สอนเสวนา_Cover_front
ทฤษฎีการศึกษาการศึกษา

หนังสือ สอนเสวนาสู่การเรียนรู้เชิงรุก

อ่าน 776 นาที

หนังสือเล่มนี้เขียนขึ้นเพื่อชี้แนวทางจัดการเรียนรู้แบบที่เรียกว่า active learningหรือการเรียนรู้เชิงรุก โดยมีเป้าหมายเพื่อฝึกนักเรียนให้เรียนรู้จากการปฏิบัติตาม ด้วยการคิดที่เรียกว่า การใคร่ครวญสะท้อนคิด (reflection) ที่นำไปสู่การฝึกทักษะการเรียนรู้ที่นักเรียนกำกับการเรียนรู้ของตนเอง (self-directed learning) เป็น ผ่านกระบวนการ สานเสวนา (dialogue) ระหว่างนักเรียนกับครู และระหว่างนักเรียนกับเพื่อนนักเรียนด้วยกัน

เขียนโดยศาสตราจารย์ นายแพทย์ วิจารณ์ พานิช
17 ธันวาคม 2564
บทนำ
CP1.png


กล่าวใหม่ว่า บันทึกชุดนี้ ว่าด้วยการจัดให้เกิดการเรียนจากการพูด เพราะการพูดเป็นกระบวนการทางสมอง ช่วยกระตุ้นสมองให้เจริญงอกงาม และหากครูจัดกระบวนการอย่างถูกต้องเหมาะสม (ตามแนวทางในบันทึกชุดนี้) นักเรียน จะเกิดการเรียนรู้ครบด้านตามเป้าหมายการเรียนรู้แห่งศตวรรษที่ ๒๑ https://www.scbfoundation.com/media_knowledge/document/915/วิถีสร้างการเรียนรู้เพื่อศิษย์ในศตวรรษที่-21-5846 และตามแนวทาง เข็มทิศการเรียนรู้ 2030 ของ OECD https://www.oecd.org/education/2030-project/teaching-and-learning/learning/learning-compass-2030/ รวมทั้งจะเป็นวิธีการบรรลุการเรียนรู้ที่ลึกและเชื่อมโยงต่อเนื่องจากหนังสือ ครูเพื่อศิษย์ สร้างการเรียนรู้สู่ระดับเชื่อมโยง https://www.scbfoundation.com/media_knowledge/document/292/ครูเพื่อศิษย์สร้างการเรียนรู้สู่ระดับเชื่อมโยง-21019 อีกด้วย

ครูไทยสามารถใช้วิธีการนี้ กระตุ้นศักยภาพด้านดีของมนุษย์ ที่มีอยู่ในศิษย์ทุกคน  ให้เจริญงอกงาม และปิดกั้นศักยภาพด้านลบของความเป็นมนุษย์ในตัวศิษย์ ให้ฝ่อไป เพื่อเปิดทางให้ศิษย์พัฒนาความดีงามขึ้นในตน 

บันทึกชุดนี้เขียนขี้นจากการตีความหนังสือและรายงานวิจัยของศาสตราจารย์  Robin Alexander นักวิจัยผู้ยิ่งใหญ่ด้านการศึกษาของอังกฤษ สังกัดมหาวิทยาลัย  Warwick และมหาวิทยาลัย Cambridge คือหนังสือ A Dialogic Teaching  Companion (2020) https://www.amazon.com/Dialogic-Teaching-Companion-handbook-educators/dp/1138570354 และรายงานวิจัย Developing dialogic teaching: genesis, process, trial (2018) https://www.tandfonline.com/doi/full/10.1080/02671522.2018.1481140 ข้อมูลที่ใช้ในการเขียนบันทึกนี้จึงมาจากผลงานวิจัยและพัฒนาของศาสตราจารย์ Robin Alexander และคณะ ต่อเนื่องมานานกว่า ๓๐ ปี มีงานวิจัยแบบ RCT (Randomized Controlled Trial) ในอังกฤษ ระหว่าง ค.ศ. 2014 - 2017 และอีกงานวิจัยหนึ่งทำใน ๕ ประเทศ ๕ วัฒนธรรมที่แตกต่างกัน ได้แก่ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ อินเดีย ฝรั่งเศส และรัสเซีย ผมสกัดมาเฉพาะส่วนที่เป็นแก่น (ไม่ได้แปล) และจัดหมวดหมู่ให้อ่านง่าย เหมาะแก่ครูและนักการศึกษาไทยในการนำไปปรับใช้ให้เหมาะสมตามบริบทของโรงเรียนของท่าน 

