 

ครูกิ๊ก : อ๋อ... เธอมีจานนี้ ฉันมีจานนี้ ถ้าเรากินด้วยกัน เราก็เอาไปแลกกันกิน แล้วตรงนี้ปาล์มเห็นชีวิตที่สมบูรณ์อย่างไรหรือคะ จากการแลกอาหารซึ่งกันและกัน

ปาล์ม : มันเหมือนกับว่าไม่ต้องใช้เงินก็ได้ 

ครูกิ๊ก : ไม่ต้องใช้เงินก็ได้แล้วเราใช้อะไรล่ะ 

ปาล์ม : นึกคำพูดไม่ออก

ครูกิ๊ก : ไม่ต้องใช้เงินก็ได้ ก็มีชีวิตที่สมบูรณ์ได้ เออ...แล้วใช้อะไรล่ะ อย่างนั้นระหว่างรอปาล์มเรียบเรียงคำพูด เราลองฟังเพื่อนคนอื่นก่อนไหม... มะนาวว่าอย่างไรคะ 

มะนาว : ก็คือใช้ชีวิตแบบพอเพียงค่ะ คือเราก็อาจจะต้องใช้เงินในการซื้อ ซ่อมบ้าน หรือว่าทำอะไรแบบนี้ แต่ว่าเราไม่จำเป็นต้องใช้เงินกับทุกอย่าง เช่น เดี๋ยวนี้ เราใช้เงินไปกับการสั่งอาหาร โดยที่เราไม่รู้ตัว แต่ว่าคนที่เขาอยู่ต่างจังหวัด หรือว่าเขาพอเพียง เขาก็ปลูกผักแล้วเขาก็กินเอง แล้วเขาก็ทำอาหารกินเองอย่างนี้ค่ะ ก็เป็นความพอเพียงค่ะ

ครูกิ๊ก : ชีวิตที่อุดมสมบูรณ์ของมะนาวก็คือการอยู่อย่างพอเพียง การพึ่งพาตัวเองได้ เท่านี้เราก็สมบูรณ์ในแบบของเราแล้วใช่ไหมลูก... เมจิล่ะคะ

เมจิ : หนูมองในมุมของหนูนะคะ หนูคิดว่าเขาเป็นผู้ผลิตค่ะ เพราะว่าตอนนี้เราซื้อของเขามากิน เราจ้างเขาสร้างบ้าน เราอะไรอย่างนี้ เราก็คล้ายๆ ผู้บริโภคค่ะ แล้วเขาก็เป็นผู้ผลิต แล้วคิดว่าคนต่างจังหวัดเขาก็เป็นผู้ผลิตเหมือนกัน เพราะว่าสร้างบ้านที่ครูบอก ก็คือปกติถ้าเราสร้างบ้านเราก็ต้องใช้ช่าง แล้วเราก็จ่ายเงินช่างไปแล้วช่างก็จะเอาอะไรมาตอบแทนเรา แต่หนูคิดว่าตอนนั้นเขาน่าจะยังไม่มีอะไร แบบเขายังไม่ได้คิดอะไร เขาก็ต้องทำ พึ่งพาตัวเองให้ได้ หนูเลยคิดว่าเขาเป็นผู้ผลิต แบบสร้างบ้าน เขาก็ต้องไปตัดไม้ มาสร้างเอง มาทาสีเอง อะไรแบบนี้ คือเขาก็เป็นคนทำเอง เขาไม่ได้มาจ้างใครทำ

ครูกิ๊ก : หมายความว่าเป็นชีวิตที่อยู่ด้วยการพึ่งพาตัวเองได้ คุณจะสร้างบ้าน คุณก็ไปเรียนรู้การตัดไม้ ไปตัดไม้มา ไปเรียนรู้วิธีการทำ เท่านี้มันก็มีชีวิตที่อยู่ได้ด้วยการพึ่งพาตัวเองใช่ไหมลูก... แล้วแพมล่ะลูก 

แพม : ของหนูคล้ายปาล์มตอนแรกเลยค่ะ คือเขาใช้การแบ่งปันกัน และใช้แชร์อาหารกัน ช่วยกันทำอะไรแบบนั้น เขาก็แชร์ของที่มีให้กันได้ ของที่ขาด ของที่เหลือ อะไรแบบนี้ เขาใช้น้ำใจแทนเงินด้วยค่ะ 

