ปกหน้า resize
ทฤษฎีการศึกษาการศึกษา

หนังสือครูเพื่อศิษย์ สร้างการเรียนรู้สู่ระดับเชื่อมโยง

อ่าน 461 นาที

ผมเขียนหนังสือนี้อย่างสนุกสนานในช่วงก่อนวันหยุดสิ้นปี 2 สัปดาห์ และใช้วันหยุดขึ้นปีใหม่ 2563 รวม 5 วันมุ่งมั่นเขียนให้เสร็จ และทำได้สำเร็จ ตามเป้าหมายที่กำหนด ทำให้ผมมีความสุขมาก ยิ่งเมื่อเขียน “บทส่งท้าย...ฝันใหญ่ เพื่อ transform การศึกษาไทย” ผมยิ่งมีความสุข เพราะเกิดความหวังว่า จะมีมาตรการเปลี่ยนแปลงการศึกษาไทยอย่างได้ผลจริง

เขียนโดยศาสตราจารย์ นายแพทย์ วิจารณ์ พานิช
18 ธันวาคม 2563
บทที่ 4 : เรียนรู้ระดับผิว (ตอนที่ ๑)
4.jpg
 บันทึกนี้ ตีความจากบทที่ 2 Surface Literacy Learning ในหนังสือหน้า 35 - 49

     ธรรมชาติของการเรียนรู้ดำเนินอย่างเป็นขั้นตอน คือ เรียนระดับผิวก่อน สั่งสมความรู้ระดับผิวเพื่อฝึกเชื่อมโยง ขยายความ สู่การคิดและเรียนรู้อย่างลึก การเรียนรู้ในช่วงแรกจึงเน้นวางพื้นฐานความรู้และความคิดระดับผิวก่อน และพร้อมๆ กัน ก็เตรียมสู่ความรู้และความคิดระดับลึกด้วย โดยดำเนินการอย่างเป็นขั้นตอน และการวัด ES ก็ต้องวัดตามระดับความลึกที่เป็นเป้าหมาย 

     ผมตีความว่า หัวใจสำคัญอยู่ที่ครู ต้องมีความเข้าใจ และมีทักษะการจัด การเรียนรู้ ๓ ระดับ เพื่อไม่หลงจัดย่ำอยู่กับการเรียนรู้ระดับตื้น ไม่ก้าวหน้าสู่ระดับลึกและระดับเชื่อมโยง ซึ่งหมายความว่า ครูต้องมีทักษะการประเมินผลการเรียนรู้ ๓ ระดับนี้ด้วย(๑) 

     นักเรียนก็ต้องเข้าใจ และฝึกทักษะการเรียนรู้ ๓ ระดับ รวมทั้งฝึกทักษะ การประเมินตนเอง สู่การเป็นคนที่คิดลึกและคิดเชื่อมโยง 
line2.jpg
(๑) ครูที่เก่งระดับเชื่อมโยงต้องเอาสถานการณ์จริงใกล้ตัวเด็กมาใช้ให้เด็กโยงระดับ ๒ มาตอบเฉพาะบริบทของระดับ ๓ แสดงว่าครูต้องเห็นการเชื่อมโยงก่อน แล้วจึงใช้การตั้งคำถาม guide การที่ครูเห็นทั้งหมดก่อนจึงสำคัญมากในการ coach เด็ก ปัญหาจึงอยู่ที่ต้องทำให้ครูเห็นการประยุกต์ความรู้ในบริบทต่างๆ ให้ได้

     กล่าวได้ว่า ทุกกิจกรรม ทุกบทเรียน นำไปสู่การเรียนรู้ทั้ง ๓ ระดับได้ทั้งสิ้น (แต่อาจจะดีมากดีน้อยแตกต่างกัน) ผู้ที่ทำให้การเรียนรู้เหมาะสม และเกิดผลตามเป้าหมายระดับการเรียนรู้คือครู โดยที่ในระดับผิวมีกิจกรรม ๒ อย่างคือ รับรู้ (acquire) กับ หลอมรวม (consolidate) เข้ากับความรู้เดิม 

ทำไมการเรียนรู้ระดับผิวจึงมีความสำคัญ 
line5.jpg
     การเรียนรู้ระดับผิวมีความจำเป็น เพราะเป็นพื้นฐานเริ่มต้นสำหรับการเรียนรู้ระดับต่อไปคือ ระดับลึก และระดับเชื่อมโยง หากการเรียนรู้ระดับผิวไม่มั่นคงการต่อยอดสู่ระดับลึกและเชื่อมโยงก็ทำไม่ได้ดี(๒)

