ปกหน้า resize
ทฤษฎีการศึกษาการศึกษา

หนังสือครูเพื่อศิษย์ สร้างการเรียนรู้สู่ระดับเชื่อมโยง

อ่าน 461 นาที

ผมเขียนหนังสือนี้อย่างสนุกสนานในช่วงก่อนวันหยุดสิ้นปี 2 สัปดาห์ และใช้วันหยุดขึ้นปีใหม่ 2563 รวม 5 วันมุ่งมั่นเขียนให้เสร็จ และทำได้สำเร็จ ตามเป้าหมายที่กำหนด ทำให้ผมมีความสุขมาก ยิ่งเมื่อเขียน “บทส่งท้าย...ฝันใหญ่ เพื่อ transform การศึกษาไทย” ผมยิ่งมีความสุข เพราะเกิดความหวังว่า จะมีมาตรการเปลี่ยนแปลงการศึกษาไทยอย่างได้ผลจริง

เขียนโดยศาสตราจารย์ นายแพทย์ วิจารณ์ พานิช
18 ธันวาคม 2563
บทที่ 3 : ปูพื้นฐานสู่ผลการเรียนระดับสูง
3.jpg
บันทึกนี้ ตีความจากบทที่ 1 Laying the Groundwork for Visible Learning for Literacy  ส่วนหัวข้อย่อย General Literacy Learning Practices ในหนังสือหน้า 21 - 34

     สาระสำคัญของบันทึกนี้ คือ ๓ ปัจจัยหลักสู่การเรียนรู้ ได้แก่ (๑) ความท้าทาย (๒) บรรลุเป้าหมายด้วยตนเอง (๓) มีเป้าหมายการเรียนรู้ โดยมีเกณฑ์บอกความสำเร็จ สามปัจจัยนี้มีผลต่อการเรียนรู้ในเด็กทุกวัย(๑)

ความท้าทาย (Challenge) 
line2.jpg
     เด็กมีธรรมชาติชอบความท้าทาย และยินดีทำงานหนักเพื่อความสำเร็จใน การเรียนซึ่งนำไปสู่ความสำเร็จในชีวิต โดยความท้าทายนั้นต้องพอดี ไม่ง่ายเกินไปจนน่าเบื่อ และไม่ยากเกินไปจนท้อถอย ในประเด็นยากนี้ ผมมีความเห็นต่าง ว่านักเรียนต้องได้รับโจทย์ที่ยากมากเป็นครั้งคราว เพื่อฝึกให้เป็นคนสู้สิ่งยากไม่ท้อถอยง่าย โดยครูต้องคอยหนุน ให้กำลังใจให้ฟันฝ่า (High Expectation, High Support) ประสบการณ์เผชิญความยากลำบากจนจวนเจียนจะถอดใจ แล้วครูเข้าไปหนุนไม่ให้ถอดใจ มีการฟันฝ่า สู้จนสำเร็จ เป็นประสบการณ์ที่มีคุณค่าในชีวิต
line2.jpg
(1) ข้อ 1 และ 2 เกิดจาก growth mindset ในตัวเด็ก ซึ่งเป็นผลจากปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูกับเด็กในบันทึกตอนที่ ๒ การเปลี่ยนแปลงตัวครูตามบทที่ ๒ จึงสำคัญมาก ส่วนข้อ ๓ คือการที่นักเรียนรู้สึกไม่เลื่อนลอย ทำได้สำเร็จ เพื่อครูเริ่มต้นด้วยการโยงบทเรียนเข้ากับบริบทใกล้ตัวนักเรียน

ช่วยฝึกความมุ่งมั่นและมุมานะซึ่งเป็นการพัฒนาอิทธิบาท ๔ ที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า grit (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.gotoknow.orghttps://www.gotoknow.org/posts/613528/posts/613528) เป็นคุณลักษณะ สำหรับชีวิตที่ประสบความสำเร็จสูง(๒)

ครูต้องจัดการความท้าทายเป็น โดยต้องปรับตามบริบทและตามแต่ละสถานการณ์
     
     หน้าที่หลักของครูแห่งศตวรรษที่ ๒๑ คือ ช่วยให้นักเรียนรู้สึกสนุกกับความท้าทายในการเรียน ไม่ใช่ท้อถอย(๓) สาระในหนังสือเล่มนี้ว่าด้วยเรื่องนี้ทั้งสิ้น แต่ในตอนนี้จะว่าด้วยเป้าหมายระดับของการเรียนรู้ 

