ปกหน้า resize
ทฤษฎีการศึกษาการศึกษา

หนังสือครูเพื่อศิษย์ สร้างการเรียนรู้สู่ระดับเชื่อมโยง

อ่าน 461 นาที

ผมเขียนหนังสือนี้อย่างสนุกสนานในช่วงก่อนวันหยุดสิ้นปี 2 สัปดาห์ และใช้วันหยุดขึ้นปีใหม่ 2563 รวม 5 วันมุ่งมั่นเขียนให้เสร็จ และทำได้สำเร็จ ตามเป้าหมายที่กำหนด ทำให้ผมมีความสุขมาก ยิ่งเมื่อเขียน “บทส่งท้าย...ฝันใหญ่ เพื่อ transform การศึกษาไทย” ผมยิ่งมีความสุข เพราะเกิดความหวังว่า จะมีมาตรการเปลี่ยนแปลงการศึกษาไทยอย่างได้ผลจริง

เขียนโดยศาสตราจารย์ นายแพทย์ วิจารณ์ พานิช
18 ธันวาคม 2563
บทที่ 8 : ประเมินผลกระทบ
8.jpg
บันทึกนี้ ตีความจากบทที่ 5 Determining Impact, Responding When the Impact Is Insufficient, and Knowing What Does Not Work ในหนังสือ หน้า 133 - 167

สาระสำคัญของบันทึกนี้คือ ครูต้องประเมินผลกระทบของบทเรียนต่อการเรียนรู้ของนักเรียน และใช้ข้อมูลมาคิดดำเนินการปรับปรุงวิธีสอนของตน รวมทั้งใช้ข้อมูล นักเรียนที่เรียนอ่อนและต้องการความช่วยเหลือ ในการดำเนินการช่วยเหลือเป็นรายคน เพื่อให้นักเรียนทุกคนบรรลุผลลัพธ์การเรียนรู้ตามเกณฑ์ที่กำหนด และครูต้องไม่หลงใช้วิธีการจัดการศึกษาผิดๆ ที่มีผลการวิจัยพิสูจน์แล้วว่าไม่ให้ผลดีต่อการเรียนรู้ของนักเรียน 

 นักเรียนต้องไปโรงเรียนอย่างมีความสุข และบทเรียนต้องก่อผลลัพธ์การเรียนรู้อย่างมีระดับผลกระทบสูง (high effect size) เป็นหน้าที่ของครูมืออาชีพที่จะต้องรับผิดชอบว่าบทเรียนที่ตนจัดให้ และสภาพบรรยากาศในชั้นเรียน มีผลดังกล่าว
ต่อศิษย์ ย้ำว่า เป็นความรับผิดชอบทางวิชาชีพ 

หาค่าผลกระทบ
line7.jpg
 การวัดผลกระทบต่อการเรียนรู้ นิยมวัดเป็น effect size โดยมีค่า ๐.๔๐ เป็นจุดตัด ค่า ES = ๐.๔๐ เป็นค่าเฉลี่ยของพัฒนาการเรียนรู้ของนักเรียนในเวลา ๑ ปี  ดังนั้น วิธีจัดการบทเรียนที่ให้ ES ต่ำกว่า ๐.๔๐ จึงถือว่าให้ผลต่ำกว่ามาตรฐาน ต้องการการเปลี่ยนแปลงหรือปรับปรุง

 ครูต้องมี “ความรู้สึกรับผิดชอบว่างานที่ทำก่อผลดี” (sense of efficacy) ซึ่งหมายความว่า มีความรู้สึกรู้ร้อนรู้หนาวต่อผลลัพธ์การเรียนรู้ของศิษย์ ครูที่ รับผิดชอบสูง มีลักษณะดังต่อไปนี้ 
  • เตรียมสอน และจัดระบบการสอน
  • เปิดกว้างต่อแนวคิดใหม่ๆ และพร้อมที่จะลองวิธีการใหม่ๆ เพื่อสนองความ ต้องการของนักเรียน
  • อดทน มานะพยายาม และยืดหยุ่น ในสภาพที่มีปัญหา
  • ไม่ตำหนินักเรียนที่ทำงานผิดพลาด
  • ไม่ค่อยส่งเด็กที่มีปัญหาการเรียน ไปให้ครูผู้เชี่ยวชาญดำเนินการช่วยเหลือ (หมายความว่า ครูคิดหาทางช่วยเหลือด้วยตนเองก่อน จะส่งไปให้ผู้เชี่ยวชาญก็ต่อเมื่อพบว่าเกินความสามารถของตนในการช่วยให้ได้ผล) 
ครูที่ดีจะนำเรื่องการดำเนินการเพื่อให้ศิษย์ทุกคน บรรลุผลการเรียนที่กำหนด มาปรึกษาหารือกัน ที่เราเรียกกันว่า กระบวนการ PLC - Professional Learning  Community ซึ่งผมเรียกว่า “ชุมชนเรียนรู้ ครูเพื่อศิษย์” (อ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://goo.gl/inDDmA) และในหนังสือเล่มนี้บอกว่าจะนำไปสู่ผลงานของ “ชุมชนครูผลลัพธ์สูง” (collective teacher efficacy) ที่มีอุดมการณ์ร่วมว่าเมื่อครูร่วมมือกัน ทำเพื่อศิษย์ จะก่อผลดีต่อการเรียนรู้ของศิษย์ ในลักษณะที่สามารถช่วยเหลือนักเรียนที่มีปัญหาการเรียนสุดๆ ได้ (ไม่ทิ้งนักเรียนคนหนึ่งคนใดไว้ข้างหลัง)
ลมหายใจเข้าออกของสมาชิกชุมชนเรียนรู้ครูเพื่อศิษย์ คือ ผลลัพธ์การเรียนรู้ ของศิษย์ (ทุกคน) ES ของชุมชนครูมีผลลัพธ์สูงถึง ๑.๕๗

