3

เรื่องเล่าจากครู

ตัวอย่างกรณีศึกษา โครงการจัดการความรู้ฯ

ผอ.ภานุวัฒน์ แป้นจันทร์ : การพัฒนาสมรรถนะการคิดขั้นสูงด้วย PLC

อ่าน 44 นาที

“การคิดขั้นสูง” เป็นสมรรถนะสำคัญที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อการพัฒนานักเรียนให้เติบโตไปเป็นคน “เก่ง ดี มีความสุข” ได้โดยง่าย โรงเรียนเทพอุดมวิทยา สพม.สุรินทร์ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาทักษะการคิดให้กับนักเรียนทุกระดับชั้น ตั้งแต่ ม.1 – 6 โดยการมีส่วนร่วมของครูทั้งโรงเรียนประมาณ 20 คน มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2563

เรียบเรียงโดย มูลนิธิเพื่อทักษะแห่งอนาคต, SCBF PLC
17 กุมภาพันธ์ 2567
480
การพัฒนาสมรรถนะการคิดขั้นสูงด้วย PLC
กรณีศึกษา ผอ.ภานุวัฒน์ แป้นจันทร์ โรงเรียนเทพอุดมวิทยา สพม.สุรินทร์
Screenshot (1024).png

“การคิดขั้นสูง” เป็นสมรรถนะสำคัญที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อการพัฒนานักเรียนให้เติบโตไปเป็นคน “เก่ง ดี มีความสุข” ได้โดยง่าย  

โรงเรียนเทพอุดมวิทยา สพม.สุรินทร์ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาทักษะการคิดให้กับนักเรียนทุกระดับชั้น ตั้งแต่ ม.1 – 6 โดยการมีส่วนร่วมของครูทั้งโรงเรียนประมาณ 20 คน มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2563 โดยมีวง PLC เป็นพื้นที่การเรียนรู้ร่วมกันของครูทุกคนเป็นประจำทุกวันอังคารและวันพฤหัสบดี มีการระดมความคิดเห็น ช่วยเหลือกันในการแก้ไขปัญหา มีการจัดทำชุดคำถามเพื่อพัฒนาความคิดให้ครูนำไปปรับใช้กับนักเรียนในรายวิชาต่างๆ ตลอดจนมีการแนะนำสื่อ เครื่องมือ และเทคนิคใหม่ๆ ให้เพื่อนครูด้วยกันได้เรียนรู้ และทดลองนำไปใช้อย่างสม่ำเสมอ  

 

 

ต่อยอดการพัฒนาด้วย PEERS – IDPRS Model  

 

เมื่อ ผอ.ภานุวัฒน์ แป้นจันทร์ เข้ามาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนเมื่อเดือนตุลาคม 2564 จึงได้นำความรู้ความชำนาญมาต่อยอดพัฒนาให้กระบวนการพัฒนาสมรรถนะการคิดของนักเรียนมีประสิทธิภาพสูงขึ้น โดยใช้การพัฒนารูปแบบการบริหารแบบ PEERS MODEL ผ่านกระบวนการชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ PLC และการพัฒนาบทเรียนร่วมกัน (Lesson Study) เพื่อพัฒนาทักษะการคิดของผู้เรียนโดยใช้รูปแบบการสอน IDPRS Model เป้าหมายเพื่อพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ คิดอย่างมีวิจารณญาณ และคิดสร้างสรรค์ แก่ผู้เรียนอย่างมีประสิทธิภาพ
 

โลกเปลี่ยนไป สถานการณ์เปลี่ยนไป เด็กต้องคิด จัดกระทำ และประมวลข้อมูลเป็น และใช้ทักษะหลายๆ อย่าง เรียนเพื่อใช้ชีวิตและมีอาชีพได้ ดังนั้น ผมมองว่าครูจะต้องออกแบบกิจกรรมใน 1 ชั่วโมงหนักมาก ว่าจะใช้สื่ออย่างไร จะใช้คำถามอย่างไร ใช้กิจกรรมแบบไหนบ้าง เพื่อให้นักเรียนยุคหลังโควิดสนใจ เพราะถ้าครูไม่มีกิจกรรมที่ดีพอ โทรศัพท์มือถือจะดึงความสนใจของนักเรียนไปหมด ดังนั้น นอกจากครูต้องมีทักษะการออกแบบแล้ว ผมมองว่าครูยังต้องมีทีม PLC ที่จะช่วยกันเตรียมเนื้อหาก่อนสอน ช่วยกันขัดเกลาแผน ช่วยกันเสนอแนะ ดังนั้น ครูต้องเปิดใจ และทำงานร่วมกันเป็นทีม เป็นทีมการจัดการเรียนการสอนในห้องเรียน ครูต้องเปิดใจเพื่อรับการเปลี่ยนแปลง 