เป้าหมายระดับของการเรียนรู้ : ผิวๆ ลึก และนำไปใช้ในบริบทอื่นได้ 
     ครูต้องรู้ว่าในขณะนั้นต้องจัดการเรียนรู้ในระดับผิว ลึก หรือนำไปใช้ในต่างบริบทได้ (transfer) ในสัดส่วน หรือส่วนผสมอย่างไร และต้องให้นักเรียนทราบ เป้าหมายนั้น โดย
  • ให้นักเรียนทำความรู้จักชิ้นงาน ก ข ค และทำความเข้าใจว่าชิ้นงานทั้งสามแตกต่างกันอย่างไร 
  • ให้นักเรียนทำความรู้จักตารางให้คะแนนแบบ rubrics
  • ให้นักเรียนได้เห็นผลงาน และคะแนนของนักเรียนรุ่นก่อนที่เรียนวิชาเดียวกันเพื่อให้นักเรียนเข้าใจว่าระดับคุณภาพของผลงานเป็นอย่างไร
  • สร้าง concept map ของวิชาที่จะเรียนร่วมกับนักเรียน เพื่อทำความเข้าใจ
  • ชิ้นส่วนย่อย หรือองค์ประกอบของบทเรียนนั้นๆ
ทั้งหมดนั้นก็เพื่อให้นักเรียนเข้าใจว่าผลงานที่ดีเพียงพอเป็นอย่างไร ความสำเร็จในการเรียนเป็นอย่างไร รู้ได้อย่างไรว่าบรรลุแล้ว 
line2.jpg
(2)อิทธิบาท 4 ข้อสุดท้าย วิมังสาเทียบได้กับ reflection สะท้อนคิดคือเรียน ความยากจนจวนเจียนถอดใจ แล้วครูหนุนดีๆ พร้อมทำวิมังสาเชื่อมโยงตัวเด็กกับโลกภายนอก เด็กจะเกิด transformation ได้ ในโครงการเพาะพันธุ์ปัญญาพบหลาย case ครูต้องเก่งในการปลุกพลังให้เด็กฮึดสู้ ถ้าครูไม่เก่งในกระบวนการปลุกพลังแล้วเด็กล้มเหลวกับโจทย์ยาก เด็กนั้นจะถอดใจ โดยเฉพาะถ้าเป็นเด็กที่เก่งๆ ที่เคยประสบความสำเร็จในการเรียนมาก่อน

(๓)หมายความว่าครูจัดความท้าทายให้เกิด active learning และบริหารความรู้สึกเด็กให้เขารู้สึกว่าเป็นเจ้าของการเรียนรู้นั่นเอง

ปฏิสัมพันธ์ระหว่างนักเรียน
     นักเรียนควรได้รับการส่งเสริมให้เล่นด้วยกัน คุยกัน และทำงานร่วมกัน เพราะปฏิสัมพันธ์ระหว่างนักเรียนก่อให้เกิดการเรียนรู้ ซึ่งธรรมชาติของนักเรียนก็ต้องการมีเพื่อนอยู่แล้ว โรงเรียนควรจัดสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมปฏิสัมพันธ์เชิงบวก 

     ปฏิสัมพันธ์เหล่านี้ส่งเสริมการใช้ภาษา ทั้งด้านการพูด การฟัง อ่าน และเขียน เครื่องมือสำคัญคือการจัดให้มีการเรียน หรือทำงานเป็นทีม มีการร่วมมือกัน (collaboration) และทำตามข้อตกลง (cooperation) ซึ่งเป็นการเรียนที่ซับซ้อน นำไปสู่การเรียนรู้ระดับลึก (deep learning) ครูต้องทำความชัดเจนในเป้าหมายการเรียนรู้ของแต่ละกิจกรรม และวางกติกาในการทำงานร่วมกัน(๔) 

  การที่นักเรียนเรียนแบบร่วมมือกัน นำไปสู่การที่นักเรียนสอนกันเอง (peertutoring) มี ES = ๐.๕๕ การทำงานแบบร่วมมือกัน (cooperative learning) มี ES = ๐.๔๒ 