ครูเพื่อศิษย์ ต้องตระหนักในหลัก ๔ ประการ ของบทเรียนที่ดี
  ๑. แต่ละบทเรียนต้องมีเป้าหมายการเรียนรู้ที่ชัดเจน 
  ๒. แต่ละเป้าหมายมีเกณฑ์ความสำเร็จชัดเจน อย่ามีหลายเกณฑ์จนเฝือ 
  ๓. เกณฑ์ความสำเร็จระบุระดับคุณภาพชัดเจน ที่นักเรียนเข้าใจได้ง่าย เพื่อ ท้าทายให้นักเรียนวางเป้าหมายของตนที่ความสำเร็จระดับคุณภาพสูง
  ๔. นักเรียนต้องได้รับรู้ว่า ขณะนั้นตนอยู่ตรงไหน ในเกณฑ์ความสำเร็จโดยนักเรียนเข้าใจว่า การเรียนรู้มีลักษณะต่อเนื่อง (continuum) การทำ   ผิดพลาดเป็นโอกาสของการเรียนรู้ และตนเองสามารถเรียนรู้เพิ่มเติมได้ 

การหาค่าผลกระทบ
line7.jpg
ประเมินก่อนสอน (pre - assessment) 
 การประเมินก่อนสอน (ที่วงการศึกษาไทยนิยมเรียกว่า pre - test) มีประโยชน์ ๒ ประการ
 ๑. เก็บผลเอาไว้เปรียบเทียบกับผล post - assessment สำหรับใช้คำนวณหา  effect size
 ๒. ช่วยให้ครูรู้ว่า นักเรียนคนไหนพื้นความรู้เดิมอ่อนแอ และต้องการความช่วยเหลือ  พิเศษ ให้ครูนำมาใช้ออกแบบดำเนินการช่วยเหลือต่อไป 

ประเมินหลังสอน (post - assessment หรือ post - test)
หลังสอนจบบทเรียน ก็ดำเนินการทดสอบผลซ้ำทันที ด้วยแบบทดสอบเดียวกันกับ pre - assessment 

วิธีคำนวณและตีความ Effect Size 
 นำคะแนนของนักเรียนแต่ละคนในชั้นมาลงใน excel spreadsheet ซึ่งจะคำนวณ mean และ SD ของคะแนนของนักเรียนทั้งชั้น ให้แยกเป็นของชุด pre - assessment  และของชุด post - assessment นำค่า SD ของทั้งสองชุดมาบวกกันหารด้วย ๒ เป็นค่า SD เฉลี่ย สำหรับใช้ในการคำนวณ effect size

Effect Size = (mean post - assessment - mean pre - assessment) / SD เฉลี่ย
คำนวณค่า effect size ของนักเรียนแต่ละคนได้โดย เอาค่าคะแนน post -assessment ลบด้วยค่าคะแนน pre - assessment หารด้วยค่า SD เฉลี่ย ครูก็จะรู้ว่า นักเรียนคนไหนบ้างที่ค่า effect size ต่ำกว่า ๐.๔๐ และต้องการความช่วยเหลือพิเศษต่อไป 

 การนำผล ES ของนักเรียนแต่ละคนบอกให้เจ้าตัวทราบ สำหรับนำมาพูดคุยกับนักเรียนแต่ละคน เพื่อเป็นข้อเรียนรู้เพื่อให้นักเรียนพัฒนาวิธีเรียนของตนและตั้งเป้าหมายสูงในบทเรียนต่อไป โดยนักเรียนมั่นใจว่าจะมีครูอยู่เคียงข้างคอยให้คำแนะนำช่วยเหลือ จะทำให้นักเรียนมุ่งมั่นต่อการเรียนของตน ตามหลัก สอนเข้ม เพื่อศิษย์ขาดแคลน (อ่านเพิ่มเติมได้ที่ ttp://bit.ly/33iD7wu) บทที่ ๕ ตั้งเป้าหมายสูงลิ่ว

