องค์ความรู้
Knowledge to Practice
การสอนเด็กระดับชั้น ป.1 เป็นเรื่องที่ครูหลายท่านหนักใจ เพราะน้อง ๆ ยังมีสมาธิจดจ่ออยู่กับบทเรียนค่อนข้างสั้น แต่ ‘ครูต้อม’ นันท์นภัส พุทธิธนพัฒน์ จะมีเทคนิคการสอนอย่างไร และจะมีวิธีปูความรู้ให้เด็กวัยนี้อย่างไร เราไปดูกันเลย
‘ครูต้อม’ นันท์นภัส พุทธิธนพัฒน์ โรงเรียนอนุบาลวังดิน จังหวัดลำพูน คือครูต้นเรื่องอีกหนึ่งท่านที่เกิดการเปลี่ยนแปลงแนวคิดและกระบวนการเรียนการสอนหลังจากเข้าร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในเวที Online PLC Coaching ได้แรงบันดาลและชุดความรู้จากประสบการณ์ตรงจากครูต้นเรื่องในแต่ละเวทีและได้ฟัง ข้อแนะนำจากผู้ทรงคุณวุฒิ “ครูต้อม” ได้แรงบันดาลใจและนำไปปรับใช้กับตัวเอง มีความกล้าในการออกนอกกรอบการสอนของตัวเองอย่างที่เคยเป็นมา จนกลายเป็นจุดเริ่มต้นของหน่วยการเรียน “ลวดกำมะหยี่แปลงร่าง” แต่ครูต้อมไม่หยุดแค่เพียงเท่านั้น การเข้าร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในเวที Workshop ครั้งที่ 1 ในฐานะครูต้นเรื่อง ยังทำให้ครูต้อมได้ความรู้และคำแนะนำที่เป็นประโยชน์จากเพื่อนครูมาปรับใช้จนกลายเป็น “ลวดแปลงร่าง”
อะไรคือสิ่งที่ครูต้อมให้ความสำคัญในการสอนนักเรียนระดับประถมศึกษาปีที่ 1 อะไรคือบทบาทในกระบวนการสอนที่ครูต้อมพานักเรียนไปสู่การเรียนรู้ที่มีเป้าหมายอย่างมีความสุข และหากเราจะเทียบเคียงกับเนื้อหาในหนังสือครูเพื่อศิษย์ สร้างการเรียนรู้สู่ระดับเชื่อมโยง ซึ่งตีความและเรียบเรียงโดย ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช จะเห็นบทบาทครูต้อมสอดคล้องกับแนวทางสร้างการเรียนรู้ในเนื้อหาส่วนใดบ้าง เป็นสิ่งที่น่าเรียนรู้ไปด้วยกันสำหรับโครงการครูเพื่อศิษย์ สร้างการเรียนรู้สู่ระดับเชื่อมโยงออนไลน์ ครั้งนี้ (ครั้งที่ 11)
.
.
สอนเด็ก ป.1 สไตล์ครูต้อม
.
จากเรื่องเล่า “ลวดกำมะหยี่แปลงร่าง” และ “ลวดแปลงร่าง” (แผนการสอนที่ถูกปรับเพื่อเตรียมการสอนในปีการศึกษาหน้า) ซึ่งเป็นการบูรณาการวิชาศิลปะกับวิชาชีพเข้าด้วยกัน มีประเด็นน่าสนใจหลายอย่าง โดยเฉพาะบทบาทของคนเป็นครูที่ทำการสอนนักเรียนในชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ซึ่งไม่สามารถมุ่งเน้นไปที่วิธีพัฒนาการคิดเพียงอย่างเดียวได้ หลายครั้งที่ผู้สอนจำเป็นต้องอาศัยเรื่องจิตวิทยาและความใส่ใจเป็นพิเศษเพื่อทำให้นักเรียนวัยนี้บรรลุเป้าหมายการเรียนรู้ของตัวเองได้