คำแนะนำป้อนกลับ (feedback) 
     เมื่อให้นักเรียนทำกิจกรรมที่ท้าทาย นักเรียนจะต้องการได้รับคำแนะนำป้อนกลับโดยปริยาย การสร้างนิสัย ตั้งเป้าความมุ่งมั่น ลงมือทำ และแสวงหาคำแนะนำป้อนกลับ สำหรับใช้ปรับปรุงกิจกรรมและเป้าหมายของตน เป็นการสร้างทักษะการเรียนรู้ (learning skills) และสร้างนิสัยความเป็นผู้เรียนรู้ตลอดชีวิต (lifelong learning) 
line2.jpg
(๔) โครงการเพาะพันธุ์ปัญญาเรียนการเรียนรู้จากการกระแทกไหล่กัน กติกาการทำงานร่วมกัน เป็นการสร้างวินัยและความรับผิดชอบ ส่วนหนึ่งเกิดจาก peer preasure ความท้าทายคือจัดกระบวนการให้เรียนเป็นกลุ่ม โดยนักเรียนทำหน้าที่ “ผู้กระทำ” “ผู้สังเกต” จากนั้นครูเป็น coach ให้ผู้กระทำถอดความรู้สึกระหว่างกระทำ ให้ผู้สังเกตเชื่อมโยงสิ่งที่สังเกตเห็นกับความรู้สึกของผู้กระทำ ต้องฝึกครูอีกมาก และคิดว่าน่าจะเหมาะกับประถมปลายถึงมัธยมต้น

     หลักการของการให้คำแนะนำป้อนกลับคือ คำแนะนำป้อนกลับต่อสิ่งที่นักเรียนรู้อยู่แล้วมีคุณค่าน้อย คำแนะนำป้อนกลับที่มีคุณค่าสูงโฟกัสที่สิ่งที่นักเรียนทำ ผิดพลาด โดยการให้คำแนะนำป้อนกลับที่ดีเป็นการคุยกับเด็กแบบสุนทรียสนทนา (dialogue) เพื่อให้เด็กจับหลักการในเรื่องที่ตนทำผิดพลาดได้ ไม่ใช่แค่เพื่อให้เด็กแก้สิ่งที่ทำผิดเป็นทำได้ถูกต้องเท่านั้น(๕)

ปัจจัยที่ทำให้งานเป็นสิ่งท้าทาย
     ครูต้องแยกแยะระหว่าง งานหนักหรือมากหรือยาก (difficulty) กับงานที่ซับซ้อน (complexity) อย่าให้นักเรียนทำงานหนักโดยไม่จำเป็น เช่น ให้การบ้านมากข้อ ในระดับ ความยากและในประเด็นเรียนรู้เดียวกัน ซึ่งจะไม่ท้าทาย หรือทำให้น่าเบื่อ ครูควรจัดให้เด็กได้ทำงานหรือแก้ปัญหาจากง่ายไปยากซึ่งก็คือจากซับซ้อนน้อยไปสู่ซับซ้อนมาก  เด็กก็จะรู้สึกว่าถูกกระตุ้นด้วยความท้าทายที่มีระดับพอดีๆ อยู่ตลอดเวลา 

     งานที่ซับซ้อน หมายถึงงานที่ต้องใช้ความคิดหลายขั้นตอน และต้องใช้ความคิดเชิงนามธรรม กลยุทธสำคัญของครูคือ ต้องจัดบทเรียนให้นักเรียนได้เริ่มทำกิจกรรมที่นักเรียนรู้สึกว่าทั้งง่ายและซับซ้อนน้อย ไปสู่กิจกรรมที่นักเรียนเผชิญความซับซ้อนแต่ทำได้ง่าย แล้วจึงไปสู่ขั้นตอนที่ทั้งยากและซับซ้อนต่อนักเรียน(๖)
line2.jpg
(๕) ตรงนี้สลับกับ KM ที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้จากความสำเร็จ (ใช้ successs storysharing) หัวใจอยู่ที่การ “จับหลักการ” ที่ทำให้ผิดพลาด นอกจากให้เข้าใจหลักการแล้ว ควร feedback ให้เห็นว่า processเชื่อมต่อมาจากหลักการอย่างไร เพื่อเข้าใจแล้วจัด process ใหม่ จะเกิด meta - cognition การเรียนรู้ที่ความผิดพลาดที่มีพลังคือการเรียนรู้ที่ครูตั้งคำถามถอยจากผลไปหาเหตุ จากนั้นวิเคราะห์เหตุที่ควบคุมได้/ ไม่ได้ และ scale นัยยะสำคัญของเหตุ (ที่มีต่อผล) วิธีนี้เด็กจะรู้ทั้งเหตุและ priority ของการแก้ปัญหา เราอาจให้เด็กเรียนรู้บางเรื่องจาก SWOT เทคนิคก่อนซึ่งจัดการเรียนแบบกลุ่มเป็น active learning ได้

