ปกหน้า resize
ทฤษฎีการศึกษาการศึกษา

หนังสือครูเพื่อศิษย์ สร้างการเรียนรู้สู่ระดับเชื่อมโยง

อ่าน 461 นาที

ผมเขียนหนังสือนี้อย่างสนุกสนานในช่วงก่อนวันหยุดสิ้นปี 2 สัปดาห์ และใช้วันหยุดขึ้นปีใหม่ 2563 รวม 5 วันมุ่งมั่นเขียนให้เสร็จ และทำได้สำเร็จ ตามเป้าหมายที่กำหนด ทำให้ผมมีความสุขมาก ยิ่งเมื่อเขียน “บทส่งท้าย...ฝันใหญ่ เพื่อ transform การศึกษาไทย” ผมยิ่งมีความสุข เพราะเกิดความหวังว่า จะมีมาตรการเปลี่ยนแปลงการศึกษาไทยอย่างได้ผลจริง

เขียนโดยศาสตราจารย์ นายแพทย์ วิจารณ์ พานิช
18 ธันวาคม 2563
บทที่ 2 หลักการของการเรียนอย่างประจักษ์ชัด
2.jpg
     บันทึกชุดนี้ สื่อวิธีการเรียนรู้ที่ประจักษ์ชัดในสองมุม คือมุมนักเรียนที่เรียนอย่างชัดเจนในเป้าหมาย ในความก้าวหน้าของตน ทั้งในการเรียนวิชาและวิธีเรียน และมุมของครูที่สอนอย่างประจักษ์ในผลที่เกิดขึ้นต่อนักเรียน และโดยใช้การกระตุ้นสายตาของนักเรียนด้วยเป้าหมายการเรียน เพื่อช่วยให้นักเรียนเรียนรู้อย่างมีเป้าหมายอยู่ตลอดเวลา ครูดีคือครูที่มีทักษะในการออกแบบการเรียนรู้ให้แก่ศิษย์ให้เหมาะต่อเป้าหมายการเรียนรู้ และตัวครูเองเรียนรู้และปรับตัวจากการทำงานของตน จนเกิดการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง

ครูดี
line.jpg
     นักเรียนทุกคนอยากได้ และควรได้ครูดี ซึ่งหมายถึงครูที่ทำให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้อย่างประจักษ์ชัด (visible learning) อันได้แก่ (๑) มีความก้าวหน้าในผลลัพธ์การเรียนรู้ที่วัดได้ (๒) มีความชัดเจนและเห็นคุณค่าต่อเป้าหมายการเรียนรู้ของตน (๓) ตระหนักในวิธีการเรียนของตน (๔) รู้จักปรับปรุงวิธีการเรียน และ (๕) กำกับการเรียนรู้ของตนเองได้ หรืออาจกล่าวว่า เป็นครูของตนเองได้ จะเห็นว่าครูดีคือครูที่มุ่งมั่นทำงานเพื่อการเรียนรู้ของศิษย์ หรือ “ครูเพื่อศิษย์” นั่นเอง(๑)
line2.jpg
(๑) ถ้าข้อ ๑ หมายความว่าผู้เรียนตรวจสอบความก้าวหน้าทั้ง ๔ ข้อ แปลว่าการเรียนรู้เกิดจากการทำให้ ผู้เรียนจัดการตนเองในกระบวนการเรียนรู้เป็น ข้อ ๑ และ ๔ มีความสัมพันธ์กันเอง คืออยู่ร่วมกัน เป็นวงจรพัฒนา อาจกล่าวว่าทั้ง ๔ ข้อทำให้เกิด growth mindset หรือ growth mindset ทำให้เกิด ๔ ข้อ ก็ได้ เป็นสิ่งที่เอื้อการเกิดและพัฒนาต่อกัน