ครูกิ๊ก : ขอบคุณค่ะ เสริมจากปาล์มนะ แพมบอกว่าเห็นตรงกันเลยแต่ก็มองเห็นอีกว่าสิ่งที่เขาใช้แทนเงินคือใช้น้ำใจให้กันและกัน กลับมาที่ปาล์มอีกรอบหนึ่ง เมื่อกี้ครูกิ๊กถามค้างไว้ 

ปาล์ม : คล้ายๆ ที่แพมแชร์ไว้ก็คือใช้น้ำใจในการแบ่งปันกัน แล้วมันก็ไม่จำเป็นที่จะต้องใช้เงินทุกเรื่องเหมือนกับที่มะนาวบอกด้วย

ครูกิ๊ก : ครูกิ๊กชื่นชมเด็กๆ หลายคนเลยนะ ฟังจากที่เด็กๆ แลกเปลี่ยนนะ มีการเชื่อมโยงความคิดระหว่างของตัวเองกับของเพื่อน มีการช่วยเสริม มีการเห็นด้วยกับของเพื่อนตรงนั้นตรงนี้ คือชื่นชมกับเด็กๆ ที่ตั้งใจฟังแล้วอยู่ไปด้วยกันในตอนนี้นะ... เจนาย ว่าไงลูก

เจนาย : เปล่าครับ แค่จะบอกว่าขอตัวไปแป๊บหนึ่งนะครับ ฟันหลุด

ครูกิ๊ก : อ้าวฟันหลุด เชิญครับเจนาย เด็กๆ ไม่เป็นไรค่ะ ไม่เป็นไร... เมจิขำเพื่อน ตัวเองก็ (ฟัน) เพิ่งหลุดไปเมื่อเช้า 

บทที่_๗.๓.png
เด็กๆ เรามาเริ่มเช้านี้กับชีวิตที่อุดมสมบูรณ์โดยที่ไม่ต้องมีเงินแม้แต่บาทเดียว เด็กๆ ก็เห็นแล้วว่าเราก็สามารถมีชีวิตแบบนั้นได้ โดยที่ไม่เห็นต้องมีเงินเลย จากอะไรล่ะ จากน้ำใจ จากการแบ่งปันที่เพื่อนได้ตอบไปเมื่อสักครู่นี้นะคะ ทีนี้เด็กๆ วันนี้ครูกิ๊กจะพาเรามาเรียนรู้วิถีชีวิตของคนไทยนี่ล่ะ แผนการเรียนรู้ของเราในวันนี้มีชื่อว่า “ขาว ข่าว ข้าว” ครูกิ๊กพูดโดยไม่ได้พิมพ์หรือเขียนให้เด็กๆ เห็นนะ พอจะนึกออกไหมว่าคำนี้เขียนแบบไหน แล้วใครเห็นอะไรจากคำที่ครูกิ๊กพูดบ้าง “ขาว ข่าว ข้าว” เอ้า... กินใจ เชิญครับ 

กินใจ : ก็คือมันเป็นคำที่ผันไปได้เรื่อยๆ แล้วมันมีความหมายทุกคำเลย แบบขาวก็เป็นสีขาว ส่วนข่าวก็ข่าวสาร ข้าวก็ข้าวที่เรากินกันปกติ

ครูกิ๊ก :ขอบคุณค่ะ ก็เป็นเรื่องที่เด็กๆ คุ้นเคยนั่นล่ะนะ น่าจะตั้งแต่ชั้น (ประถม) ๔ หรือตั้งแต่ประถมต้นแล้วใช่ไหมคะในเรื่องของการผันวรรณยุกต์ วันนี้ครูกิ๊กก็เลยเอามาใช้เป็นลูกเล่น เอามาเป็นชื่อแผนการเรียนรู้ของเราในวันนี้เสียเลย “ขาว ข่าว ข้าว” แล้วเดี๋ยวมาดูว่าเราจะ “ขาว ข่าว ข้าว” กันอย่างไรนะในวันนี้ เดี๋ยวครูกิ๊กจะพาไปดูข่าวข่าวหนึ่ง

เด็กผู้ชาย : ข่าวโควิดหรือครับ

ครูกิ๊ก : (ครูกิ๊กเปิดคลิปข่าวให้เด็กๆ ชม)