‘ครูต้อม’ นันท์นภัส พุทธิธนพัฒน์ แห่งโรงเรียนอนุบาลวังดิน จังหวัดลำพูน จะมีเคล็บลับอย่างไรที่จะพานักเรียน ๆ ในชั้นเรียนบรรลุเป้าหมายการเรียนหน่วยการเรียนรู้ “ลวดกำมะหยี่แปลงร่าง” รวมถึง หน่วยการเรียนรู้ “ลวดแปลงร่าง” ที่เตรียมไว้สำหรับการสอนในปีการศึกษาหน้า
ลักษณะการสอนของ ‘ครูต้อม’ นันท์นภัส พุทธิธนพัฒน์
- ให้นักเรียนเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ มีบทบาทมากกว่าครู เป็นบทบาทที่ครูต้อมเกิดการเปลี่ยนแปลงและใช้มาตั้งแต่เริ่มเรียนรู้จากเวที Online PLC Coaching
- ถอยออกมาเป็นผู้เฝ้าดู เฝ้าสังเกตนักเรียน ทั้งวิธีการเรียนและอากัปกิริยาที่แสดงออกมา
- ให้นักเรียนแบ่งกลุ่มทำงานด้วยความสมัครใจ แต่ใช้เงื่อนไขไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำในการทำกิจกรรม ซึ่งหน่วยการเรียน “ลวดกำมะหยี่แปลงร่าง” และ “ลวดแปลงร่าง” ครูต้อมใช้จำนวนนักเรียนในแต่ละกลุ่มเป็นเงื่อนไขแบบยืดหยุ่นในการแบ่งกลุ่มด้วยความสมัครใจ
- ซึ่งหน่วยการเรียนทั้งสอง ครูต้อมจะไม่เน้นความสวยงามของผลงานที่ออกมา แต่เน้นให้นักเรียนเกิดทักษะจากกระบวนการเรียนรู้จริงซึ่งเกิดจากการลงมือคิดและปฏิบัติ
- มีการใส่ใจนักเรียนมากกว่าแค่ในชั้นเรียน ใช้วิธีการเอาความอ่อนโยน ความรัก การสัมผัสโอบกอด แทนการดุด่าว่ากล่าวนักเรียน มีการลงพื้นที่เยี่ยมบ้านนักเรียน เพื่อสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างครูและนักเรียน
- ใช้กระบวนการตั้งคำถาม เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ที่ลึกขึ้น เป็นบทบาทที่ครูต้อมให้ความสำคัญมากยิ่งขึ้นหลังการเข้าร่วม Workshop ครั้งที่ 1
- สร้างเงื่อนเงื่อนไขหรือข้อจำกัด เพื่อให้สมองนักเรียนเกิดการ*เสียเสถียร นำไปสู่การสืบค้นและเรียนรู้ เป็นบทบาทที่ครูต้อมมาปรับใช้หลังการเข้าร่วม Workshop ครั้งที่ 1 เพื่อสร้างความท้าทายในการเรียนรู้ให้แก่นักเรียนมากยิ่งขึ้น
- พูดคุยกับนักเรียน ตลอดระยะเวลาการทำกิจกรรม เพื่อประเมินและเข้าไปให้คำแนะนำนักเรียนได้ถูกจังหวะซึ่งสอดคล้องกับบทบาทที่ครูถอยตัวเองออกมาเป็นเป็นผู้เฝ้าดู เฝ้าสังเกตนักเรียน
- ให้นักเรียนแต่ละกลุ่มมีการนำเสนอวิธีการทำงาน ทำให้นักเรียนได้เรียนรู้กระบวนการคิดและการ ทำงานที่ต่างจากตัวเอง นอกจากนี้ยังเป็นวิธีการทำให้นักเรียนกล้าแสดงออกทางความคิดต่อหน้าคนอื่นมากยิ่งขึ้น
*เสียเสถียร หมายถึง สภาวะที่ผู้เรียนเกิดความไม่แน่ใจกับความเข้าใจเดิมของตนเอง ทำให้ผู้เรียนเกิดความสงสัย และลงมือแก้ความสงสัยนั้น
.
.
สร้างการเรียนรู้อย่างประจักษ์ชัด
.