จะเห็นว่า effect size เป็นเครื่องมือสำคัญยิ่ง ที่ทำให้นักเรียนและครูเห็นผลการเรียน และวิธีการเรียน ชัดเจน ที่เรียกว่า visible learning ตามชื่อหนังสือ Visible Learning for Literacy 

 ข้อเตือนใจสำคัญคือ อย่าหลงตีความว่า effect size บอกความเป็นเหตุเป็นผล มันบอกเพียงความสัมพันธ์เท่านั้น เช่น ชุมชนครูผลลัพธ์สูง สัมพันธ์กับ ES = ๑.๕๗ 

ดำเนินการเมื่อผลกระทบไม่สูงเท่าที่ต้องการ 
line8.jpg
 หากผล ES ของนักเรียนทั้งชั้นต่ำกว่า ๐.๔๐ ครูจะนัดปรึกษาหารือ ทำความเข้าใจว่าทำไมวิธีสอนที่ใช้ จึงได้ผลไม่เป็นที่น่าพอใจ และจะแก้ไขอย่างไร ออกแบบการเรียนใหม่อย่างไร สิ่งที่ไม่ทำคือสอนใหม่ด้วยวิธีการเดิม 

 วิธีการหนึ่งที่เล่าในหนังสือคือ สอนใหม่โดยครูพูดความคิดของตนออกมาดังๆ เท่ากับสอนวิธีคิดว่าด้วยการเรียน (metacognition) ตรงๆ ว่าในการทำโจทย์ ขั้นตอนนี้ครูทำอย่างนี้เพราะคิดอย่างไร มีหลักฐานอะไรว่าทำอย่างนั้นแล้วจะได้ผลดี ครูเอาร่างผลงานร่างแรกมาให้นักเรียนดู แล้วบอกว่าเมื่อทบทวนแล้วครูคิดว่าตรงไหน ที่ยังต้องปรับปรุง เพราะอะไร และเอาร่างที่สองที่ปรับปรุงครั้งที่ ๑ ให้ดู แล้วอาจทบทวนร่างที่สองให้นักเรียนฟังอีก หรือร่วมกันทบทวนระหว่างครูกับนักเรียน นี่คือการสอนให้นักเรียนเรียนรู้และพัฒนาวิธีเรียน (metacognition) ของตน(๑)

 ครูอาจเอาผลการเรียนของนักเรียนมาคุยเป็นรายคน โดยเน้นคุยที่วิธีทำงานวิธีคิดของนักเรียน ไม่ใช่เน้นคุยที่ผลการเรียน ซึ่งจะช่วยให้นักเรียนมองเห็นแนวทางปรับปรุงวิธีเรียนของตน ES จึงเป็นเครื่องมือสำหรับครูให้คำแนะนำป้อนกลับแก่ศิษย์ เน้นแนะนำป้อนกลับวิธีเรียน 

line2.jpg
(๑) Think aloud ผู้เรียนพูดความคิดเพื่อให้เกิด metacognition ที่ผู้เรียน ครูจะได้ยินความคิดในหัวเด็กแล้ววิเคราะห์ออกว่าจะ feedback ต่อเพื่อ coach ความคิดอย่างไร น่าสนใจครับ เหมาะกับ “ถามคือสอน” แต่ที่ผมทำยังไม่ถึงขั้นให้ think aloud ผมสอนให้ครูวิเคราะห์จากคำตอบ (ไม่ใช่ความคิดดังๆ) จากปากเด็ก  เป็นหัวใจนักปราชญ์ สุ-จิ-ปุ-ลิ ที่ขยายเป็นครู สุ-จิ-ปุ เด็ก สุ-จิ-วิ(สัชนา) เพื่อวนกลับไปให้ครู สุ-จิ-ปุ อีกรอบ แล้วเด็กค่อย ลิ เมื่อร้อง “อ๋อ.. หนูรู้แล้ว”

 โปรดสังเกตว่า ครูต้องมุ่งช่วยเหลือเด็กเรียนอ่อน ให้เข้าใจวิธีเรียน และรู้วิธีปรับปรุงวิธีเรียน ไม่ใช่เน้นท่องจำสาระของบทเรียน

 การสอนที่ดี เป็นกิจกรรมที่ไม่ดำเนินการตามแบบแผนตายตัว มีการปรับให้เหมาะสมต่อกลุ่มนักเรียน และตามสถานการณ์อื่นๆ ครูสมรรถนะสูงทำหน้าที่ออกแบบกระบวนการเรียนรู้ จัดกระบวนการเรียนรู้ วัดผลกระทบต่อนักเรียนแล้วพัฒนาวิธีการทำงานของตน เป็นวงจรไม่รู้จบ จะเห็นว่า มองมุมหนึ่ง นี่คือวงจรการเรียนรู้ของครูนั่นเอง เป็นกระบวนการพัฒนาวิชาชีพครู (professionaldevelopment) ที่แท้จริง 