 

สำหรับนวัตกรรมที่ ผอ.ภานุวัฒน์ นำมาใช้ประกอบด้วย 


1. การพัฒนารูปแบบการบริหารแบบ
PEERS MODEL ผ่านกระบวนการชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ PLC เป็นนวัตกรรมให้ครูช่วยกันออกแบบการจัดการเรียนการสอนอย่างมีคุณภาพ มี 5 ขั้นตอน ได้แก่  
  • ขั้นวางแผนการดำเนินการ (Plan and Establish Team) 
    • Share Value ประชุมชี้แจง ให้ความรู้แก่คณะครู และร่วมอภิปรายถึงวัตถุประสงค์และคุณค่าของการสร้างชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพของครู โดยเน้นการเรียนรู้ของนักเรียนเป็นหัวใจสำคัญ มุ่งเน้นการพัฒนาการเรียนรู้ของบุคคลและองค์กร 

    • Team การสร้างทีมในชุมชนแห่งการเรียนรู้ที่ครูรวมพลังทำงานร่วมกันอย่างกัลยาณมิตร เอาใจใส่และรับผิดชอบต่อการเรียนรู้ของนักเรียน 
    • Schedule การกำหนดปฏิทินดำเนินงาน  
  • ขั้นทำความเข้าใจปัญหาอย่างลึกซึ้ง (Empathize and Analysis) 
    • Empathize ทำความเข้าใจผู้เรียน 

    • Analysis สมาชิก PLC ร่วมกันวิเคราะห์หาสาเหตุ คิดหาวิธีแก้ไข โดยใช้เครื่องมือ องค์ความรู้ งานวิจัย รายงาน แนวปฏิบัติที่ดี มาเป็นแนวทาง 

    • Strategy กำหนดรูปแบบการจัดการเรียนที่เหมาะสมเพื่อพัฒนาทักษะการคิดของนักเรียน ผ่านกระบวนการเรียนรู้ที่ใช้คำถามเป็นฐานที่ยึดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้วยรูปแบบ IDPRS Model  
  • ขั้นดำเนินการและนิเทศติดตาม (Execute and Mentor) 
    • ค้นหาวิธีการสอน (Discover : D1) ประกอบด้วย 1) สมาชิกทีม PLC ร่วมกันศึกษาและวิเคราะห์ตามมาตรฐานการเรียนรู้ ตัวชี้วัด สาระการเรียนรู้ ผลการเรียนรู้ จุดประสงค์การเรียนรู้ของหน่วยการเรียนรู้ที่ Model Teacher จะจัดการเรียนรู้ และ 2) สมาชิกทีม PLC รวมพลังศึกษาเทคนิคการสอน วิธีการสอน วิธีการจัดการเรียนรู้ ค้นคว้าสื่อการเรียนรู้ แอพลิเคชัน ที่เหมาะสมนำมาใช้ในการจัดการเรียนรู้เสนอแนะต่อ Model Teacher  
    • ออกแบบแผนการจัดการเรียนรู้ (Design : D2) ประกอบด้วย 1) Model Teacher ออกแบบแผนการจัดการเรียนรู้ที่สอดคล้องตามมาตรฐานการเรียนรู้ ตัวชี้วัด จุดประสงค์การเรียนรู้ ที่นำองค์ความรู้ด้านเทคนิคการสอน วิธีการสอน วิธีการจัดการเรียนรู้ ค้นคว้าสื่อการเรียนรู้ สื่อออนไลน์ แอพลิเคชัน ตามที่ทีม PLC เสนอแนะ 2) สมาชิก PLC พิจารณาให้ข้อเสนอแนะเพื่อปรับปรุงอีกครั้ง  

    • พัฒนาแผนการจัดการเรียนรู้ (Develop : D3) Model Teacher นำข้อเสนอแนะการจัดทำแผนการจัดการเรียนรู้จากสมาชิกทีม PLC มาปรับปรุง ให้มีความสมบูรณ์ สร้างสื่อการเรียนรู้ เตรียมความพร้อมในการจัดการเรียนรู้ในชั้นเรียน ตามที่นัดหมายกับสมาชิก PLC  

