Banner_ฝากเพื่อนครู สู่การสานต่อ-01

Photo Essay

การบริหารคุณภาพการจัดการศึกษาในระบบ

ฝากเพื่อนครู สู่การสานต่อ

อ่าน 27 นาที

ข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะ จากผู้ทรงคุณวุฒิฯ และผู้เชี่ยวชาญ ที่ร่วมแบ่งปัน เติมเต็ม ให้กับ ‘ชุมชนครูเพื่อศิษย์’ จากการขมวดปมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กว่า 10 เดือน และ ความรู้ที่ได้รับจาก Workshop online โดยวิทยากรจากโรงเรียนเพลินพัฒนา ซึ่งจะเป็นก้าวสำคัญทำให้ ‘ชุมชนครูเพื่อศิษย์’ แห่งนี้ได้เป็นกลไกเชื่อมต่อความรู้และการปฏิบัติสู่เพื่อนครูและเห็นแนวทางขับเคลื่อนงานที่จะทำต่อไปในภายภาคหน้า

เรียบเรียงโดย BIEROTTO
30 มิถุนายน 2564
92
1. Quote_workshop2-ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช.jpg

 

 

ศาสตราจารย์ นพ.วิจารณ์ พานิช

ผู้ทรงคุณวุฒิ

 

 

.

การจัด Online PLC ครั้งนี้ เป็นหัวใจของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันเป็นพลังของครู โดยมีผู้อำนวยการโรงเรียนเป็นหัวขบวน เป็นกองหนุน และกองนำ ทำให้เกิดขึ้นในโรงเรียน ด้วยความเชื่อว่าขบวนการและกระบวนการเหล่านี้จะเป็นตัวช่วยเพิ่มศักดิ์ศรี จิตวิญญาณ และสำนึกความเป็นครู เพื่อให้ครูเกิดความสุขและความภูมิใจ และสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับนักเรียนให้กลายเป็นคนที่มีคุณค่าในตัวเอง เช่นเดียวกับคำกล่าวว่าครูคือผู้เปลี่ยนชีวิตมนุษย์ ซึ่งการทำ PLC ในโรงเรียนอย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพจะเป็นเครื่องมือสำคัญ เพื่อไปสู่เป้าหมายสุดท้ายคือ CLO (Core Learning Outcome) ของนักเรียน หรือคุณภาพการศึกษา คุณภาพของห้องเรียน และคุณภาพของโรงเรียน
.

แม้ว่าการทำ PLC ผู้ที่จะได้ประโยชน์สำคัญสุดคือนักเรียน แต่คนที่เป็นครูก็จะได้ประโยชน์ในลำดับถัดมา โดยครูจะได้เครื่องมือการเรียนรู้ตลอดชีวิต การเป็นครูของตัวเอง และที่สำคัญคือ “ครูที่ไม่เรียนรู้ ในไม่ช้าก็จะ out date หรือ หมดยุค ล้าสมัย ไม่เป็นครูที่ดี” การทำ PLC จึงเป็นโอกาสเรียนรู้ร่วมกันอย่างต่อเนื่องของครูและผู้บริหารโรงเรียน ภายใต้สมมติฐานว่า ครูที่จะทำหน้าที่ได้ดี จำเป็นต้องเรียน และการเรียนรู้ที่สำคัญคือการเรียนรู้จากห้องเรียน ในขณะเดียวกันก็ต้องเรียนรู้ทฤษฎีจากแหล่งอื่นด้วย แต่หัวใจหลักคือ ต้องเรียนรู้จากการปฏิบัติของตัวเองและทีมครูด้วยกันจากห้องเรียนและเกิดการเรียนร่วมกัน ซึ่งเรียกว่า PLC  

จึงขอแสดงความยินดีกับครูทุกท่านที่ได้เข้าร่วมกิจกรรมในโครงการนี้ และหวังว่าประสบการณ์ที่ผ่านมาจะช่วยให้ครูทุกท่านได้เห็นว่า “วิถีชีวิตของครูในโรงเรียนจะต้องมีการเรียนรู้ตลอดไปอย่างต่อเนื่องจากในห้องเรียน จากการกระทำของตนเอง การทำหน้าที่ของครูและผู้อำนวยการจึงจำเป็นต้องรู้ว่าจะมีการดำเนินการต่อไปอย่างไร และมองเห็นโอกาสที่จะพัฒนาให้ดีขึ้นเรื่อย ๆ ให้มีพลังต่อไป”
.
.

