ปกหน้า resize
ทฤษฎีการศึกษาการศึกษา

หนังสือครูเพื่อศิษย์ สร้างการเรียนรู้สู่ระดับเชื่อมโยง

อ่าน 461 นาที

ผมเขียนหนังสือนี้อย่างสนุกสนานในช่วงก่อนวันหยุดสิ้นปี 2 สัปดาห์ และใช้วันหยุดขึ้นปีใหม่ 2563 รวม 5 วันมุ่งมั่นเขียนให้เสร็จ และทำได้สำเร็จ ตามเป้าหมายที่กำหนด ทำให้ผมมีความสุขมาก ยิ่งเมื่อเขียน “บทส่งท้าย...ฝันใหญ่ เพื่อ transform การศึกษาไทย” ผมยิ่งมีความสุข เพราะเกิดความหวังว่า จะมีมาตรการเปลี่ยนแปลงการศึกษาไทยอย่างได้ผลจริง

เขียนโดยศาสตราจารย์ นายแพทย์ วิจารณ์ พานิช
18 ธันวาคม 2563
บทที่ 7 : เรียนรู้ระดับเชื่อมโยง
1.jpg บันทึกนี้ ตีความจากบทที่ 4 Teaching Literacy for Transfer ในหนังสือ หน้า 105 - 131

     สาระสำคัญของบันทึกนี้คือ ในความเป็นจริงแล้ว การเรียนรู้ ๓ ระดับ (ระดับผิว  ระดับลึก และระดับเชื่อมโยง) เกิดขึ้นแบบผสมกลมกลืนกัน การแบ่งออกเป็น ๓ ระดับ
ในหนังสือเล่มนี้ ก็เพื่อช่วยให้ครูทำหน้าที่ส่งเสริมและจุดประกายการเรียนรู้ให้แก่ศิษย์ได้อย่างเป็นขั้นเป็นตอน เพื่อให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ได้ผลกระทบสูง 

   การเรียนรู้ระดับเชื่อมโยงเปรียบเสมือนการเรียนรู้วิธีขับรถยนต์ เมื่อขับรถยนต์เป็น ก็ขับได้ทุกยี่ห้อ ทุกโมเดล แต่ที่เรากำลังทำความเข้าใจเน้นกระบวนการทางสมอง
ที่ต้องการการฝึกฝนที่แยบยลกว่า โดยมีหลักการ ๔ ข้อ สำหรับฝึกมือใหม่
  • ให้เริ่มจากเรื่องที่แตกต่างจากความรู้เดิมของเด็กเพียงเล็กน้อย
  • ครูส่งเสริมให้เด็กตรวจสอบความคล้ายคลึง (analogy) ระหว่างเรื่องราวหรือสิ่งของต่างๆ เพื่อให้เด็กมองเห็นแบบแผน (pattern) ของเรื่องนั้นๆ
  • ครูต้องเข้าใจระดับพัฒนาการของเด็กและสอนเพื่อเรียนรู้ระดับเชื่อมโยง ให้สอดคล้องเหมาะสมต่อระดับพัฒนาการนั้นซึ่งหมายความว่า การสอนเด็กเล็ก เด็กประถม และเด็กมัธยม แตกต่างกัน
  • เป็นการฝึกทักษะในการมองเห็น หรือเข้าใจความเหมือน หรือความคล้ายคลึงระหว่างสถานการณ์ หรือกิจกรรมต่างๆ ทักษะนี้สำคัญที่สุดในการเรียนรู้สู่ระดับเชื่อมโยง
จากเรียนรู้ระดับลึก สู่เรียนรู้ระดับเชื่อมโยง (transfer)
line3.jpg
นักเรียนที่เรียนอ่อน มักเชื่อมโยงโดยใช้การจำ เพื่อให้ทำข้อสอบได้ ซึ่งจะไม่นำ ไปสู่การเรียนรู้ระดับเชื่อมโยงได้จริง เพราะในการเรียนรู้ระดับนี้ นักเรียนจะเป็นเสมือน ครูของตนเอง คือการเรียนรู้จะมีลักษณะ “อำนวยการด้วยตนเอง” (self - directed)  นักเรียนจะตั้งคำถามด้วยตนเอง และมีเครื่องมือในการตอบคำถามนั้นด้วยถ้อยคำของตนเอง โดยนักเรียนประจักษ์ในความก้าวหน้าของการเรียนรู้ของตน ทำให้เกิดความสุขความพอใจในการเรียนรู้ เป็นแรงกระตุ้น (catalyst) ให้ดำเนินการเรียนรู้ ต่อเนื่อง 

 ครูสอนด้วยการตั้งเป้าหมายที่ชัดเจน คือเพื่อให้นักเรียนเรียนรู้และหลอมรวมทักษะ และกระบวนการ รวมทั้งทักษะตระหนักในการเรียนรู้ของตน เพื่อนำไปสู่การเป็นคนที่เรียนรู้ได้ด้วยตนเอง (self - directed learner) 

