ปกหน้า resize
ทฤษฎีการศึกษาการศึกษา

หนังสือครูเพื่อศิษย์ สร้างการเรียนรู้สู่ระดับเชื่อมโยง

อ่าน 461 นาที

ผมเขียนหนังสือนี้อย่างสนุกสนานในช่วงก่อนวันหยุดสิ้นปี 2 สัปดาห์ และใช้วันหยุดขึ้นปีใหม่ 2563 รวม 5 วันมุ่งมั่นเขียนให้เสร็จ และทำได้สำเร็จ ตามเป้าหมายที่กำหนด ทำให้ผมมีความสุขมาก ยิ่งเมื่อเขียน “บทส่งท้าย...ฝันใหญ่ เพื่อ transform การศึกษาไทย” ผมยิ่งมีความสุข เพราะเกิดความหวังว่า จะมีมาตรการเปลี่ยนแปลงการศึกษาไทยอย่างได้ผลจริง

เขียนโดยศาสตราจารย์ นายแพทย์ วิจารณ์ พานิช
18 ธันวาคม 2563
บทที่ 5 : เรียนรู้ระดับผิว (ตอนที่ ๒)
5.jpg
 บันทึกนี้ ตีความจากบทที่ 2 Surface Literacy Learning ในหนังสือหน้า 49 - 70

สอนคำ (vocabulary instruction) 
line6.jpg
     เมื่ออ่านสาระในตอนนี้แล้ว ผมคิดว่าครูภาษาต้องไม่ใช่แค่สอนไปตามที่หลักสูตรกำหนด ต้องมีหลักคิดที่ช่วยกำหนดพฤติกรรมการสอนของครู เพื่อช่วยให้นักเรียนได้มีพื้นฐานทางภาษาที่มั่นคงแข็งแรง ซึ่งจะเป็นคุณต่อชีวิตในภายหน้าอย่างมาก ผมเกิดความรู้สึกว่า ครูในชั้นเด็กเล็กและชั้นประถม มีความสำคัญมากต่อการสร้างพื้นฐานนี้ สำคัญในลักษณะทำให้เด็กมีฐานมั่นคง หรือฐานอ่อนแอ ไปตลอดชีวิต(๑) 

     ในตอนนี้ว่าด้วยการสอนคลังคำเพื่อเป้าหมายการเรียนรู้ระดับผิว ซึ่งไม่ใช่ เป้าหมายสุดท้ายของการเรียนรู้คำ ในบันทึกตอนต่อๆ ไป จะกล่าวถึงการสอน คลังคำเพื่อการเรียนรู้ระดับลึก และระดับเชื่อมโยง โดยครูต้องตระหนักอยู่ ตลอดเวลาว่า ตนต้องสอนให้นักเรียนได้บรรลุการเรียนรู้ระดับเชื่อมโยง (transfer) 

line2.jpg
(๑) ผมมีโอกาสอ่านหลักสูตรการผลิตครูประถมศึกษา มีความรู้สึกว่าขาดการทำให้ครูประถมเข้าใจกระบวนการ learning ของเด็กเล็ก เนื้อหาที่สอนเน้นไปทาง teaching สาระต่างๆ แทบไม่ปรากฏ การพัฒนาทักษะต่างๆ ที่เป็นฐานสมรรถนะเลย จึงเป็นเหตุให้ครูจบออกไปแล้วพยายามหา how การสอนที่คู่มือมีให้ เมื่อครูขาดความเข้าใจกระบวนการเรียนรู้ของเด็กแล้วแผนการสอนออกมาได้อย่างไร จึงไม่แปลกใจที่มีการเปิดแชร์แผนการสอนกันเป็นจำนวนมาก เพราะเป็นเอกสารภาคบังคับให้ส่งแผนการสอน จึงเป็นเพียงแค่แผนที่เราไม่ทราบว่าดีหรือไม่ หรือถ้าดีแล้วถูกนำไปปฏิบัติหรือไม่ เด็กประถมมีความแตกต่างกันมาก คงกำหนดแผนการสอนตายตัวคงเป็นไปไม่ได้ หรือ copy กันมาใช้ไม่ได้

ทักษะการมีคลังคำที่มีความสำคัญ (ใช้บ่อย) มีมาก และรู้ความหมายลึก ช่วยให้อ่านหนังสือได้คล่อง ได้ใจความ และสนุก การมีคลังคำที่มากและเหมาะสม มี ES ต่อผลการเรียนวิชาอ่านเอาเรื่อง = ๐.๖๗