 วิธีช่วยเหลือเด็กมีปัญหา ที่ทำอย่างเป็นระบบและนิยมใช้กันมากคือ RTI 

RTI – Response to Intervention
 RTI (อ่านเพิ่มเติมได้ที่ http://www.rtinetwork.org/learn/what/whatisrti) เป็นเครื่องมือที่ใช้กันแพร่หลาย สำหรับช่วยเหลือเด็กที่มีปัญหาการเรียน หรือปัญหาความประพฤติ ประกอบด้วยการทดสอบกรอง (screening) ในนักเรียนทุกคน ตามมาด้วยการให้ความช่วยเหลือที่เรียกว่า intervention แก่นักเรียนที่ต้องการ
การดูแลพิเศษ โดยที่การดูแลพิเศษมี ๓ ชั้น คือ Tier 1 intervention Tier 2 intervention และ Tier 3 intervention การดำเนินการตามเครื่องมือนี้ให้ ES = ๑.๐๗ 

ทดสอบกรอง (screening)
 การทดสอบกรองดำเนินการในระดับโรงเรียน แล้วจึงใช้ข้อมูลไปดำเนินการ ในแต่ละชั้น โดยมีระบบสนับสนุนที่จัดการในระดับโรงเรียน
  • เริ่มจากการเลือก และตรวจสอบเครื่องมือที่ใช้ทดสอบ มีเครื่องมือที่แนะนำ  ในเว็บไซต์ของ National Center on Intensive Intervention (อ่านเพิ่มเติม  ได้ที่ https://intensiveintervention.org) ให้เข้าไปเลือกใช้ได้\
  • ตามด้วยการตระเตรียมดำเนินการทดสอบและการประยุกต์ใช้ RTI ทั้งกระบวนการ 
  • ดำเนินการพัฒนาครูให้รู้จัก RTI และบทบาทของตนเอง รวมทั้งการพัฒนาครูต่อเนื่องตลอดปี
  • ดำเนินการทดสอบกรองตอนต้นเทอมทุกเทอม
  • จัดระบบสารสนเทศเพื่อใช้ติดตามผลนักเรียน 
  • ประมวลผลการทดสอบ และนำเสนอเป็นกราฟฟิก จัดกลุ่มให้ดูเปรียบเทียบได้ง่าย
  • ตรวจสอบผลในระดับห้องเรียน และตัดสินใจว่าจะดำเนินการช่วยเหลือในขั้นใด ต่อนักเรียนคนไหน
  • บันทึกผลการทดสอบกรองของนักเรียนแต่ละคนลงในระบบฐานข้อมูล เพื่อใช้ติดตามผลนักเรียนในระยะยาว
  • เขียนขั้นตอนการดำเนินการต่อนักเรียนที่เป็นเป้าหมายการช่วยเหลือ 
ขั้นตอนการเตรียมใช้ RTI ที่สำคัญยิ่ง คือการพัฒนาความเชื่อถือไว้วางใจ (trust) ของนักเรียนต่อครู เพราะปฏิสัมพันธ์เชิงบวกระหว่างนักเรียนกับครูเป็นปัจจัยสำคัญยิ่งต่อผลการเรียนของนักเรียน(๒) 

จัดการสอนแก่นักเรียนทุกคนอย่างมีคุณภาพ (quality core instruction) 
 นี่คือการเรียนการสอนหลักที่นักเรียนทุกคน (ไม่เฉพาะนักเรียนที่ต้องการความเอาใจใส่พิเศษ) ได้รับ ที่จะต้องจัดอย่างมีคุณภาพสูง โดยมีหลักการ ๗ ข้อต่อไปนี้เป็นอย่างน้อย

  •   ครูบอกเป้าหมายการเรียนรู้ และเกณฑ์วัดความสำเร็จ อย่างชัดเจน  นักเรียนเป็นเจ้าของความคาดหวังต่อการเรียนรู้
  •   ปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียน ที่เป็นความสัมพันธ์เชิงบวก มีความเป็น  มนุษย์ และมุ่งความเจริญงอกงาม 
  •   มีโมเดลการเรียน และมี direct instruction ซึ่งหมายถึงครูระบุเป้าหมายการเรียนที่ชัดเจน แล้วให้นักเรียนทำกิจกรรมเพื่อบรรลุเป้าหมายนั้น
  •   ให้นักเรียนมีกิจกรรมเรียนแบบร่วมมือกัน (collaborative learning) ทุกวัน  มีการเรียนแบบกลุ่มย่อย ที่จัดกลุ่มแบบคละนักเรียนเรียนเก่งกับนักเรียนเรียนอ่อน 
  •   มอบหมายให้นักเรียนแต่ละคนทำกิจกรรมเพื่อฝึกประยุกต์ใช้ความรู้เป็นช่วงๆ
line2.jpg
(๒) อ่านขั้นตอนแล้วนึกถึงการขยาย Qinfo ในโครงการ sQip ของ สสค. ให้เป็น platform การพัฒนาการเรียนรู้เด็กครับ