 หลักการสำคัญคือ การเชื่อมโยง (transfer) เป็นทั้งเป้าหมายของการเรียน และเป็นทั้งเครื่องมือของการเรียนรู้ ในภาษาทั่วไปเราพูดกันว่า เป็นทั้งเป้าหมาย (end) และวิธีการ (means) 

 หน้าที่ของครูคือ ทำความเข้าใจกลไกการเชื่อมโยงในกระบวนการเรียนรู้ และเรียนรู้วิธีที่ครูทำหน้าที่จุดประกายให้ศิษย์เรียนรู้เพื่อบรรลุเป้าหมายนี้

 การเรียนรู้ระดับเชื่อมโยง ต้องการการสอนที่มองเห็นชัดเจน (visible teaching) และการเรียนที่มองเห็นชัดเจน (visible learning) ดังแสดงในตารางที่ ๗.๑

ตารางที่ ๗.๑ ความสัมพันธ์ระหว่างการสอนที่มองเห็นชัด กับการเรียนที่มองเห็นชัด 

7-1.jpg
ชนิดของการเชื่อมโยง : ใกล้และไกล 
line3.jpg
 การเชื่อมโยงเกิดขึ้นตลอดการเรียนรู้ระดับผิวและระดับลึก อาจกล่าวได้ว่า การเรียนรู้ทั้งหมดเป็นการเชื่อมโยง ซึ่งหมายความว่า เป็นการเรียนรู้ที่เลยจาก การท่องจำ ไปสู่ความตระหนักรู้ว่าตนกำลังทำอะไร หรือเรียนรู้อะไร การเรียนรู้นั้นมีคุณค่าอย่างไรต่อตน ตนกำลังใช้วิธีเรียนรู้แบบไหน เกิดการเรียนรู้ก้าวหน้าไปแค่ไหนแล้ว จะต้องปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงวิธีการเรียนรู้อย่างไร เพื่อให้ การเรียนรู้ประสบผลดียิ่งขึ้น 

 เพื่อให้ครูเข้าใจและมีวิธีการช่วยสนับสนุนการเรียนรู้ระดับเชื่อมโยง ควรทำ ความเข้าใจการเชื่อมโยงชนิดใกล้ และชนิดไกล 

การเชื่อมโยงชนิดใกล้ หมายถึงเรื่องที่จะเรียนใหม่นั้น แตกต่าง หรือเพิ่มเติม จากความรู้เดิมของเด็กเพียงเล็กน้อย มองเห็นการเชื่อมโยงได้ไม่ยาก ส่วนการเชื่อมโยงชนิดไกลก็ตรงกันข้าม เรื่องที่จะเรียนรู้ใหม่แตกต่างจากความรู้เดิมของเด็กมาก ต้องคิดซับซ้อนจึงจะมองเห็นความคล้ายคลึง เป็นการเรียนแบบก้าวกระโดดไกลมาก 

 เพื่อให้ครูเข้าใจว่าบทเรียนนั้นๆ เป็นการเชื่อมโยงแบบใกล้หรือไกล ครูต้องเข้าใจระดับพัฒนาการของศิษย์ เข้าใจระดับความรู้เดิมของศิษย์ที่ครูโรงเรียนเพลินพัฒนาเรียกว่า met before 

 ในความเป็นจริง ไม่มีเส้นแบ่งระหว่างการเชื่อมโยงแบบใกล้และแบบไกล ระยะห่างระหว่างบทเรียนใหม่กับความรู้เดิมมีความต่อเนื่องจากใกล้มากไปสู่ไกลมาก แต่การที่ครูตระหนักในบทเรียนว่าต้องการการเชื่อมโยงที่ใกล้หรือไกลประมาณใด จะช่วยให้ครูช่วยเอื้อการเรียนรู้ให้แก่ศิษย์ได้อย่างเหมาะสม(๑) 

ระดับของการเชื่อมโยง : ต่ำและสูง 
line3.jpg
 การเชื่อมโยงระดับต่ำ หมายถึงเชื่อมโยงระหว่างความรู้หรือทักษะ การเชื่อมโยงระดับสูง หมายถึงเชื่อมโยงแนวคิดหรือหลักการ (concept) 

 บทบาทของครูแตกต่างกันในการฝึกเชื่อมโยงสองระดับนี้ให้แก่ศิษย์ ในการฝึกเชื่อมโยงระดับต่ำ ครูเข้าไปช่วยโดยตรง แต่ในการฝึกเชื่อมโยงระดับสูง ครูช่วยออกแบบสะพานเชื่อม ให้นักเรียนเดินข้ามสะพานเอง ดังแสดงในตารางที่ ๗.๒