     ปัจจัยสำคัญคือครูต้องมีทักษะในการใช้วิธีการที่มีผลกระทบต่อการเรียนรู้สูงในช่วงที่ต้องการเรียนระดับผิว คือการฝึกรับรู้ (acquire) และหลอมรวมความรู้ใหม่เข้ากับความรู้เดิม (consolidate)(๓) 

     กาละ เป็นเรื่องสำคัญ ครูต้องรู้ว่า เมื่อไรจะต้องใช้วิธีการอะไร เพื่อส่งเสริมการรับรู้และการหลอมรวมความรู้ใหม่เข้ากับความรู้เดิม การนำเอาวิธีการเพื่อการเรียนรู้ระดับลึกและระดับเชื่อมโยง (เช่น PBL - Problem-Based Learning) เข้ามาตั้งแต่ต้น ในช่วงที่นักเรียนควรเรียนพื้นความรู้ระดับตื้นก่อน จะทำให้การเรียนรู้ไม่ได้ผลดี และการประเมินความรู้ระดับลึกและเชื่อมโยง เช่น ตั้งคำถามเชิงประยุกต์ ก็ไม่ถูกกาละในช่วงนี้ ดังนั้น คำพูดที่ว่า คำถามความคิด (inferential question) ดีกว่าคำถามความจำ (recall question) จึงไม่ใช่คำพูดที่ถูกต้องเสมอไป ในขั้นเรียนรู้ระดับผิว คำถามความจำ เป็นสิ่งที่ถูกต้อง(๔)

line2.jpg
(๒) จริงมากๆ หลายคนคิดว่า Bloom’s ขั้น ๑ ไม่สำคัญ (ส่วนหนึ่งเพราะ O - Net สอบที่ขั้น ๑ คนเลยพาลรังเกียจจาก O - Net) บางคนอ้างว่าความรู้หาได้ทั่วไปจาก internet เราไม่ต้องจำ การจำความรู้  สำคัญเพราะนอกจากเป็นฐานขั้น ๒ และ ๓ แล้ว ความจำยังทำให้มนุษย์สงสัยเมื่อมีประสบการณ์ไม่ตรงกับ ความจำที่มีอยู่ ความสงสัยเป็นบ่อเกิดการค้นหาความจริง ปัญหาของการศึกษาคือ การคิดว่าการเรียนรู้อยู่ที่ขั้น ๑ เท่านั้น ครูไม่กล้าออกไปเอางานขั้น ๓ มาสอน เพราะครูถูกทำให้ไม่มั่นใจมาตลอดจากการ “ทำตามคู่มือ” 

(๓) ปัญหาครูคือไม่ค่อยมีเวลา จึงเรียนต่อๆ กันไป โดยไม่ย้อนกลับไปหลอมกับความรู้เดิมที่เรียนชั่วโมงก่อน  ทางแก้คือให้เรียนหลักๆ ที่เป็นหลักการ จากนั้นให้รู้จริงจากการ coach เอาหลักการไปใช้จากการเรียนขั้นที่ ๓ (ประยุกต์ใช้งาน) ซึ่งเด็กต้องเรียนในสภาพจริง (authentic Learning)

(๔) จะอธิบายเรื่องนี้ต้องยกการท่องสูตรคูณที่เป็นหลักฐานชัด ประโยชน์ของขั้น ๑ (ผิว) เราโพล่ง “เจ็ดสี่ยี่สิบแปด” โดยไม่ต้องเริ่ม “เจ็ดหนึ่งเจ็ด เจ็ดสองสิบสี่ ไปถึงเจ็ดสี่ยี่สิบแปด” เพราะจำจากท่อง การคิดว่ามีเครื่องคิดเลขแล้วไม่ต้องจำ เป็นความคิดที่ผิดมากๆ ทำให้คิดในใจไม่เป็น ประมาณค่าไม่ได้ ขาด sense ทางเลขคณิตศาสตร์หลายอย่าง

หลักการของการสอน จึงต้องคำนึงถึงบริบทของนักเรียน ว่าอยู่ที่การเรียนรู้ระดับไหน และกำลังพัฒนาไปสู่ระดับใด ใน ๓ ระดับของการเรียนรู้