 คำว่า “สานเสวนา” มาจากภาษาอังกฤษว่า dialogue ซึ่งหมายถึงการสนทนาแบบรับฟังซึ่งกันและกัน ไม่ด่วนสรุปหรือโต้แย้งเอาชนะ ศาสตราจารย์ Robin Alexander โยงคำนี้เข้ากับคำว่า oracy เพื่อเข้าหมู่กับคำว่า literacy ซึ่งไทยเราใช้คำว่า “รู้หนังสือ” และขยายความต่อได้ว่า หมายถึง “อ่านออก เขียนได้ คิดเลขเป็น” คำว่า oracy จึงน่าจะหมายถึง “พูดเป็น” หรือ “รู้จักพูด” ขยายความได้ว่า รู้จักใช้การพูดเพื่อการเรียนรู้ที่ครบด้าน ลึกและเชื่อมโยง รวมทั้งพูดสื่อสารเป็น และตัวบุคคลที่กระทำการนี้คือนักเรียนและครู โดยครูมีวิธีการหนุนให้นักเรียนเรียนรู้จากการพูดหรือการเสวนาระหว่างนักเรียนด้วยกัน และการเสวนากับครู ซึ่งจะนำไปสู่ทักษะการเรียนรู้ผ่านการเสวนาในชีวิตประจำวัน (กับพ่อแม่ คนในครอบครัว และคนในสังคมวงกว้าง) ด้วย ซึ่งผมตีความต่อว่า เป็นการฝึกทักษะการเรียนรู้ (learning skills) ในรูปแบบหนึ่ง รวมทั้งเป็นการฝึกทักษะทางสังคมด้วย

ขอย้ำว่าในโลกยุคปัจจุบัน การกล่าวว่า การศึกษามีเป้าหมายเพื่อเรียนรู้ให้บรรลุ literacy เป็นคำกล่าวที่ผิด การศึกษาเพื่อวางพื้นฐานเด็กสู่ชีวิตที่ดีในปัจจุบันและอนาคตต้องวางรากฐานการเรียนรู้ที่ขยายมากกว่า literacy มากมาย ไปสู่ ทักษะแห่งศตวรรษที่ ๒๑ https://www.scbfoundation.com/media_knowledge/document/915/วิถีสร้างการเรียนรู้เพื่อศิษย์ในศตวรรษที่-21-5846 https://widgets.weforum.org/nve-2015/chapter1.html และเข็มทิศการเรียนรู้สู่ 
ค.ศ. 2030 https://www.oecd.org/education/2030-project/teaching-and-learning/learning/learning-compass-2030/ บันทึกชุด “สอนเสวนาสู่การเรียนรู้เชิงรุก” นี้ มีเป้าหมายเสนอแนะวิธีจัดการเรียนรู้เพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าวผ่านการเอาใจใส่ฝึกการพูดของนักเรียน 

การพูดเป็น “การกระทำ” อย่างหนึ่ง ครูสามารถฝึกให้นักเรียนมีนิสัยคิดก่อนพูด และคิดก่อนทำได้ และฝึกให้มีนิสัยคิดใคร่ครวญหลังทำกิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่งเพื่อการเรียนรู้จากการปฏิบัตินั้นๆ โดยที่ระหว่างปฏิบัตินักเรียนได้ฝึกพัฒนานิสัยช่างสังเกต เพื่อนำเอาสิ่งที่เกิดขึ้นระหว่างปฏิบัติ และผลของการปฏิบัติมาคิดทบทวนใคร่ครวญเพื่อการเรียนรู้ที่ลึกหรือละเอียดอ่อน ในเรื่องนั้นๆ

จะเห็นว่า จากการพูดในห้องเรียน ศาสตราจารย์ Robin Alexander สามารถนำมาพัฒนาเป็นทฤษฎีหรือหลักการสอนที่เรียกว่า dialogic teaching (และบันทึกชุดนี้ใช้คำว่า “สอนเสวนา”) สร้างเป็นกรอบแนวทางปฏิบัติ (framework) ๘ ประการ ที่เรียกว่า framework for dialogic teaching เป้าหมายคือ เป็นแนวทางสำหรับครูจัดกระบวนการให้ศิษย์ได้ คิด – ปฏิบัติ – คิด ต่อเนื่อง สู่การเรียนรู้รอบด้านที่ลึกและเชื่อมโยง 