ครูกิ๊ก : เด็กๆ ขา เมื่อสักครู่นี้ก็เป็นข่าว “ข้าวชาวนาแลกปลาชาวเล” ปลาแลกข้าวสาร ทีนี้เมื่อกี้ดูจบแล้ว อยากชวนเด็กๆ มาลองดูซิว่าเด็กๆ คิดว่า “วัฒนธรรมที่ใครมีอะไรก็มาแบ่งปันกันแบบนี้ดีงามไหม” มีหลายคนพยักหน้า แต่ก็ยังอยากฟังเสียงของเด็กๆ ว่าดีงาม แล้วมันดีงามอย่างไรหรือคะวัฒนธรรมแบบนี้ อยากฟังเสียงมะลิค่ะ 

มะลิ : คือมันเป็นการแบ่งปันให้กันค่ะแล้วมันก็ไม่ต้องใช้เงินแล้วเราก็เหมือนกับว่าคนที่เขายากลำบากเขาก็จะมาแลกของกันอย่างนี้ ก็ถือเป็นวัฒนธรรมที่ดี

ครูกิ๊ก : ไม่ต้องใช้เงินนะคะ ก็ช่วยเหลือกันในยามยากลำบาก ก็แบ่งปันกันไปเท่าที่ตัวเองมีนะ... มะนาวล่ะคะ

มะนาว : หนูคิดว่ามันดี ค่อนข้างดีเลยค่ะ เพราะถึงแม้ว่ามีสถานการณ์โควิด แล้วก็ที่ภูเก็ตเขาล็อกดาวน์ใช่ไหมคะ แล้วหนูคิดว่าเขาก็ไม่ได้ใช้เงินนะคะ เพราะเราจะออกไปซื้อของเราก็กลัว ถูกไหมคะ เราไม่รู้ว่าที่ตลาด หรือว่าที่ห้าง หรือว่าที่ไหนก็ตาม มันจะมีใครที่สามารถแพร่เชื้อให้เราได้หรือเปล่า ก็เลยใช้วิธีการในการแลกกันเอาค่ะ เช่น แลกกับข้าวสาร และส่งปลาที่เขาทำให้ ไปให้ภาคอีสานหรือว่าภาคอะไรแบบนี้ แต่ว่าเขาก็เอาแบบให้เศรษฐกิจของตัวเอง หรือว่าให้แบบจุดเด่นของตัวเองไปแลกเปลี่ยนกับจุดเด่นของอีกคนหนึ่ง หนูคิดว่ามันเป็นแนวคิดที่ดี เพราะว่าภาคอีสานก็ข้าวหาไม่ยากเพราะว่าเขาก็ส่งออกข้าวเกือบจะทุกปี และที่ภูเก็ตก็มีปลา หรือมีสัตว์ทะเลเยอะมากที่สามารถเอาไปแลกได้ ก็รู้สึกว่ามันมีความพอเพียงค่ะ เพราะว่าเราไม่ต้องซื้ออะไรเพื่อที่จะเอามาแลก เราก็เอาของที่เรามีไปแลกของที่เขามีอยู่ 

ครูกิ๊ก : ขอบคุณค่ะมะนาว เด็กๆ ... ปรบมือให้เลยนะ ที่มะนาวพูดนะ เด็กๆ มีจุดหนึ่งนะที่น่าสนใจ ไม่รู้ว่าจับได้เหมือนครูกิ๊กหรือเปล่าว่าของที่เราแลกกัน เราไม่ได้ซื้อมาจากไหนคะ มันคือของที่บ้านเรามีอยู่แล้ว มันคือของที่เป็นจุดเด่น เราเอามาแปรรูป เอามาปรับ อย่างปลาจะเห็นใช่ไหมว่าเอามาแปรรูปให้เป็นปลาตากแห้ง ทำไมเขาไม่ส่งไปเป็นปลาสดล่ะลูก ทำไมต้องมาทำเป็นปลาตากแห้งก่อน ก็ส่งไปสดๆ เลย ทำไมต้องมาเสียเวลาตากแห้งอีก... กินใจเพราะอะไรครับ

