เรื่องเล่าจากครู
ครูจินตนา พบบุญ : "ช้างตัวน้อย" ของขวัญสุดน่ารักจากวัสดุธรรมชาติ สู่การพัฒนาทักษะและสร้างรายได้ให้กับนักเรียนผู้บกพร่องทางการเรียนรู้
ครูจะสอนอย่างไรหากต้องจัดการเรียนการสอนให้เด็กพิเศษเรียนรวมร่วมกับเพื่อนคนอื่นๆ? เป็นปัญหาที่ครูจินตนา พบบุญ โรงเรียนบ้านหนองกาฯ ตั้งคำถาม ก่อนนำไปสู่การออกแบบการเรียนรู้ด้วยเครืองมือ "ช้างตัวน้อย" ของขวัญสุดน่ารักจากวัสดุธรรมชาติ สู่การพัฒนาทักษะและสร้างรายได้ให้กับนักเรียนผู้บกพร่องทางการเรียนรู้
"ช้างตัวน้อย" ของขวัญสุดน่ารักจากวัสดุธรรมชาติ
สู่การพัฒนาทักษะและสร้างรายได้ให้กับนักเรียนผู้บกพร่องทางการเรียนรู้
กรณีศึกษา : ครูจินตนา พบบุญ โรงเรียนบ้านหนองกา "ประชารัฐพิทยา" จ.สุรินทร์
ครูจะสอนอย่างไรหากต้องจัดการเรียนการสอนให้เด็กพิเศษเรียนรวมร่วมกับเพื่อนคนอื่นๆ?
เป็นปัญหาที่ “ครูหนิง” ครูประจำชั้น ชั้น ป.5 และครูระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน โรงเรียนบ้านหนองกาฯ พบ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำ และความด้อยโอกาสทางการศึกษาของน้องๆ ที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้อันเป็นข้อจำกัดทางร่างกายและสติปัญญาทำให้อ่านเขียนไม่ได้ คิดเลขไม่เป็น จึงเรียนไม่ทันเพื่อนและไม่มีความสุขกับการเรียน ไม่อยากอยู่ในห้องเรียน ขอไปห้องน้ำบ่อย จนเพื่อนในห้องพลอยเรียนไม่รู้เรื่องไปด้วย
แล้วเราจะทำอย่างไรที่จะไม่ทอดทิ้งนักเรียนกลุ่มนี้ไว้เบื้องหลัง และจะจัดการเรียนการสอนอย่างไรให้เขาเกิดการพัฒนาและมีความสุขกับการเรียนมากขึ้น?
คือคำถามที่ผุดขึ้นในความคิดของครูเอกวิชาจิตวิทยาและการแนะแนวท่านนี้ยกตัวอย่างในปีการศึกษา 2565 ห้องเรียนของครูจินตนามีนักเรียนบกพร่องทางการเรียนรู้ (Learning Disability: LD) และนักเรียนที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา รวมกันไม่น้อยกว่า 6 คน
“ช้างน้อยมหัศจรรย์ สร้างรายได้” แผนการสอนจากใจครู
เพื่อแก้ปัญหาข้างต้น ครูจินตนาได้ออกแบบแผนการสอนเด็กพิเศษแยกออกมาเป็นอีกแผนหนึ่งต่างหากและนำงานประดิษฐ์ที่ตนชื่นชอบมีความถนัดจากการเข้าร่วมโครงการโรงเรียนสร้างสรรค์สิ่งแวดล้อม ภายใต้กิจกรรมโรงเรียนปลอดขยะอย่างยั่งยืนซึ่งครูทำต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2550มาเป็นตัวช่วยฝึกทักษะให้กับนักเรียนเนื่องจากเด็กกลุ่มนี้จะเกิดการเรียนรู้ได้ดีต่อเมื่อมีการปฏิบัติ โดยครูนำวัสดุธรรมชาติ อย่างเมล็ดยางพารา เมล็ดมะค่าโมง เมล็ดตาลทะลายมะพร้าว กาบกล้วย ขี้เลื่อย กิ่งลำดวน ฯลฯ มาสร้างสรรค์เป็นของขวัญของใช้แสนน่ารักจากฝีมือของนักเรียน เริ่มต้นจาก“ที่แขวนสิ่งของรูปหัวช้าง” ที่เด็กๆ ช่วยกันโหวตรูปแบบจากความชอบ “ช้าง” สัตว์สัญลักษณ์คู่บ้านคู่เมืองของชาวจังหวัดสุรินทร์