(๖) น่าสนใจความคิดนามธรรม เพราะทำให้เกิดการ generalize ความรู้สร้างเป็นหลักการได้ ปัญหาที่ผมพบคือครูขาดทักษะการ generalize ความรู้ ดังนั้นจึงไม่สามารถส่ง-รับ PLC ที่ระดับหลักการได้พอขาดความเข้าใจเงื่อนไขของบริบทก็ยิ่งทำให้สิ่งที่ได้จาก PLC ใช้ไม่ได้เต็มที่ PLC จึงเป็นการ “แลก+รับ”เท่าที่มีอยู่ ยากที่จะหมุนวนยกระดับ ผมวิเคราะห์สาเหตุว่าเกิดจากวัฒนธรรมการสั่งให้ครูทำตามคู่มือ

ผมขอเสนอว่า รายละเอียดของขั้นตอนกิจกรรม ที่สลับระหว่าง ง่าย - ซับซ้อนน้อย ง่าย - ซับซ้อนมาก ยาก(งานมาก) - ซับซ้อนน้อย และยาก - ซับซ้อนมาก ก่อผลดีต่อการเรียนรู้ของนักเรียนแตกต่างกันอย่างไร มีความแตกต่างกันในนักเรียนที่มีคุณลักษณะแตกต่างกัน อย่างไร เป็นประเด็นวิจัยชั้นเรียนที่น่าสนใจมาก โดยอาจทำเป็นวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกได้ 

บรรลุเป้าหมายได้ด้วยตนเอง (self - efficacy) 
line2.jpg
เพื่อบรรลุผลสำเร็จในการเรียน นักเรียนต้องมีความคิด และความเชื่อ ว่าตนเองสามารถบรรลุเป้าหมายของการเรียนรู้ได้ ฟันฝ่าความยากลำบากสู่ความสำเร็จได้ โดยปัจจัยสำคัญที่สุดคือตนเอง โรงเรียนและครูต้องหล่อหลอมปลูกฝังความเชื่อหรืออุดมการณ์นี้ขึ้นในนักเรียน ซึ่งจะเป็นคุณต่อตัวเด็กไปตลอดชีวิต
 
นักเรียนที่มีคุณสมบัตินี้มีลักษณะ
  • มองกิจกรรมหรืองานที่ซับซ้อนเป็นความท้าทายให้เอาชนะ ไม่ใช่คอยหลีกเลี่ยงสิ่งยาก คำสั้นๆ ที่ริเริ่มขึ้นโดยสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ ปยุตฺโต) คือ “สู้สิ่งยาก”
  • มองความล้มเหลวเป็นโอกาสเรียนรู้ โดยที่อาจต้องใช้ความพยายาม การแสวงหาข้อมูล การแสวงหาความช่วยเหลือ เวลา และอื่นๆ เป็นตัวช่วยครูต้องรู้จังหวะและวิธีเข้าไปหนุน
  • ฟื้นความมั่นใจตนเองอย่างรวดเร็ว ภายหลังความล้มเหลว 

นักเรียนจะกล้าสู้สิ่งยาก หากมั่นใจว่ามีคนคอยเตรียมช่วย มีความปลอดภัยทางสังคม ไม่ถูกดูหมิ่นดูแคลนเยาะเย้ย หากล้มเหลว นั่นคือหน้าที่ของครูในการจัดบรรยากาศในโรงเรียน และในชั้นเรียน(๗) 
line2.jpg
(๗) growth mindset ที่เกิดจากการจัดบรรยากาศการเรียน ซึ่งเกิดจากกระบวนการที่ครูเป็น coach ดังนั้น เทคนิค (reflective) coaching จึงสำคัญกับครูยุคนี้

