ปกหน้า resize
ทฤษฎีการศึกษาการศึกษา

หนังสือครูเพื่อศิษย์ สร้างการเรียนรู้สู่ระดับเชื่อมโยง

อ่าน 461 นาที

ผมเขียนหนังสือนี้อย่างสนุกสนานในช่วงก่อนวันหยุดสิ้นปี 2 สัปดาห์ และใช้วันหยุดขึ้นปีใหม่ 2563 รวม 5 วันมุ่งมั่นเขียนให้เสร็จ และทำได้สำเร็จ ตามเป้าหมายที่กำหนด ทำให้ผมมีความสุขมาก ยิ่งเมื่อเขียน “บทส่งท้าย...ฝันใหญ่ เพื่อ transform การศึกษาไทย” ผมยิ่งมีความสุข เพราะเกิดความหวังว่า จะมีมาตรการเปลี่ยนแปลงการศึกษาไทยอย่างได้ผลจริง

เขียนโดยศาสตราจารย์ นายแพทย์ วิจารณ์ พานิช
18 ธันวาคม 2563
บทที่ 1 บทนำ
01.png
บันทึกชุด ครูเพื่อศิษย์ สอนสู่รู้เชื่อมโยง ตีความ (ไม่ใช่แปล) จากหนังสือ Visible Learning for Literacy, Grades K - 12 : Implementing the Practices That Work Best to Accelerate Student Learning (2016) เขียนโดย Douglas Fisher, Nancy Frey, และ John Hattie ซึ่งเป็นหนังสือที่นำเอาหลักการ Visible Learning ที่พัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่องโดย John Hattie ในช่วงเวลาเกือบ ๔๐ ปี สู่ภาคปฏิบัติ โดยที่ Visible Learning พุ่งเป้าไปที่ผลกระทบ (impact) ที่เกิดขึ้นต่อนักเรียน บันทึกชุดนี้จึงเป็นบันทึกเพื่อสื่อสารต่อ “ครูเพื่อศิษย์” 

สาระในบันทึกชุดนี้ สื่อวิธีการเรียนรู้ที่ประจักษ์ชัดในสองมุม คือมุมนักเรียนที่เรียนอย่างชัดเจนในเป้าหมาย ในความก้าวหน้าของตน ทั้งในการเรียนวิชาและวิธีเรียน และมุมของครู ที่สอนอย่างประจักษ์ในผลที่เกิดขึ้นต่อนักเรียน และโดยใช้การกระตุ้นสายตาของนักเรียนด้วยเป้าหมายการเรียน เพื่อช่วยให้นักเรียนเรียนรู้อย่างมีเป้าหมายอยู่ตลอดเวลา 

 หนังสือเล่มนี้เดินเรื่องด้วยการ “เรียนหนังสือ” (literacy) คือการพัฒนาด้าน การอ่าน เขียน ฟัง พูด เท่านั้น ไม่ได้แตะวิชาความรู้ด้านอื่นๆ แต่กระบวนการเรียนการสอนตามขั้นตอนไปสู่การเรียนรู้อย่างเชื่อมโยง (transfer) ทำให้หนังสือเล่มนี้เป็นการ “สอนคิด” ทั้งเล่ม นอกจากนั้นยังเกิดการพัฒนาคุณลักษณะ (character) และสมรรถนะ (competency) สำคัญแห่งศตวรรษที่ ๒๑ ไปในตัว

เมื่ออ่านและใคร่ครวญหาคุณค่าของหนังสือเล่มนี้ในบริบทของระบบการศึกษาไทย ผมตีความว่า คุณค่าหลักน่าจะอยู่ที่ชื่อที่ผมตั้งให้ใหม่ คือ “สอนสู่การเรียนรู้ระดับเชื่อมโยง” คือการเรียนรู้ดำเนินจากระดับผิว (surface) สู่ระดับลึก (deep) และระดับตีความนำไปใช้ในสถานการณ์อื่น (transfer) ที่ผมเรียกว่า เรียนรู้ระดับเชื่อมโยง หากหนังสือเล่มนี้สามารถทำหน้าที่ปลุกให้ครูและนักการศึกษาไทย
มีความชัดเจนในเป้าหมายของการเรียนรู้ ว่าต้องนำพานักเรียนทุกคนสู่การเรียนรู้ในระดับ transfer ผมก็จะมีความสุขอย่างยิ่ง(๑) 

