ปกหน้า resize
ทฤษฎีการศึกษาการศึกษา

หนังสือครูเพื่อศิษย์ สร้างการเรียนรู้สู่ระดับเชื่อมโยง

อ่าน 461 นาที

ผมเขียนหนังสือนี้อย่างสนุกสนานในช่วงก่อนวันหยุดสิ้นปี 2 สัปดาห์ และใช้วันหยุดขึ้นปีใหม่ 2563 รวม 5 วันมุ่งมั่นเขียนให้เสร็จ และทำได้สำเร็จ ตามเป้าหมายที่กำหนด ทำให้ผมมีความสุขมาก ยิ่งเมื่อเขียน “บทส่งท้าย...ฝันใหญ่ เพื่อ transform การศึกษาไทย” ผมยิ่งมีความสุข เพราะเกิดความหวังว่า จะมีมาตรการเปลี่ยนแปลงการศึกษาไทยอย่างได้ผลจริง

เขียนโดยศาสตราจารย์ นายแพทย์ วิจารณ์ พานิช
18 ธันวาคม 2563
บทที่ 9 : บทส่งท้าย
9.jpg

บันทึกที่ ๙ บทส่งท้ายนี้ เป็นข้อเขียนจากการใคร่ครวญสะท้อนคิด และจินตนาการของผมเอง เพื่อเสนอแนะว่าวงการครูและโรงเรียนไทย ควรมีวิธีใช้ประโยชน์จากสาระและหลักการในหนังสือเล่มนี้อย่างไร 

ผมเกิดความคิดว่า ควรใช้หนังสือเล่มนี้เป็นเครื่องมือกระตุ้นให้ครูไทยร่วมกันเป็น “ผู้กระทำการ” (agent) สร้างสรรค์วิธีการที่ใช้ได้ผลในบริบทชั้นเรียนและโรงเรียนที่ตนทำงานอยู่ ตามแนวทาง visible learning และการเรียนรู้ ๓ ระดับ ในหนังสือเล่มนี้ เพื่อร่วมกันยกระดับคุณภาพการศึกษาไทย และเพื่อร่วมกันฟื้นเกียรติภูมิของวิชาชีพครูไทย โดยใช้หลักการ High Expectation, High Support 

 กระบวนการตามจินตนาการนี้ เป็นการดำเนินการอย่างไม่เป็นทางการ โรงเรียนและครู (รวมทั้งศึกษานิเทศ) ที่เข้าร่วมเป็น “ผู้กระทำ” (agent) ฝึกหัด ในลักษณะของ “ผู้นำการเปลี่ยนแปลง” (change agent) ฝึกหัด ที่ฝึกกันเองจากการปฏิบัติจริง โดยใช้หลักการและวิธีการในหนังสือ ครูเพื่อศิษย์ สร้างการเรียนรู้สู่ระดับเชื่อมโยง เล่มนี้ แล้วนำประสบการณ์และผลที่เกิดขึ้น มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน เป็น “วง PLC ครูเพื่อศิษย์ สร้างการเรียนรู้สู่ระดับเชื่อมโยง” ที่เป็น “virtual PLC” คือแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันผ่าน cyber space โดยมีการจัดระบบสนับสนุน โดยมีเป้าหมายใหญ่คือ ขยายอุดมการณ์และวิธีการนี้ ออกไปครอบคลุมระบบการศึกษาไทยในภาพรวม... ระบบการศึกษาที่ยึดผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักเรียนเป็นเป้าหมายหลัก มีหลักฐานแจ้งชัดว่าบรรลุผลนั้น(๑)

ระบบสนับสนุน มีได้หลากหลายแบบ หลากหลายระดับ ระดับที่เล็กที่สุด คือระดับโรงเรียน โดยครูจำนวนหนึ่งรวมตัวกันอ่านหนังสือเล่มนี้ แล้วร่วมกันตีความเข้าสู่การทำงานในบริบทของตน ตกลงกันว่าในเทอมที่กำลังสอนอยู่จะร่วมกันประยุกต์ใช้หลักการและวิธีการส่วนไหน วัดผลอย่างไร แล้วนำประสบการณ์และผลมาปรึกษาหารือแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันอย่างสม่ำเสมอ ทุกสัปดาห์ โดยมีเป้าหมายร่วมกันคือ ผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักเรียนดีขึ้น และไม่ปล่อยให้นักเรียนคนใด
ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง 