line2.jpg
(๑) ผมใช้ผังความสัมพันธ์เหมือน milestone แล้วฉายซ้ำทุกครั้งที่จบบทเรียนเพื่อย้ำว่าเรายังอยู่ใน track  ที่เพิ่งเรียนจบนี้มันจะไปต่อสถานีไหน  เป้าหมายเพื่ออะไรเพราะการสอนต้นเทอมนั้นผู้เรียนมองไม่ออกว่าจะพาไปไหน เนื่องจากมันเชื่อมไกลเกินไป แถมยังเป็น fundamental ที่ต้องไปช้าๆ อีกด้วย ตอนสอน failure analysis ของวัสดุในวิชา design ผมบอกนักศึกษาว่าเรียนกับผมแล้วจะรู้ว่าที่เรียนปี ๒ มานั้น ไม่พอใช้งาน และที่สำคัญคือท้าทายว่าที่เรียนผ่านมานั้นทำให้เข้าใจผิด พอถึงปลายทางก็ให้ reflect ว่าจริงไหม นักศึกษาเรียนหลายวิชาในแต่ละเทอม มักจะเบลอ ดังนั้นการพยายามทบทวนเป้าหมาย และบอกจุดหมายระยะทางก็เหมือนการเตือนสติให้รอคอยความรู้ที่ใช้ได้ในตอนท้าย

ตารางที่ ๗.๒ วิธีช่วยโดยตรงและวิธีสร้างสะพานเชื่อม ในการสอนเชื่อมโยงระดับต่ำและระดับสูง

7-2.jpg
การเชื่อมโยงในฐานะกลไกการเรียนรู้เกิดขึ้นในทุกช่วงอายุของผู้เรียน และเมื่อผู้เรียนเติบโตพัฒนาขึ้น กลไกนั้นก็ต้องพัฒนารูปแบบตามไปด้วย 

 กระบวนการเชื่อมโยง ช่วยให้การเรียนรู้ระดับผิวพัฒนาสู่การเรียนรู้ระดับลึก หรืออาจกล่าวใหม่ได้ว่า ทำให้เด็กคิดเชิงหลักการเพิ่มขึ้น ไม่ใช่หยุดอยู่แค่ระดับความรู้ หรืออาจกล่าวว่านักเรียนพัฒนาจากเรียนความรู้ (declarative knowledge) สู่การเรียนวิธีใช้ความรู้ (procedural knowledge) สู่การเรียนรู้ว่าในสถานการณ์ใดจะใช้ความรู้ชุดไหน (conditional knowledge) หรือเป็นการพัฒนาการเรียนรู้จากระดับ what สู่ระดับ how และ why นั่นเอง 

กำหนดเงื่อนไขเพื่อเรียนรู้สู่การเชื่อมโยง 
line3.jpg
 การเรียนรู้สู่ความเชื่อมโยงจะเกิดขึ้น เมื่อผู้เรียนมีเป้าหมายของการเรียนรู้และเป้าหมายนั้นมีความหมาย หรือมีคุณค่าต่อตนเอง 

 ดังนั้น หน้าที่ของครูคือ ทำให้การเรียนรู้มีเป้าหมายที่ชัดเจนมองเห็นได้ และ ผู้มองเห็นคือนักเรียน และนักเรียนมองเห็นไปถึงคุณค่าของเป้าหมายนั้นต่อตนเอง หรือต่อชีวิตในอนาคตของตนเอง ครูจึงต้องหมั่นสร้างแรงบันดาลใจต่อการเรียนรู้ผ่านเป้าหมายที่นักเรียนรู้สึกว่ามีคุณค่า และต้องช่วยให้นักเรียนวัดความก้าวหน้าของตนเองได้ ซึ่งจะยิ่งเพิ่มแรงบันดาลใจต่อการเรียน 

 วิธีสร้างความก้าวหน้าที่นักเรียนมองเห็นได้ชัด คือหาปัญหามาให้นักเรียนฝึกแก้  นี่คือที่มาของการเรียนโดยใช้ปัญหาเป็นฐาน (problem-based learning)(๒) 

สอนให้จัดระบบความรู้เชิงหลักการ
line3.jpg
 ความรู้เชิงหลักการเกิดจากการนำความรู้ย่อยๆ มาหลอมรวมเข้าด้วยกัน หรือนำมาสร้างปฏิสัมพันธ์ใหม่ระหว่างส่วนย่อยนั้น เกิดเป็นความรู้ใหม่ที่มีคุณค่าลึกซึ้งกว่าเดิม หรือเกิดการให้ความหมายใหม่ กระบวนการนี้นักเรียนต้องทำเอง หรือ ฝึกเอง ครูทำแทนไม่ได้ แต่ทำหน้าที่เป็นครูฝึกได้ และที่สำคัญนักเรียนช่วยฝึก ให้แก่กันและกันได้ หน้าที่ของครูคือ สร้างบรรยากาศและสภาพแวดล้อมทื่เอื้อต่อการฝึกนี้(๓) 

line2.jpg
(๒) ขอเพิ่มว่าต้องเป็น context - related PBL ถ้าเป็น service learning ที่เน้น reflection ได้ก็ยิ่งดีครับ ได้ทั้งฐานสมอง กาย ใจ ครบหมด