รับและหลอมรวม (acquisition and consolidation)
     การเรียนรู้ระดับผิว (และระดับลึก) ประกอบด้วย ๒ ขั้นตอนคือ การรับรู้ และการหลอมรวม ในขั้นตอนรับรู้ วิธีจัดการเรียนรู้ทำโดยให้นักเรียนสรุป (summarize) และบอกโครงเรื่อง (outline) ของการเรียน ส่วนขั้นตอนหลอมรวม เรียนรู้ได้ โดยให้นักเรียนทำข้อทดสอบ หรือปฏิบัติ และได้รับคำแนะนำป้อนกลับ(๕) 

      เขาเปรียบเทียบการเรียนช่วงนี้กับการเริ่มหัดขับรถ ซึ่งต้องเริ่มที่การเรียนรู้ระดับผิวก่อน ได้แก่ ทำความรู้จักกฎจราจร และป้ายจราจร แล้วจึงทำความรู้จักรถยนต์ ได้แก่ พวงมาลัย เกียร์ คันเร่ง เบรค กระจกมองหลัง ฯลฯ แล้วฝึกวิธีหมุนพวงมาลัย เปลี่ยนเกียร์ เหยียบ - ถอนคันเร่ง เหยียบ - ถอนเบรก ขยับกระจกมองหลัง นี่คือความรู้ระดับผิว ที่มักเรียกกันว่า เบสิก ในขั้นตอนแรก คือการรับรู้ ในขั้นนี้ การสอนเทคนิคการขับรถบนท้องถนน เป็นการสอนที่สูญเปล่า ไร้ประโยชน์ ยังไม่ถึงเวลา 

     ขั้นตอนที่สอง คือการทำความเข้าใจในเรื่องการหัดขับรถก็คือ การฝึกขับรถให้รถเคลื่อนที่อย่างราบเรียบไม่กระตุก เลี้ยวโค้งได้อย่างราบรื่นไม่ปีนขอบถนนขับเดินหน้าถอยหลังได้ ถอยหลังเข้าจอดชิดขอบทางได้ ฯลฯ ในขั้นตอนนี้ ต้องการครูฝึกคอยให้คำแนะนำและคำแนะนำป้อนกลับมากมาย ขั้นตอนนี้เรียกว่า ขั้นหลอมรวม (consolidation)(๖) 

     หัวใจของผู้ทำหน้าที่ครูคือต้องสังเกตให้เห็นความก้าวหน้า (หรือไม่ก้าวหน้า) ของการเรียนรู้ของศิษย์เป็นรายคน ให้คำแนะนำป้อนกลับ และสังเกตผลกระทบของสิ่งที่ครูปฏิบัติ ต่อการเรียนรู้ของศิษย์ นี่คือหลักการของการเรียนรู้อย่างเห็นผล
ประจักษ์ชัด 
line2.jpg
(๕)ผมคิดว่าการหลอมรวมที่สุดยอดคือให้นักเรียนออกข้อสอบครับ ให้ครูถอดการรู้ระดับต่างๆ ของนักเรียนจากความซับซ้อนของข้อสอบ ยิ่งเป็นข้อสอบที่เอาบริบทใกล้ตัวมาเดินเรื่องก็ยังจะประเมินการหลอมรวมได้หลายมิติมาก

(๖) สอบเอาใบขับขี่จากปฏิบัติ ไม่ใช่ทำข้อสอบในกระดาษ เพราะการขับรถเป็นทักษะที่ได้จากการปฏิบัติบ่อยๆ จนสามารถทำได้จากการคาดการณ์ที่เกิดจากการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างมือ เท้า ตา ความเร็ว ระยะทางสิ่งแวดล้อมใกล้ตัวรถ ฯลฯ ตอนผมทำใบขับขี่ที่ออสเตรเลียผมสอบกระดาษเสร็จแล้ว จนท. ถามว่าเคยขับรถเลนซ้ายมาก่อนไหม เคยมีอุบัติเหตุไหม ผมตอบว่าเคยขับในกรุงเทพ ไม่มีอุบัติเหตุ เขาว่า “In Bangkok!, no accident, OK you pass”