วิธีการที่ครูใช้หล่อหลอมมีดังต่อไปนี้
  • สอนวิชาความรู้ โดยมีตัวอย่างที่ชัดเจนและตรงกับบริบทวิถีชีวิตของนักเรียน
  • เริ่มต้นชั้นเรียนหรือบทเรียนที่มีพลังส่งเสริมความมั่นใจฮึกเหิมให้สู้
  • ให้คำแนะนำป้อนกลับที่เน้นตรงความมานะพยายามของตัวนักเรียน
  • ช่วยให้นักเรียนเข้าใจปัญหาหรือโจทย์ชัดเจน และแนะนำเทคนิคสำหรับแก้ปัญหานั้น
  • แนะนำเทคนิคในการแก้ปัญหา หรือโจทย์ที่นักเรียนตั้งเอง
  • สร้างความน่าเชื่อถือต่อครู โดยแสดงความเอาใจใส่นักเรียนอย่างเท่าเทียมกัน
  • ให้นักเรียนมั่นใจว่าครูพร้อมจะให้ความช่วยเหลือ เพื่อให้นักเรียนบรรลุเป้าหมาย
  • สร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกันในระดับสูงระหว่างครูกับนักเรียน และระหว่างนักเรียนกับนักเรียน
  • ทำตัวเป็นตัวอย่าง ว่าให้คุณค่าต่อความผิดพลาดล้มเหลว เพื่อใช้เป็นโอกาสในการเรียนรู้ 
ครูที่ดี คือครูที่มุ่งมั่นเปลี่ยนตัวตนของนักเรียน ให้มีความมั่นใจว่าตนเองบรรลุผลสำเร็จในการเรียนรู้ได้(๘) 

เป้าหมายการเรียนรู้ (learning intention) ที่มีเกณฑ์บอกความสำเร็จ (success criteria) 
line4.jpg
     ความกระจ่างชัดของครูในเรื่องเป้าหมายการเรียนรู้ และวิธีวัดเป้าหมายนั้น มี ES = ๐.๗๕ ความกระจ่างชัด ต้องถ่ายทอดไปยังนักเรียนด้วย โดยนักเรียน ต้องตอบสามคำถามต่อไปนี้ได้
๑.วันนี้ฉันกำลังจะเรียนอะไร
๒.ทำไมฉันจึงเรียนสิ่งนี้
๓.ฉันจะรู้ได้อย่างไร ว่าฉันเรียนรู้แล้ว

     การมีถ้อยคำระบุเป้าหมายการเรียนรู้ มี ES = ๐.๕๐ เป้าหมายการเรียนรู้ที่ดีเขียนด้วยถ้อยคำที่เข้าใจง่าย เป็นเป้าหมายของวิชาหรือโมดุลการเรียนรู้ ไม่ใช่ของทั้งหลักสูตร และไม่ใช่เป็นการลอกมาตรฐานหลักสูตร การเขียนเป้าหมายการเรียนรู้ บนกระดานหน้าชั้น แล้วให้นักเรียนอ่านออกเสียงดังๆ พร้อมกันจะช่วยได้ 

     จากเป้าหมายการเรียนรู้ของวิชาหรือโมดุล ครูนำมาทอนเป็นเป้าหมายของการเรียนรู้แต่ละวันหรือแต่ละชั่วโมง 
     เป้าหมายการเรียนรู้ นำไปสู่เกณฑ์ของความสำเร็จในการเรียน โดยต้องเป็นเกณฑ์ที่สูงอย่างเหมาะสม ในการทำกิจกรรมการเรียนรู้หนึ่ง อาจช่วยการบรรลุเป้าหมายการเรียนรู้หลายเป้า และในทำนองเดียวกัน เป้าหมายการเรียนรู้หนึ่ง
จะบรรลุได้อาจต้องทำหลายกิจกรรม 

     เป้าหมายและเกณฑ์ความสำเร็จนำไปสู่การให้ข้อมูลสะท้อนกลับ (feedback) โดยครู ซึ่งจะช่วยการบรรลุเป้าหมายการเรียนของนักเรียน