เขาแนะนำว่า การเรียนรู้คำ มี ๕ มิติ ได้แก่
  • รู้ความหมายทั่วไป
  • ใช้เป็น
  • นึกคำออก
  • ใช้อย่างแม่นยำ คือใช้อย่างถูกต้อง ไม่ใช้ผิดๆ
  • นำมาใช้ได้อย่างอัตโนมัติ โดยนำเอาคำมาแชร์ความเข้าใจกับเพื่อนๆ ได้ 
ผมขอเสนอว่า น่าจะมีมิติที่ ๖ และ ๗ คือ
  • จัดกลุ่มคำได้
  • บอกคำพ้องได้(๒) 
โดยที่การเรียนรู้ต้องเป็นขั้นเป็นตอน ตามระดับพัฒนาการของเด็ก โดยเขาแนะนำวิธีเลือกคำ สำหรับดำเนินการสอนโดยตรง ตามแสดงในตารางที่ ๕.๑

line2.jpg
(๒) หมายถึงคำที่มีความหมายเดียวกัน สุรีย์ สุริยะ สุริยา ตะวัน อาทิตย์ คนที่แต่งร้อยกรองจะมี คลังพวกนี้มากเพราะถูกบังคับสัมผัสเสียง ดังนั้นการให้แต่งร้อยกรองน่าจะเป็นประโยชน์ ขั้นสูงคือ “สร้างคำ”  การสร้างคำเกิดจากการติดต่อและใช้ภาษาต่างชาติ ปกติบัญญัติโดยราชบัณฑิต (เช่น literacy = ฉลาดรู้)  แต่ก็มีที่คนทั่วไปสร้างกันเองตามท้องถิ่นก็มี บ้างเกิดจากการให้ความหมายตามกระบวนการทางจิตใจ เช่น “เกรงใจ” (ที่ไม่มีในภาษาอังกฤษ) น่าถือเป็นมิติที่ 8 ไมเคิล ไรท์ เป็นคนสร้างอุษาคเนย์มาแทนเอเชียอาคเนย์ เพราะไม่ชอบที่เอาภาษาอังกฤษ (เอเชีย) มาปนกับสันสกฤต

ตารางที่ ๕.๑ โมเดลการตัดสินใจเลือกคำ สำหรับใช้ใน direct instruction 
6.jpg
นอกจากสอนคำโดยวิธี direct instruction แล้ว ยังมีวิธีสอนอีกมากมาย ต่อไปจะยกวิธีใช้เครื่องช่วยจำ บัตรคำ เกมคำ และการจัดกลุ่มคำ มาเป็นตัวอย่าง(๔) 
line2.jpg
(๓) ทำให้นึกถึงเมื่อเราใช้คำว่า “บูรณาการ” “บริบท” “วาทกรรม” เมื่อเริ่มใช้ใหม่ๆ เข้าใจยากกันทุกคน ตอนนี้เข้าใจจากการเจอบ่อยๆ ดังนั้น เด็กต้องอ่านและฟังมากๆ

(๔) ภาษาไทยจะต่างจากภาษาอังกฤษที่เป็นต้นเรื่องของบันทึกนี้ครับ เพราะเราไม่มีเครื่องหมายฟูลสต็อปบอกจุดจบ ไม่มีคอมม่าแยกประโยคย่อย การเขียนประโยคจึงยากกว่าต้องระวังการสื่อสารผิดๆ โครงการเพาะพันธุ์ปัญญา จึงถือว่าสุดยอดของการรู้ภาษาไทยคือ “เขียนคือคิด” ซึ่งฝึกยากมากครับ ครูเองก็ไม่ค่อยเขียน  ยิ่งมี Google และ copy & paste ยิ่งไม่ง่ายครับ คงต้องสอนเรียงความ ย่อความ เขียนสุนทรพจน์

เครื่องช่วยจำ (mnemonics)
     ทุกคนจำบทท่องจำ “ผู้ใหญ่หาผ้าใหม่ ให้สะใภ้ใช้คล้องคอ ใฝ่ใจเอาใส่ห่อ มิหลงใหลใครขอดู จะใคร่ลงเรือใบ ดูน้ำใสและปลาปู สิ่งใดอยู่ในตู้ มิได้อยู่ใต้ตั่งเตียงบ้าใบ้ถือใยบัว หูตามัวมาใกล้เคียง เล่าท่องอย่าละเลี่ยง ยี่สิบม้วนจำจงดี” นี่คือเครื่องช่วยจำคำสระ ใ- ที่ใช้ไม้ม้วน 

     “เด็กเหม่อตามอง ยิ้มย่องผ่องใส หันหัวทั่วไป แม่ไม่ต้องยก คว่ำอกนอนเหม่อ transfer มือเดียว นั่งเดี่ยวเรื่องย่อย หนูน้อยคืบคลาน ยืนนานต้องเหนี่ยว ยืนเยี่ยวยังได้ เดินไกลต้องเกาะ ย่างเหยาะอาจหาญ” คือเครื่องช่วยจำที่เพื่อนนักศึกษาแพทย์ของผมสมัยเกือบหกสิบปีก่อนแต่งขึ้น เอาไว้ตอบข้อสอบพัฒนาการเด็กในแต่ละเดือนในช่วงขวบปีแรกที่เป็นข้อสอบความจำ (เรียนรู้ระดับผิว) แม้เวลาผ่านมาเกือบ ๖๐ ปี ผมยังจำได้แม่น 