    • นำแผนไปใช้ในชั้นเรียนและร่วมสังเกตการสอน (Deliver : D4) ในขั้นตอนนำแผนไปใช้ในชั้นเรียนและร่วมสังเกตการสอน สมาชิก PLC ร่วมสังเกตการจัดการเรียนรู้ของ Model Teacher ตามนัดหมาย โดยมีหลักปฏิบัติ คือ 1) การประชุมก่อนการสังเกตการสอน (Pre - Observation) 2) การสังเกตการสอน (Observation) และ 3) การประชุมหลังการสังเกตการสอน (Post – Observation)  

    • สะท้อนผล (R : Result Study) การศึกษาผลการจัดการเรียนรู้ในทุกมิติ เช่น คะแนนก่อนเรียน - หลังเรียน กิริยาอาการตอบสนอง การทำกิจกรรมของนักเรียน ชิ้นงาน ผลงาน ผลการประเมินทักษะที่เป็นจุดเน้น เวลาที่ใช้ สื่อการเรียนรู้ที่นำมาใช้มีประสิทธิภาพเพียงใด การใช้คำถามสอดคล้องกับจุดประสงค์การเรียนรู้ และครูได้ประเมินผู้เรียนครบทุกด้านหรือไม่  
  • ขั้นสะท้อนผลการดำเนินงาน (Reflect) โดยสมาชิกทีม PLC  
    • Open การสะท้อนความสำเร็จกับเป้าหมายและสังเคราะห์บทสรุปที่ได้เรียนรู้ร่วมกัน สรุปถอดบทเรียนเพื่อค้นหานวัตกรรมการแก้ปัญหา ที่สามารถเป็นแนวปฏิบัติที่ดี (Best Practice) เพื่อปรับใช้ในภาคเรียนหรือปีการศึกษาต่อไป  

    • Care สะท้อนปัญหาและอุปสรรค ข้อควรปรับปรุง และสิ่งที่ต้องพึงระวังอย่าง กัลยาณมิตร 
       
    • Praise การยกย่องชมเชยผลงานการสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้ที่ถูกค้นพบว่ามีผลงานการปฏิบัติที่ดี (Good Practice) หรือที่เป็นเลิศ (Best Practice) จากนั้นจึงมอบเกียรติบัตรให้เป็นขวัญกำลังใจ  
  • ขั้นแบ่งปันและขยายเครือข่าย (Share)  
    • Share การเผยแพร่ผลงานที่ดี ควรรักษาไว้ให้มีต่อไป หรือนำไปพัฒนาต่อยอด ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ และการเข้าร่วมกิจกรรมทางวิชาการต่างๆ  

    • Network Partner การสร้างเครือข่าย PLC ผู้เชี่ยวชาญ นักวิจัย สถาบันทางการศึกษา ตลอดจนผู้นำชุมชนมาร่วมปรึกษาหารือเพื่อหาแนวทาง วางแผนยุทธศาสตร์เพื่อพัฒนาโรงเรียนและผู้เรียน เพื่อพัฒนาการจัดการศึกษาให้มีคุณภาพ  