เพื่อบรรลุเป้าหมายการเรียนรู้ระดับ transfer ต้องมีการปูพื้นฐานการเรียนรู้อย่างเป็นขั้นเป็นตอน หนังสือเล่มนี้ว่าด้วยเทคนิควิธีการที่เสนอให้ครูใช้ ในการนำพานักเรียนสู่การบรรลุเป้าหมาย ผมตีความจากการอ่านหนังสือเล่มนี้ว่า การเรียนรู้ประกอบด้วยสองกระบวนการที่ดำเนินการไปพร้อมๆ กัน และเสริมส่งซึ่งกันและกัน คือการสั่งสมความรู้ ทักษะ สมรรถนะ และบุคลิกกับการเพิ่มความฉลาด หรือปัญญา (intelligence)(๒)

--------------------------------------------------------------------
๑) เมื่อกล่าวถึง ๓ ระดับทำให้ผมคิดว่าระดับผิวคือ “รู้” ระดับลึก คือ “เข้าใจ” และระดับตีความเอาไปใช้  คือ “ประยุกต์” ซึ่งตรงกับ ๓ ขั้นแรกของการได้ปัญญาตาม cognitive domain ของ Bloom อย่างไรก็ตาม Bloom ยังมีการคิดขั้นสูงอีก ๓ ระดับต่อยอดขึ้นไป คือ คิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ ประเมิน ซึ่งได้จากการทำวิจัย คือได้สร้างความรู้ขึ้นมาเอง (โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา เรียก K1) หรือการศึกษาแบบผู้สร้างความรู้  ซึ่งสามารถจัดให้เกิดได้ในทุกระดับชั้น ถ้าเทียบเป็น ๒ ชั้น คิดวิเคราะห์คือระดับผิว คิดสังเคราะห์คือระดับลึก  และคิดประเมินคือระดับของการนำเอาไปใช้ ดังนั้น “สอนสู่การเรียนรู้เชื่อมโยง” จึงมี ๒ ระดับ คือ เรียนเพื่อเอาความรู้ไปใช้ในชีวิต และวิจัยสร้างความรู้ให้ปัญญาก้าวหน้า

(๒) ซึ่งเป็นการผสมกันระหว่าง learning outcome พิสัยทั้ง ๓ ของ Bloom และ competency (ASK) education quality จะแยก education outcome ออกเป็น ๒ กิ่ง คือ learning กับ performance โดยกิ่ง learning จะอิง Bloom ๓ domain กิ่ง performance จะ competence (ASK) อย่างไรก็ตาม ทั้ง ๒ กิ่งก็จะไปจบที่เดียวกัน คือ feel do think
--------------------------------------------------------------------


กระบวนการแรกเปรียบได้กับการสร้าง “คลังข้อมูล” (database) กระบวนการหลัง เปรียบเสมือนการฝึก operating system ในสมอง ให้มีปัญญา (intelligence) เพิ่มขึ้น ซึ่งจะเกิดขึ้นได้เมื่อมีการนำข้อมูลจากคลังข้อมูลไปใช้ แล้วเก็บข้อมูลเพิ่ม นำมาตกผลึก (reflect) เกิดเป็นปัญญาเพิ่มพูนขึ้นเรื่อยๆ(๓)

ครูจะต้องฝึกทักษะความสามารถให้ “มองเห็น” พัฒนาการทั้งสองด้านนั้น ในตัวศิษย์ รวมทั้งให้มีวิธีการวัดผลกระทบของวิธีการที่ตนใช้ในการจัดการเรียน การสอน ที่เรียกว่า การวัด effect size (ES) เพราะมีหลักฐานมากมายว่า วิธีการที่มีผู้อ้างว่าได้ผลดีนั้น เมื่อตรวจสอบด้วยวิธีการทางสถิติเชิงลึกจากผลงานวิจัยจำนวนมาก (meta-analysis) แล้ว วิธีการนั้นได้ผลน้อยต่อการเรียนรู้ของนักเรียน ไม่คุ้มค่า(๔) 