รับความรู้อย่างเห็นชัด
     หนังสือเล่มนี้เน้นเฉพาะการเรียน เพื่ออ่านออกเขียนได้ (literacy) ดังกล่าวแล้วในตอนที่ ๑ คือเน้นที่การอ่าน เขียน ฟัง พูด คิด ซึ่งแค่นี้ก็เป็นการสอนที่ซับซ้อนมาก  เพราะนักเรียนจะต้องใช้ทักษะเหล่านี้เพื่อหาความรู้เพิ่ม เพื่อวิเคราะห์แนวความคิด เพื่อการแสดงออก และเพื่อสร้างความรู้ใหม่ที่อาจนำไปใช้โดยผู้อื่น 

โปรดอย่าเข้าใจผิดว่า การรับความรู้เป็นทักษะการเข้ารหัส และแปลรหัส เป็นตัวๆ ไป

เด็กอนุบาลมีความสามารถรับความรู้ และพัฒนาทักษะเป็นด้านๆ และพัฒนาสู่การคิดซับซ้อน หากมีเวลาและได้รับการสอนที่ดี ในด้านวิธีการรับความรู้ วิเคราะห์ความคิด ฯลฯ โดยการเรียนรู้เหล่านี้เริ่มจากการเรียนรู้วิธีรับความรู้ที่ดี โดยมีปัจจัยสำคัญ ๔ ประการคือ 
  • การยกระดับความรู้เดิม
  • การสอนวิธีออกเสียง และสอนโดยตรง
  • การสอนคำ
  • การอ่านเอาเรื่อง
มีข้อเตือนใจ ๒ ประการสำหรับครู สำหรับการจัดการเรียนรู้เพื่ออ่านออกเขียนได้(๗) 
  ๑. ครูส่งสัญญาณเป้าหมายการเรียนรู้ และเกณฑ์ความสำเร็จ อย่างชัดเจนเพื่อให้เด็กรู้ว่า ตนกำลังเรียนอะไร ทำไมต้องเรียน และนักเรียนจะรู้ได้อย่างไรว่าตนเรียนบรรลุเป้าหมาย รวมทั้งเพื่อให้นักเรียนมีบทบาทในการเรียนรู้มากที่สุด
  ๒. ครูไม่ยึดมั่นวิธีการจัดการเรียนการสอนรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง มุ่งมั่นที่การเรียนรู้ของศิษย์ โดยครูจ้องประเมินผลของการกระทำของตนต่อการเรียนรู้ของศิษย์อยู่ตลอดเวลา หากพบว่าไม่เกิดการเรียนรู้ ครูต้องเปลี่ยนวิธีการ(๘)

line2.jpg
(๗) PISA เราได้คะแนนน้อยเรื่อง reading literacy สพฐ. น่าจะเอาประเด็นนี้มาลอง

(๘) อ่านแล้วเข้าใจได้ว่า formative assessment + creative thinking + facilitating technique เป็น
สิ่งที่ต้องเร่งพัฒนาครู


ยกระดับความรู้เดิม
    ความสำเร็จในการเรียนขึ้นอยู่กับความรู้เดิม การเรียนรู้เป็นกระบวนการต่อยอดความรู้เดิม หากครูสอนความรู้ใหม่ที่นักเรียนไม่มีความรู้เดิมไว้รองรับ การเรียนรู้ก็ไม่เกิด ดังนั้นครูจึงต้อง (๑) ตรวจสอบว่านักเรียนมีความรู้เดิมแค่ไหน และ (๒) จัดกระบวนการเรียนรู้เพื่อต่อยอดหรือยกระดับจากความรู้เดิม(๙)

     ความรู้เดิมของนักเรียนในเรื่องใดเรื่องหนึ่งอาจเป็นเสี่ยงๆ เลือนราง ไม่ครบ และยุ่งเหยิง และที่ร้ายที่สุดคือ รู้มาผิดๆ ครูจึงต้องมีเครื่องมือประเมินความรู้เดิมของนักเรียน และดำเนินการประเมิน เครื่องมือที่เขาแนะนำคือ anticipation guide 
(อ่านเพิ่มเติมได้ใน https://bit.ly/2WnRaQm ) หลักการคือ ครูเตรียมกระดาษหนึ่งหน้า แบ่งเป็น  ๓ ช่อง ช่องกลางเป็นช่องหลัก เขียนข้อความที่เป็นความรู้เดิม ช่องซ้ายเป็นช่องก่อนเรียน ช่องขวาเป็นช่องหลังเรียน ให้นักเรียนเขียนแค่ A (agree) หรือ D (disagree) 
การตอบอาจให้นักเรียนทำคนเดียว หรือร่วมกันทำสองสามคนก็ได้ โดยอาจมีช่องเพิ่มให้บอกเหตุผลว่าทำไมเห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วย 