จะเห็นว่า Tier 1 intervention นี้ ก็มีการเอาใจใส่นักเรียนเป็นรายคน มีการช่วยเหลือเด็กที่มีปัญหาไปชั้นหนึ่งแล้ว และจริงๆ แล้ว Tier 1 interventionน่าจะเป็นการจัดการในชั้นเรียนตามมาตรฐานทั่วไป แต่น่าเสียดายว่ามีการทำตามมาตรฐานนี้ไม่มาก

ติดตามความก้าวหน้า (progress monitoring)
เขาแนะนำเครื่องมือ ๒ ชิ้น สำหรับครูใช้ติดตามความก้าวหน้าของนักเรียน 
  • CBM (Curriculum - Based Measurement) อ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/Curriculum - based_measurement เป็นเครื่องมือวัดความชำนาญ (mastery) ของทักษะที่กำหนด เป็นเครื่องมือมาตรฐานที่ใช้ง่าย และรายงานผลเปรียบเทียบได้ทุกสัปดาห์ทำให้เห็นความก้าวหน้า(หรือไม่ก้าวหน้า) ชัดเจน แต่ก็มีคนติว่ามีความยืดหยุ่นน้อยไป ในกรณีของ นักเรียนที่มีปัญหา ผลการทดสอบนี้จะเป็นข้อมูลให้ครูนำมาคิด ปรึกษา หารือกัน และหาข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อค้นหาสาเหตุต้นตอของปัญหา (root cause)  ต่อไป ผมขอย้ำว่า ครูต้องไม่หยุดอยู่แค่ปัญหา ต้องร่วมกันค้นหาต้นตอของปัญหาให้ได้ 
  • CBA (Curriculum - Based Assessment) อ่านเพิ่มเติมได้ที่ http://mosaic.pitt.edu/curbasedassess.html เป็นการวัดผลสัมฤทธิ์ตามที่กำหนดในหลักสูตรหรือบทเรียน โดยวัดแทรกอยู่ในกระบวนการเรียนการสอนนั้นเองโดยครูสังเกตพฤติกรรมการเรียนของนักเรียน และผลการเรียนในการทำโครงงาน การสอบย่อย และผลงานอื่นๆ เมื่อครูพบข้อบกพร่องของนักเรียนคนใดก็ดำเนินการแก้ไขทันที ผมตีความว่า นี่คือ การประเมินเพื่อพัฒนา (formative assessment) อ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://www.gotoknow.org/posts/tags/ประเมินเพื่อมอบอำนาจ 
สอนเสริมและสอนเข้ม (supplemental and intensive interventions)
สอนเสริมถือเป็น Tier 2 intervention ส่วนสอนเข้มถือเป็น Tier 3 intervention การดำเนินการแก้ไขมักทำผสมผสาน ๒ ระดับนี้ควบคู่กันไป

 นักเรียนกลุ่มที่ได้รับการสอนเสริมเป็นกลุ่มเล็กๆ ๓ - ๔ คน เรียนร่วมกันในเวลาเรียนตามปกติ แยกออกมาจากนักเรียนกลุ่มใหญ่ โดยนักเรียนกลุ่มใหญ่ทำกิจกรรมเพื่อการเรียนรู้ของตนโดยไม่ต้องมีครูช่วย ครูใช้เวลา (ราวๆ ๓๐ นาที) สอนเรื่องที่นักเรียนยังไม่เข้าใจ ด้วยวิธีการที่ต่างไปจากเดิม ซึ่งจริงๆ แล้วมีหลากหลายวิธีการให้เลือกและลอง เช่นหนังสือยกตัวอย่างครูชั้น ป.๔ ที่ผลการทดสอบกรองพบว่ามีนักเรียน ๔ คน อ่านไม่คล่อง จึงจัดสอนเสริมให้ทุกวัน โดยพูดคุยเรื่องอ่านคล่อง (fluency) ว่าเป็นอย่างไร และให้ทำความเข้าใจคำว่า prodosy (อ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/Prosody_(linguistics) ว่าอ่านเหมือนนักพูด คือมีจังหวะจะโคนน่าฟังอย่างไร นักเรียนอยากอ่านคล่อง น่าฟัง เหมือนคนดังคนไหน แล้วให้ซ้อมอ่านหนังสือที่นักเรียนเลือก ภายใน ๖ สัปดาห์ ผลการทดสอบพบว่านักเรียน ๒ ใน ๔ มีผลอยู่ในระดับเปอร์เซ็นไทล์ที่ ๕๐ (P50) สำหรับเด็ก ป. ๔ จึงไม่ต้องเข้าชั้นสอนเสริมอีกต่อไป นี่คือผลดีของการสอน metacognition เพื่อช่วยการเรียน