การพูดเป็นกระบวนการทางสังคมที่เชื่อมโยงหรือสานสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ ในกรณีนี้สาระที่เป็นสื่อกลางคือสาระหรือเนื้อหา (content) ในบทเรียน ที่ครูสามารถจัดบรรยากาศแวดล้อม และจัดกระบวนการให้นักเรียนกล้าตีความสาระนั้นผ่านการปฏิบัติของตน ที่นักเรียนต่างคนอาจตีความจากหลากหลายมุม จึงมีหลายการตีความ มีการรับฟังซึ่งกันและกัน และมีการซักถามโต้แย้ง (ฉันมิตร) 

เพื่อให้เข้าใจชัดเจนหรือตรงกัน เพื่อผลลัพธ์ ๒ แบบคือ หาข้อสรุป กับหาข้อที่สรุปไม่ได้ ซึ่งผลลัพธ์ประการหลังสำคัญกว่า เพราะนำไปสู่การตั้งโจทย์เพื่อเรียนรู้ต่อเนื่อง และเป็นการฝึกให้นักเรียนกล้าอยู่กับความไม่ชัดเจน หรือข้อโต้แย้ง เพื่อทำความเข้าใจเรื่องที่มีความซับซ้อนสูง 

ครูที่เก่งจะสามารถหนุนให้ศิษย์เชื่อมโยงประเด็นเรียนรู้เข้ากับชีวิตจริงที่ตนประสบในชุมชนของตน หรือในสังคมวงกว้าง ให้นักเรียนได้ฝึกคิดสู่การเป็นผู้มีส่วนแก้ปัญหา ไม่นิ่งดูดาย เป็นการพัฒนาคุณสมบัติ “ผู้ก่อการ” (agency) ขึ้นในตน ครูอาจหนุนให้นักเรียนชวนกันทำโครงการเพื่อแก้ปัญหาหรือพัฒนาชุมชนของตน 
การเรียนรู้ก็จะมีลักษณะ “เรียนจากการให้บริการ” (service learning) และนักเรียนได้ฝึกทักษะและสมรรถนะการเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง (change agent) การเรียนรู้ของเยาวชนในพื้นที่ก็จะเชื่อมโยงกับการพัฒนาพื้นที่ ภายใต้กระบวนทัศน์ว่า สังคมมีความซับซ้อนสูงยิ่ง และภายใต้กระบวนทัศน์ว่าเยาวชนต้องเรียนรู้จากการฝึกกระทำการในสถานการณ์จริง 

การพูด เชื่อมโยงกับการคิด และการกระทำ ของนักเรียน ภายใต้การชี้แนะและสนับสนุนของครู สามารถนำไปสู่การเรียนรู้ผ่านกิจกรรมสร้างสรรค์ได้มากมาย 

บันทึกชุดนี้ จึงเป็นการชักชวนครูให้ร่วมกันฝึกฝนตนเองให้มีสมรรถนะในการใช้คำพูดกระตุ้นการเรียนรู้ครบทุกมิติของนักเรียน โดยนักเรียนเองก็รู้จักใช้คำพูดของตนกระตุ้นการเรียนรู้ของตนและของเพื่อนนักเรียนด้วยกัน 



วิจารณ์ พานิช
๑๔ เมษายน ๒๕๖๔ ปรับปรุง ๒๓ และ ๒๖ เมษายน ๒๕๖๔ วันครอบครัว

ดาวน์โหลดเอกสาร
ปฏิรูปการศึกษาไทย
การเรีียนรู้้เชิงรุุก
การศึกษาแห่่งศตวรรษที่ 21
dialogue
พัฒนาครูู
active learning
การเรียนรู้ของตนเอง
self-directed learning
ศาสตราจารย์ นายแพทย์ วิจารณ์ พานิช
นักเขียน
ศาสตราจารย์ นายแพทย์ วิจารณ์ พานิช
รองประธานกรรมการมูลนิธิสยามกัมมาจล นายแพทย์ผู้สนใจประเด็นการศึกษา เจ้าของผลงานหนังสือเกี่ยวกับการจัดการเรียนรู้หลากหลายเล่ม ตั้งแต่ เลี้ยงลูกยิ่งใหญ่, วิถีสร้างการเรียนรู้เพื่อศิษย์ในศตวรรษที่ 21, สนุกกับการเรียนในศตวรรษที่ 21 ฯลฯ
แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน
profile
กรุณา Login ก่อน comment
เนื้อหาทั้งหมด