อ้างอิงเนื้อหาจากหนังสือครูเพื่อศิษย์ สร้างการเรียนรู้สู่ระดับเชื่อมโยง ในบทที่ 2 หลักของการเรียนอย่างประจักษ์ชัด ซึ่งตีความและเรียบเรียงโดย ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช จะพบสาระสำคัญส่วนหนึ่งที่ระบุว่า นักเรียนทุกคนอยากได้และควรได้ครูดี ซึ่งหมายถึงครูที่ทำให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้อย่างประจักษ์ชัด (Visible Learning) ได้แก่ มีความก้าวหน้าในผลลัพธ์จากการเรียนรู้ที่วัดได้, มีความชัดเจนและเห็นคุณค่าต่อเป้าหมายการเรียนรู้ของตน, ตระหนักในวิธีการเรียนของตน และรู้จักปรับปรุงวิธีการเรียนรู้ของตนเองได้ ดังนั้น ครูต้องมีเป้าหมายในการเรียนรู้ร่วมกับนักเรียน หาวิธีส่งเสริมให้ศิษย์บรรลุเป้าหมายนั้น และสร้างการเรียนรู้ที่สนุกสนาน โดยครูต้องใส่ใจต่อความคิดเห็นและการตอบสนองของนักเรียนทุกคน
เมื่อพิจารณาจากสาระแล้วจะเห็นว่า ‘ครูต้อม’ นันท์นภัส พุทธิธนพัฒน์ ได้ใช้เป็นแนวทางปฏิบัติในการจัดการเรียนการสอนให้แก่นักเรียนในหน่วย “ลวดกำมะหยี่แปลงร่าง” และหน่วยการเรียนรู้ที่ปรับปรุงอย่าง “ลวดแปลงร่าง” โดยครูต้อมมีบทบาทสนับสนุนการสร้างการเรียนรู้อย่างประจักษ์ชัดให้เกิดขึ้นแก่นักเรียนดังนี้
- สร้างการเรียนรู้ที่สนุกสนานและมีความสุข ด้วยการออกแบบกิจกรรมที่เป็นการทำงานกลุ่ม และเปิดโอกาสให้นักเรียนได้แสดงความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบ และลงมือปฏิบัติบิดลวดเป็นรูปร่างต่าง ๆ ซึ่งความสนุกที่เกิดขึ้นส่งผลต่อความเอาใจใส่ต่อการเรียนรู้และส่งผลดีต่อการเรียนรู้ของนักเรียนไปในตัว
- สร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูกับศิษย์ โดยครูต้อมใช้การมีปฏิสัมพันธ์เชิงบวกกับนักเรียน เช่น การพูดคุย ช่วยเหลือนักเรียนอย่างทั่วถึง และแสดงออกซึ่งความเอาใจ กระทำด้วยความอ่อนโยนแทนการดุด่าว่ากล่าว ทำให้นักเรียนเกิดความศรัทธา ความไว้วางใจในตัวผู้สอน ส่งผลต่อความก้าวหน้าในผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักเรียน
- สนับสนุนให้เด็กบรรลุเป้าหมายการเรียนรู้ที่ตั้งไว้ ด้วยการสังเกตสภาวะและทรรศนะของนักเรียน ซึ่งเป็นบทบาทหลักที่ครูต้อมใช้ตั้งแต่การออกแบบ วางแผน และลงมือปฏิบัติของนักเรียน เพื่อมองเห็นและหนุนเสริมการเรียนรู้การเรียนรู้ของนักเรียนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ครูต้อมตั้งไว้
- ทำให้นักเรียนมองเห็นการเรียนรู้ของตนเองและของผู้อื่น เป็นวิธีการสร้างความตระหนักในวิธีการเรียนของและรู้จักปรับปรุงวิธีการเรียนรู้ของนักเรียน โดยครูต้อมใช้กระบวนการให้นักเรียนประเมินผลงานที่เกิดจากกการสร้างสรรค์ของกลุ่มตนเอง รวมถึงเปรียบเทียบกระบวนการวางแผนแก้ปัญหาของตนเองและของผู้อื่นได้จากออกแบบให้นักเรียนมีการนำเสนอผลงานของกลุ่มตนเองต่อเพื่อนในชั้นเรียนคนอื่น ๆ
.
.
ปูพื้นฐานสู่ผลการเรียนระดับสูงให้แก่นักเรียนระดับชั้น ป.1
.