EF ของเครื่องช่วยความจำต่อการเรียนรู้ = ๐.๔๕(๕)

บัตรคำ
     เขาแนะนำให้ครูกำหนดให้นักเรียนเขียนบัตรคำตามแบบ Frayer Model (ดูเพิ่มเติมได้ที่ shorturl.at/hxzFO) เอาไว้ใช้ทบทวน โดยใช้บัตรคำขนาด ๔x๖ นิ้ว ตีเส้นแบ่งหน้ากระดาษตามขวางและตามแนวตั้ง แบ่งหน้ากระดาษออกเป็น ๔ ส่วน อาจเขียนคำไว้ตรงกลาง หรือที่ช่องใดช่องหนึ่งในสี่ช่อง อีกช่องหนึ่งเขียนความหมายของคำ อีกช่องหนึ่งเขียนคำพ้อง อีกช่องหนึ่งเขียนตัวอย่างประโยคที่ใช้คำนั้น หากมีช่องเหลืออาจเขียน
คำตรงกันข้าม หรือเขียนรูปที่สะท้อนความหมายของคำ(๖)

line2.jpg
(๕) อีกตัวอย่างชัดๆ คือพวกโรงเรียนติวที่เอามาผูกเป็นเพลงใช้เรียนภาษา

(๖) ดิกชันนารีอังกฤษเป็นตัวอย่างกรณีนี้ครับ ถ้าเด็กใช้ดิกชันนารีหรือพจนานุกรม แล้วอ่านให้ตลอดก็จะเรียนภาษาได้มาก ตอนนี้เวลาเราพิมพ์ภาษาอังกฤษแล้วนึกคำดีๆ ไม่ออกก็พิมพ์คำธรรมดาไปก่อน แล้วป้ายคำหาคำใหม่ได้ แถมตอนนี้มีโปรแกรม AI ช่วยเขียน paper อังกฤษ ยิ่งมีโอกาสเรียนรู้จากการแก้ของ AI การเรียนง่ายขึ้น เพียงแต่ใช้เทคโนโลยีแล้วเรียนจากที่มันทำงานให้เรา

การหาความหมายของคำจากโครงสร้างคำและประโยค (modeling word solving)
     ครูอธิบายให้นักเรียนฟังในลักษณะที่เผยความคิดในสมองของตนเองออกมาดังๆ  เมื่อพบคำแปลกในข้อความหนึ่ง เช่น ครูอ่านข้อความ “การศึกษาถึงสภาพทาง ภูมินิเวศหรือถิ่นที่อยู่อาศัย ที่มีอิทธิพลต่อรูปแบบวิถีชีวิต และเป็นแหล่งกำเนิดของภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องกับการใช้ประโยชน์จากพืชพรรณที่ปรากฏอยู่ในพื้นที่ จะทำให้เข้าใจถึงความสัมพันธ์ของมนุษย์กับระบบนิเวศ ในฐานะที่เป็นผู้มีบทบาทหน้าที่ในส่วนหนึ่งของกระบวนการในระบบนิเวศ และเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อการรักษาความสมดุลและความยั่งยืนของธรรมชาติ” ครูสะดุดที่คำว่า ภูมินิเวศ จึงลองแตกคำ ภูมิ + นิเวศ คำว่า ภูมิ แปลว่า แผ่นดิน นิเวศ แปลว่า ที่อยู่ ภูมินิเวศ จึงแปลว่า แผ่นดินที่อยู่ และเมื่ออ่านต่อมาก็พบคำว่า “หรือถิ่นที่อยู่อาศัย” เป็นคำแปลที่ผู้เขียนให้ไว้ ซึ่งตรงกัน 

เขาให้หลักการหาความหมายของคำจากการวิเคราะห์คำและประโยค ดังนี้
  •   ตรวจสอบภายในคำหรือพยางค์ เพื่อหาคำตอบ
  •   ตรวจสอบจากภายนอกคำหรือพยางค์ เพื่อหาคำตอบ
  •   ตรวจสอบจากภายนอกข้อความ เพื่อหาคำตอบ ซึ่งในกรณีของข้อความ
  •   ที่ยกมาข้างต้น ถ้อยคำที่ตามมาช่วยบอกว่าเขากำลังกล่าวถึงความสัมพันธ์
  •   ระหว่างมนุษย์กับระบบธรรมชาติ 

จัดกลุ่มคำหรือหลักการ
     มนุษย์มีธรรมชาติค้นหาแบบแผน (pattern) เพื่อทำความเข้าใจสิ่งที่อยู่รอบตัว  จึงควรใช้คุณสมบัติตามธรรมชาตินี้ช่วยการเรียนรู้คำ โดยให้เล่มเกมจัดกลุ่มคำ โดยใช้เกณฑ์หลากหลายแบบ เช่น ความหมาย เสียง วิธีเขียนสะกดการันต์ วิธีการนี้ มักใช้ในนักเรียนชั้นประถม เพื่อช่วยให้เขียนถูกต้อง รู้ความหมาย และเพิ่มคลังคำในสมอง ที่เป็นพื้นฐานสู่การอ่านและเขียน 