(๓) ในความคิดเห็นของผมข้อนี้สำคัญเพราะเป็น inductive process ที่ครูต้องกระตุ้นให้ไปถึงการคิดสังเคราะห์ ทีนี้การศึกษาไทยชอบพูดแค่คิดวิเคราะห์เท่านั้น ถ้าครูไม่มี metacognition ในกระบวนการเกิดความคิดสังเคราะห์ (ที่ยกระดับจากคิดวิเคราะห์) มันก็ยาก ผมเข้าใจว่าคิดวิเคราะห์เป็น deductive process แต่คิดสังเคราะห์เป็น inductiveในทางวิทยาศาสตร์การคิดสังเคราะห์ไม่ค่อยมีบริบทกำกับเท่าไร เพราะมันเป็น fact of nature แต่การเรียนสังคมศาสตร์ ประวัติศาสตร์ การเกิดความคิดสังเคราะห์ต้องหลอมกับบริบท ดังนั้นการได้หลักการทางประวัติศาสตร์จึงสนุกและท้าทายการพัฒนาความคิดมาก เราต้องปฏิรูปการสอนประวัติศาสตร์ ซึ่งจะได้ทั้ง reading literacy และ metacognition ด้วย


นักเรียนฝึกมองเห็นความเหมือน (Analogy)
 นักเรียนควรได้รับการฝึกมองหาความเหมือน (และความต่าง) ของสิ่งต่างๆ
ฝึกจัดกลุ่มสิ่งของ ฝึกบอกความคล้ายคลึงของสิ่งต่างๆ โดยอาจจัดให้เล่นเกม เช่น
  •   งวงช้างคล้ายอะไร......................
  •   มดกับผีเสื้อเหมือนกันอย่างไร...................... ต่างกันอย่างไร.......................
  •   นกกับผีเสื้อเหมือนกันอย่างไร...................... ต่างกันอย่างไร....................... 
  •   ต้นขนุนกับต้นมะม่วงเหมือนกันอย่างไร............... ต่างกันอย่างไร...............
 โดยเกมนี้เล่นได้ตั้งแต่ชั้นเด็กเล็กไปจนถึงชั้น ม.๖ แต่ต้องเปลี่ยนคำถามให้ซับซ้อนขึ้นตามระดับอายุและพัฒนาการ ผมขอเพิ่มเติมว่านอกจากมองเห็นความเหมือน นักเรียนต้องฝึกมองเห็นความสัมพันธ์ด้วย เพื่อนำไปสู่การจัดกลุ่มสิ่งของ และจัดกลุ่มความรู้ ES ของการจัดระบบ (organizing) ความรู้ต่อผลลัพธ์การเรียนรู้ = ๐.๘๕(๔) 

นักเรียนติวซึ่งกันและกัน(๕) 
 การให้นักเรียนติวซึ่งกันและกันก่อผลดีต่อการเรียนรู้ในระดับ ES = ๐.๕๕ โดยมีหลัก ๓ ประการ คือ
  •   มีการจัดโครงสร้างของการติว
  •   ผู้ติวได้รับการฝึก
  •   ผู้ติวกับผู้รับการติวอายุต่างกัน หรือเป็นการติวแบบพี่สอนน้อง 
line2.jpg
(๔) อ่านแล้วทำให้นึกถึงที่ผมเคยใช้คือคำถามเกี่ยวกับแมลงเต่าทอง 
           ๑. ทำไมต้องมีแมลงเต่าทอง
            ๒. จะเป็นอย่างไร ถ้าไม่มีแมลงเต่าทอง
           ๓. ให้บอกข้อเสีย ๒ ข้อของแมลงเต่าทอง
           ๔. ให้บอก ๓ อย่างที่แมลงเต่าทองและจักรยานเหมือนกัน
           ๕. ผึ้งกับแมลงเต่าทองท่านจะเลือกสิ่งใด เพราะอะไร
           ๖. ถ้าเอาแมลงเต่าทองมาเป็นของใช้ในบ้าน ท่านจะเอามาทำอะไร
           ๗. ขาวตรงข้ามกับดำ สัตว์ที่อยู่ตรงข้ามกับแมลงเต่าทองคืออะไร  เหตุผลคืออะไร
           ๘. ให้ตั้งคำถาม ๓ ข้อ ที่ไม่สามารถตอบเป็นอย่างอื่นได้เลยนอกจากแมลงเต่าทอง
           ๙. ท่านคิดว่าแมลงเต่าทองควรปรับปรุงหน้าตาอย่างไร วาดลงกระดาษ

(๕) Learning Pyramid ล่างสุดที่ความรู้เหลือค้าง ๙๐% ในการติวผู้อื่นคนติวต้องวิเคราะห์ความเข้าใจผิด  ความไม่รู้ของผู้รับการติว จากนั้นหาขั้นตอนอธิบายให้เพื่อนเข้าใจ เมื่อมีประสบการณ์ติวเพื่อนหลายคน ผู้ติวจะเริ่มเรียนรู้ learning style ที่หลากหลาย การได้ฝึกอธิบายหลายวิธี (ตาม learning style) ซึ่ง ทำให้ผู้ติวได้ทบทวนทั้งสาระและหลักการในเรื่องนั้นๆ