 นักเรียนที่เหลือ ๒ คนมีเพื่อนที่ย้ายมาจากโรงเรียนอื่นอีกหนึ่งคน รวมเป็น ๓ ต้องได้รับ Tier 2 intervention ต่อ แต่คราวนี้ครูใช้วิธีการอื่น ที่เรียกว่าเทคนิค rereading (อ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://gwcomprehensionstrategies.weebly.com/rereading.html) เน้นให้อ่านแล้วเกิดความเข้าใจสาระ ที่ครูมีกลเม็ดในการสร้างแรงจูงใจให้นักเรียนอยากซ้อม โดยให้ผลัดกันเลือกหนังสือคนละสัปดาห์ สำหรับอ่านด้วยกัน เมื่อเลือกแล้วครูเอาไปอ่านก่อน และทำคำถามให้นักเรียนอ่านก่อนอ่านหนังสือ เพื่อเป็นแนวทางให้อ่านได้สาระ 

 นักเรียนอ่านหนังสือหลายเที่ยว แล้วมาอภิปรายความหมายกัน หลัง ๖ สัปดาห์ที่สอง นักเรียนอีก ๒ คนก็สอบผ่าน เกณฑ์ P50 เหลือนักเรียนที่ย้ายมาใหม่คนเดียว ที่ครูต้องหาทางช่วยเหลือต่อไป โดยครูหันมาใช้เครื่องมือ NIM - Neurological Impress Method (อ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://childdevelopmentinfo.com/learning/dyslexia/neurological_impress_reading/) ซึ่งได้ผลไม่มาก จึงต้องใช้ Tier 3 intervention ต่อนักเรียนคนนี้ โดยใช้วิธีให้ฝึกพูดต่อที่สาธารณะ (public speaking) เพื่อสร้างความมั่นใจในตนเองด้วย และยังคงใช้ NIM ต่อเนื่องด้วย การช่วยเหลือนี้ต้องทำต่อเนื่องไปจนสิ้นปีการศึกษา ที่ผลการทดสอบความคล่องในการอ่านอยู่ที่ P70 เขาบอกว่าเบื้องหลังความสำเร็จนี้อยู่ที่ความสนิทสนมไว้เนื้อเชื่อใจกันระหว่างครูกับนักเรียน 


อ่านสาระตอน สอนเสริมและสอนเข้มแล้ว เห็นสภาพโรงเรียนที่มีมาตรการ“ไม่ทิ้งเด็กคนใดไว้ข้างหลัง” ชัดเจน และเห็นภาพ “ครูเพื่อศิษย์” ด้วย 

 เป็นตัวอย่างที่พิสูจน์ว่า นักเรียนทุกคนเรียนสำเร็จได้ หากมีมาตรการที่ยืดหยุ่นในการจัดการเรียนการสอน ให้เหมาะสมต่อตัวเด็กแต่ละคน 

รู้เท่าทันวิธีการที่ไม่ได้ผล
line7.jpg
 มาตรการรักษามาตรฐานการศึกษาที่ใช้กันอยู่อย่างแพร่หลายในปัจจุบันมีหลายมาตรการเป็นวิธีการที่พิสูจน์แล้วว่าไม่ได้ผล หรือก่อผลลบ ที่น่าตกใจมากคือหลายมาตรการเกิดจากครูไม่มุ่งมั่นพัฒนาตนเองเพื่อทำประโยชน์แก่เด็กแต่หันกลับไปโทษเด็กว่าไม่มีความสามารถหรือไม่เอาใจใส่การเรียน 

ตกซ้ำชั้น 
 มีผลการวิจัย meta - analysis ผลงานวิจัยจำนวนมาก พบว่า ES ของการให้ตกซ้ำชั้นมีผลเป็นลบ คือ -๐.๑๓ เพราะเมื่อซ้ำชั้น ปีต่อไปก็เรียนเหมือนเดิมในขณะที่แท้จริงแล้วเด็กเหล่านี้ต้องการวิธีสอนที่แตกต่าง หรือดีกว่าเดิม และมาตรการที่ควรนำมาใช้แทนคือ RTI ซึ่งมี ES = ๑.๐๗ ผู้เขียนหนังสือ Visible Learning for Literacy บ่นว่า ทำไมจึงยังใช้วิธีให้ตกซ้ำชั้น ไม่ใช้ RTI ก็ไม่รู้ ผมให้คำตอบว่า เพราะวิธีให้ตกซ้ำชั้นครูสบาย ส่วน RTI ครูต้องเหนื่อยยากมากมาย 