     ครูภาษาสามารถออกแบบการเรียนที่สนุกและท้าทาย และเหมาะสมต่อระดับความรู้และพัฒนาการเด็กได้มากมายโดยใช้หลักการนี้ 

สอนให้อ่านมาก (wide reading)
     ครูต้องจัดห้องเรียนให้มีหนังสือให้เด็กอ่าน ทั้งหนังสือที่เกี่ยวข้องกับบทเรียน และหนังสืออื่นๆ ที่เด็กสนใจ เพื่อกระตุ้นให้เด็กอ่าน ซึ่งจะช่วยเพิ่มคลังคำในสมองเด็ก เป้าหมายคือให้เด็กได้สัมผัสภาษา จนเมื่อเรียนจบ ม.๒ มีคลังคำ ๘๘,๐๐๐ คำอยู่ในสมอง เป็นทุนเพื่อการเรียนรู้ต่อไป 

สอนอ่านเอาเรื่องตามบริบท
line6.jpg
     การสอนอ่านเอาเรื่องไม่ใช่กระบวนการตื้นๆ หรือชั้นเดียว ต้องการการออกแบบกระบวนการให้นักเรียนได้พัฒนาความสามารถในการวิเคราะห์และจัดระบบความรู้ และเชื่อมโยงกับข้อมูลด้านสังคม ด้านชีวภาพ และด้านกายภาพในโลก คิดใคร่ครวญ แล้วลงมือทำกิจกรรม 

     เขาบอกว่าเป้าหมายของการเรียนอ่านเอาเรื่องเน้นที่การบูรณาการความรู้ เข้าด้วยกัน เพื่อนำไปสู่การกระทำที่เรียกว่า integrative reader ต้องอย่าหลงสอนให้อ่านด้วยเป้าหมายเพื่อเข้าใจแล้วหยุดอยู่แค่นั้น ที่เรียกว่าเป็น strategic reader เพราะจะทำให้ไม่เกิดการเรียนรู้กว้างขวาง

     อย่างไรก็ตาม การอ่านแบบเอาความเข้าใจก็มีประโยชน์ เพราะนักเรียนจะขวนขวายหาตัวช่วยเพื่อทำความเข้าใจ ซึ่งต่อไปจะนำไปสู่การเชื่อมโยงเรื่องที่อ่านไปสู่เรื่องอื่นๆ และกลายเป็น integrative reader(๗)

ฝึกสรุป
    นักเรียนต้องได้ฝึกบรรจุหรือเชื่อมโยงความรู้ใหม่เข้าในแผนที่ความรู้ของตน  ซึ่งในชั้นนี้เป็นแผนที่ความรู้กว้างๆ ผิวๆ ไม่เน้นความลึก แต่จุดสำคัญอยู่ที่ ต้องจับประเด็นสำคัญได้ ไม่หลงจับประเด็นปลีกย่อย 

line2.jpg
(๗) อ่านเอาเรื่องแล้วต่อด้วยวิพากษ์ เขียนโต้เรื่องที่อ่านจากที่เราวิพากษ์ ผมเคยใช้วิธีนี้กับนักศึกษา นานมาแล้ว (ก่อนไปทำงาน สกว.) เคยแม้กระทั่งอ่านเรื่องที่เขาเชื่อ/ เห็นด้วย แต่ก็ต้องมองหามุมมองที่จะวิพากษ์ให้ได้ อีกเรื่องที่เอามาใช้กับลูกคือให้อ่านเรื่องที่มีจินตนาการสูง (สมัยนั้นคือ ล่องไพร ของน้อย อินทนนท์ กับ เพชรพระอุมา ของพนมเทียน) กับเรื่องที่โครงสร้างต้องมีเหตุผลตรรกะ (เรื่องนักสืบของ
อากาทา คริสตี้) เขาอ่านแล้วต้องเชื่อมโยงข้อมูลทั้งหมดให้ได้

     วิธีการที่ครูสอนและประเมินความก้าวหน้าในการเรียนรู้ในระดับเข้าใจ คือ ให้นักเรียนเขียนสรุปประเด็นหลักของการเรียนรู้สองสามประโยคลงบน “บัตรออกจาก ห้องเรียน” ตอนจบคาบ สำหรับครูเอามาอ่านตรวจสอบว่านักเรียนคนไหนบ้างที่จับประเด็นผิด แล้วครูนำไปให้คำแนะนำป้อนกลับ (feedback) ตอนเริ่มต้นชั้นเรียนต่อไป 

     ทักษะการอ่านจับประเด็นสำคัญก็เช่นเดียวกันกับการมีคลังคำ เป็นพื้นฐาน สู่การเรียนรู้ระดับลึก และระดับเชื่อมโยงต่อไป(๘) 