 ในระดับโรงเรียนนี้จะเป็นวง PLC แบบพบหน้ากันเท่านั้น หรือเสริมโดย virtual PLC ก็ได้ โดยระบบไอทีที่ใช้ง่ายที่สุดคือวง Facebook Group หรือ Line Group และจะยิ่งมีพลังหากครูใหญ่เข้าร่วมวงด้วย เพื่อหาทางสนับสนุนตามความเหมาะสม โดยขอย้ำว่า ต้องเป็นวงที่ครูสมัครใจเข้าเป็นสมาชิกของวง ไม่มีการบังคับ 

 ระดับที่ใหญ่ขึ้นคือ ระดับเขตการศึกษา หรือระดับจังหวัดที่เป็นพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาก็ได้ ไม่เป็นก็ได้ ซึ่งจะต้องมีผู้ริเริ่ม และมี “แม่ยก” หรือ “พ่อยก” ที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า sponsor ให้ทรัพยากรสนับสนุนตามความจำเป็น และที่สำคัญ ต้องมีกลุ่มครูแกนนำ เป็นผู้ก่อการและดำเนินการ สมาชิกเข้ามาโดยความสมัครใจ ไม่มีการบังคับ แต่มีเงื่อนไขว่า จะรับเข้าเป็นสมาชิกก็ต่อเมื่อได้อ่านต้นฉบับหนังสือเล่มนี้ แล้วเขียนใบสมัครโดยบอกว่าตนเองต้องการทำอะไร วัดความสำเร็จได้อย่างไร ทีมแกนนำเป็นผู้ประเมินและตอบรับหรือปฏิเสธการรับเข้าเป็นสมาชิก หรือวงไหนจะใช้วิธีเปิดรับโดยไม่ต้องสมัครและคัดเลือกก็ได้ แล้วแต่จะตกลงกัน

line2.jpg
(๑) เห็นข่าวเพิ่งอบรม ศน. จำนวนมาก กระบวนการนี้ต้องเข้าไปที่ ศน. โดยเฉพาะประถม และขยายไปใช้กับสาระวิชาอื่น หลายบทท้ายๆ เป็นหลักคิดที่ไม่จำกัดที่ literacy ด้าน พูด อ่าน เขียน ภาษา คือ สามารถใช้ได้หมดกับครูทุกคน

 ในระดับที่ใหญ่ขนาดนี้ ระบบสารสนเทศสนับสนุนกิจกรรมมีความสำคัญทีมแกนนำและพ่อยกแม่ยกต้องร่วมกันคิดว่าจะใช้ information platform แบบไหน ในการสนับสนุนกิจกรรม

 ระดับใหญ่ที่สุด คือ ระดับประเทศ ก็เช่นเดียวกัน ดำเนินการแบบไม่เป็นทางการ พ่อยกที่ผมเล็งไว้คือ กสศ. (สำนักงานกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา) เพราะวิธีการที่เสนอในหนังสือ ครูเพื่อศิษย์ สร้างการเรียนรู้สู่ระดับเชื่อมโยง เล่มนี้ หากดำเนินการได้ผลจริง จะนำไปสู่ความเสมอภาคทางการศึกษาในมิติหนึ่ง โดยทีมแกนนำที่ผมคิด น่าจะเป็นทีมครูใหญ่หรือผู้อำนวยการโรงเรียน จำนวน ๕ - ๑๐ คน ที่อ่านหนังสือเล่มนี้แล้ว “ของขึ้น” ต้องการลุกขึ้นมารวมตัวกันจัดระบบและยุทธศาสตร์ดำเนินการ

 platform การดำเนินการ ไม่ว่าระดับใด ใช้หลักการร่วมกันตั้งเป้าให้ชัด ในระดับมองเห็นได้ (visible) ตกลงมาตรการที่จะใช้ร่วมกัน แต่แยกกันทำ ตกลงเกณฑ์และวิธีการวัดผลที่ชัดเจน แล้วมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์และวิธีการกันเป็นระยะๆ อย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง 