กินใจ : ก็คือเดี๋ยวผมจะตอบคำถามที่คุณครูถามก่อนหน้านี้ก่อน ผมก็คิดว่ามันดีครับ เพราะว่ามันจะไม่ค่อยมีการขโมยกัน ขโมยก็ลดน้อยลง เพราะว่าทุกคนก็ได้เท่ากัน ก็เลยจะไม่มีการขโมยเพื่อให้ได้อะไรอย่างนั้นอย่างนี้ ใครอยากได้ก็ไปแลกกัน ก็ได้แล้ว ก็ไม่ต้องขโมย ไม่ต้องลักขโมย แล้วก็จะเล่าประสบการณ์ให้ฟังครับ ก็คือ แม่ของผมมีพื้นที่ ๕ ไร่ แล้วก็มีคนมาขอเช่าแล้วแม่ผมก็ให้ฟรี เขาก็เลยส่งข้าวกลับมาให้ ตอนนี้ยังไม่หมดเลย 

ครูกิ๊ก : โอ้โห... เป็นวัฒนธรรมการแลกกันเหมือนกันนะกินใจ ก็คือ เป็นข้าวที่เขาก็ได้ใช้ประโยชน์จากพื้นที่ของคุณแม่ของกินใจ แล้วพอวันหนึ่งเขาได้ผลผลิตเขาก็ส่งกลับมาแบ่งปันให้กันนะ โอ้โห... เป็นภาพที่ครูกิ๊กฟังแล้วก็ชื่นใจมากเลยนะกินใจนะ... ลีโอล่ะครับ 

ลีโอ : สาเหตุที่เขาส่งมาแบบปลาตากแห้งเพราะว่ามันเหมือนเป็นการถนอมอาหารของเขาครับ มันเก็บรักษาได้นานกว่าครับ 

ครูกิ๊ก : เพื่อให้เก็บรักษาได้นานกว่า เรามีจุดเด่นของเราก็จริงที่เป็นปลาทะเลเยอะๆ เลย แต่ว่าการที่จะส่งไปให้เขาก็ต้องดูวิธีการที่เหมาะสมด้วยนะที่แบบว่าเราจะส่งไปอย่างไรให้เขาได้รับประโยชน์จากสิ่งที่เราส่งไปมากที่สุดนะคะ เอ้า... กินใจ (ว่าไง) ลูก 

กินใจ :เพราะว่าถ้าเกิดเป็นปลาเค็มตากแดดมันก็จะเหมือนคลิปวิดีโอพูดเลยคือ มันจะไม่เสียง่ายแล้วก็มันจะมีรสเค็มของเกลือจะได้ไม่ต้องปรุง แค่เอามาทำ แต่ไม่ต้องปรุงก็ได้แล้วครับ แล้วก็ขอเล่าประสบการณ์อีกอันหนึ่งก็คือข้างบ้านผม ตำลึงขึ้นดกมาก ไม่รู้ขึ้นมาได้อย่างไร แล้วมันก็เลื้อยไปบ้านข้างๆ ครับ บ้านข้างๆ เขาก็เก็บมาให้ลูกเขากิน ลูกเขายังเป็นแบบเด็กเล็กครับ แต่มันก็ไม่ได้มีเยอะหรอกครับ บ้านผมเลยเก็บไปให้อีกเพราะว่าบ้านผมมีซ้ายขวาเลยครับ คือมีเยอะมากครับ เพราะว่าไม่รู้มันขึ้นมาได้อย่างไร ไม่รู้เลยครับ ก็ส่งไปให้เขา เขาก็ส่งอะไรสักอย่างนี่ล่ะ ผมจำไม่ได้ (เขา) ก็เอามาให้เหมือนกัน

ครูกิ๊ก :ขอบคุณครับกินใจ วันนี้ฟังเรื่องราวการแบ่งปันของบ้านกินใจตั้ง ๒ เรื่อง ครูกิ๊กก็มั่นใจว่าหลายๆ บ้านน่าจะมีวัฒนธรรมเช่นนี้เหมือนกัน ที่มีการแบ่งปันกันเล็กๆ น้อยๆ อาจจะเป็นระหว่างเพื่อนบ้านกับเพื่อนบ้าน หรือเป็นการแบ่งปันระหว่างตัวเรากับกลุ่มอื่นที่อาจจะใหญ่ไปมากกว่าเพื่อนบ้านก็แล้วแต่โอกาสของแต่ละบ้านไป แต่ก็จะเห็นว่ามันเป็นวัฒนธรรมที่ดีงามที่อยากให้เกิดขึ้น อยากให้วิธีการแบ่งปันมันอยู่ติดจนกลายเป็นวิถีที่อยู่ในจิตใจของเด็กๆ มีอะไรก็รู้จักแบ่งปันกัน แต่ก็ต้องดูไปตามความเหมาะสมอย่างที่มะนาวบอกตอนแรกว่าของที่แบ่งปันไม่จำเป็นต้องเป็นของที่ซื้อ มันเป็นของที่เรามีอยู่แล้วก็ได้ ก็หยิบไปเล็กๆ น้อยๆ เท่าที่เราพอจะ(ให้)ได้นะ 