    • Stakeholders การคำนึงถึงผลกระทบ ความต้องการ และบริบทของชุมชน ให้การจัดการศึกษาเป็นไปในทิศทางที่ชุมชนต้องการ โดยการประชุมรับฟัง และรายงานผลอย่างต่อเนื่อง 
Screenshot (1025).png
Screenshot (1027).png
2.การพัฒนาบทเรียนร่วมกัน (
Lesson Study) เพื่อพัฒนาทักษะการคิดของผู้เรียนโดยใช้รูปแบบการสอน IDPRS Model เป็นกระบวนการจัดการเรียนการสอนในห้องเรียน มี 5 ขั้นตอนด้วยกัน 
  • ขั้น I : Inspiration สร้างแรงบันดาลใจในการเรียนรู้ ทบทวนความรู้เดิม ด้วยเกม นำเสนอชิ้นงานเดิม คลิปวีดิโอ ข้อสอบ หรือเชื่อมโยงไปหาความรู้ใหม่โดยใช้ ปรากฎการณ์ / ข่าว / บทความ อาจจะใช้คำถามเพื่อการเรียนรู้ว่า อะไรจะเกิดขึ้นถ้า ... มีปรากฏการณ์อะไรเกิดขึ้นที่น่าสนใจ และเราเกี่ยวข้องกับเรื่องนั้นอย่างไร เป็นต้น 
  • ขั้น D : Define วิเคราะห์สถานการณ์ ครูผู้สอนกำหนดสถานการณ์ / เรื่องราว ใช้ตัวอย่าง ใช้คำถามเพื่อการเรียนรู้ ชวนสังเกต สำรวจ นักเรียนเห็นอะไร แล้วใช้คำถามเพื่อพัฒนาทักษะการคิด เช่น อะไรคือสาเหตุของปัญหา ปัญหาใดสำคัญที่สุด ปัญหาใดแก้ไขได้ ปัญหาอะไรที่แก้ไม่ได้ จะทำอะไรให้ใหม่และแตกต่าง เรารู้อะไรแล้ว อะไรที่ยังไม่รู้ จะหาความรู้จากแหล่งใด จะรู้ได้อย่างไรว่าความรู้นั้นเชื่อถือได้ จะออกแบบวิธีแก้ปัญหาอย่างไร วิธีการแก้ปัญหามีกี่วิธี วิธีการแก้ปัญหาแบบใดเป็นไปได้มากที่สุด จะประเมินวิธีแก้ปัญหาอย่างไร มีคุณธรรมเรื่องใดบ้างที่เกี่ยวข้อง ชิ้นงานนี้มีผลในมิติทางเศรษฐกิจ มิติทางสังคม มิติทางสิ่งแวดล้อม และมิติทางวัฒนธรรมอย่างไรบ้าง เป็นต้น 
  • ขั้น P : Practice ฝึกฝน ครูผู้สอนใช้คำถามเพื่อการเรียนรู้ เช่น ผลเป็นอย่างไร หลักฐานคืออะไร จะนำผลไปปรับปรุงอย่างไร มีปัญหาอะไรเพิ่มเติมขึ้นบ้าง เลือกแก้ปัญหานั้นอย่างไร จะเลือกแก้ปัญหาใดก่อน เป็นต้น 
  • ขั้น R : Result ผลลัพธ์จากการเรียนรู้ ครูผู้สอนใช้คำถามเพื่อการเรียนรู้  เช่น การแก้ปัญหาเป็นไปตามที่วางแผนไว้หรือไม่ วิธีการแก้ปัญหามีจุดเด่น จุดด้อยอย่างไร จะปรับปรุงอย่างไร สิ่งใดที่นักเรียนควรเรียนรู้เพิ่มเติม 
  • ขั้น S : Share เผยแพร่ผลงาน ครูใช้คำถามเพื่อการเรียนรู้ เช่น จะนำเสนอวิธีการแก้ปัญหาอย่างไรให้คนอื่นเข้าใจ ชิ้นงานมีคุณค่าต่อสังคมและผู้อื่นอย่างไร วิธีการแก้ปัญหาสามารถนำไปทำซ้ำได้หรือไม่ ข้อเสนอแนะในการทำงานต่อไปมีอะไรบ้าง นักเรียนได้เรียนรู้อะไร นักเรียนมีปัญหาในการเรียนรู้ในครั้งนี้อย่างไร นักเรียนอยากเรียนรู้อะไรเพิ่มเติม และนักเรียนจะนำความรู้นี้ไปประยุกต์ใช้กับเรื่องใดในชีวิตประจำวันได้บ้าง  

 

 

นอกจากนี้ โรงเรียนเทพอุดมวิทยายังมีการใช้เครื่องมือทางการเรียนรู้อีกหลายเครื่องมือผสมผสานเข้าไปในการจัดการเรียนรู้ด้วย เช่น การสร้างห้องเรียนให้มีความเคลื่อนไหว เป็น Classroom Movement ได้แก่ เทคนิคการสอนแบบ Think – Pair – Share เพื่อฝึกให้เกิดกระบวนการคิดอย่างเป็นลำดับ, เทคนิค Group of 4 เพื่อฝึกทักษะการทำงานเป็นกลุ่ม, เทคนิค Gallery Walk เพื่อฝึกทักษะการสื่อสารและการนำเสนอผลงาน, เทคนิคการทดสอบเพื่อวัดประเมินผลเพื่อพัฒนาผู้เรียน (Formative Assessment) โดยใช้ Game - Based Learning หรือเกมมิฟิเคชั่น (Gamification), การสอบออนไลน์, เทคนิคการสะท้อนคิดของผู้เรียนโดยใช้รูปแบบ Exit Ticket เพื่อให้ผู้เรียนได้สะท้อนการเรียนรู้นำไปสู่ทักษะชีวิต เป็นคำถามที่ฝึกให้นักเรียนรู้จักใช้ทักษะชีวิต โครงสร้างคำถามประกอบด้วย R - Reflect การสะท้อนกลับ, C - Connect การเชื่อมโยง, และ A - Apply การปรับใช้ ทั้งหมดนี้ โดยมีครูผู้สอนเป็นผู้ใช้สื่อเทคโนโลยีในการจัดการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพ  