2. Quote_workshop2-ดร.อุดม วงษ์สิงห์.jpg

 

 

ดร.อุดม วงษ์สิงห์

ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาคุณภาพครู นักศึกษาครู และสถานศึกษา

กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)

 

 

.

ดร.อุดม วงษ์สิงห์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาคุณภาพครู นักศึกษาครู และสถานศึกษา กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมสะท้อนการเยี่ยมชมโรงเรียนเพลินพัฒนาในรูปแบบออนไลน์ครั้งนี้ว่า ประเด็นสำคัญที่เห็นและจะนำไปใช้ได้จากการทำ Workshop ครั้งนี้ คือ การสร้างวัฒนธรรมแห่งการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นในองค์กรหรือในโรงเรียน โดยมีกระบวนการและขบวนเข้าไปช่วย ซึ่งเป็นความท้าทายที่โรงเรียน สพฐ. ที่เกิดมาในระบบจะมีการเปลี่ยนแปลงระบบการทำงานในลักษณะเช่นนี้ ซึ่งคิดว่าอย่างน้อยน่าจะเกิดใน 20 โรงเรียนต้นแบบที่ร่วมกระบวนการกับเราครั้งนี้ 
.

บางคนตั้งข้อสังเกตว่าโรงเรียนเพลินพัฒนาทำได้เพราะมีลักษณะเฉพาะ คือ ตั้งขึ้นมาและเลือกเส้นทางของตนเองได้ และสมาชิกของเพลินพัฒนาเองก็เลือกวัฒนธรรมที่มีคุณภาพ เราจึงเห็นการบริหารคุณภาพการจัดการศึกษาในระบบ (QM1 QM2 และ QM3) ที่เป็นระบบคุณภาพ แต่ในทางกลับกันต้องคิดว่าโรงเรียนเหล่านี้จะนำมาสู่ทางเลือกให้กับโรงเรียนอื่น ๆ ที่ยืนอยู่ได้แล้วมาก่อนหน้านี้อย่างไรเพื่อที่จะไปพัฒนาตนเอง ซึ่งนอกจาก 20 โรงเรียนต้นแบบที่ร่วมกระบวนการกับเราครั้งนี้แล้วยังมีโอกาสที่จะขยายหรือต่อยอดออกไปได้อีกเยอะ โดยระยะถัดไปก็อยากมีการพูดคุยในประเด็นความหลากหลายของนวัตกรรมหรือตัวอย่างอื่น ๆ ที่เราอาจจะได้ไป Visit อีก เพื่อนำมาล้อมวงคุยกันเพื่อหาแนวทางขับเคลื่อนโรงเรียนส่วนใหญ่ของประเทศว่าควรไปต่อได้อย่างไร 
.

นอกจากนี้ ดร.อุดม ยังส่งต่อพลังการเรียนรู้อีกว่า กระบวนการและขบวนของพวกเราคงต้องเคลื่อนต่อ จากระยะเวลา 10 เดือนที่ผ่านมาได้เห็นตัวอย่างกระบวนการ Workshop ที่มีทั้งการชื่นชม รับฟังและสังเกต พร้อมทั้งนำไปปรับปรุง รวมถึงการจัด Workshop ครั้งนี้ที่ถึงแม้จะเป็นการเรียนรู้ออนไลน์ แต่ก็ได้ประโยชน์รวมถึงเทคนิคการทำ Workshop แบบออนไลน์เพื่อนำไปใช้ในโอกาสหน้า ซึ่งทาง กสศ. มีแนวคิดที่ จะเชิญบุคลากรของ สพฐ. หรือคนในกระทรวงศึกษาธิการเข้าร่วมมามีส่วนร่วมในการทำงานกับเราด้วยในระยะต่อไป
.
.
3. Quote_workshop2-คุณปิยาภรณ์ มัณฑะจิตร.jpg

 

 

คุณปิยาภรณ์ มัณฑะจิตร

ผู้จัดการมูลนิธิสยามกัมมาจล

 

.

คุณปิยาภรณ์ มัณฑะจิตร ผู้จัดการมูลนิธิสยามกัมมาจล ร่วมสะท้อนว่าจากการจัด PLC Online ทั้ง 12 ครั้ง ทำให้เห็นบทบาทของครูอย่างชัดเจน โดยการเรียนรู้จากเพลินพัฒนาครั้งนี้ ช่วยทำให้โรงเรียน โดยเฉพาะโรงเรียนในเป้าหมายของ กสศ.ซึ่งต้องการพัฒนาโรงเรียนทั้งระบบ (Whole School Approach) ได้เห็นกลไกการทำงานและบทบาท ทั้งหน่วยบริหารจัดการและฝ่ายวิชาการที่สนับสนุนครู เพื่อให้คุณครูมีความเชื่อมั่นในกลไกการทำงาน แม้ว่าผู้อำนวยการจะไม่ได้อยู่ในกระบวนการ นอกจากนี้ยังแสดงให้เห็นว่าการเป็นโรงเรียนที่มีคุณภาพยังมีอีกหลายมิติที่อยู่ภายใต้ภูเขาน้ำแข็ง แม้ว่าบทบาทครูจะเป็นส่วนสำคัญ แต่สิ่งที่ขาดไม่ได้คืองานเบื้องหลังที่สนับสนุนการทำงานของคุณครู โดยเฉพาะกลุ่มงานซึ่งทำหน้าที่เกี่ยวกับวิชาการ และการติดตามความก้าวหน้าของผู้เรียน เพื่อหาวิธีพัฒนาครูและการสร้างการประกันคุณภาพ (Quality Assurance) 

.
จากการทำงานเชิงระบบทางด้านคุณภาพของโรงเรียนเพลินพัฒนา ทำให้เห็น
ระบบบริหารจัดการโรงเรียนที่มีคุณภาพและสัมพันธ์กัน ผ่าน QM (Quality Management) ได้แก่ QM1 QM2 QM3  โดย QM1 เกี่ยวกับระบบผลิต หัวใจคือมองในเชิง Alignment (การจัดตำแหน่ง) กับ OLE (จุดมุ่งหมายการศึกษา ประกอบด้วย O-Objective, L-Learning Experience, E-Evaluation) ผู้รับผิดชอบคือหัวหน้าช่วงชั้น ส่วน QM2 คือระบบการพัฒนาคนและระบบให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาระบบ QM1 หรือคุณภาพของการจัดการเรียนการสอน โดยใช้ 3 เครื่องมือในการค้นหาความรู้ไปถึงระดับคุณค่า คือ KM (Knowledge Management: KM - การจัดการความรู้) LS (Lesson Study - การศึกษาบทเรียนจากการปฏิบัติงานในชั้นเรียนร่วมกันของครู)  R2R (Routine to Research - การพัฒนางานประจำสู่งานวิจัย) ซึ่งระบบส่วนนี้จะช่วยจุดประกายให้โรงเรียนอื่นนำไปทำให้ดีและมีคุณภาพ หรือสร้างกระบวนการที่มีคุณภาพมากขึ้น ส่วน QM3 คือระบบปฏิบัติการของฝ่ายวิชาการโรงเรียน เพื่อพัฒนา QM1 และ QM2 จากการใช้เครื่องมือต่าง ๆ เก็บข้อมูล ขณะเดียวกันก็มีกลไกส่งข้อมูล Feedback ไปยังคนที่เกี่ยวข้อง หรือผู้รับผิดชอบคุณภาพของการเรียนการสอน ซึ่งตอบโจทย์ในเชิงบริหารจัดการเพราะฝ่ายวิชาการนี้จะทำให้ฝ่ายผลิตนั้นเก่งขึ้น จากการให้ Feedback และแนวทาง
.