ขีดเส้นใต้หรือวงคำสำคัญ
ในการอ่านเรื่องที่ซับซ้อน การจับประเด็นสำคัญอาจทำได้ไม่ง่ายนัก ยิ่งมือใหม่อย่างนักเรียนยิ่งเป็นเรื่องท้าทาย ตัวช่วยง่ายๆ คือขีดเส้นใต้คำ ประโยค หรือส่วนของเรื่องที่มีความสำคัญ อาจใช้วิธีวงคำสำคัญ หรือเขียนสรุปประเด็นไว้ที่ขอบหน้าหรือหลังตัวหนังสือ ที่เรียกว่า ทักษะการเรียน (study skills)(๙)

      นักเรียนซึ่งเป็นมือใหม่ มักหลงไปให้ความสนใจต่อถ้อยคำพรรณนาภาพพจน์  แทนที่จะพุ่งความสนใจไปที่ถ้อยคำที่มีความสำคัญจริงๆ  ครูจึงต้องช่วยฝึกการจับประเด็นสำคัญ ไม่หลงประเด็น 

      ครูต้องสอนสองอย่างในเวลาเดียวกัน คือสอนการเรียนสาระวิชากับสอนวิธีเรียน  ซึ่งจะทำให้นักเรียนได้เรียนสองอย่างในเวลาเดียวกันด้วย มีผลการวิจัยบอกว่าการสอนวิธีเรียนแยกต่างหากได้ผลน้อย ไม่ควรทำ ควรสอนไปพร้อมกับสอนสาระ   

 ทักษะการเรียนมีผล ES = ๐.๖๓

line2.jpg
(๘) ความสามารถสรุปเป็นทักษะที่สำคัญ นักศึกษาจำนวนมากสรุปไม่ได้ เขียนสรุปเป็นย่อความ ผมมักสอนให้แยกว่า สรุป (conclusion) ต้องอ่านไม่รู้เรื่อง ถ้าไม่อ่านทั้งเรื่องมาก่อน ส่วนย่อความ(abstract) ต้องอ่านรู้เรื่องโดยไม่ต้องอ่านทั้งเรื่องมาก่อน นิทานอีสปที่จบว่า “นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า.....” คือสรุป เพราะมันสรุปเป็นประเด็นคำสอนจากเรื่อง จะไม่รู้เรื่องว่าทำไมสอนให้รู้ว่าอย่างนั้น ถ้าไม่ได้อ่านทั้งเรื่องมาก่อน (ครูเองก็จับประเด็นไม่ค่อยได้ครับ)

(๙) ที่ผมใช้คือนอกจากวงแล้วผมให้เขียนลูกศรเชื่อมจากเหตุไปผลด้วย ใช้ฝึกครูในโครงการเพาะพันธุ์ปัญญาให้เข้าใจเรื่องราวที่มีความเป็นเหตุเป็นผลต่อเนื่อง  แล้วถอดเอามาเป็นผังเหตุ - ผลของเรื่องราว จากนั้นใช้ผังเหตุ - ผลมาแต่งเรื่องราวใหม่ ให้ได้เรื่องเดิมแต่เรียบเรียงไม่เหมือนเดิม การเขียนข้ามเหตุ - ผลไปมาทำให้รู้จักใช้คำเชื่อม รู้จักอนุประโยคที่เป็นภาคขยาย

จดบันทึก
วิธีจดบันทึกที่แนะนำสำหรับนักเรียนมัธยมขึ้นไป คือ Cornell Method (ดูเพิ่มเติม ได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/cornell_note) โดยใช้หลักการ 6Rs คือ
  •   record จดบันทึกลงไปที่หน้ากระดาษส่วนบันทึก
  •   reduce ย่อลงเป็นไอเดียสำคัญ ในลักษณะคำถาม จากการทบทวนบันทึก
  •   ภายใน ๒๔ ชั่วโมง
  •   recite ทบทวนสาระสำคัญโดยตอบคำถามออกมาดังๆ ไม่ดูบันทึก
  •   reflect ใคร่ครวญว่าตนเข้าใจถ่องแท้แค่ไหน มีคำถามสำหรับไปถามครูหรือไม่
  •   review ทบทวนในเวลาที่เหมาะสม
  •   recapitulate สรุปความ บันทึกลงในหน้ากระดาษส่วนสรุปความ 
ตารางที่ ๕.๒ ตัวอย่าง Cornell Note
6-1.jpg
effect size ของการจดบันทึกที่ดีต่อการเรียนรู้ = ๐.๕๙ 

ต้องการเวลาเพื่อจารึกความรู้ใหม่เข้าสมอง
    เข้าสู่สมอง นักเรียนจะทบทวนความรู้ใหม่และลองประยุกต์ใช้ในรูปแบบใหม่ ซึ่งจะนำไปสู่การเรียนรู้ที่ลึกขึ้น ดังนั้น การทดสอบให้ทวนความจำเกี่ยวกับเรื่องที่เรียนทันทีที่สอนเสร็จ เทียบกับ ๒๔ ชั่วโมงให้หลัง บ่อยครั้งที่การทดสอบตอน ๒๔ ชั่วโมง
หลังสอนให้ผลสูงกว่า 