ในการทำกิจกรรม ครูหนิงใช้กระบวนการฝึกทักษะจากการปฏิบัติตามแนวทางของ Woodruff มาช่วยให้เด็กๆ เห็นภาพ และทำสิ่งประดิษฐ์ตามครูได้ง่าย มี 7 ขั้นตอนคือ
- ครูมีชิ้นงานต้นแบบ
- ครูอธิบายขั้นตอนการปฏิบัติอย่างละเอียดและชัดเจน
- ครูสาธิตการปฏิบัติงานอย่างละเอียดและชัดเจน
- ครูสาธิตการปฏิบัติงานซ้ำอีกครั้งตั้งแต่ต้นจนจบ
- ครูแสดงการปฏิบัติแต่ละขั้นตอนอย่างง่ายๆ และทำให้ดูอย่างช้าๆ
- ครูเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ลงมือทำเองตั้งแต่ต้นจนจบภายใต้การดูแลของครู
- ครูเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ทำงานตามลำพังและนำผลงานที่ทำมาตรวจสอบกับชิ้นงานต้นแบบ
"ในขั้นตอนนี้ ครูจะสร้างเอกสารประกอบการเรียนรู้ขึ้นมา ให้นักเรียนได้ลงมือปฏิบัติจริง ฝึกทำบ่อยๆ จนเกิดความชำนาญ เรียงลำดับจากง่ายไปหายาก เพื่อให้เขาได้ใช้เป็นพื้นฐานในการเรียนวิชาอาชีพในระดับที่สูงขึ้นในอนาคต"
อีกทั้งเพื่อให้การสอนของครูแก้ปัญหาและพัฒนานักเรียนได้ตรงจุด ครูจินตนายังใช้วงจรPDCA มาขับเคลื่อนการทำงาน และพัฒนาคุณภาพการจัดการเรียนการสอนให้ดียิ่งขึ้น ประกอบด้วย การวางแผน (Plan) การลงมือทำ(Do)การตรวจสอบ(Check) และการปรับปรุง (Action)
ให้ความรักก่อนให้ความรู้ ผสานหลัก “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา”
ด้วยกระบวนการจัดการเรียนรู้ที่ว่านี้ ภาพที่เกิดขึ้นในห้องเรียนของครูหนิงจึงเป็นภาพของนักเรียนส่วนใหญ่เรียนหนังสือกันตามปกติ ขณะที่นักเรียนที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้จะได้ประดิษฐ์ “หัวช้าง” ของตัวเองอย่างตั้งอกตั้งใจ โดยมีครูดูแลใกล้ชิด พูดคุยเสริมแรงให้กำลังใจเมื่อเด็กๆ ทำได้ดี หรือใช้คำถามกระตุ้นให้ปรับปรุงหรือพัฒนางานให้ดีขึ้น
แต่เนื่องจากเด็กพิเศษเรียนรู้ได้ช้า การรับรู้จึงช้าตามไปด้วย ครูหนิงเล่าว่า ปัญหาที่พบคือเขามักจะคอยดูเพื่อนที่เขาทำได้ทำจนเสร็จก่อน แล้วเขาจึงค่อยทำตาม ทั้งที่ครูมีชิ้นงานต้นแบบให้เขาดูเพราะธรรมชาติของเด็กพิเศษจะขาดความเชื่อมั่น ขาดความมั่นใจ จึงไม่กล้าตัดสินใจและลงมือทำด้วยตัวเอง ถึงอย่างนั้น เขาก็ไม่ย่อท้อ แต่ใช้ความอดทน ฝึกฝนมากกว่าเด็กปกติ โดยการฝึกเรื่องเดิมซ้ำๆ ย้ำบ่อยๆ จนกว่าจะทำชิ้นงานได้สำเร็จเป็นที่น่าพึงพอใจ