     จะเห็นว่า anticipation guide จะช่วยทั้งครูและนักเรียน ช่วยให้ครูรู้ว่านักเรียนแต่ละคนมีความรู้เดิมแค่ไหน ในลักษณะใด ช่วยให้นักเรียนได้ฟื้นความรู้เดิม และทำให้มั่นคงแข็งแรงขึ้น เตรียมพร้อมรับความรู้ใหม่ 
 
     ผมตีความว่า anticipation guide เป็นทั้งตัวกระตุ้นความรู้เดิม และเป็นทั้ง ตัวไกด์เป้าหมายการเรียนรู้ เป็นเครื่องมือง่ายๆ ใช้เวลาไม่กี่นาที แต่มีพลังช่วยการเรียนรู้ได้มาก 
line2.jpg
(๙) มี TED Talk การศึกษาตอนหนึ่งที่บอกว่าเมื่อเรียนชั้นที่ ๑ เราผ่าน ๘๐% ได้ A พอขึ้นชั้น ๒ ปรากฏว่า  ๒๐% ที่ไม่ผ่านนั้นมัน essential มาก ชั้น ๒ จึงผ่าน ๕๐ ไม่ผ่าน ๕๐ แล้วการผ่านจะน้อยลงเรื่อยๆ ไปจนจบโดยไม่รู้อะไรเลย เหมือนการรับมอบการก่อสร้าง ฐานรากใส่เหล็กขนาดเล็กไป ๒๐% ถือว่าผ่าน ให้เทคาน ปูนคาน set ตัวได้ ๘๐% ถือว่าผ่านให้เทพื้น อย่างนี้อาคารพัง

      อีกเครื่องมือหนึ่งคือ cloze procedure (อ่านเพิ่มเติมได้ใน https://study.com/academy/lesson/cloze-procedure-technique-and-definition.html#:~:text=The%20cloze%20procedure%20is%20a,provides%20valuable%20reading%
20comprehension%20information) ซึ่งก็คือคำถามแบบให้เติมคำลงในช่องว่างของข้อความ ซึ่งมีประโยชน์หลายอย่าง และมีรายละเอียดวิธีสร้างข้อความเพื่อเป็นโจทย์ที่เหมาะสมตามลิ้งก์ที่ให้ไว้(๑๐) 

      ความสำเร็จในการเรียนช่วงก่อน (prior achievement) มีผลต่อความสำเร็จของการเรียนรู้ในอนาคต (future achievement) EF = ๐.๖๕ 

     เป้าหมายของการเรียนรู้ในระดับนี้คือ นักเรียนบอกได้ว่าประเด็นหลักของเรื่องที่เรียนคืออะไร 

สอนวิธีออกเสียง และ direct instruction 
line5.jpg
การฝึกทักษะการอ่านขั้นรับรู้ ขั้นหลอมรวม และขั้นลึก ต้องการการสอนอย่างมีหลักการและวิธีการ ตลอดช่วงชั้นอนุบาลถึง ม. ๖ เป็นเรื่องที่ต้องเรียนรู้ม่สามารถเรียนได้ด้วยตนเองตามธรรมชาติเหมือนอย่างการพูด เพราะการพูดเป็นสัญชาตญาณตามธรรมชาติของมนุษย์ที่วิวัฒนาการมากับความเป็นมนุษย์ เมื่อเวลาระหว่าง ๑.๗๕ ล้านปี ถึง ๕ หมื่นปีมาแล้ว แต่ตัวหนังสือและการอ่าน เป็นสิ่งที่
มนุษย์สร้างขึ้นเมื่อประมาณ ๖ พันปีมานี้เอง โดยที่มนุษย์ต้องใช้โครงสร้างการพูดในชีวิตประจำวันช่วยฝึกการอ่าน การฝึกให้สมองคุ้นเคยกับการอ่าน ต้องการการดำเนินการที่จำเพาะ ที่เรียกว่า “การสอนอ่านที่ได้ผลดี” (effective reading 
instruction) อ่านเพิ่มเติมได้ใน https://www.tandfonline.com/doi/full/10.1080/10573560802683523 