     การเรียนรู้จะยิ่งแม่นยำคล่องแคล่วขึ้นหากมีแบบฝึกหัดให้ทำแบบเว้นช่วงวัน (spaced practice) ได้รับคำแนะนำป้อนกลับ (feedback) และมีการเรียนแบบร่วมมือกับเพื่อน (peer collaboration)

ฝึกซ้อมช่วยจำโดยการฝึกเว้นช่วง
     การเรียนหนังสือ (literacy learning) ทั้งการพูด ฟัง อ่าน และเขียน ใช้เทคนิคเดียวกันกับการเรียนทักษะที่ซับซ้อนอื่นๆ คือนักเรียนต้องได้ฝึกซ้อมสิ่งที่ได้เรียนอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ความรู้นั้นจารึกเข้าสมอง โดยต้อง “เรียนเกิน” (overlearn) ในส่วนเรียนผิวเผิน เพื่อให้นักเรียนดึงความรู้มาใช้ได้ทันทีในช่วงเรียนลึก และเรียนเชื่อมโยง 

     การใช้เกมบัตรคำ (flash card) ที่เล่นได้สารพัดแบบ ตามระดับอายุหรือพัฒนาการของเด็ก เป็นวิธีที่ง่ายและสนุก โดยอาจทำบัตรคำเองง่ายๆ หรือซื้อก็ได้สำหรับเด็กอนุบาล มีเกม My Pile, Your Pile (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=LnHcC8gpseY) ซึ่งเล่นง่าย ใช้เวลาไม่นาน โดยครูควรกำหนดคำที่เด็กเรียนแล้วร้อยละ ๘๐ คำที่ยังไม่เคยเรียน ร้อยละ ๒๐ เพื่อให้เด็ก
มีแรงจูงใจ การเรียนเพียงครั้งละ ๑๐ นาที แต่ทบทวนทุกวันในเวลา ๑ สัปดาห์ ให้ผลดีกว่าเรียนรวดเดียว ๑ ชั่วโมง 

     ในเกมบัตรคำ ครูคอยช่วยให้คำแนะนำป้อนกลับ (feedback) เมื่อนักเรียนลังเล หรืออ่านผิด โดยครูอ่านให้ฟัง และบอกให้นักเรียนอ่านตาม ครูบอกความหมายของคำ แล้วให้นักเรียนอ่านทวนอีกครั้ง(๑๐) 
line2.jpg
(๑๐) ตอนนี้ Ed Tech มีเกมแบบนี้ในโปรแกรมคอมพิวเตอร์มากมาย มันสามารถ detect เสียงและให้คำแนะนำการออกเสียงได้ด้วย  เป็นการเรียนที่ tailor made มากกว่าใช้คนสอน

ในวิชาเรียงความชั้น ป.๔ ครูคนหนึ่งใช้วิธีให้นักเรียนเขียนร่าง แล้วอ่านบันทึกเสียงเก็บไว้ วันหลังเอาเสียงที่บันทึกไว้มาฟังพร้อมๆ กับแก้ไขปรับปรุงร่างเดิม หรือเอาร่างไปเขียนอินโฟกราฟิก แล้วกลับมาแก้ไขร่างเรียงความเดิม ทั้งการฟัง และการคิดเป็นภาพช่วยทบทวนการเขียนเรียงความ 

อ่านซ้ำ (repeated reading) 
     การอ่านมี ๓ ขั้นตอนของ “อ่านออก” คือ ออกเสียงได้ (decoding) สนใจ (attention) และเข้าใจความหมาย (meaning) ซึ่งเมื่อเด็กเรียนถึงขั้นตอนที่สามก็จะ “อ่านคล่อง” 

      เทคนิคอ่านซ้ำ ใช้ช่วยเหลือนักเรียนที่อ่านไม่คล่อง (ดูวิธีการโดยละเอียดได้ที่ https://www.interventioncentral.org/academic-interventions/reading-fluency/repeated-reading) สาระโดยย่อคือ ให้นักเรียนอ่านข้อความสั้นๆ ที่มีความยาว ๑๐๐ - ๒๐๐ คำ 

    จะอ่านในใจหรืออ่านออกเสียง แล้วแต่ความสมัครใจของเด็ก โดยมีครูคอยช่วยเหลือเมื่อเด็กต้องการ หากเด็กถามความหมายของคำ ครูช่วยตอบ ให้อ่านซ้ำอย่างน้อย ๔ เที่ยว จนอ่านคล่อง โดยครูสามารถใช้สารพัดเทคนิคเพื่อสร้างแรงจูงใจให้นักเรียนฝึก 