“เด็กปกติอาจจะทำครั้งเดียวแล้วทำได้ แต่ถ้าเป็นเด็กพิเศษอาจต้องทำมากถึง 3 - 4 ครั้งเขาถึงทำได้ ครูจะเปิดโอกาสให้เขาทำบ่อยๆ เพื่อให้เขาเกิดความมั่นใจในตัวเอง เชื่อมโยงกับทฤษฎีการทำซ้ำ และทฤษฎีการเสริมแรง ครูต้องให้ความรักและให้กำลังใจเขาเสมอๆ ว่าเธอทำได้นะ เยี่ยมมากเลย เก่งมากเลย คิดได้อย่างไรนี่เธอแน่มากสิ่งนี้ทำให้เขาสามารถก้าวข้ามปัญหา และมีกำลังใจในการเรียนรู้
เมื่อเด็กพิเศษเขาทำหัวช้างสำเร็จ เขาก็จะร้องเย้ดีใจว่าเขาทำได้แล้ว บางคนจะยิ้มอย่างมีความสุข เอาผลงานที่ทำได้มาโชว์ มาอวดเพื่อน อวดครู บางคนขออนุญาตนำผลงานกลับไปที่บ้านให้พ่อแม่ดูด้วยว่าเขาทำได้ ครูหนิงเองก็จะเอาผลงานของเขามาตั้งโชว์ไว้ เขาจะเทียวไปเทียวมาแวะดูผลงานตัวเองและยิ้มอย่างมีความสุข บ้างก็เดินมาขอทำอีก เพราะเขาทำได้ เขามีพลังและมีกำลังใจอยากทำเพิ่ม”
ในด้านการเรียน ครูนักพัฒนาก็ไม่ทอดทิ้ง ทว่าได้สอดแทรกเนื้อหาสาระวิชาต่างๆ อย่างง่ายเข้าไประหว่างการทำงานประดิษฐ์ของนักเรียนด้วย เพื่อให้เขาได้เรียนรู้สาระวิชาเฉกเช่นเดียวกับเพื่อนคนอื่นๆ เช่น วิชาภาษาไทย ให้เด็กๆ ลองแต่งเรื่องจากจินตนาการเกี่ยวกับหัวช้างที่เขาประดิษฐ์ หรือวิชาคณิตศาสตร์ ให้เขาลองคิดคำนวณหารายได้ เช่น หากนักเรียนขายหัวช้างในราคาหัวละ 79บาท ถ้าขายได้ 10 หัว นักเรียนจะได้เงินกี่บาท เป็นต้น
ผลงานดี มีรายได้
เมื่อเด็กๆ ได้ฝึกฝนฝึกทำหัวช้างบ่อย ความชำนาญจึงค่อยๆ เกิดขึ้น เด็กพิเศษบางคนกล้าเสนอไอเดียกับครูเพื่อต่อยอดชิ้นงาน ทำให้ได้ผลิตภัณฑ์จากวัสดุธรรมชาติชนิดใหม่ๆมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวไม่ซ้ำใครออกมา เช่น กล่องใส่ดินสอ พวงกุญแจ กิ๊บ และที่คาดผม ฯลฯผลิตภัณฑ์ที่ว่านี้จะถูกจำหน่ายผ่านช่องทางต่างๆ ของโรงเรียน อาทิ เฟซบุ๊คและเว็บไซต์การออกบูธนิทรรศการที่สำคัญยังได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีให้นำสินค้าผลงานนักเรียนไปจำหน่ายที่ร้านภูฟ้า เมื่อขายได้ ครูจะนำรายได้หักค่าใช้จ่ายมอบให้กับนักเรียนเจ้าของผลงาน อีกทั้งผลงานของนักเรียนยังชนะการประกวดต่างๆ อย่างต่อเนื่องอีกหลายเวที
สิ่งเหล่านี้ทำให้เด็กๆเกิดความภาคภูมิใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือเกิด Self Esteem หรือการมองเห็นคุณค่าในตนเอง ส่งผลต่อเนื่องให้น้องๆ มีความอยากรู้ อยากเรียน และอยากพัฒนาตัวเองให้ดียิ่งขึ้นต่อไป
ขยายผลสู่นักเรียนปกติ– ชุมชน