line2.jpg
(๑๐) ภาษาอังกฤษใช้ cloze technique ได้ดีกว่าภาษาไทย เพราะ structure ประโยคชัดเจน ผู้เรียนเริ่มจากวิเคราะห์ว่าคำปริศนาเป็นคำประเภทใดก่อน จากนั้นจึงวิเคราะห์ว่าเป็นคำที่มีความหมายใด และจึงดึงคำศัพท์จากคลังมาใช้ คำตอบค่อนข้างชัดเจน แต่กับภาษาไทยวิธีนี้น่าจะไม่ง่าย ซึ่งในความไม่ง่ายนี้ก็น่าสนใจมากที่น่าจะสร้างความหลากหลายของคำตอบในการเรียนรู้ ทำให้เกิดข้อวิพากษ์ไปถึง critical thinking ได้ (ครูต้องเก่งมากๆ)

ทักษะการอ่านประกอบด้วย ๖ ทักษะย่อย ที่ในที่สุดจะรวมกันเข้าเป็นหนึ่งเดียว ได้แก่
  • การรับรู้เสียง
  • การรับรู้สัญลักษณ์
  • การเชื่อมโยงเสียงกับสัญลักษณ์
  • ทำได้อย่างเป็นอัตโนมัติ
  • รู้ความหมายของคำและพยางค์
  • อ่านรู้ความหมาย

๔ ทักษะแรกเมื่อฝึกดีแล้วก็เป็นอันจบ ไม่ต้องฝึกต่อ ครูต้องเอาใจใส่ ๓ ทักษะแรกจริงจังเพียงแค่ถึง ป. ๓ เท่านั้น และเอาใจใส่สอนทักษะที่ ๔ ไปถึงประมาณ ม. ๒ สี่ทักษะนี้รวมเรียกว่า constrained skills คือมีขอบเขตแน่นอนตายตัว เช่น ภาษาไทยมีพยัญชนะ ๔๔ ตัว สระ ๒๑ รูป วรรณยุกต์ ๕ ตัว แต่ ๒ ทักษะหลังจะมีการเรียนรู้และพัฒนาไปตลอดชีวิต และครูต้องเอาใจใส่พัฒนาให้ศิษย์ไปจนจบ ม. ๖ สองทักษะหลังรวมเรียกว่า unconstrained skills

ผมขอเสนอว่า น่าจะมีทักษะย่อยที่ ๗ ของการอ่านคือ อ่านรู้ความงาม ได้อารมณ์และสุนทรียภาพ ซึ่งเข้าใจว่าครูไทยเอาใจใส่อยู่แล้ว 
และในกรณีนี้ สัญลักษณ์ของการอ่านขยายไปสู่สัญลักษณ์ที่ไม่ตายตัวด้วย คือทัศนศิลป์ อ่านรู้ความงามน่าจะรวมอยู่ใน unconstrained skills(๑๑) 

ครูมีหน้าที่ต้องสอนทั้ง constrained skills และ unconstrained skills โดยเฉพาะอย่างยิ่งครูชั้นประถมศึกษา พื้นฐานสำคัญคือ การฝึกออกเสียง สัมพันธ์กับตัวอักษร เชื่อมโยงไปสู่การตีความตัวหนังสือที่ตามกันมาเป็นทิวแถว ทั้งหมดนั้น ก็เพื่อฝึกสมองให้คล่องแคล่ว ทำได้อย่างเป็นอัตโนมัติ ซึ่งหมายความว่า โครงสร้างของสมองได้เปลี่ยนแปลงไป ให้รับรู้และเข้าใจความหมายของภาษาเขียนได้โดยอัตโนมัติ และบรรจุทักษะนี้ไว้ในความจำระยะยาว (longterm memory) โดยครูต้องเข้าใจว่าศิษย์แต่ละคนกำลังเรียนได้ถึงขั้นไหน ต้องการความช่วยเหลือตรงจุดไหน(๑๒) 

line2.jpg
(๑๑) ผมขอเพิ่มการอ่านรู้ความคิดซ้อนเร้น (ระหว่างบรรทัด) ต้องอ่านทั้งเรื่องให้เข้าใจจึงจะเห็นเจตนาที่ซ่อนเร้น เด็กที่มีทักษะนี้จะมีภูมิคุ้มกันด้านการรับรู้ข้อมูลข่าวสารช่องทางอื่นที่ไม่ใช่แค่จากการอ่าน