 แล้วผมก็เถียงตัวเองว่าการใช้มาตรการ RTI ครูเหนื่อยก็จริง แต่ได้เรียนรู้คุ้มความเหนื่อย และยิ่งกว่านั้น ได้รับความชุ่มชื่นในหัวใจเมื่อได้เห็นศิษย์ตัวน้อยๆที่มีปัญหาการเรียน กลายเป็นเด็กเรียนคล่อง มีชีวิตชีวา มีความมั่นใจตนเอง ...ได้สนองวิญญาณ “ครูเพื่อศิษย์”(๓)

line2.jpg
(๓) เหนื่อยมาก่อน ชุ่มชื่นมาทีหลัง ครูเห็นเหนื่อย ไม่รู้ว่าจะมีชุ่มชื่นตามมา ครูจึงหยุดไม่อยากเหนื่อยเพิ่มครับ ที่โครงการเพาะพันธุ์ปัญญาก็เป็นอย่างนี้ ต้องย้อนเอาชุ่มชื่นของ case ที่สำเร็จแล้วมากระตุ้นพร้อมทำจิตตปัญญาให้มีแรงบันดาลใจอยากลองเหนื่อย พอพบชุ่มชื่นภายหลังจึงเข้าใจและเปลี่ยนได้

จัดกลุ่มนักเรียนตามความสามารถในการเรียน
 การจัดกลุ่มนักเรียนตามความสามารถในการเรียนมีทั้งคุณและโทษ ขึ้นกับวิธีจัดกลุ่ม 

 การจัดกลุ่มที่ใช้กันทั่วไปคือจัดตามเกรด วิธีนี้มี ๒ แบบคือ (๑) จัดชั้นเรียนตามเกรด มีห้องคิง ควีน แจ็ค ไปถึงห้องบ๊วย (๒) แบ่งกลุ่มนักเรียนในชั้นเรียน เป็นเด็กเรียนเก่งกับเด็กเรียนไม่เก่ง นี่คือวิธีที่พิสูจน์แล้วว่าไม่ได้ผล (ES = ๐.๑๒) และก่อผลร้ายทางใจ และทางสังคมต่อเด็ก ทำให้เด็กอ่อนแอด้านทักษะสังคมอารมณ์ (socio - emotional skills) 

 การแบ่งกลุ่มนักเรียนตามความต้องการความช่วยเหลือ (need - based grouping) หรือตามรูปแบบของความผิดพลาด (error pattern) ในการเรียน สำหรับให้ครูจัดการเรียนการสอนแบบกลุ่มเล็ก เพื่อแก้ไขหรือเพิ่มเติมบางทักษะที่จำเพาะ เป็นประโยชน์ต่อนักเรียนมาก การจัดกลุ่มแบบนี้เป็นการชั่วคราว มีความยืดหยุ่นสูง และครูต้องมีความสามารถในการประเมินนักเรียนลงลึกถึงรายละเอียดของผลการเรียน 

สอนตามสไตล์การเรียน
line7.jpg
 มีการกล่าวกันมาก ว่าครูควรจัดการเรียนการสอนตามสไตล์การเรียน หรือความถนัดพิเศษของนักเรียน ผลการวิจัยบอกว่า การสอนตามสไตล์การเรียนของนักเรียนให้ ES = ๐.๑๒ เป็นความจริงว่า นักเรียนมีความถนัดและความชอบต่างกัน แต่คำแนะนำคือ อย่าตีตรานักเรียน ไม่ว่าจะเป็นการตีตราด้านบวก หรือตีตราด้านลบ ผมตีความว่าการตีตราด้านบวกให้ผลร้ายเพราะทำให้เด็กพัฒนา fixed mindset ขึ้นในตน การไม่ตีตรานักเรียนให้ ES สูงถึง ๐.๖๑(๔)

line2.jpg
(๔) แปลกใจกับข้อนี้ครับ ว่าทำไมต่างจาก Kolb ที่จัด learning style ๔ แบบ ผมยังเชื่อว่าครูต้องจูนความถี่ให้ตรงกับ receiver มันมีแบบคัดกรอง learning style แล้วจัดการสอนโดยไม่ตีตราก็ได้ ความจริงการบอกให้รู้ learning style ก็ไม่น่าเป็นการตีตรา เพราะมันไม่ได้ระบุชั้นความสามารถอะไร

ติวเตรียมสอบ
line7.jpg
 การติวเตรียมสอบ และฝึกทักษะการตอบข้อสอบ มีดาษดื่นทั่วโลก และเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ในประเทศไทย ES ของกิจกรรมนี้เท่ากับ ๐.๒๗ คำแนะนำคือให้นักเรียนได้เรียนทักษะในบูรณาการอยู่ในการเรียนตามปกติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การได้ฝึกทักษะการเรียน (study skills) ซึ่ง ES = ๐.๖๓ และเรียนผ่านการพัฒนา metacognition ที่กล่าวมาแล้วตลอดเล่ม 

 อีกทักษะหนึ่งที่จะช่วยการสอบ คือการฝึกทักษะการจัดลำดับการทำงานในเวลาจำกัด ซึ่งครูต้องฝึกศิษย์อยู่ตลอดเวลาในการเรียนตามปกติ 

 ผมตีความว่า การเรียนในระดับบรรลุการเรียนแบบเชื่อมโยง ทำให้เกิดทักษะที่ซับซ้อน และทักษะการลงมือทำ ที่จำเป็นต่อการสอบอยู่แล้ว 

