Reflection
ปัจจัยความสำเร็จ เคล็ด(ไม่)ลับ ในการสอนเสวนา
เรื่องราวสะท้อนการเรียนรู้จากครูต้นเรื่องเวทีสอนเสวนาเพื่อพัฒนาครู ทั้ง 10 ท่าน
"คุณครูคิดว่า อะไรคือปัจจัยความสำเร็จของชั้นเรียนในกระบวนการสอนเสวนา?"
คำถามสำคัญจากคุณครูวิมลศรี ศุษิลวรณ์ ผู้ทรงคุณวุฒิและผู้ขับเคลื่อนวงสานเสวนาเพื่อพัฒนาครู ที่ช่วยให้ครูต้นเรื่องได้สะท้อนการเรียนรู้จากการนำความรู้ในหนังสือ "สอนเสวนาสู่การเรียนรู้เชิงรุก" ไปใช้จริงในชั้นเรียน
ปัจจัยความสำเร็จเริ่มตั้งแต่ "แผนการเรียนรู้"
เริ่มจากครูต้องมีสายตามองเห็นการเรียนรู้ วางคำถามที่ท้าทายและดึงดูดความสนใจ สร้างแผนการเรียนรู้ที่เชื่อมโยง ร้อยเรียงประสบการณ์เดิมของนักเรียนเข้ากับประสบการณ์ใหม่ที่กำลังจะได้รับ
แผนการเรียนรู้ที่ดีเกิดจากการร่วมือกันของคณะครู ที่ช่วยกันตั้งเป้าหมาย ออกแบบ และปรับแผน ที่ช่วยให้นักเรียนเกิดสมรรถนะ ด้วยชุดคำถามที่มีเป้าหมายชัดเจนว่า ต้องการสร้างความรู้ กระตุ้นให้เกิดทักษะ หรือสะท้อนคุณลักษณะที่ดีอย่างไร
คำถามแบบไหนที่นักเรียนอยากแลกเปลี่ยนเรียนรู้มากที่สุด?
คำถามที่นักเรียนอยากแลกเปลี่ยนเรียนรู้มากที่สุด คือ คำถามที่เชื่อมโยงไปถึงประสบการณ์ของนักเรียน และคำถามที่ถามถึงความเข้าใจส่วนตัวของนักเรียนต่อเรื่องต่างๆ ที่นำไปสู่การสร้างความเข้าใจร่วมกันในชั้นเรียนนั้น
การสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ที่เป็นมิตร
ครูสร้างบรรยากาศให้นักเรียนรู้สึกสบาย ชี้แจงให้นักเรียนเข้าใจกติกาในการสานเสวนาร่วมกันโดยไม่ตัดสิน ไม่มีถูก-ผิด เป็นพื้นที่ปลอดภัยซึ่งกันและกัน ครูและนักเรียนมีความเป็นกัลยาณมิตร
ครูควรพูดให้น้อยที่สุด และเป็นผู้ฟังที่ดี โดยการใช้คำถามที่สั้น กระชับ แต่ได้ใจความ
ห้องเรียนที่เปลี่ยนไปจากการใช้กระบวนการสอนเสวนา
จากกระบวนการสอนเสวนา ช่วยให้ครูได้เปิดโอกาสให้นักเรียนเป็นเจ้าของการเรียนรู้ นักเรียนได้เรียนรู้ในสิ่งที่ตนสนใจและมีประสบการณ์ เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน โดยครูทำหน้าที่บันทึกสิ่งที่นักเรียนได้แลกเปลี่ยนและสะท้อนการเรียนรู้ออกมา
กระบวนการสอนเสวนา ยังทำให้ครูได้พลิกบทบาท ยกชั้นเรียนให้นักเรียนได้ดำเนินการเสวนากันเอง โดยครูทำหน้าที่เป็นผู้เฝ้ามองและติดตามเส้นทางการเรียนรู้ ช่วยให้ครูได้เห็นตัวตนของนักเรียนได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในเวทีสานเสวนาเพื่อพัฒนาครู
ช่วยเปิดโอกาสให้ครูได้มีโอกาสนำประสบการณ์ที่ได้มาแลกเปลี่ยน ผู้ทรงคุณวุฒิได้เติมเต็มและขยายความเข้าใจให้ครูได้เห็นคุณค่าและความหมายต่างๆ ที่ซ่อนอยู่ในกระบวนการเรียนรู้ เป็นพลังในการสร้างการเรียนรู้เชิงรุกที่สามารถนำไปปรับใช้ในชั้นเรียนได้ต่อไป
ทั้งหมดนี้คือคำตอบที่ได้จากการเรียนรู้ของครูต้นเรื่อง ผ่านประสบการณ์การปฏิบัติและทดลองจนเห็นการเปลี่ยนแปลงในชั้นเรียนรวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงภายในของครูเอง
โครงการสอนเสวนาสู่การเรียนรู้เชิงรุก ขอเชิญชวนคุณครูทุกท่าน มาร่วมสร้างพลังการเรียนรู้เชิงรุก ด้วยกระบวนการ "สอนเสวนา
เรียบเรียงข้อมูลจาก
โครงการสานเสวนาเพื่อพัฒนาครู : เวทีสานเสวนาเพื่อพัฒนาครู ครั้งที่ 1-4