ES ของเทคนิคอ่านซ้ำ = ๐.๖๗

คำแนะนำป้อนกลับ (feedback)
line6.jpg
ในการเรียนตามปกติ นักเรียนได้รับคำแนะนำป้อนกลับจากครู และเพื่อนนักเรียน และผมขอเพิ่มเติมว่า พ่อแม่และญาติพี่น้องก็ให้คำแนะนำป้อนกลับด้วย คนเราได้รับคำแนะนำป้อนกลับมากมายตลอดชีวิต เป็นคุณบ้าง เป็นโทษบ้างโดยตอนเรียนในระดับอนุบาล ถึง ม.๖ คำแนะนำป้อนกลับที่ดีมีลักษณะ ๔ ประการ ต่อไปนี้

๑. ถูกกาละ (timely) คำแนะนำป้อนกลับที่ผิดกาละ แม้ด้วยความปรารถนาดี แทนที่จะเป็นคุณ อาจเป็นโทษ ในการเรียนรู้ระดับผิว ช่วง “การรับรู้” (acquisition) การให้คำแนะนำป้อนกลับอาจมีประโยชน์น้อยกว่าการสอนซ้ำ (reteaching) แต่ในช่วง “หลอมรวม” (consolidation) ต้องมีการฝึก คำแนะนำป้อนกลับจึงมีประโยชน์มาก 

๒. ตรงประเด็น หรือจำเพาะ (specific) คำแนะนำป้อนกลับที่คนเราได้รับโดยทั่วไป มักเกินกำลังที่เราจะเข้าใจ หรือเป็นคำกล่าวลอยๆ ไม่เชื่อมโยงสู่การปฏิบัติ จึงเป็นคำแนะนำป้อนกลับที่ไร้ประโยชน์ หรืออาจเป็นโทษ ครูจึงต้องฝึกให้คำแนะนำป้อนกลับที่จำเพาะต่อกรณี และต่อระดับความสามารถของนักเรียนคนนั้น 

๓. ผู้เรียนเข้าใจ (understandable to the learner) หลักการคือ ให้คำแนะนำป้อนกลับ ณ เวลานั้น และแก่นักเรียนคนนั้น และเหมาะสมต่อระดับความสามารถของนักเรียนคนนั้น 

๔. นำไปสู่การกระทำ (actionable) คำแนะนำป้อนกลับที่กล่าวลอยๆ เช่น“ดีมาก” ไม่นำไปสู่การกระทำ ครูต้องฝึกให้คำแนะนำป้อนกลับที่บอกว่า ทำไมจึงดี และแนะนำให้ลองทำอย่างไร เพื่อให้ได้ผลดียิ่งขึ้น(๑๑) ในนักเรียนมัธยม อาจใช้ระบบทดสอบออนไลน์ พร้อมให้คำแนะนำป้อนกลับ (online quiz with feedback) โดยมีโจทย์ให้ตอบเพียง ๓ - ๕ ข้อ นักเรียนที่ตอบผิดข้อใดข้อหนึ่งจะได้รับข้อความคำตอบที่ถูกต้อง พร้อมกับคำแนะนำให้กลับไป อ่านสาระวิชานั้นตรงตำแหน่งที่เกี่ยวข้อง เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง 

คำแนะนำป้อนกลับที่ดีให้ ES = ๐.๗๕ 

line2.jpg
(๑๑) สรุปได้ว่า feedback ต้องมุ่งไปที่ process ไม่ใช่ผลสุดท้าย (end result)

เรียนแบบร่วมมือกับเพื่อน
การเรียนแบบร่วมมือกับเพื่อน (collaborative learning with peers) ให้ประโยชน์ทั้งในด้านการเรียนระดับผิว ในขั้นตอนของการหลอมรวมความรู้ และนอกจากนั้นยังช่วยการพัฒนาสมรรถนะสำคัญในด้านความร่วมมือ การสื่อสาร ความมีน้ำใจ และอื่นๆ 

ครูต้องเรียนรู้และพัฒนาทักษะการออกแบบ “ชาลา” (platform) การเรียนแบบที่นักเรียนเรียนแบบร่วมมือกับเพื่อน เช่น สโมสรหนังสือ (book club) หรือ กลุ่มอภิปรายวรรณกรรม (literature discussion group) โดยที่สมาชิกร่วมกันรับผิดชอบ
ผลงานของกลุ่ม และนักเรียนแต่ละคนรับผิดชอบการเรียนรู้ของตน 

ตอนต้นปีการศึกษา ครูอธิบายให้นักเรียนฟังว่า การเรียนแบบร่วมมือกับเพื่อนจะให้คุณประโยชน์ต่อตัวนักเรียนอย่างไร และย้ำว่า นี่ไม่ใช่แค่ให้นักเรียนจับคู่หรือจับกลุ่มกันเรียนภายในหนึ่งคาบเรียน แต่เป็นการทำงานร่วมกันตลอดเทอมหรือตลอดทั้งปี เป้าหมายที่ยิ่งใหญ่คือ เพื่อให้นักเรียนเข้าใจตนเอง เข้าใจโลก และเข้าใจความรู้ด้านต่างๆ โดยที่นักเรียนเป็นทั้งผู้เรียน และผู้ให้ ให้แก่เพื่อน 
 