การบ้าน

line7.jpg
 แนวความคิดว่า การให้การบ้านแก่นักเรียนช่วยให้นักเรียนเอาใจใส่การเรียน และช่วยให้ผลการเรียนดีขึ้น เป็นวิธีคิดที่ตื้นเกินไป ผลการวิจัยบอกว่า ES ของการบ้านในภาพรวมเท่ากับ ๐.๒๙ แต่สำหรับนักเรียนมัธยมปลาย การบ้านมี ES = ๐.๕๕ มัธยมต้น ๐.๓๐ ประถม ๐.๑๐ เนื่องจากธรรมชาติของการบ้านในนักเรียนแต่ละระดับมีลักษณะต่างกัน การบ้านของนักเรียนมัธยมปลาย เป็นการทำโจทย์ต่อสิ่งที่เรียนแล้ว และนักเรียนก็เรียนรู้ในระดับลึกแล้ว การบ้านจึงช่วยการเรียนรู้ระดับเชื่อมโยง ในชั้นประถม การบ้านมักเป็นโจทย์เรื่องที่เด็กยังไม่คุ้นเคย และเมื่อไม่เข้าใจก็ไม่รู้จะถามใคร การบ้านจึงไม่มีประโยชน์ 

 มีผลการวิจัยบอกว่า ผลสัมฤทธิ์ของการเรียนร้อยละ ๕๐ ขึ้นกับตัวเด็กเองอีกร้อยละ ๕๐ ขึ้นกับครู โรงเรียน ครูใหญ่ พ่อแม่ และสภาพที่บ้าน เป็นที่ชัดเจนว่า ครูมีคุณค่าสูงมาก สิ่งที่ครูคิด และปฏิบัติ มีความหมายต่อการเรียนรู้ของนักเรียน และควรเป็นประเด็นของการพัฒนาครู แทนที่จะเอาแต่โทษตัวนักเรียนเอง ข้อสรุปนี้ตรงกับสาระในหนังสือ สอนเข้ม เพื่อศิษย์ขาดแคลน(๕) 

line2.jpg
(๕) ครูจึงควรผ่านจิตตปัญญา

สรุป
line7.jpg
 การประเมินเป็นกิจกรรมประจำวันหรือประจำชั่วโมง หรือเกิดขึ้นทุกๆ สองสามนาทีในชั้นเรียน (รวมทั้งนอกชั้นเรียนด้วย) เป็นกิจกรรมที่บูรณาการอยู่ในการสอน ของครู และผมขอเพิ่มเติมว่าตัวนักเรียนก็ต้องฝึกประเมินการเรียนรู้ของตัวเองด้วย เป็นส่วนหนึ่งของทักษะการพัฒนาการเรียนรู้ (metacognition) ของตนเอง 

 ครูทำหน้าที่ถามคำถามจัดให้นักเรียนเขียนข้อเรียนรู้ลงในบัตรออกจากชั้นเรียน และฝึกให้นักเรียนประเมินตนเองเป็น 

 สิ่งที่ผู้ใหญ่มักทำผิดคือ มุ่งความสนใจไปที่คุณลักษณะของเด็ก ว่าเป็นตัวกำหนดผลการเรียน (นี่คือ fixed mindset) โดยไม่ได้เอาใจใส่ว่าสิ่งที่ตนทำก่อผลกระทบต่อการเรียนรู้ของนักเรียนมากน้อยเพียงไร (growth mindset) การกระทำของครูที่ก่อผลกระทบยิ่งใหญ่ต่อชีวิตของนักเรียนคือ การเอื้อให้เกิดการเรียนรู้ที่พัฒนาจากระดับผิว สู่ระดับลึก และระดับเชื่อมโยง ทำให้เด็กคิดเป็น คิดเชิงหลักการเป็น เชื่อมโยงหลักการเป็น เอื้อให้ศิษย์มองเห็นการเรียนรู้ของตนเอง และในที่สุดมีทักษะเป็นครูของตนเอง หรือที่เรียกว่ามีทักษะกำกับการเรียนรู้ของตนเอง (self - directed learner)
ดาวน์โหลดเอกสาร
Effect size
ประเมินผล
sense of efficacy
Professional Learning Community
visible learning
assessment
ออกแบบการเรียนใหม่
ศาสตราจารย์ นายแพทย์ วิจารณ์ พานิช
นักเขียน
ศาสตราจารย์ นายแพทย์ วิจารณ์ พานิช
รองประธานกรรมการมูลนิธิสยามกัมมาจล นายแพทย์ผู้สนใจประเด็นการศึกษา เจ้าของผลงานหนังสือเกี่ยวกับการจัดการเรียนรู้หลากหลายเล่ม ตั้งแต่ เลี้ยงลูกยิ่งใหญ่, วิถีสร้างการเรียนรู้เพื่อศิษย์ในศตวรรษที่ 21, สนุกกับการเรียนในศตวรรษที่ 21 ฯลฯ
แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน
profile
กรุณา Login ก่อน comment
เนื้อหาทั้งหมด