ด้วยความน่าสนใจของกิจกรรม เมื่อเพื่อนๆ ในห้องเห็นเด็กนักเรียนบกพร่องทางการเรียนรู้ได้ทำงานประดิษฐ์ร่วมกันอย่างสนุกสนาน และมีรายได้ระหว่างเรียนจึงเกิดความสนใจอยากทำบ้าง ขอครูจินตนาให้ได้ร่วมทำกิจกรรม จนเกิดเป็น“ชุมนุมส่งเสริมอาชีพ”ขึ้นในโรงเรียน ภาพการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างเด็กทั้ง 2 กลุ่มจึงเกิดขึ้นเป็นภาพแห่งความงดงาม เป็นโอกาสให้น้องๆ เด็กพิเศษได้ทำกิจกรรมร่วมกับเพื่อนกลุ่มใหม่มีปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน และต่อยอดสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ให้ยิ่งมีความหลากหลาย ผู้ปกครองนักเรียนบางส่วนยังเข้ามาร่วมกิจกรรม ขยายผลไปสู่การสร้างอาชีพในชุมชน
ครูเบิกบานเมื่อเห็นเด็กงอกงาม
การวัดผลการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ครูหนิงเล่าว่าครูไม่ได้ใช้การสอบกับเด็กพิเศษ แต่ใช้การประเมินจากการสังเกตนักเรียนเป็นรายบุคคลในระหว่างที่เขาทำกิจกรรม ตั้งแต่ขั้นเตรียมอุปกรณ์ไปจนถึงขั้นเก็บอุปกรณ์ให้เข้าที่เป็นระเบียบ ครูตรวจดูชิ้นงานของนักเรียนและให้นักเรียนประเมินตัวเอง ครูให้กำลังใจเสริมแรง ชี้ชวนให้เห็นจุดที่เขาทำได้ดี รวมถึงข้อที่ควรพัฒนาต่อ และเปิดโอกาสให้นำกลับไปทำให้ดีขึ้น
ผลการเปลี่ยนแปลงคือนักเรียนบกพร่องทางการเรียนรู้ได้พัฒนาทักษะการปฏิบัติงานและการทำงานร่วมกับผู้อื่น ได้รับการยอมรับจากเพื่อนมีรายได้ มีความสุขและมีพัฒนาการด้านการเรียนรู้
"แต่ก่อน เด็กพิเศษเขาจะไม่มีสมาธิในการทำงาน พอได้มาประดิษฐ์หัวช้าง ทำให้เขานิ่งขึ้น มีสมาธิมากขึ้น ดูได้จากแรกๆ เขาทำชิ้นงานได้ไม่สวย ไม่ละเอียด แต่พอเขาใช้ความจดจ่อ อดทนพยายาม ฝึกซ้ำย้ำบ่อย ผลงานของเขาก็ประณีตละเอียดขึ้นจนสามารถนำไปจำหน่ายได้ และเขายังสามารถสื่อสารสิ่งที่ทำได้ว่าหัวช้างต้องใช้วัสดุอุปกรณ์อะไร มีขั้นตอนการทำอย่างไร นำไปใช้ประโยชน์อะไร รวมถึงประเมินผลงานให้คะแนนตัวเองได้ มีความคิดสร้างสรรค์ เชื่อมโยงการประดิษฐ์หัวช้างไปสู่สิ่งของอย่างอื่น เช่น กล่องใส่ดินสอจากเมล็ดตาล ซึ่งทำให้เขาได้รับรางวัลเหรียญทองรองชนะเลิศอันดับ 2 ระดับประเทศในปี 2565 ที่สำคัญเขารู้ว่าหัวช้างนี้สามารถสร้างรายได้ให้กับเขาได้ สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าเขาเกิดการพัฒนาจริง”