ปูพื้นฐานสู่ผลการเรียนระดับสูง เป็นสาระในบทที่ 3 ของหนังสือ “ครูเพื่อศิษย์ สร้างการเรียนรู้สู่ระดับเชื่อมโยง” ซึ่งตีความและเรียบเรียงโดย ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ซึ่งมีสาระสำคัญ คือ การเรียนรู้ระดับสูง ต้องไต่ระดับการเรียนรู้จากเรียนผิวเผิน สู่เรียนลึก และเอาไปใช้ในสถานการณ์อื่น ๆ ได้ โดยการเรียนการสอนต้องมีปัจจัยพื้นฐาน คือ ความท้าทาย ช่วยให้นักเรียนบรรลุเป้าหมายด้วยตนเอง และมีเป้าหมายการเรียนรู้ โดยมีเกณฑ์บอกความสำเร็จ ซึ่ง ‘ครูต้อม’ นันท์นภัส พุทธิธนพัฒน์ มีบทบาท สนับสนุนปัจจัยพื้นฐานแต่ละด้านดังนี้
สร้างความท้าทายทางการเรียนรู้
- ใช้โจทย์เงื่อนไข “ลวดแปลงร่าง” ครูต้อมมีการออกแบบโดยใช้โจทย์เงื่อนไขเชิงเป้าหมาย “นำลวดที่ได้ไปสร้างเป็นที่แขวนเคราฤๅษีที่แปลกไม่ใหม่” ให้นักเรียนฝึกคิด ใช้ทักษะความคิดสร้างสรรค์ เพื่อบรรลุเป้าหมายที่ครูต้อมตั้งไว้ แต่ปัจจัยอีกประเด็นที่ครูต้อมให้ความสำคัญคือ การเข้าไปหนุนเสริมให้กำลังใจนักเรียนในการแก้ปัญหานั้น ซึ่งจะพบบทบาทนี้ตั้งแต่หน่วยการเรียน “ลวดกำมะหยี่แปลงร่าง” ในลักษณะการเข้าไปให้คำปรึกษาระหว่างการเรียนรู้ของนักเรียน
- ส่งเสริมให้นักเรียนมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน โดยใช้กระบวนการกลุ่มในทุกกิจกรรมการเรียนรู้ ซึ่งส่งเสริมทักษะด้านการพูด ฟัง อ่าน และเขียน ก่อให้เกิดการเรียนรู้และแก้ปัญหาร่วมกัน ซึ่งครูต้อมวางบทบาทชัดเจนให้นักเรียนเป็นผู้ลงมือทำ และตนเองมีหน้าที่ครูโค้ช การทำกิจกรรมกลุ่มลักษณะนี้นักเรียนจะเกิดการสอนกันเอง
ส่งเสริมให้นักเรียนบรรลุเป้าหมายได้ด้วยตนเอง
- สร้างปฏิสัมพันธ์เชิงบวกกับนักเรียน ด้วยการพูดคุยกับนักเรียนอย่างทั่วถึงและกระทำด้วยความอ่อนโยน เป็นการสร้างพื้นที่ปลอดภัยทางการเรียนรู้ ทำให้นักเรียนกล้าขอความรู้หรือคำแนะนำและไม่ท้อถอยเมื่อพบอุปสรรคทางการเรียน
- ให้คำแนะนำป้อนกลับ โดยกระบวนการพูดคุย ให้คำแนะนำในสิ่งที่นักเรียนเกิดปัญหาติดขัดระหว่างกระบวนการ สลับการใช้คำถามนำบ้างในบางครั้ง เป็นการพัฒนากระบวนการคิดของนักเรียน และทำให้นักเรียนเกิดความมุมานะแกปัญหาโจทย์ให้สำเร็จลุล่วง
มีเป้าหมายการเรียนรู้ที่มีเกณฑ์บอกความสำเร็จ
- มีการวางเป้าหมายการเรียนรู้ชัดเจน ทั้งภาพใหญ่ของหน่วยการเรียนและการสอนรายชั่วโมง ซึ่งนอกจากการวางเป้าหมายการเรียนรู้จะมีการระบุสมรรถนะด้านต่าง ๆ ที่ต้องการให้เกิดกับนักเรียนอย่างชัดเจนด้วย ซึ่งส่งผลให้ครูต้อมมีแนวทางการสอนและการให้คำแนะนำต่อนักเรียนที่ชัดเจนขึ้นด้วย
- มีการประเมินผลการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ในรูปแบบการประเมินผลทั้งระหว่างการเรียนรู้และหลังการเรียนรู้แต่ละชั่วโมง เพื่อตรวจสอบสมรรถนะด้านต่าง ๆ ของนักเรียนว่าเป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้หรือไม่
- ให้นักเรียนฝึกประเมินผลงานของตนเองและเพื่อน ๆ โดยการประเมินผลงานของกลุ่มตนเองจะทำหลังจากเสร็จสิ้นขั้นตอนลงมือปฏิบัติ ส่วนการประเมินผลงานของกลุ่มอื่นจะทำระหว่างการนำเสนอผลงาน ทำให้นักเรียนมองเห็นการเรียนรู้ของตนเองและของผู้อื่น
.
เรียบเรียงข้อมูลจาก
โครงการครูเพื่อศิษย์ สร้างการเรียนรู้สู่ระดับเชื่อมโยงออนไลน์ ครั้งที่ 11
ครูต้นเรื่อง : ‘ครูต้อม’ นันท์นภัส พุทธิธนพัฒน์
สอนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 รายวิชาหน่วยบูรณาการอาชีพและศิลปะ
โรงเรียนอนุบาลวังดิน จังหวัดลำพูน
![BIEROTTO](https://plc.scbfoundation.com/stocks/writer/c90x90/ou/td/bv3coutdszs/29519%3F246%3F8935Eng%3F%3F%3F_%E0%B9%92%E0%B9%90%E0%B9%91%E0%B9%90%E0%B9%92%E0%B9%96.jpg)