BANNER (1280 x 570 px) (3)

Photo Essay

สานเสวนา

ปัจจัยความสำเร็จในการสอนเสวนา ชุดที่ 1

อ่าน 60 นาที

ข้อคิด ข้อสังเกต ข้อเสนอแนะ ที่เป็นปัจจัยความสำเร็จในการสอนเสวนาจากผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งจะช่วยให้ครูผู้สอนที่สนใจ ได้เรียนรู้และเข้าใจมากขึ้นผ่านบทบันทึกการแลกเปลี่ยนเรียนรู้จาก “เวทีสานเสวนาเพื่อพัฒนาครู”

เรียบเรียงโดย WinWin
22 ธันวาคม 2564
276

ข้อคิด ข้อสังเกต ข้อเสนอแนะ ที่เป็นปัจจัยความสำเร็จในการสอนเสวนาจากผู้ทรงคุณวุฒิ  ซึ่งจะช่วยให้ครูผู้สอนที่สนใจได้เรียนรู้และเข้าใจ ผ่านบทบันทึกการแลกเปลี่ยนเรียนรู้จาก “เวทีสานเสวนาเพื่อพัฒนาครู” ตามหัวข้อดังนี้

  • การสร้างวัฒนธรรมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ 
    การทำให้การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เป็นวัฒนธรรมระดับโรงเรียน

  • ความอยากรู้อยากเห็นของครู
    ท่าทีของครูที่ช่วยกระตุ้นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้

  • การสร้างบรรยากาศการสานเสวนา
    ปัจจัยในการสร้างบรรยากาศการเรียนรู้แบบสอนเสวนา

  • High Expectation , High Support
    ครูไทยยังขาดอะไร การศึกษาจึงสร้างการเรียนรู้ได้ไม่ลึกพอ

  • ปักธงคุณภาพการเรียนรู้ขั้นสูง
    การยกระดับคุณภาพการเรียนรู้จากการที่ครูวางเป้าหมายที่ไกลกว่าที่เคย

  • การประสานความหลากหลายทางวัฒนธรรมในการสอนเสวนา
    การส่งเสริมให้นักเรียนได้แลกเปลี่ยนความแตกต่างผ่านอัตลักษณ์ของตน

  • ความภาคภูมิใจในวัฒนธรรมและรากเหง้าของตนเอง
    สร้างภูมิคุ้มกันให้นักเรียนด้วยการสร้าง self esteem

  • การรับรู้การมีอยู่ซึ่งกันและกัน
    การสานเสวนา ต้องรับรู้ถึงการมีอยู่ของกันและกัน

  • Sociocultural การเรียนรู้ทางด้านสังคมวัฒนธรรมของการอยู่ร่วมกัน
    การสานเสวนาสร้างทักษะการเรียนรู้ทางด้านสังคมอย่างไร

  • ทักษะทางสังคมที่จะอยู่ร่วมกันอย่างสร้างสรรค์
    ทักษะทางสังคมที่จะช่วยให้เกิดการเรียนรู้และปรับตัวอย่างสร้างสรรค์เป็นอย่างไร

  • การเรียนรู้ผ่านความขัดแย้ง
    ความขัดแย้งที่เราพบได้ในชีวิตประจำวัน ครูจะสร้างนักเรียนให้พร้อมรับมืออย่างไร

  • ช่วงเวลาแห่งการปฏิสัมพันธ์
    ช่วงเวลาที่จัดสรรให้นักเรียนได้เป็นเจ้าของเวทีการเรียนรู้ร่วมกัน

  • ยกชั้นเรียนให้เป็นของนักเรียน
    เมื่อนักเรียนพร้อม ครูต้องถอยออกมา
--------------------

1.การสร้างวัฒนธรรมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (เวทีที่ 1)

การสร้างวัฒนธรรมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้.png

"เด็กเล็กๆ จะชอบฟัง แล้วก็ชอบรู้เรื่องราวของเพื่อนๆ แล้วก็ชอบแลกเปลี่ยนอยู่แล้ว หากนำเข้ามาในชั้นเรียนได้ ก็เป็นความสำเร็จในการสร้างวัฒนธรรมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ให้เกิดขึ้นในชั้นเรียน" แม้จะเป็นเพียงข้อความสั้นๆ ของคุณครูใหม่ - วิมลศรี ศุษิลวรณ์ ผู้ทรงคุณวุฒิ แต่ก็ชี้ให้เห็นว่า การเปลี่ยนแปลงระดับโรงเรียนนั้น ควรเริ่มที่ชั้นเรียน เพราะเป็นจุดที่ใกล้ตัวนักเรียนมากที่สุด
.
.
2.ความอยากรู้อยากเห็นของครู (เวทีที่ 1)