แต่การติวระหว่างเพื่อนที่เรียนชั้นเดียวกันก็มีประโยชน์ และไม่จำเป็นว่าผู้ติว ต้องเป็นนักเรียนที่เรียนเก่งกว่าผู้รับการติวเสมอไป หากยึดตามหลัก Learning Pyramid แล้ว ผู้ติวจะเกิดการเรียนรู้มาก

ผู้เขียนแนะนำเทคนิค PALS (Peer-Assisted Learning Strategies) อ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://k12teacherstaffdevelopement.com/tlb/the-peer-assisted-learning- strategy-in-the-classroom/ ที่สามารถดัดแปลงใช้ได้หลากหลายรูปแบบและใช้ได้ในหลากหลายวิชา หลักการคือให้นักเรียนที่ผลการเรียนต่างกันมากจับคู่กัน ผลัดกันเป็นโค้ชกับผู้เรียน โค้ชทำหน้าที่ตั้งคำถาม ประเมิน และให้คำแนะนำป้อนกลับ 

 หนังสือเล่าวิธีการของครูชั้น ป.๕ สอนวิชาภาษาอังกฤษว่า ครูจัดให้นักเรียนจับคู่ทำกิจกรรม PALS โดยให้คนทำหน้าที่เป็นผู้รับการติวอ่านหนังสือหนึ่งย่อหน้า อ่านดังๆ แล้วกล่าวสรุปความบอกประเด็นสำคัญ และทำนายว่าตอนต่อไปจะเป็นอย่างไร ติวเตอร์ใช้คู่มือติวเตอร์เตือนใจให้ทำหน้าที่ต่อไปนี้
  •   ชี้ให้เห็นจุดที่อ่านผิด หรือเว้นจังหวะผิดและบอกให้อ่านใหม่
  •   ช่วยบอกใบ้คำหรือหลักการเพื่อให้ผู้รับการติวตอบคำถามได้
  •   คอยเตือนผู้รับการติวให้พูดสั้นลง หากเพื่อนบอกประเด็นสำคัญยาวกว่า  ๑๐ คำ
  •   คอยเตือนให้ผู้รับการติวทำนายว่าเรื่องตอนต่อไปจะเป็นอย่างไร
  •   เขียนถ้อยคำของผู้รับการติว เอาไว้อภิปรายกัน 

จะเห็นว่า การติวจะช่วยให้เกิดการเรียนรู้ระดับเชื่อมโยง ต้องไม่ใช่การติวแบบบอกความรู้เป็นชิ้นๆ แต่เป็นการช่วยให้ผู้รับการติวคิดซับซ้อนขึ้น และได้ฝึกเชื่อมโยงความรู้ การติวในหนังสือเล่มนี้จึงต่างจากการติวที่ใช้กันในระบบการศึกษาไทยโดยสิ้นเชิง(๖)

line2.jpg
(๖) สืบเนื่องจากเชิงอรรถก่อนหน้านี้ ผมให้จับคู่ คนที่ทำข้อสอบถูกจับคู่กับคนที่ทำผิด ให้คนทำถูกวิเคราะห์ข้อสอบที่ทำผิดว่าทำไมจึงผิด หาให้พบว่าเกิดจากเพื่อนเข้าใจอะไรผิด จากนั้นให้ติวเพื่อน เชื่อว่าอย่างนี้คนติวได้มากขึ้นมากมายเพราะเข้าใจการเรียนรู้ที่บกพร่องของเพื่อนซึ่งครูก็ควรมีทักษะนี้ 

อ่านเอกสารหลายฉบับ
 เมื่อนักเรียนอ่านเอกสารฉบับหนึ่ง แล้วเกิดคำถามเรื่องความน่าเชื่อถือและความครบถ้วนของเรื่องนั้น รวมทั้งมีข้อสงสัยว่าบางประเด็นที่เขียนจะผิด นักเรียนจึงค้นคว้าหาหนังสือหรือเอกสารอื่นมาอ่านเปรียบเทียบ เพื่อให้ได้สาระที่ถูกต้องครบถ้วน นักเรียนคนนี้กำลังฝึกเชื่อมโยงความรู้ และฝึกคิดเชิงหลักการ (conceptual thinking)(๗) 

 ในกระบวนการนี้นักเรียนจะตั้งคำถาม ตั้งข้อสงสัย ค้นคว้าเพิ่มเติม และหาข้อยุติ 

สอนแก้ปัญหา (PBL – Problem - Based Learning)
 PBL ที่ใช้เร็วเกินไป ไร้ประโยชน์ ES = ๐.๑๕ เพราะใช้ในช่วงที่นักเรียนยังมีพื้นความรู้แค่ระดับรู้ (declarative knowledge) และนำไปใช้เป็น (procedural knowledge) ไม่แน่นพอ 

 PBL ที่ได้ผลดี ผู้เรียนต้องเข้าสู่การเรียนรู้ระดับลึกไปขั้นหนึ่งแล้ว ซึ่งจะให้ES = ๐.๖๑ 