     ครูดีต้องไม่ตกหลุมพรางของความรู้ความเข้าใจผิดๆ ในเรื่องหลักการและวิธีการจัดการเรียนรู้ John Hattie ตีพิมพ์หนังสือ Visible Learning (2009) ชี้ให้เห็นว่า หลายวิธีการที่มีผู้แนะนำให้ใช้นั้น ก่อผลลบต่อการเรียนรู้ของนักเรียน บางวิธีการ ไม่ดีไม่ร้าย และมีวิธีการที่ได้ผลดี และวิธีการที่ให้ผลดีมาก โดยเขาคิดวิธีวัดผล เรียกว่า effect size ดังจะกล่าวถึงต่อไป

เขาเสนอกรอบความคิดของครูดี ๑๐ ประการ ดังนี้
         ๑.ฉันร่วมมือกับครูคนอื่นๆ
         ๒.ฉันใช้สุนทรียเสวนา (dialogue) ไม่ใช่พูดฝ่ายเดียว (monologue) 
         ๓.ฉันสร้างความท้าทาย
         ๔.ฉันเอาใจใส่การเรียน ไม่ใช่การสอน
         ๕.ฉันพูดคุยกับนักเรียนและผู้เกี่ยวข้อง เรื่องหลักการเรียนรู้
         ๖.ฉันมองการเรียนรู้ว่าต้องการการทำงานหนัก (แต่ผมเถียงว่าสามารถทำให้การเรียนรู้เป็นเรื่องสนุกได้) 
         ๗.การประเมินเป็นการให้ข้อมูลป้อนกลับแก่ตัวฉัน ว่าฉันปฏิบัติหน้าที่ครูอย่างไร
         ๘.ฉันเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง
         ๙.ฉันเป็นผู้ประเมินผล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเมิน impact ของการสอนของตน(๒)
         ๑๐.ฉันสร้างปฏิสัมพันธ์เชิงบวก 

     ผมขอเพิ่มเติมกรอบความคิดของครูดีประการที่ ๑๑ ที่หนังสือบอกว่า เลยจาก ๑๐ ประการข้างต้นไปอีกหนึ่งก้าว คือ “ฉันจะสร้างสภาพแวดล้อม หรือเงื่อนไข ให้นักเรียนกลายเป็นครูของตนเอง” หรือกล่าวได้ว่า นักเรียนเกิดทักษะในการ กำกับการเรียนรู้ของตนเองได้ ที่ในภาษาอังกฤษ (ในหนังสือเล่มอื่น) ใช้คำว่า self - regulated learner ทำให้นักเรียนเรียนรู้ได้ดีกว่า และมากกว่าซึ่งการเรียนรู้บางส่วนจะอยู่นอกห้องเรียน 
line2.jpg
(๒) ข้อ ๙ รวมกับข้อ ๗ (ความจริงทั้ง ๑๐ ข้อ) คือวิจัยชั้นเรียนที่ครูวิจัยกระบวนการของตนเองเพื่อปรับ process ของตนให้ได้ outcome ที่ศิษย์ ต่างจากวิจัยชั้นเรียนทั่วไปที่มักจะเห็นว่านักเรียนเป็น subject การวิจัยแล้วพยายามไปแก้ที่นักเรียน น้อยครั้งที่จะเห็นปฏิสัมพันธ์ของครูกับนักเรียนในเป้าหมายเชิงพฤติกรรมครูทั้ง ๑๐ ข้อนี้

     ครูดีคือครูที่เอาใจใส่ศิษย์ทุกคน ตั้งเป้าหมายให้ศิษย์ทุกคนได้บรรลุเป้าหมายขั้นต่ำของการเรียนรู้ตามที่กำหนด และหาวิธีส่งเสริมสนับสนุนให้ศิษย์บรรลุเป้าหมายนั้น โดยมีการเรียนรู้อย่างสนุกสนาน และให้ความสุข ทั้งความสุขที่นักเรียน และที่ตัวครู 