     ครูควรให้นักเรียนร่วมกันกำหนดเป้าหมายการเรียนรู้ รวมทั้งเกณฑ์บอกความสำเร็จในการเรียนรู้นั้น โดยอาจมีกุศโลบายในการดำเนินการได้หลากหลายวิธี เช่น ครูยกร่างโดยจงใจร่างให้ไม่ชัดเจน ให้นักเรียนช่วยกันต่อเติมแก้ไขให้ชัดเจนเข้าใจง่าย เมื่อมองจากมุมของนักเรียน เป้าหมายและเกณฑ์บอกความสำเร็จก็จะชัดเจนแจ่มแจ้งต่อนักเรียน และที่สำคัญยิ่งกว่า คือ นักเรียนเป็นเจ้าของเป้าหมายการเรียนรู้ รวมทั้งนักเรียนประเมินความสำเร็จหรือไม่สำเร็จของตนได้(๙)
line2.jpg
(๙) วิชาที่มีความเป็นนามธรรมมากๆ เช่น คณิตศาสตร์มัธยมยิ่งต้องกำหนดเป้าหมายที่การประยุกต์ใช้ ไม่เช่นนั้น เด็กจะเบื่อมาก และเป็นคำพูดติดปากว่า “เรียนไปก็ไม่ได้ใช้งาน” เกิดเป็น norm ทางความคิด ส่งต่อรุ่นต่อรุ่น

3.png
รูปที่ ๓.๑ ตาราง ๒ x ๒ แสดงความยากง่าย และความซับซ้อน(๑๐)

เครื่องมือช่วยการประเมินอย่างง่ายๆ มี ๒ อย่างคือ
1.ตาราง ๒x๒ ด้านความยากง่าย และความซับซ้อนมากซับซ้อนน้อย(ดูรูปที่ ๓.๑) 
2.Rubrics แสดงประเด็นเป้าหมายการเรียนรู้ และลักษณะของการบรรลุเป้าหมายระดับต่ำไปจนถึงสูง
line2.jpg
(๑๐) ความยากน่าจะอยู่ที่คนมักจะรวม “ยาก” ว่าเป็นสิ่งเดียวกับ “ซับซ้อนมาก” ดังนั้น ๒ แกนนี้ต้องเข้าใจว่าแยกกัน ไม่เช่นนั้นจะไปกองที่ quadrant ๑ และ ๓ กันหมด


     ตาราง ๒ x ๒ บอกความยากง่ายและความซับซ้อนของบทเรียน มีประโยชน์หลายด้าน หากวาดรูปตารางไว้ที่กระดานหน้าชั้น หรือบน flip chart เมื่อจบคาบเรียน  ให้นักเรียนเขียนบอกสภาพการเรียนรู้ของตนลงบนกระดาษหลังเหนียว นำไปแปะที่ ช่องใดช่องหนึ่งที่ตรงกับสภาพของตน จะช่วยให้ครูและนักเรียนรู้ว่าจะเข้าไปช่วยเหลือ นักเรียนคนไหน นำไปสู่การเรียนแบบ peer tutoring collaborative learning และ student - centered teaching 

     เมื่อมีการระบุเกณฑ์ของความสำเร็จอย่างชัดเจนก็จะช่วยให้เห็นความผิดพลาดได้ชัดเจนขึ้นด้วย ครูต้องบอกให้นักเรียนช่วยกันหาข้อผิดพลาดเพื่อนำมาเป็น ขุมทองของการเรียนรู้ คือต้องไม่ให้นักเรียนที่ทำผิดพลาดรู้สึกอับอายหรือเสียหน้า  ให้ถือว่าการทำผิดพลาดเป็นเรื่องธรรมดา เป็นขั้นตอนสู่การเรียนรู้ เมื่อเห็น ข้อผิดพลาดชัดเจน การให้คำแนะนำป้อนกลับของครูก็จะยิ่งมีพลังต่อการเรียนรู้ การให้คำแนะนำป้อนกลับที่ดีมี ES = ๐.๗๕(๑๑) 