 หนังสือเล่าเรื่องครูชั้น ม.๒ ที่เรียนรู้เรื่องการใช้สัตว์ทดลองในการวิจัย และในขณะเดียวกันก็เรียนรู้เรื่องขบวนการต่อต้านการทารุณสัตว์ซึ่งให้ข้อมูลหลักฐานขัดแย้งกัน ครูจึงจัดเตรียมให้นักเรียนจัดทีมโต้วาที โดยใช้หลักการของ Middle School Public Debate Program (อ่านเพิ่มเติมได้ที่ https:hspdp.files.wordpress.com/2017/07/mspdp-teacher-guide.pdf) โดยตั้งชื่อเรื่องว่า “การวิจัยด้วยสัตว์ทดลองมีความจำเป็นต้องคงไว้ ภายใต้การดำเนินการตามกฎหมายและตามหลัก

line2.jpg
(๗) นี่คือ literature review ตอนนี้งานวิจัยของวงการการศึกษาไม่ได้ทำอย่างนี้ เขา review ทีละ paper เขียน ๑ ย่อหน้า แล้วขยับไป paper ที่สอง เขียนย่อหน้า ๒ จะเห็นว่างานวิจัยทางศึกษาศาสตร์ review หนามาก แต่ไม่ได้เอามาเชื่อมโยงในงานตนเอง ผมเรียกว่า review เพื่อบอกว่า “อ่านอะไรมา” ไม่ได้หลอมรวมความรู้ที่อ่านมาจนสามารถบอกว่า “จากที่อ่านทั้งหมดนี้ ฉันรู้แล้วว่าคนอื่นรู้อะไร คนอื่นควรรู้ อะไร ฉะนั้นฉันจะทำอะไร เพราะอะไร” พวก proposal งานวิจัยทางการศึกษาเป็นอย่างนี้หมดครับ มันจึงส่งผลต่อการสอนโครงงาน ที่พบว่านักเรียนนึกจะทำอะไร อย่างไรก็ทำเลย โดยไม่มีที่มาที่ไป

จริยธรรม” นักเรียนที่เป็นทีมโต้วาทีต้องอ่านเอกสารมาก และเชื่อมโยงความรู้ ในเอกสารเหล่านั้น นำมาเป็นประเด็นเสนอและโต้แย้ง ผู้ฟังก็ได้รับความรู้ที่มองจากหลายมุม(๘)

สอนให้นักเรียนเปลี่ยน (transform) ความรู้เชิงหลักการ
line3.jpg
 ในกระบวนการเชื่อมโยงหลอมรวมความรู้เชิงหลักการ (ส่วนหนึ่งผ่านการนำไปใช้ และใคร่ครวญสะท้อนคิด) จะเกิดความรู้ใหม่ขึ้น กระบวนการจัดระบบความรู้จึงเคลื่อนเข้าสู่การยกระดับความรู้ นักเรียนจะค่อยๆ เปลี่ยนแปลงตนเองไปเป็น“ผู้สอนตนเอง” หรือ “ผู้กำกับการเรียนรู้ของตนเอง” (self - directed learner)โดยมีเครื่องมือช่วยต่อไปนี้ 

สัมมนาแนวโสกราตีส 
 ต้องอย่าสับสนว่าการสัมมนาแนวโสกราตีส (Socratic Seminar) อ่านเพิ่มเติมได้ที่ http://www.readwritethink.org/professional-development/strategy-guides/socratic-seminars-30600.html เป็นสิ่งเดียวกันกับ Socratic Method หรือ Socratic Discussion สองวิธีการนี้มีเป้าหมายต่างกัน Socratic Seminar มีเป้าหมายเพื่อให้ผู้เข้าร่วมทำความเข้าใจความจริงในเรื่องนั้นๆ ในขณะที่ Socratic Discussion ต้องการตะล่อมให้สมาชิกเชื่อความจริงชุดหนึ่ง คำถามที่ใช้ใน Socratic Seminar จึงเป็นคำถามปลายเปิด ในขณะที่ Socratic Discussion ใช้คำถามปลายปิด 

 สัมมนาแนวโสกราตีส มีเป้าหมายช่วยการอ่านหนังสือหรือเอกสารให้ได้ประเด็นลึกขึ้น โดยนักเรียนทุกคนต้องอ่านหนังสือตอนที่ตกลงกันมาจากบ้าน หรืออ่านก่อนตั้งวง ในการตั้งวงมีคนหนึ่งทำหน้าที่ดำเนินรายการ ในช่วงแรกๆ ที่นักเรียนยังไม่คุ้นเคยวิธีการนี้ ครูทำหน้าที่ดำเนินรายการ ต่อไปเมื่อนักเรียนคุ้นแล้ว นักเรียนผลัดกันดำเนินรายการ ครูกลายเป็นสมาชิกคนหนึ่งของวง
line2.jpg
(๘) เป็นวิธีการที่ดีครับ แต่ที่ผมเห็นมาในโรงเรียนการโต้วาทีเน้นคารม สนุก เสียดสี เยาะเย้ย หากจะให้เหตุผลก็จะเป็นแค่ความคิดเห็น หรือแถ (นักการเมืองในโทรทัศน์แถมาก) ไร้ข้อมูลที่ solid ใช้ตรรกผิดต้องเปลี่ยน mindset กิจกรรมนี้ รวมทั้งควรสร้างชุมนุมโต้วาทีขึ้นในโรงเรียนด้วย paradigm ใหม่ให้ทำตามหนังสือนี้ เด็กก็จะอ่านแบบ critical มากขึ้น