       แต่อย่าเข้าใจผิดว่า ชีวิตการเป็นครูดีจะราบรื่น คนเราไม่ว่าจะประกอบกิจการงานอะไร มีความท้าทาย หรือความยากลำบากเจือปนอยู่เสมอ มากบ้างน้อยบ้าง ครูดีต้องมีทักษะในการพลิกกลับความท้าทายเหล่านั้นให้เป็นเครื่องมือของการเรียนรู้ 

    ครูดีคือครูที่มีทักษะในการออกแบบการเรียนรู้ให้แก่ศิษย์ ให้เหมาะต่อเป้าหมายการเรียนรู้ และตัวครูเองเรียนรู้และปรับตัวจากการทำงานของตน เพื่อ...เรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง (ดาวน์โหลดหนังสือเล่มนี้ได้ที่ https://goo.gl/V5Wkfu) 


คุณค่าของการอ่านออกเขียนได้ (literacy)
line3.jpg
     คำว่า literacy แปลตรงตัวว่า “อ่านออกเขียนได้” แต่มักหมายรวมเอา “คิดเลขเป็น” (numeracy) เข้าไปด้วย และในยุคการเรียนรู้แห่งศตวรรษที่ ๒๑ มีการเพิ่มประเด็นเรียนรู้เข้าไปอีกหลายมิติ เช่น รู้วิทยาศาสตร์ (scientific literacy) รู้เทคโนโลยีการสื่อสารและสารสนเทศ (ICT literacy) รู้เรื่องการเงิน (financial literacy) รู้เรื่องวัฒนธรรมและความเป็นพลเมืองหรือการอยู่ร่วมกัน (cultural and civic literacy) รู้เรื่องสุขภาพ (health literacy) เป็นต้น ทั้งหมดนั้นผมตีความว่า เป็น “พื้นความรู้” ซึ่งหมายความว่า เป็นความรู้สำหรับใช้ช่วยให้เกิดการเรียนรู้ในมิติที่ซับซ้อน หรือลึกและเชื่อมโยงยิ่งขึ้นในโอกาสต่อไป แต่หนังสือเล่มนี้ จับเฉพาะเรื่องพื้นความรู้ด้านอ่านออกเขียนได้เท่านั้น

หนังสือบอกว่า พื้นความรู้นี้มีคุณค่าอย่างน้อย ๕ ประการ 
      1.แก้ความยากจน(๓)
      2.ทำให้ชีวิตดีขึ้น
      3.นำไปสู่อิสรภาพในชีวิต มีทางเลือกในชีวิตมากขึ้น
      4.สอนให้คิดเป็นขั้นเป็นตอน
      5.เป็นพื้นฐานต่อการเรียนขั้นต่อไป 
line2.jpg
(๓) เพราะฉลาดรู้ (literacy) หลายมิติของชีวิตจึงมีภูมิคุ้มกันทางความคิด ทำให้ไม่ตกเป็นเหยื่อเศรษฐกิจของผู้อื่น ซึ่งนำไปสู่การถูกเอาเปรียบทางเศรษฐกิจความเหลื่อมล้ำ และความยากจน กล่าวคือ ภูมิคุ้มกันทางความคิดทำให้ได้ข้อ ๓ ๔ และ ๕ ที่ส่งผลต่อ ๒ และ ๑