(๑๒) บันทึกตอนนี้ทำให้ผมนึกถึงเทคนิค think aloud ของ meta - cognition เขาว่าเราคิดอะไรก็ให้ออกเสียงมา มันจะช่วยให้เกิดอภิปัญญาได้ คือรู้กระบวนการคิดของตนเองง่ายขึ้น ใน YouTube มีเรื่องนี้อยู่

ภาษาพูด เรียนรู้อย่างเป็นธรรมชาติ ภาษาเขียน เรียนรู้อย่างมีวิชาการ ต้องมีครู และหากมีการสอนผิดๆ อาจก่อผลร้ายต่อชีวิตของเด็กไปตลอดชีวิต เพราะนี่คือพื้นฐานไปสู่การเรียนรู้ขั้นสูงต่อไปในชีวิต 

direct instruction 
เป็นการให้ผู้เรียนฝึกปฏิบัติ หรือทำเอง ครูคอยให้คำแนะนำป้อนกลับ แก้ไขการออกเสียง บอกคำอ่านที่ถูกต้อง บอกเป้าหมายและคุณค่าของการเรียนรู้ในขั้นนี้ว่ามีความหมายต่อชีวิตภายหน้าอย่างไร EF ของ direct instruction = ๐.๕๙ 

หลักการของ direct instruction มีดังต่อไปนี้
  • มีเป้าหมายการเรียนชัด และทำให้เด็กสนุกกับการเรียน
  • ครูสอน และตรวจสอบผลการเรียนรู้ของนักเรียน
  • ให้ทำแบบฝึกหัด ครูคอยแนะนำ และให้ feedback
  • ครูมีเกณฑ์ความสำเร็จในการเรียน สำหรับใช้ประเมินผล
  • สรุปเพื่อจบบทเรียน ให้นักเรียนทบทวนเป้าหมายการเรียน เกณฑ์วัด ความสำเร็จ และประเด็นเรียนรู้ที่สำคัญ
  • ให้นักเรียนมีโอกาสฝึกฝนด้วยตนเอง 
      ครูต้องมีทักษะในการ “มองเห็น” ความคิดในหัว (สมอง) ของศิษย์ และสนุกกับ การมีปฏิสัมพันธ์เชิงบวกกับกิจกรรมที่ศิษย์กำลังทำ เพื่อสนับสนุนการเรียนรู้ อย่างมีเป้าหมายของศิษย์ นี่คือทักษะจำเป็นของครู ที่คณะครุศาสตร์/ ศึกษาศาสตร์ต้องฝึกให้แก่นักศึกษาครู และเป็นประเด็นของ PLC ของครูในโรงเรียน(๑๓) 

line2.jpg
(๑๓) “มองเห็นความคิดในหัวเด็ก” คือปัจจัยสำคัญของ “ถามคือสอน” หรือ coaching ครับ นอกจากมองเห็นความคิดแล้วครูต้องเห็นขั้นตอนการประกอบความคิดมาเป็นคำตอบด้วย เพราะจะทำให้เข้าใจวงจร (เด็ก)สุ (เด็ก)จิ (เด็ก)วิ(สัชนา) (ครู)สุ (ครู)จิ (ครู)ปุ.... เป็นวงจรสืบเนื่องไป
ดาวน์โหลดเอกสาร
Surface Literacy Learning
เรียนระดับผิว
การเรียนรู้ระดับตื้น
การเรียนรู้ระดับลึก
การเรียนรู้ระดับเชื่อมโยง
ยกระดับความรู้เดิม
anticipation guide
cloze procedure
ศาสตราจารย์ นายแพทย์ วิจารณ์ พานิช
นักเขียน
ศาสตราจารย์ นายแพทย์ วิจารณ์ พานิช
รองประธานกรรมการมูลนิธิสยามกัมมาจล นายแพทย์ผู้สนใจประเด็นการศึกษา เจ้าของผลงานหนังสือเกี่ยวกับการจัดการเรียนรู้หลากหลายเล่ม ตั้งแต่ เลี้ยงลูกยิ่งใหญ่, วิถีสร้างการเรียนรู้เพื่อศิษย์ในศตวรรษที่ 21, สนุกกับการเรียนในศตวรรษที่ 21 ฯลฯ
แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน
profile
กรุณา Login ก่อน comment
เนื้อหาทั้งหมด