ในกรณีของการเรียนวิชาวรรณกรรม ชั้นมัธยม เพื่อให้นักเรียนตอบคำถาม “โตขึ้นฉันอยากเป็นอะไร” ครูกำหนดเรื่องสั้นจำนวนหนึ่งให้นักเรียนเลือกอ่าน คนละเรื่อง แล้วนำมาอภิปรายกัน โดยครูมีกระดาษหนึ่งหน้า เป็นบันทึกการอภิปราย เป็นเครื่องช่วยเรียนในแต่ละคาบ ดังตัวอย่างในแบบบันทึกที่ ๕.๓ 

แบบบันทึกที่ ๕.๓ บันทึกการอภิปราย ฉันอยากเป็นอะไร 

ชื่อ.......................................................................... วันที่....................................
ชื่อเรื่อง.................................................................. คาบที่...................................
รายชื่อสมาชิกกลุ่ม...............................................................................................

ขอให้นักเรียนเตรียมบันทึกนี้ล่วงหน้า ก่อนการประชุมกลุ่ม ใช้คำถามข้างล่างเป็นแนวทางการบันทึก

การอภิปราย : นักเรียนมีคำถามอะไรบ้าง หลังอ่านเรื่องจบ นักเรียนพิศวงเรื่องอะไร มีอะไรที่งงหรือเข้าใจไม่ชัดเจน 
ข้อความที่มีพลัง : ข้อความใดที่ดึงดูดความสนใจ โดยอาจเป็นที่ประหลาดใจ แปลก หรือเป็นถ้อยคำไพเราะให้จดหน้าและขีดเส้นใต้ไว้อ่านให้เพื่อนฟัง
เชื่อมโยง : ข้อความที่อ่านเตือนให้คิดถึงเรื่องอะไรในชีวิตของนักเรียน มีหนังสือ เล่มอื่นที่เชื่อมโยงกับเรื่องนี้ไหม เชื่อมโยงอย่างไร
ภาพประกอบ : เขียนภาพหรือไดอะแกรม เพื่อแสดงความประทับใจของนักเรียน ต่อเรื่องที่อ่าน (ไม่เน้นความสวยงาม เน้นที่สาระ) 

การเรียนแบบร่วมมือกับเพื่อน เมื่อเทียบกับเรียนคนเดียว ให้ผลลัพธ์การเรียนรู้ เพิ่มขึ้นโดย ES = ๐.๕๙

สรุป
line6.jpg
     ครูต้องเรียนรู้และพัฒนาทักษะในการนำนักเรียนเข้าสู่ความรู้และทักษะใหม่ และรู้ว่าเมื่อไรที่จะต้องเคลื่อนต่อจากการเรียนระดับผิว ขั้นรับรู้ และเข้าใจ ไปสู่การเรียนรู้ขั้นต่อไป 

       เมื่อการเรียนรู้เป็นสิ่งที่จับต้องมองเห็นได้ ทั้งต่อนักเรียนและต่อครู นักเรียนและครูจะมีความสัมพันธ์แบบ “เชื่อมใจเป็นหนึ่งเดียว” ครูสื่อสารกับศิษย์ว่ากำลังเรียนรู้อะไร สำคัญอย่างไร และวัดความสำเร็จในการเรียนอย่างไร ครูใช้การแนะนำป้อนกลับเพื่อให้นักเรียนทำความเข้าใจการเรียนรู้เบื้องต้น และครูต้องดูและฟัง เพื่อประเมินว่านักเรียนพร้อมจะเรียนในระดับต่อไปแล้ว หรือนักเรียนยังต้องการเวลาและการฝึกซ้อมเพิ่มขึ้น นี่คือการวางฐานที่มั่นคงแน่นหนาของการเรียนรู้หนังสือ (literacy learning)
ดาวน์โหลดเอกสาร
vocabulary instruction
บัตรคำ
modeling word solving
สอนให้อ่านมาก
ทักษะการเรียน
Literacy Learning
การเรียนรู้ระดับเชื่อมโยง
การเรียนรู้ระดับลึก
สร้างการเรียนรู้สู่ระดับเชื่อมโยง
ศาสตราจารย์ นายแพทย์ วิจารณ์ พานิช
นักเขียน
ศาสตราจารย์ นายแพทย์ วิจารณ์ พานิช
รองประธานกรรมการมูลนิธิสยามกัมมาจล นายแพทย์ผู้สนใจประเด็นการศึกษา เจ้าของผลงานหนังสือเกี่ยวกับการจัดการเรียนรู้หลากหลายเล่ม ตั้งแต่ เลี้ยงลูกยิ่งใหญ่, วิถีสร้างการเรียนรู้เพื่อศิษย์ในศตวรรษที่ 21, สนุกกับการเรียนในศตวรรษที่ 21 ฯลฯ
แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน
profile
กรุณา Login ก่อน comment
เนื้อหาทั้งหมด