หลักฐานเชิงประจักษ์ 
     Meta-Analysis นโยบายหรือมาตรการจัดการเรียนรู้ ในหลายกรณีอ้างอิงหลักฐานเชิงประจักษ์ ที่มาจากผลงานวิจัยชิ้นเดียว ที่บอกว่าวิธีการนั้นได้ผลดีกว่าวิธีอื่นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ แต่ผลการดำเนินการพิสูจน์ในภายหลังว่าไม่ได้ผลตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ สภาพเช่นนี้เกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า ต่อมาจึงมีผู้บอกว่า ต้องอย่าเชื่อผลงานวิจัย ชิ้นเดียว ต้องตรวจสอบกับผลงานวิจัยอื่นๆ ด้วย จึงเกิดวิธีการทางสถิติ นำเอา ผลการวิจัยเรื่องเดียวกันจำนวนมากที่มีการตีพิมพ์และตรวจสอบแล้วว่ากระบวนวิธีวิจัยน่าเชื่อถือ เอามาวิเคราะห์ร่วมกัน เพื่อหา pattern ของผลการวิจัยเหล่านั้นอันจะนำไปสู่การตอบคำถามอย่างแม่นยำ วิธีการนี้เรียกว่า meta - analysis ในผลของ meta - analysis จะพบว่า สามารถ map ผลสำคัญของการวิจัยจำนวนมาก ลงบนแผนผังที่ระบุผลลัพธ์เปรียบเทียบกัน เปรียบเทียบกระบวนวิธีวิจัยจุดแข็ง จุดอ่อน แล้วกันผลงานที่ไม่น่าเชื่อถือออกไป คงไว้เฉพาะส่วนที่น่าเชื่อถือ นำมาสังเคราะห์ผลในภาพรวมออกมา 

         John Hattie ทำงานวิจัยโดยใช้วิธีการรวบรวมผล meta - analysis ต่อมาตรการ (intervention) หลากหลายวิธี เพื่อยกระดับการเรียนรู้ของนักเรียน ในการทำวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอกในปี ค.ศ. 1981 และเสนอให้ใช้ค่า effect size ในการตรวจสอบผลกระทบที่แท้จริงของมาตรการพัฒนานักเรียน 

     John Hattie จึงเป็นเจ้าสำนักเรื่อง effect size ของมาตรการ (intervention) ทางการศึกษา โดยได้รวบรวมรายงาน meta - analysis ของผลงานวิจัยทางการศึกษา เป็นฐานข้อมูลที่ใหญ่มาก คือ ๘๐๐ ผลงาน meta - analysis จากทั่วโลก มีรายงานวิจัย ๕๐,๐๐๐ ชิ้น เกี่ยวข้องกับนักเรียน ๒๕๐ ล้านคน เสนอในหนังสือเล่มแรกในปี ค.ศ. 2009 ฐานข้อมูลนี้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนถึงตอนที่เขียนหนังสือเล่มนี้ (น่าจะราวๆ ปี ค.ศ. 2015) มีถึง ๑,๒๐๐ meta - analysis รายงานวิจัย ๗๐,๐๐๐ ชิ้น นักเรียน ๓๐๐ ล้านคน ทำให้การคำนวณ effect size มีความน่าเชื่อถือสูงมาก 

Effect Size
     effect size เป็นค่าที่ได้จากการเปรียบเทียบ ๒ แบบ คือ (๑) เปรียบเทียบ before - after ในนักเรียนกลุ่มเดียวกัน และ (๒) เปรียบเทียบนักเรียนต่างกลุ่ม แบบ case - control จะเห็นว่า ค่า effect size อาจติดลบได้ หากผลสอบของนักเรียนช่วงก่อนดำเนินมาตรการสูงกว่าผลสอบหลังดำเนินมาตรการ หรือผลสอบของกลุ่ม control สูงกว่ากลุ่ม case ค่า effect size = ๑ หากผลต่างนั้นเท่ากับ
ค่า SD ของคะแนนทั้งสองกลุ่ม Hattie เสนอว่า ค่า effect size ที่สะท้อนว่ามาตรการนั้นให้ผลดีอย่างมีน้ำหนักคือ ๐.๔ ขึ้นไป แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเป้าหมายของระดับการเรียนรู้ด้วย ดังจะกล่าวถึงต่อไป 