 

 

ครูปรับการสอน เด็กเปลี่ยนการเรียน 

 

เมื่อครูโรงเรียนเทพอุดมวิทยาได้นำนวัตกรรม PEERS Model มาใช้ ก็ทำให้โรงเรียนมีแผนการจัดการเรียนรู้ที่มีคุณภาพเกิดขึ้นมากมาย และเมื่อนำนวัตกรรม IDPRS Model ไปจัดการเรียนการสอนแล้วก็ทำให้นักเรียนสามารถพัฒนาสมรรถนะการคิดได้ดีขึ้น โดยแผนการจัดการเรียนรู้ทุกแผนถูกจัดเก็บไว้อย่างเป็นระบบในฐานข้อมูลของโรงเรียน ครูสามารถเข้าถึงได้ทุกที่ ทุกเวลา รวมถึงมีการเผยแพร่ขั้นตอนการเปิดชั้นเรียนผ่านสื่อสังคมออนไลน์ YouTube และ Facebook อาทิ 

  • การเปิดชั้นเรียนของคุณครูโกวิทย์ บังคม วิชาสุขศึกษาและพลศึกษา ชั้น ม.3 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2564 เรื่องหลักการช่วยฟื้นคืนชีพ (ลิงก์ http://tinyurl.com/mwsu2twe) 
  • การเปิดชั้นเรียนของคุณครูณัฏฐกันยภรณ์ โสพัฒน์ วิชาคณิตศาสตร์ชั้น ม.1 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2565 เรื่องการแก้โจทย์ปัญหาเกี่ยวกับอสมการเชิงเส้นตัวแปรเดียว (ลิงก์ http://tinyurl.com/4eb83cj9) 
  • การเปิดชั้นเรียนของคุณครูจงกล ปัดภัย วิชาภาษาอังกฤษ ชั้น ม.6 ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2566 เรื่อง Compound Noun (ลิงก์ http://tinyurl.com/4sususus)  
  • เป็นต้น 

Screenshot (1028).png

สู่สมรรถนะการคิดที่สูงขึ้น 

 

ในด้านการวัดและประเมินผล โรงเรียนเทพอุดมวิทยามี การประเมินสมรรถนะทั่วไป ได้แก่ การจัดการตนเอง การแสวงหาความรู้ การสื่อสาร การทำงานเป็นทีม และมี การประเมินสมรรถนะด้านการคิดขั้นสูง ได้แก่ การคิดวิเคราะห์ คิดสร้างสรรค์ คิดอย่างมีวิจารณญาณ ของนักเรียน พบว่าระหว่างปี 2563 - 2565 ค่าคะแนนการประเมินสมรรถนะทั่วไปและสมรรถนะด้านการคิดขั้นสูงของนักเรียนอยู่ในระดับที่ดี และมีพัฒนาการสูงขึ้นทุกปี ได้คะแนน 2.50 เต็ม 4 ในปี 2563 เพิ่มเป็น 3.33 เต็ม 4 ในปี 2564 และเพิ่มเป็น 3.41 เต็ม 4 ในปี 2565 

สำหรับผลลัพธ์ความเปลี่ยนแปลงในตัวผู้เรียน ผอ.ภานุวัฒน์ ให้ข้อมูลว่า นักเรียนมีทักษะการคิดวิเคราะห์ คิดอย่างมีวิจารณญาณ และคิดสร้างสรรค์มากขึ้น ชิ้นงานของผู้เรียนสะท้อนถึงการรวบรวมข้อมูลมาจัดระบบหรือเรียบเรียงให้ง่ายแก่การทำความเข้าใจ มีการนำเสนอข้อมูลที่แจกแจงแล้วในแต่ละหมวดหมู่ มีการเปรียบเทียบข้อมูล เชื่อมโยงความเป็นเหตุเป็นผล มีลำดับความต่อเนื่อง มีความคิดที่แปลกใหม่ สามารถคิดคล่องว่องไว มีทักษะการตั้งประเด็นปัญหา รวบรวมข้อมูล วิเคราะห์และสังเคราะห์ข้อมูล มีการแยกแยะว่าอะไรคือเหตุ อะไรคือผล ส่วนใดน่าเชื่อถือ ส่วนใดควรตัดออก และการประเมินข้อมูลเพื่อการตัดสินใจได้เป็นอย่างดี 