ผู้ดำเนินรายการคิดคำถามปลายเปิดขึ้นมาชุดหนึ่ง โดยอาจขอคำถามจาก เพื่อนสมาชิกด้วยก็ได้ แล้วนำคำถามมาให้วงสัมมนาออกความเห็น โดยเน้นให้หลักฐานประกอบความเห็นด้วย วงนี้ใช้เวลาราวๆ ๓๐ นาที หลังจากนั้นครูอาจให้นักเรียนไปทำการบ้านเขียนข้อสรุป ความยาว ๒๐๐ คำ โดยใช้เวลา ๑๕ นาทีนำมาส่งครูในวันรุ่งขึ้น 

เขียนขยายความ
 การเขียนเป็นการสร้างความรู้ ซึ่งก็คือกระบวนการเชื่อมโยงความรู้ (transfer) ผู้เขียนได้ฝึกทำความชัดเจนในเป้าหมาย และเกณฑ์ความสำเร็จ ซึ่งเชื่อมโยงกับผู้อ่าน เป้าหมายของการเขียน และรูปแบบการเขียน รวมทั้งเป็นกลไกให้ความคิด และกระบวนการคิด แสดงออกมาอย่างเห็นได้ชัด (visible)(๙) 

 การเขียนให้ ES = ๐.๔๔ 

ค้นคว้าและผลิต
 การเชื่อมโยงความรู้เห็นชัดจากผลผลิตชิ้นงาน ที่มีการค้นคว้าข้อมูลหลักฐานประกอบ ซึ่งหมายความว่านักเรียนต้องสวมวิญญาณ “ผู้กระทำ” (agent) ไม่ใช่ผู้รอรับการกระทำ ครูต้องสวมวิญญาณผู้สนับสนุนให้นักเรียนเป็น “ผู้กระทำ”ด้วยคำถามที่สะท้อนท่าทีดังกล่าว “นักเรียนจะใช้ความรู้นี้อย่างไร” “นักเรียนจะเอาความรู้นี้ไปใช้ทำอะไร” เท่ากับครูทำหน้าที่สร้างบรรยากาศในชั้นเรียนที่คาดหวังการเชื่อมโยงความรู้ ให้คุณค่าต่อการเชื่อมโยงความรู้ด้วยคำพูดตามปกติของครู 

 นี่คือคุณค่าสูงส่งที่ครูทำให้แก่ศิษย์โดยไม่มีข้อยุ่งยากใดๆ เลย ฝึกเพียงไม่นานก็ชิน โดยครูต้องเข้าใจคุณค่าของบรรยากาศนี้ และนี่แหละคือความหมายของหน้าที่ครูในการสร้างสภาพแวดล้อมและบรรยากาศของการเรียนรู้ ... ที่มุ่งการเรียนรู้ระดับเชื่อมโยง (transfer) เป็นเป้าหมายปลายทาง 

line2.jpg
(๙) ผมสนใจคำว่า “ซึ่งเชื่อมโยงกับผู้อ่าน” ครับ เพราะนี่เป็นทักษะภาษาเพื่อการสื่อสาร มันขยายทักษะไปที่การพูด การต่อรอง การชักจูงหว่านล้อม ได้ด้วย เป็นทักษะการทำงานร่วมกันในสังคม

ในการนี้ หน้าที่หลักของครูคือตั้งคำถาม มีผู้เสนอ ๑๒ คำถามชั้นยอด สำหรับครูใช้คุยกับศิษย์ ได้แก่
  ๑. เราจะทำให้ดีกว่านี้ได้อย่างไร เราจะช่วยให้เพื่อนดีกว่านี้ได้อย่างไร
  ๒. เรารู้เรื่องนี้ได้อย่างไร
  ๓. นี่คือสิ่งที่เราต้องการมากที่สุดแล้วหรือ
  ๔. เราต้องการบรรลุผลอะไร อะไรบ้างที่เป็นอุปสรรค
  ๕. เรื่องอะไรที่เราภูมิใจที่สุด
  ๖. อะไรบ้างที่เป็นไปได้
  ๗. เราจะเริ่มเมื่อไร
  ๘. เราจะป้องกันความล้มเหลวได้อย่างไร
  ๙. เราจะทำให้บรรลุสิ่งนี้ได้อย่างไร
  ๑๐. เราเสียใจที่สุดในเรื่องอะไร
  ๑๑. เราจะใช้...ให้เกิดประโยชน์ที่สุดได้อย่างไร
  ๑๒. จะเกิดอะไรขึ้นถ้าเรา.... (ฝันใหญ่) 