เครื่องพิสูจน์ความสำเร็จของการทุ่มเททำงานอย่างต่อเนื่องกับเด็กพิเศษของครูจินตนา คือจำนวนนักเรียนบกพร่องทางการเรียนรู้ของโรงเรียนบ้านหนองกาฯ ที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2561 – 2565 จาก 35 คนในปี 2561 ลดลงเหลือ 30 คนในปี 2562, 29 คนในปี 2563 - 2564 และเหลือ 25 คนในปี 2565 เป็นตัวการันตีว่าแนวทางการดูแลช่วยเหลือนักเรียนวิธีนี้ได้ผล ส่วนนักเรียนคนอื่นๆ ที่เข้าร่วมกิจกรรมกับครู ก็ได้รู้จักการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ช่วยแบ่งเบาภาระของทางครอบครัว
จดหมายน้อยจากผู้ปกครอง คือขวัญกำลังใจของครู
นอกจากกิจกรรมงานประดิษฐ์แล้ว อีกหนึ่งความภาคภูมิใจของครูจินตนาในฐานะครูระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนคือการช่วยให้นักเรียนที่มีภาวะออทิสซึมเกิดการพัฒนาสามารถเขียนหนังสือได้สวยงาม บวกเลขง่ายๆ 1 หลักได้ และมีบุคลิกดีขึ้น โดยมีเสียงตอบรับจากผู้ปกครองนักเรียนชั้น ป.3 สะท้อนผ่านจดหมายที่เขียนออกมาจากใจ เพื่อขอบคุณครูจินตนาที่ช่วยให้ลูกชายซึ่งย้ายมาเรียนที่โรงเรียนบ้านหนองกาฯ ตอนอยู่ชั้น ป.2 มีพัฒนาการที่ดี ชอบไปโรงเรียน ชอบทำกิจกรรม มีสมาธิสามารถทำอะไรได้นาน มีเหตุผล รู้จักช่วยเหลือตัวเอง ช่วยงานบ้าน และพูดคุยกับแม่มากขึ้น
“ก่อนจะมาเรียนที่โรงเรียนบ้านหนองกาฯ น้องเป็นเด็กที่ไม่ค่อยรับฟัง ไม่ให้ความร่วมมือ อารมณ์เสียง่าย เข้ากับเพื่อนที่โรงเรียนไม่ได้ พูดกับแม่หรือคนอื่นๆ ไม่ค่อยได้ใจความ ไม่จ้องหน้า หลบตา ทำอะไรนานๆ ไม่ได้เลย ไม่ฟังเหตุผล เอาแต่ใจ แม่จึงตัดสินใจให้ย้ายมาเรียนที่โรงเรียนบ้านหนองกาฯ กับครูจินตนา พบบุญ ให้คุณครูได้ฝึกให้เขามีพัฒนาการที่ดีขึ้น” แม่กล่าวถึงปัญหาที่พบ
แม่เล่าต่อไปว่า “หลังจากที่ลูกชายได้ย้ายมาเรียนที่โรงเรียนบ้านหนองกาฯ ทุกอย่างก็ดีขึ้น ลูกอารมณ์ดี ชอบไปโรงเรียน ชอบเพื่อน ชอบทำกิจกรรม พูดเก่ง รู้เหตุ รู้ผล จากที่แม่คอยถามเขาฝ่ายเดียว ตอนนี้เขารู้จักถามกลับ มีเรื่องจากโรงเรียนมาเล่าให้แม่ฟัง ทำกิจกรรมได้นาน รู้จักรอคอยช่วยงานได้ ดูแลตายาย ทำสิ่งต่างๆ ในชีวิตประจำวันได้ด้วยตัวเอง จากแต่ก่อนที่ทำอะไรไม่เป็น มีแต่ร้องขอให้ตายายทำให้ทุกอย่างโดยรวมแล้วดีขึ้นมากๆ ไม่เสียดาย และไม่เสียใจที่ให้ลูกย้ายมาเรียนที่นี่”
ครูหนิงให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าสำหรับการคัดกรองเด็กพิเศษหรือนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ด้านต่างๆ นี้ โรงเรียนบ้านหนองกาฯ ได้ปฏิบัติตามกระบวนการดูแลช่วยเหลือนักเรียน ซึ่งมี 5 องค์ประกอบสำคัญ คือการรู้จักนักเรียนเป็นรายบุคคล, การคัดกรองนักเรียนโดยใช้แบบคัดกรองตามที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด, การส่งเสริมและพัฒนานักเรียน, การป้องกันและแก้ไข, การส่งต่อภายในและการส่งต่อภายนอก หากครูประจำชั้นพบว่าเด็กคนใดมีแนวโน้มที่จะบกพร่องทางการเรียนรู้ก็จะพูดคุยทำความเข้าใจกับผู้ปกครองเพื่อให้พาเด็กไปตรวจโดยละเอียดกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ถ้าได้รับการวินิจฉัยยืนยันแล้วว่าเป็นเด็กพิเศษ ครูจะมีกระบวนการพูดคุยทำความเข้าใจกับผู้ปกครองอีกครั้ง เพื่อให้ยอมรับกับสิ่งที่เกิดขึ้น และก้าวเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาบุตรหลานร่วมกันไปกับโรงเรียนเมื่อผู้ปกครองกับครูจับมือกัน เด็กพิเศษก็จะได้รับการพัฒนาอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
ครูดีต้องเชื่อมั่นในตัวศิษย์
ครูจินตนาฝากปิดท้ายว่า ครูต้องเชื่อเสมอว่านักเรียนทุกคนมีศักยภาพ สามารถพัฒนาได้ถ้าครูรู้วิธีพัฒนาเขา โดยครูต้องเอาใจใส่เพื่อค้นหาศักยภาพที่เขามีอยู่ แล้วพัฒนาให้ตรงจุด ความยั่งยืนของระบบการดูแลช่วยเหลือเด็กพิเศษคือการที่ครูมี Growth Mindset ไม่มองว่าเด็กกลุ่มนี้เป็นภาระ แล้วทำทุกอย่างด้วยหัวใจของความเป็นครู ที่หวังเพียงได้เห็นศิษย์เกิดการพัฒนา
“เด็กนักเรียนในห้องเรียนคือสถานศึกษา เป็นแหล่งเรียนรู้ของครู ครูต้องเป็นคนช่างสังเกตแล้วเอ๊ะให้ได้ว่าเขาสนใจอะไร และจัดการเรียนรู้เชื่อมโยงกับสิ่งที่เขาชอบ ให้เขาเรียนรู้อย่างมีความสุข ชื่นชมเสริมแรงทางบวกเมื่อเขาทำได้จนเขาเกิดการพัฒนาบนฐานความแตกต่างของบุคคล”แม่ครูแห่งโรงเรียนบ้านหนองกาฯจังหวัดสุรินทร์ กล่าวทิ้งท้าย
ด้วยหลักคิดที่เริ่มจากการให้ความรักก่อนให้ความรู้ ไม่ปล่อยให้ข้อจำกัดทางร่างกายและสติปัญญาของเด็กมาอยู่เหนือโอกาสในการเรียนรู้ วันนี้ น้องๆ เด็กพิเศษในความดูแลของแม่ครูจินตนา จึงมีรอยยิ้มเบิกกว้างได้มากกว่าที่เคย และส่งต่อเป็นความรัก ความสุขใจ ที่ครูอาวุโสท่านนี้จะได้รับกลับไปอย่างเต็มภาคภูมิ
ปัจจุบัน โรงเรียนบ้านหนองกา “ประชารัฐพิทยา” ได้รับเลือกให้เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านงานอาชีพและศูนย์งานอาชีพ และเป็นศูนย์แนะแนวการส่งเสริมอาชีพประจำสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสุรินทร์เขต 2 ขณะที่ครูจินตนาเองได้รับเข็มเชิดชูเกียรติ “รางวัลครูขวัญศิษย์”ในพิธีพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ครั้งที่ 5 ประจำปี 2566 ที่ผ่านมา ถือเป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจของการเป็นครู