ตอนนี้ นักเรียนของเราได้เรียนรู้จากการปฏิบัติ ผ่านกระบวนการกลุ่ม ที่มีการวางแผน แบ่งบทบาทชัดเจน มีทักษะการคิด คิดเป็น คิดเองได้อย่างเป็นขั้นตอน ผ่านกระบวนการคิดที่มากขึ้น ชิ้นงานสะท้อนการคิด คิดวิเคราะห์ คิดสร้างสรรค์ คิดอย่างมีวิจารณญาณ นักเรียนร้อยละ 80 ได้รับการแก้ปัญหาหรือได้รับการพัฒนาการจัดการเรียนการสอนให้สูงขึ้น ส่งผลให้ผลสัมฤทธิ์ในภาพรวมกำลังดีขึ้นตามมา  

Screenshot (1029).png

ผู้บริหารนักคิด - นักวิชาการท่านนี้พบด้วยว่า การนำนวัตกรรมการศึกษาดังกล่าวมาปรับการเรียนการสอนนี้ยังทำให้นักเรียนโรงเรียนเทพอุดมวิทยามีความสุขในการเรียนมากขึ้น เมื่อครูพยายามจัดกิจกรรมให้เป็น Active Learning นักเรียนจะได้รับทั้งความสนุกและความรู้ เพราะได้เล่นและได้คิดตลอดเวลา โดยการประเมินหลังการสอนพบว่านักเรียนร้อยละ 90 พึงพอใจกับการจัดกิจกรรมการสอนของครู ถือเป็นความสำเร็จที่มาจากความร่วมแรงร่วมใจของผู้บริหารและคณะครูในโรงเรียน 

สุดท้ายนี้ กับประเด็นเรื่องของความยั่งยืน ผอ.ภานุวัฒน์ ฝากว่า สิ่งใดที่มีผู้ทำไว้แล้วเป็นประโยชน์ต่อผู้เรียน ต่อโรงเรียน และทำตามหลักการบริหารที่ดี หากมีการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารโรงเรียน ก็เชื่อว่าผู้บริหารท่านต่อไปจะเห็นความสำเร็จ เห็นประโยชน์ ที่สำคัญคือเห็นวัฒนธรรมองค์กรที่เกิดกับครู และได้เข้ามาร่วมสานต่อสิ่งดีๆ ที่โรงเรียนทำไว้อยู่เดิม เมื่อนั้นสิ่งที่เรียกว่าความยั่งยืนย่อมเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติอย่างแน่นอน  
resize ผอ.ภานุวัฒน์ 1.png
resize ผอ.ภานุวัฒน์ 2.png


ดาวน์โหลดเอกสาร
โครงการจัดการความรู้เพื่องานมหกรรม
โรงเรียนและครู สู่ผู้นำการเปลี่ยนแปลง
กสศ
SCBF
มูลนิธิเพื่อทักษะแห่งอนาคต
โรงเรียนเทพอุดมวิทยา
มัธยมศึกษา
สุรินทร์
หลักสูตรสมรรถนะ
การคิดขั้นสูง
resize ผอ.สุเทพ แปลงทับ อินโฟ 1
นักเขียน
มูลนิธิเพื่อทักษะแห่งอนาคต
PLC1
นักเขียน
SCBF PLC
โครงการความร่วมมือระหว่าง มลูนิธิสยามกัมมาจล และ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เพื่อพัฒนาโรงเรียนแกนนำของทั้ง 2 หน่วยงาน เพื่อยกระดับคุณภาพผู้เรียน ผ่านการพัฒนาศักยภาพการจัดการเรียนรู้ของ “ครู” โดยผลักดัน ให้แนวทางในหนังสือ “ครูเพื่อศิษย์สร้างการเรียนรู้สู่ระดับเชื่อมโยง” โดย ศ.นพ. วิจารณ์ พานิชไปสู่การปฏิบัติงานของ “ครูแกนนำ” ในเครือข่าย หนังสือจัดพิมพ์ปี 2564 โดย 2 หน่วยงาน
แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน
profile
กรุณา Login ก่อน comment