เมื่อกี้เราได้รับรู้การแบ่งปันผ่านข่าวที่เป็นวิดีโอนะ มาทั้งภาพ แล้วก็เสียง ทีนี้ครูกิ๊กจะพาเด็กๆ มารับรู้ข่าวสารการแบ่งปันนี้ผ่านข่าวสื่อสิ่งพิมพ์กันบ้าง เด็กๆ “ข่าว” คำว่าข่าว ข ไข่ ไม้เอก สระอา ว แหวน สะกดนี้ ในภาษาอังกฤษคือคำว่าอะไรคะ ครูเห็นคนตอบ เห็นหลายคนขยับปากยุบๆ เปิดไมค์ลูก คำว่าอะไรคะ... กะทิ

กะทิ : NEWS ค่ะ

ครูกิ๊ก : (สะกดทีละตัว ออกสำเนียงชัดเจน) N E W S 

กะทิ : ทำไมครูกิ๊กสำเนียงแบบนั้นคะ

ครูกิ๊ก : ครูกิ๊กต้องมีสำเนียงของตัวเองค่ะ เอ้า... เด็กๆ คะ ทีนี้ลองมาสังเกตคำว่า  NEWS กันนะ คำว่า NEWS มีที่มาจากอะไร ใครรู้บ้าง ตัวอักษร ๔ ตัวนี้มาจากไหน... ตันส์ครับ

ตันส์ : NEWS ตัว N มาจาก North แปลว่าเหนือ E คือ East แปลว่าทิศตะวันออก ส่วน W คือ West คือทิศตะวันตก ส่วน S คือ South ที่แปลว่าทิศใต้ มันเกี่ยวข้องกับแผนที่ครับ 

ครูกิ๊ก : เยี่ยมเลย ขอบคุณครับ ตอนนี้ NEWS ของเรามาครบทั้ง ๔ ภาคเลย ทวนความทรงจำกันนิดหนึ่ง ข่าว “ข้าวชาวนาแลกปลาชาวเล” เกี่ยวข้องกับการแบ่งปันระหว่างภาคไหนกับภาคไหนบ้าง รู้ไหม... มะลิ ภาคไหนลูก

มะลิ : ภาคใต้กับภาคอีสานค่ะ

จากนั้นนักเรียนทุกคนอ่านข่าวสื่อสิ่งพิมพ์ตามที่ครูกิ๊กมอบหมาย

บทที่_๗.๔.png
ทั้งหมดคือเรื่องราวของชีวิตที่สื่อสารกันผ่านจอ ทั้งจอใจของนักเรียนกับครูในห้องเรียนออนไลน์ และจอภาพที่สะท้อนให้เห็นกำลังใจของคนที่ดำเนินไปอย่างมีพลัง และส่งต่อพลังนั้นให้กับผู้คนอีกมากมายที่มีโอกาสเข้ามารับรู้เรื่องราวของพวกเขา

๗_ขาว_ข่าว_ข้าว1.png

ขาว ข่าว ข้าว คุณครูกิ๊ก – นินฤนาท นาคบุญช่วย
ดาวน์โหลดเอกสาร
ศาสตราจารย์ นายแพทย์ วิจารณ์ พานิช
นักเขียน
ศาสตราจารย์ นายแพทย์ วิจารณ์ พานิช
รองประธานกรรมการมูลนิธิสยามกัมมาจล นายแพทย์ผู้สนใจประเด็นการศึกษา เจ้าของผลงานหนังสือเกี่ยวกับการจัดการเรียนรู้หลากหลายเล่ม ตั้งแต่ เลี้ยงลูกยิ่งใหญ่, วิถีสร้างการเรียนรู้เพื่อศิษย์ในศตวรรษที่ 21, สนุกกับการเรียนในศตวรรษที่ 21 ฯลฯ
แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน
profile
กรุณา Login ก่อน comment
เนื้อหาทั้งหมด