ในสมัยนี้หนังสือได้พัฒนาขึ้นเป็น “สื่อผสม” (multimedia) ดังตัวอย่างหนังสือ Visible Learning for Literacy, Grades K-12 เล่มนี้ มีวีดิทัศน์ประกอบคำอธิบายในหนังสือเป็นช่วงๆ เข้าถึงได้โดยการสแกนคิวอาร์โค้ดที่ให้ไว้ ซึ่งเมื่อเข้าไปดูจะเข้าใจและได้วิธีปฏิบัติที่ชัดเจนขึ้นมาก 
--------------------------------------------------------------------
(๓) มันคือ intellectual spiral ซึ่งเกิดเมื่อเอาความรู้ออกจากตัว (คลัง) มาแก้ปัญหาในสถานการณ์จริง แล้วเกิดการเรียนรู้จากประสบการณ์ ทำให้สะสมฝังเป็น tacit knowledge เมื่อสะสมมากเข้าจะเกิด
การรู้/ เข้าใจโดยไม่คิด ซึ่งน่าจะเรียก metacognition (อภิปัญญา) หรือหากจะคิดก็จะเป็นการถอดความคิดตนเองจนเข้าใจกระบวนการคิดของตนอย่างละเอียด จากนั้นครูจะสามารถ backward กระบวนการเกิดความคิดของศิษย์แล้วใช้กระบวนการ coaching ได้คล่อง

(๔) จะทำให้ได้ข้อค้นพบสำคัญที่ครูเอามา PLC แต่เราต้องพัฒนาครูให้ “มองเห็น” และตีความ(แบบ KM และทฤษฎีภูเขาน้ำแข็ง) ลึกลงจากปรากฏการณ์ที่เห็นเพื่อให้ PLC เป็นวงจรคล้ายวิจัยหรือ PDCA ไม่ติดอยู่กับ practice เดิมที่ได้ฟังจาก PLC แปลว่าเมื่อดำเนินการทำวง PLC แล้วต้องนำความรู้ที่ได้รับไปสร้างสรรค์ขึ้นใหม่ให้ตรงกับบริบทของตน ซึ่งตามนัยยะนี้จะแปลว่า PLC ด้วยความเข้าใจบริบท ไม่ใช่เนื้อหาปฏิบัติอย่างเดียว
--------------------------------------------------------------------

หลักการหรือแนวทางตามในหนังสือเล่มนี้ เมื่อนำไปใช้จะต้องปรับให้เหมาะสมต่อบริบทสังคมวัฒนธรรมไทย และสภาพในแต่ละท้องถิ่น การใช้ให้ได้ผลดีจึงต้องการทักษะและประสบการณ์ของครู ในการปรับใช้ให้เหมาะสม หนังสือเล่มนี้จึงได้นำเอาประสบการณ์ในการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนรุ่งอรุณ โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา และโรงเรียนเพลินพัฒนา มาประกอบไว้ในแต่ละบท เพื่อให้ผู้อ่านได้รับประสบการณ์จากโรงเรียนที่มีความมุ่งมั่นในการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับหลักการที่หนังสือเล่มนี้กล่าวไว้ และในบทสุดท้าย คือบทที่ ๙ ผมจึงได้เสนอแนะวิธีการจัดการส่งเสริมระดับประเทศ ในการใช้หนังสือเล่มนี้พัฒนาคุณภาพของระบบการศึกษาไทย ให้เด็กไทยเรียนรู้สู่ระดับเชื่อมโยงอย่างเป็นเรื่องธรรมดาๆ ซึ่งจะส่งผลต่อการสอบ PISA 2021 โดยไม่ต้องติว
วิจารณ์ พานิช
๓๑ ธ.ค. ๖๒
ดาวน์โหลดเอกสาร
ครูเพื่อศิษย์
สร้างการเรียนรู้สู่ระดับเชื่อมโยง
ศาสตราจารย์ นายแพทย์ วิจารณ์ พานิช
นักเขียน
ศาสตราจารย์ นายแพทย์ วิจารณ์ พานิช
รองประธานกรรมการมูลนิธิสยามกัมมาจล นายแพทย์ผู้สนใจประเด็นการศึกษา เจ้าของผลงานหนังสือเกี่ยวกับการจัดการเรียนรู้หลากหลายเล่ม ตั้งแต่ เลี้ยงลูกยิ่งใหญ่, วิถีสร้างการเรียนรู้เพื่อศิษย์ในศตวรรษที่ 21, สนุกกับการเรียนในศตวรรษที่ 21 ฯลฯ
แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน
profile
กรุณา Login ก่อน comment
เนื้อหาทั้งหมด