     Hattie ชี้ให้เห็นว่า ค่า effect size ที่มากกว่าศูนย์นั้น ไม่ได้หมายความว่ามาตรการที่ใช้ก่อผลดีต่อการเรียนนักเรียนเสมอไป เพราะที่ดีขึ้นนั้น ส่วนหนึ่งมาจาก พัฒนาการของนักเรียนเอง (developmental effect) และอีกส่วนหนึ่งเกิดจากการสอน ตามปกติของครู (teacher effect) แต่หาก effect size มีค่าตั้งแต่ ๐.๔ ขึ้นไป  (ค่า ๐.๔ เรียกว่า hinge point) ก็น่าจะเชื่อได้ว่ามาตรการนั้นก่อผลดีต่อการ
เรียนรู้จริง คือมาตรการนั้นก่อผลดีมากกว่าการเรียนรู้ตามปกติ ๑ ปี และ ค่า effect  size ๑.๐ บอกว่า เกิดการเรียนรู้เท่ากับการเรียนรู้ตามปกติ ๒ - ๓ ปี ดู effect size barometer ในภาพที่ ๑ 

ค่า effect size ของมาตรการทางการศึกษารวม ๑๙๕ มาตรการ ดูได้ที่ https://visible-learning.org/hattie-ranking-backup-195-effects/ และของ ๒๕๒ มาตรการที่ hattie-ranking-influences-effects-sizes-learning-achievement เมื่อเข้าไปดูค่าที่เสนอไว้ จะพบว่าค่าของหลายมาตรการแตกต่างไปจากความคาดหวังของเรา เช่น extracurricular program มี effect size ๐.๒๐ lack of stress มี effect size เพียง ๐.๑๗ เป็นต้น ซึ่งอาจเป็นเพราะผลวิจัยทำในบริบทของต่างประเทศ ที่มีสภาพแวดล้อมต่างจากบ้านเรา การศึกษา Effect Size ของมาตรการที่วงการศึกษาไทยกำหนดเป็นนโยบาย จึงเป็นงานที่ ควรทำในบริบทของเราเองด้วย(๔)

line2.jpg
(๔) จากประสบการณ์ที่รู้กัน เป็น ๒ effect ที่ไม่น่าใช้ได้ในประเทศไทย Extracurricular (ที่ไม่นับโรงเรียนติว) เป็นขั้วตรงข้ามกับการเรียนในห้องเรียน ปัจจุบันการเรียนในห้องเรียนของไทยเป็นเรื่องน่าเบื่อ มี stress มาก น่าจะทำให้ “Before” มีค่าน้อยมาก เมื่อเอา Extracurricular มาใช้ก็จะทำให้ “After” กระโดดขึ้น ค่า ES น่าจะมาก 
น่าสงสัยว่าทั้งสอง effect ที่กล่าวถึงนี้น่าจะมีความสัมพันธ์กันด้วย


บทที่ 2.jpgภาพที่ ๑ effect size barometer ดาวน์โหลดจาก https://blog.tcea.org/tag/effect-size/ เมื่อวันที่ ๑๖ ธันวาคม ๒๕๖๒

ปัจจัยด้านตัวครู ต่อผลลัพธ์การเรียนรู้ของศิษย์ 
     หนังสือเล่มนี้เน้นผลการเรียนด้านการอ่าน เขียน พูด ฟัง สังเกตด้วยตา และคิด  แต่การเรียนรู้เหล่านี้บูรณาการอยู่กับระบบนิเวศน์ของการเรียนรู้ในภาพรวม ซึ่ง ครูต้องเอาใจใส่ประเด็นสำคัญต่อไปนี้ เพื่อผลการเรียนของนักเรียนทั้งในด้านที่หนังสือเล่มนี้เน้น และผลการเรียนด้านอื่นๆ(๕)
  • ความน่าเชื่อถือของครู (ES = ๐.๙๐) นักเรียนสามารถรับรู้ได้ว่าครูคนไหนจะสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับพวกเขาได้ ความน่าเชื่อถือเป็นคุณสมบัติเชิงซ้อน ประกอบด้วย ความเชื่อมั่น (trust) ความสามารถ (competence) 
    ความเป็นพลวัต (dynamism) ความใกล้ชิด (immediacy) และความจริงใจ (sincerity)

  • ปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูกับศิษย์ (ES = ๐.๗๒) ซึ่งต้องการมากกว่าความน่าเชื่อถือของครู และปฏิสัมพันธ์เชิงบวกระหว่างครูกับศิษย์ คือการที่นักเรียนมีความเชื่อมั่น หรือศรัทธา (trust) ต่อครู ประเด็นสำคัญคือ ครูต้องพัฒนาปฏิสัมพันธ์นี้ต่อนักเรียนทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ผลการเรียนของนักเรียนทั้งชั้นจะดีขึ้น หากนักเรียนมีความเชื่อมั่น และศรัทธาครู หนังสือแนะนำให้ดูวีดิทัศน์
    ที่ http://qrs.ly/gm51z59
line2.jpg
(๕) น่าแปลกที่ไม่รวมการเรียนรู้จากการลงมือทำ

ความยากอยู่ที่นักเรียนบางคนที่มีปัญหาทางอารมณ์หรือพฤติกรรม หากครูจัดการไม่เป็นก็จะมีผลทำให้บรรยากาศการเรียนรู้ของทั้งชั้นรวนไปหมด เขาแนะนำหลักการ restorative practices ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.gettingsmart.com
/2017/03/implementing-restorative-practices-in-the-classroom/ ซึ่งผมคิดว่า คือการใช้จิตวิทยาเชิงบวก (positive psychology) นั่นเอง นอกจากนั้นผมขอแนะนำให้ดูวีดิทัศน์ใน YouTube เรื่อง Classroom Management Strategies To Take Control of Noisy Students โดย Rob Plevin ที่มีผู้เข้าไปชมถึง ๒.๖ ล้านครั้ง
  • ความคาดหวังของครู (ES = ๐.๔๓) ซึ่งหมายความว่า ครูต้องมี ความคาดหวังสูงต่อผลลัพธ์การเรียนรู้ของศิษย์ หลักการที่ใช้กันทั่วไปคือ High Expectation, High Support โปรดอ่าน https://www.gotoknow.org/posts/658248 จะเห็นว่าความรู้สึกของนักเรียนว่าครูคาดหวังหรือเห็นแววของตนในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง มีผลกระตุ้นความมุ่งมั่นของนักเรียนเพียงใด(๖) 
ผมขอเพิ่มเติมว่า ความกระตือรือร้น เห็นคุณค่า และสนุกกับเรื่องราวที่ครูสอน จะส่งต่อไปยังศิษย์ และมีผลดีต่อการเรียนรู้ของศิษย์ไปโดยปริยาย(๗) 

line2.jpg
(๖) มีบางกรณีที่น่าเชื่อว่าความคาดหวังสูงของผู้อื่น (ครู ผู้ปกครอง) กลับสร้าง fixed mindset ให้นักเรียนไม่กล้าทำงานที่ยากขึ้นกว่าเดิม (กลัวทำไม่สำเร็จและผู้อื่นที่ตนเคารพจะผิดหวัง) กรณีที่หนังสือนี้ ยกมาคาดว่าจะพิจารณาของทั้งห้อง ไม่ใช่รายคน จึงต้องระมัดระวังการนำไปใช้ว่าความคาดหวังของครูนั้น ได้สร้าง growth mindest หรือไม่

(๗) ขอขยายความว่าคือ active learning ที่ประกอบไปด้วยความตื่นตัวทางกาย (เพื่อเปิดการรับรู้ของประสาทรับข้อมูล) ทางสมอง (ถูกกระตุ้นให้คิดเชื่อมโยงไปสู่สังเคราะห์) ทางใจ (เพื่อจิตพิสัยหรือเป้าหมาย transformation)