 ครูไทยสามารถดัดแปลงหรือคิดคำถามใหม่ที่เหมาะสมต่อบริบทของนักเรียนได้ โดยเน้นคำถามที่มองนักเรียนเป็นผู้กระทำ (agent) งดเว้นคำถามที่ชักจูงให้นักเรียนหวังเป็นผู้รอรับ(๑๐) 

 กิจกรรมค้นคว้าและผลิตอย่างหนึ่งคือ project - based learning (อ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://www.pblworks.org/what-is-pbl) โดยนอกจากจะช่วยให้นักเรียนได้เรียนรู้อย่างมีเป้าหมายสู่การเรียนรู้ระดับเชื่อมโยงแล้ว นักเรียนยังได้ฝึกการทำงาน เป็นทีม และทักษะอื่นๆ แห่งศตวรรษที่ ๒๑ และที่สำคัญได้ฝึกกระบวนทัศน์การเป็นผู้กระทำ ในการตั้งโจทย์ project - based learning ครูต้องมีทักษะชวนศิษย์คิดเชื่อมโยงจากประเด็น (topic) สู่ปัญหา (problem) เพื่อให้คิดโฟกัสขึ้น(๑๑) 

line2.jpg
(๑๐) สุดยอด ๑๒ คำถาม ผมต้องยืมไปใช้ครับ บางข้อเหมาะตอนเริ่ม บางข้อเหมาะกับ reflectionบางข้อคือ PLC

(๑๑) ผมเห็นว่าต้องเปลี่ยนความคิดครูว่า project - based learning ใหญ่กว่าการทำโครงงานที่เป็น“ชิ้นงาน” ครับ community service learning ก็เป็น PBL ได้ โดยไม่ต้องสร้างชิ้นงาน ผมชอบของรุ่งอรุณที่ให้เด็กทำ EIA เป็นการเรียนรู้ครบมิติดี

สรุป
line.jpg
 การเรียนรู้สู่ระดับเชื่อมโยง คือการเรียนรู้สู่การเป็นผู้ลงมือทำ หรือผู้นำการเปลี่ยนแปลง (change agent) นั่นเอง จึงเป็นการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง(transformative learning) ไปในตัว (อ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://goo.gl/V5Wkfu) 

 จะเห็นว่าครูมีโอกาสสร้างคุณูปการต่อศิษย์ได้สูงมาก ผ่านการจัดการเรียนรู้สู่ระดับเชื่อมโยง คือครูทำหน้าที่เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง โดยการชวนนักเรียนตั้งเป้าหมายการเรียนรู้ ที่มีความหมายในมุมมองของเด็ก ทำหน้าที่สังเกตการณ์และจุดประกายแรงบันดาลใจสู่การลงมือทำเพื่อการเรียนรู้ และสังเกตความก้าวหน้าในการเรียนรู้ของศิษย์ แล้วใคร่ครวญสะท้อนคิดเพื่อหาวิธีทำหน้าที่ครูที่ดีมีผลกระทบสูงยิ่งขึ้นต่อผลลัพธ์การเรียนรู้(๑๒) 

line2.jpg
(๑๒) อ่านถึงบทนี้แล้วรู้สึกว่าการผลิตครูและกระบวนการในห้องเรียนต้องปฏิรูปครั้งใหญ่ ครูจะต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญ “การเรียนรู้” ครุศาสตร์ควรเน้น learning science (ไม่ใช่ teaching) ผมเห็นว่าต้องให้ความสำคัญกับครูประถมศึกษาอย่างมาก ปัญหาคือเด็กที่อยู่ในสภาวะความเหลื่อมล้ำสูง โรงเรียนขนาดเล็กที่ขาดครูจะทำกันอย่างไร ถ้าทำไม่ทั่วถึง ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาจะเพิ่มขึ้น
ดาวน์โหลดเอกสาร
Teaching Literacy
Analogy
เรียนรู้ระดับเชื่อมโยง
ทักษะการเรียน
catalyst
self - directed
PBL
Problem - Based Learning
ศาสตราจารย์ นายแพทย์ วิจารณ์ พานิช
นักเขียน
ศาสตราจารย์ นายแพทย์ วิจารณ์ พานิช
รองประธานกรรมการมูลนิธิสยามกัมมาจล นายแพทย์ผู้สนใจประเด็นการศึกษา เจ้าของผลงานหนังสือเกี่ยวกับการจัดการเรียนรู้หลากหลายเล่ม ตั้งแต่ เลี้ยงลูกยิ่งใหญ่, วิถีสร้างการเรียนรู้เพื่อศิษย์ในศตวรรษที่ 21, สนุกกับการเรียนในศตวรรษที่ 21 ฯลฯ
แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน
profile
กรุณา Login ก่อน comment
เนื้อหาทั้งหมด