 คณะครุศาสตร์ / ศึกษาศาสตร์ บางคณะอาจเข้าร่วมแจม ย้ำว่าเข้าร่วมแจม ไม่ใช่เป็นเจ้าของกระบวนการ เพราะเราต้องการให้ขบวนการดำเนินการตามหนังสือเล่มนี้ เป็นขบวนการระดับปฏิบัติ ระดับ “ครูเพื่อศิษย์” เป็นแกนนำ หรือเป็น change agent บทบาทสำคัญของสำนักผลิตครูคือ นำนักศึกษาครูเข้าไปร่วมกระบวนการและขบวนการนี้ เพื่อให้เมื่อเขาจบออกไปเป็นครู จะได้ออกไปร่วมเป็นแกนนำสร้าง transformation ให้แก่ระบบการศึกษาไทย โดยใช้หลักการและวิธีการในหนังสือครูเพื่อศิษย์ สร้างการเรียนรู้สู่ระดับเชื่อมโยง นี้ เป็นเครื่องมือหนึ่ง(๒)

line2.jpg
(๒) ควรไปอยู่ในกระบวนการฝึกประสบการณ์สอน ทั้งนี้ต้องจัดการภาคีที่เกี่ยวข้องให้เข้าใจตรงกัน คือ คุรุสภา ครูพี่เลี้ยง อาจารย์นิเทศ ปกตินักศึกษาฝึกประสบการณ์ต้องทำวิจัยในชั้นเรียนเป็นภาคบังคับ ซึ่งควรเปลี่ยนมาเป็น action research โดยกระบวนการนี้แล้วหา ES เป็นคำตอบ ครุศาสตร์ต้องเตรียมนักศึกษาให้พร้อมก่อน

กระทรวงศึกษาธิการ โดยเฉพาะสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) อาจเข้าไปสนับสนุนเชิงนโยบาย และจัดทรัพยากรให้ตามความจำเป็นโดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบายพัฒนาครูโดยเน้นวิธีการที่ครูรวมตัวกันพัฒนาตนเองจากการทำงาน ตามที่เสนอแนะในหนังสือเล่มนี้ และเข้าไปยกย่อง ให้รางวัล กลุ่มครู หรือโรงเรียน ที่ดำเนินการยกระดับผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักเรียนได้จริง มีหลักฐาน effect size ยืนยัน 

 ย้ำว่า ฝ่ายที่เป็นทางการและมีอำนาจ คือกระทรวงศึกษาธิการ และ สพฐ. ต้องไม่เข้าไปทำลายขบวนการนี้ โดยเข้าไปสั่งการ 

 ผมเชื่อว่า จะเกิดมิติใหม่ขึ้นในวงการศึกษาไทย มิติที่นักเรียนเรียนรู้อย่างมีความสุข บรรลุผลลัพธ์การเรียนรู้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ไม่มีนักเรียนคนใดถูกทอดทิ้ง มิติที่ครูทำงานอย่างมีเป้าหมายยิ่งใหญ่ในชีวิต... ครูเพื่อศิษย์ มีปิติสุขจากผลงาน และได้ใช้ผลงานที่แท้นี้ในการเลื่อนวิทยะฐานะ เป็นชีวิตครูที่มีความสุข 

 เกิดการฟื้นคุณภาพของระบบการศึกษาไทย ที่เกิดจากมาตรการที่ผู้ปฏิบัติงานระดับล่างรวมตัวกันพัฒนาขึ้นเอง โดยระดับบนให้การสนับสนุน ระบบการศึกษาไทยจะเป็นระบบที่เรียนรู้ มีการเรียนรู้ต่อเนื่องไม่หยุดยั้ง โดยมีเป้าหมายคือ ผลลัพธ์การเรียนรู้ของผู้เรียน
transform
change agent
ผู้นำการเปลี่ยนแปลง
platform
visible learning
ศาสตราจารย์ นายแพทย์ วิจารณ์ พานิช
นักเขียน
ศาสตราจารย์ นายแพทย์ วิจารณ์ พานิช
รองประธานกรรมการมูลนิธิสยามกัมมาจล นายแพทย์ผู้สนใจประเด็นการศึกษา เจ้าของผลงานหนังสือเกี่ยวกับการจัดการเรียนรู้หลากหลายเล่ม ตั้งแต่ เลี้ยงลูกยิ่งใหญ่, วิถีสร้างการเรียนรู้เพื่อศิษย์ในศตวรรษที่ 21, สนุกกับการเรียนในศตวรรษที่ 21 ฯลฯ
แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน
profile
กรุณา Login ก่อน comment
เนื้อหาทั้งหมด