การเรียนรู้ต้องไปให้ถึง รู้เชื่อมโยง 
     หนังสือบอกว่า การเรียนรู้มี ๓ ระดับ คือ (๑) ระดับผิว (surface learning) (๒) ระดับลึก (deep learning) และ (๓) ระดับที่นำไปใช้ในสถานการณ์อื่นๆ ได้ (transfer) ที่ผมเสนอคำว่า รู้เชื่อมโยง โดยที่ครูต้องออกแบบการเรียน ให้เริ่มจากง่ายไปยาก หรือจากเป้าหมายรู้ผิวๆ ไปสู่รู้ลึกและในที่สุดรู้เชื่อมโยง ซึ่งหมายความว่า การเรียนต้องไต่ระดับอย่างเป็นขั้นเป็นตอน(๘) 

     ในที่สุดต้องให้นักเรียนได้ไต่ระดับขึ้นไปถึงรู้เชื่อมโยง และการสอบไล่ควรสอบความรู้ความเข้าใจในระดับรู้เชื่อมโยง ซึ่งเป็นการเตรียมนักเรียนให้พร้อมต่อการนำความรู้ไปใช้ในชีวิตจริง ย้ำว่า การเรียน literacy ก็ต้องบรรลุในระดับรู้เชื่อมโยง(๙)

     น่าเสียดายที่การสอบระดับชาติของเรา ข้อสอบส่วนใหญ่สอบเพียงความรู้ระดับผิว(๑๐)

line2.jpg
(๘) ทั้ง ๓ ระดับเทียบกับ รู้เข้าใจ เอาไปใช้ ของ Bloom’s cognitive domain ผมใช้การเดินขึ้นตึกมาอธิบายว่า ทั้ง ๓ ขั้นมันต่อเนื่องกัน เราไม่สามารถขึ้นถึงตึกชั้น ๓ ได้โดยไม่ผ่านชั้น ๒ หมายความว่าการเอาความรู้ ไปใช้ (ระดับ ๓) ต้องมีความเข้าใจในความรู้นั้น (ระดับลึก หรือระดับ “เข้าใจ” ของ Bloom) การสอนและประเมิน ต้องวัดที่เข้าใจให้ได้ก่อน จึงจะไปสอบ PISA ที่เป็นระดับเชื่อมโยงได้

(๙) คือการทำโจทย์ PISA ครูจึงต้องมีความสามารถออกข้อสอบประยุกต์ความรู้ได้ ซึ่งหมายความว่า ครูต้องเห็นการประยุกต์ความรู้ได้ด้วยตนเองก่อน

(๑๐) แล้วติว PISA เพื่อหาทางโชว์ชาวโลกว่าเด็กเรารู้ระดับ ๓  ซึ่งเป็นตรรกะที่ผิดอย่างมาก จึงไม่เคย สำเร็จ
ดาวน์โหลดเอกสาร
หลักการของการเรียนอย่างประจักษ์ชัด
การเรียนอย่างประจักษ์
หลักฐานเชิงประจักษ์
ยกระดับผลสัมฤทธิ์
เป้าหมายของผู้เรียน
ครูดี
มาตรการยกระดับการเรียนรู้
ศาสตราจารย์ นายแพทย์ วิจารณ์ พานิช
นักเขียน
ศาสตราจารย์ นายแพทย์ วิจารณ์ พานิช
รองประธานกรรมการมูลนิธิสยามกัมมาจล นายแพทย์ผู้สนใจประเด็นการศึกษา เจ้าของผลงานหนังสือเกี่ยวกับการจัดการเรียนรู้หลากหลายเล่ม ตั้งแต่ เลี้ยงลูกยิ่งใหญ่, วิถีสร้างการเรียนรู้เพื่อศิษย์ในศตวรรษที่ 21, สนุกกับการเรียนในศตวรรษที่ 21 ฯลฯ
แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน
profile
กรุณา Login ก่อน comment
เนื้อหาทั้งหมด