นอกจากนี้คุณปิยาภรณ์ยังกล่าวทิ้งท้ายว่ากลไกที่โรงเรียนเพลินพัฒนาทำนี้เป็นตัวอย่างที่ดีทำให้แนวทางให้ทุกโรงเรียนที่จะพัฒนา QM ให้เป็นระบบมากขึ้น รวมถึงมีกลไกรับผิดชอบชัดเจนเพื่อเป็นประโยชน์ต่อการถอดบทเรียนความสำเร็จ ทั้งด้านการจัดการเรียนรู้และการจัดการคุณภาพในเรื่องการบริหารจัดการ ที่มีคุณภาพ และเป็นแนวทางพัฒนาโรงเรียนของ สพฐ. ต่อไป
.
.
4. Quote_workshop2- ครูวิมลศรี ศุษิลวรณ์.jpg

 

 

ครูวิมลศรี ศุษิลวรณ์ (ครูใหม่)

ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ด้านการจัดการความรู้ โรงเรียนเพลินพัฒนา

 

 

.

‘ครูใหม่’ วิมลศรี ศุษิลวรณ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ด้านการจัดการความรู้ โรงเรียนเพลินพัฒนา ร่วมสะท้อนถึงการทำงานที่ผ่านมาว่า กว่าจะมาเป็นโรงเรียนเพลินพัฒนาวันนี้ เกิดจากสิ่งที่ค่อย ๆ สั่งสมมา โดยอาศัยรากฐานของการจัดการความรู้ ต่อมาพอมีกระบวนทัศน์ Lesson Study คือ กระบวนการที่ทำให้คุณครูทำงานเป็นระบบ เพื่อมุ่งไปสู่เป้าหมายพัฒนาแผนการสอน ซึ่งแผนการสอนนี้ไปพัฒนาผู้เรียน พัฒนาครู ไปจนถึงพัฒนาหลักสูตรในที่สุด นอกจาก Lesson Study แล้วปัจจุบันต่อยอดด้วย R2R (Routine to Research) รวมถึงการจัดทำหนังสือ ‘โรงเรียนจัดการความรู้’ เพื่อเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ทำให้ความฝันให้โรงเรียนเพลินพัฒนากลายเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้อย่างแท้จริง โดยอาจารย์วิจารณ์ พานิช เป็นผู้ผู้จุดประกายให้โรงเรียนเพลินพัฒนาไปถึงขั้น Change Agent ด้านการศึกษาให้กับสังคมไทย ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาเราจึงมีการจัดการความรู้เป็นฐานรองรับวัฒนธรรม และมีเป้าหมายสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้ และจนทุกวันนี้ภูมิใจที่ได้ใช้ทรัพย์อันมีค่านี้มาสร้างการให้ต่อชุมชนและคุณครูทั่วประเทศ
.

ครูใหม่ วิมลศรี กล่าวทิ้งท้ายถึงเพื่อน ๆ ครูที่มาร่วมว่า “ความเพียรอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ตรงนั้น” ในช่วงแรกอยากให้คุณครูทุกท่านมีความพยายาม โดยไม่ต้องสนใจว่าเมื่อไหร่จะถึงปลายทาง แต่ถ้าทำวันนี้ให้ดีที่สุด ในวันหนึ่งทุกคนก็จะขึ้นมามองเห็นวิวสวย ๆ บนยอดเขา เห็นความพยายามที่ผ่านมาอยู่เบื้องล่างก็จะ สัมผัสได้ว่าความรู้สึกเหล่านี้เป็นคุณค่าของการทำงานจริง ๆ
.
.

เรียบเรียงข้อมูลจาก
โครงการครูเพื่อศิษย์ สร้างการเรียนรู้สู่ระดับเชื่อมโยงออนไลน์

Workshop (เวทีปิด): การบริหารคุณภาพการจัดการศึกษาในระบบ กรณีศึกษาโรงเรียนเพลินพัฒนา ช่วงชั้นที่ 1-2 (ป.1-ป.6)




LEARNANDSHARE
การบริหารคุณภาพการจัดการศึกษาในระบบ
VISIBLELEAENING
VISIBLETEACHING
workshop
BIEROTTO
นักเขียน
BIEROTTO
เด็กหงส์โดยสายเลือด ตกหลุมรักใน Lifestyle ยุค 90's ผู้อยากสื่อสารงานวิทยาศาสตร์ให้คนทั่วไปเข้าใจง่าย ๆ กับโอกาสครั้งใหม่ในการสื่อสารงานด้านการศึกษา
แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน
profile
กรุณา Login ก่อน comment