     การให้คำแนะนำป้อนกลับที่ดีต้องถูกกาละ จำเพาะต่อนักเรียนแต่ละคน และ ถูกบริบทที่จะช่วยให้ก่อผลดีมากที่สุด คำแนะนำป้อนกลับต้องเหมาะสมในด้าน กาละ ปริมาณ วิธีการ และผู้รับ ดังแสดงในตารางที่ ๓.๑(๑๒)

line2.jpg
(๑๑) การป้อนกลับต้องสาวไปถึงสาเหตุ เช่น ความเข้าใจผิดบางอย่าง และถ้าสาวไปผิดที่เป้าหมาย/ หลักการด้วยจะยิ่งเกิดการเรียนรู้ที่สูงขึ้น เด็กเรียนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงถ้าจับว่าผิดที่ ๓ ห่วง  ๒ เงื่อนไข จะเรียนรู้น้อยกว่าผิดที่ “ไม่สมดุลและยั่งยืน” และถ้ารู้ว่า “สมดุลเป็นเหตุ ยั่งยืนเป็นผล” ก็จะได้เรียนรู้มากขึ้นว่าต้องจัดการเหตุเพื่อให้ได้ผล

(๑๒) สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตโต) ท่านให้ “สมบัติ ๔” คือ ผู้กระทำ การกระทำ กาละ เทศะ ว่าต้องสอดคล้องกันงานจึงสำเร็จ (ถ้าสิ่งใดสิ่งหนึ่งติดขัดจะเปลี่ยนสมบัติ ๔ เป็น วิบัติ ๔) ในกรณีนี้ ครูเป็นผู้กระทำ feedback แต่เมื่อเป็นปฏิสัมพันธ์กับนักเรียน ฝ่ายผู้รับจึงต้องมีสมบัติ ๔ ด้วย การจัดให้เกิดสมบัติ ๔ ทั้ง ๒ ฝ่ายนี้เป็นหน้าที่ครู ผมเชื่อว่ากาละในที่นี้เกี่ยวข้องกับ “อารมณ์ความรู้สึก” ของทั้งครูและเด็กที่ต้องอยู่ในสภาวะที่เอื้อกันเหมือนเครื่องส่ง - รับคลื่นวิทยุ

ตารางที่ ๓.๑ ลักษณะของคำแนะนำป้อนกลับที่ดี 
3-1.png
line2.jpg
(๑๓) โครงการเพาะพันธุ์ปัญญาใช้ “ถามคือสอน” ป้อนกลับแบบ coaching ทำเดี่ยวหรือกลุ่มก็ได้ แต่ทำเป็นกลุ่มสนุกกว่า

     สรุปได้ว่า นักเรียนจะเกิดการเรียนรู้ระดับสูง ต้องไต่ระดับการเรียนรู้จากเรียนผิวเผิน สู่เรียนลึก และเรียนเอาไปใช้ในสถานการณ์อื่นๆ ได้ โดยการเรียนการสอน ต้องมีความท้าทาย ช่วยให้นักเรียนบรรลุเป้าหมายด้วยตนเอง และมีเป้าหมาย การเรียนรู้ โดยมีเกณฑ์บอกความสำเร็จ ปัจจัยพื้นฐานทั้งสามนำไปสู่การเรียน การสอนที่ดีประการอื่นๆ
ดาวน์โหลดเอกสาร
ครูเพื่อศิษย์
มาตรการยกระดับการเรียนรู้
สร้างการเรียนรู้สู่ระดับเชื่อมโยง
หลักฐานเชิงประจักษ์
ศาสตราจารย์ นายแพทย์ วิจารณ์ พานิช
นักเขียน
ศาสตราจารย์ นายแพทย์ วิจารณ์ พานิช
รองประธานกรรมการมูลนิธิสยามกัมมาจล นายแพทย์ผู้สนใจประเด็นการศึกษา เจ้าของผลงานหนังสือเกี่ยวกับการจัดการเรียนรู้หลากหลายเล่ม ตั้งแต่ เลี้ยงลูกยิ่งใหญ่, วิถีสร้างการเรียนรู้เพื่อศิษย์ในศตวรรษที่ 21, สนุกกับการเรียนในศตวรรษที่ 21 ฯลฯ
แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน
profile
กรุณา Login ก่อน comment
เนื้อหาทั้งหมด