ความอยากรู้อยากเห็นของครู.png

“ผมรู้สึกว่าผมกำลังนั่งอยู่ท่ามกลางการสนทนาจริงๆ”

“ผมเลยตั้งข้อสังเกตต่อว่าทำไมผมรู้สึกอย่างนั้น ผมทบทวนตัวเอง ก็สังเกตว่าระหว่างที่ครูกิ๊กถาม มันเป็นคำถามที่เกิดขึ้นจากความรู้สึกอยากรู้อยากเห็นของครู”

“ความอยากรู้อยากเห็นของครูว่าเด็กคิดอะไร เป็นตัวชวนให้เด็กตั้งใจตอบ ผมรู้สึกถึงพลังที่ครูกิ๊กมีในการตั้งคำถามต่างๆ แล้วความรู้สึกอยากรู้นี้มันทำให้คำถามที่ออกมามันจริง มัน Real แล้วพอมัน Real มันเหนี่ยวนำให้คนอยากฟัง ให้คนอยากตอบด้วย”

 “เวลาเราทำละคร เราต้องมี Script มีการเตรียมการ มีการซ้อม แต่ตอนที่เราทำมันขึ้นมา ตอนที่เราจะพูดออกมา มันต้องจริง มาจากความต้องการจริงๆ ของเรา ถ้าความต้องการจริงๆ ของครูคืออยากรู้ว่าเด็กคิดอะไรในเรื่องนี้ ผมว่าตรงนั้นมีพลังมากที่สุด”

 “ความรู้เกิดขึ้นที่คำถาม คำตอบที่ได้มาเป็นองค์ประกอบ  คำตอบที่ดีคือคำตอบที่สามารถสร้างให้เกิดคำถามใหม่ๆ ขึ้นอยู่กับความอยากรู้อยากเห็นของคนถาม เราอยากรู้ไหม เราอยากจะเข้าใจไหม มันเคยมีอย่างนี้ แล้วมันเป็นอย่างนี้ ถ้ามันเป็นอย่างนี้แล้วมันเป็นอย่างไรต่อ ผมว่าเป็นสิ่งที่ Dialogue จะให้กับเด็กในการเรียนรู้”

 “ทำอย่างไรครูถึงอยากรู้อยากเห็นให้เท่ากับเด็ก ผมว่าความอยากรู้อยากเห็นของครู ความอยากเข้าอกเข้าใจสร้างแรงบันดาลใจให้กับเด็ก เหนี่ยวนำเด็ก และในกรณีของครูกิ๊ก เหนี่ยวนำผมให้นั่งฟังด้วยอย่างเพลินมาก ไม่รู้สึกเลยว่ากำลังสังเกตการณ์อยู่”
.
.

3.การสร้างบรรยากาศการสานเสวนา (เวทีที่ 1)

การสร้างบรรยากาศการสานเสวนา.png

“เราจะอนุญาตให้การ Dialogue ลื่นไหล หรือว่าจะผ่อนปรนอย่างไร ให้วงอยู่ในเป้าหมายที่เรากำลังจะสร้างการเรียนรู้พอดีด้วย และยังมีความรู้สึกผ่อนคลาย เป็น Dialogue หรือเป็นคำถามที่ทำให้ผู้ถูกถามมีความรู้สึกว่าเป็นการแลกเปลี่ยนออกจากตัวเอง” (คำถามจากคุณรัตนา กิติกร ผู้เข้าร่วมสานเสวนาเพื่อพัฒนาครู จากมูลนิธิสยามกัมมาจล)

คุณครูศีลวัต ศุษิลวรณ์ ได้ให้ความเห็นว่า ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ได้แก่

1) ศักยภาพและความสนใจของเด็กในชั้นเรียน

2) Met Before หรือความรู้และทักษะที่เด็กสะสมมา

3) Momentum ของความรู้เดิมที่จะส่งต่อไปในความรู้ใหม่ และ

4) บรรยากาศ ณ ขณะนั้น รวมทั้งสภาวะของตัวครู

การสอนด้วยวิธีสานเสวนา เป็นการใช้ศิลปะนำ แต่ยังคงความเป็นศาสตร์ กล่าวคือ ยังคงต้องมีการเตรียมแผนการสอนอยู่ เช่นที่คุณสมพลพูดถึงบทละคร กว่าจะเขียนบทละครออกมาได้ สลับซับซ้อน มีการฝึกซ้อม แต่ตอนเล่นจริงนั้นเป็นศิลปะ ต้องลืมกลไกเหล่านั้นให้หมด การสอนในลักษณะเช่นนี้เป็นความท้าทาย

“เป็น Stage of the Art นะ ต้องเตรียมการสอนมาอย่างดี แต่พอถึง Moment นั้น ต้องมีความรู้สึกนึกคิดที่อยู่กับ Moment นั้นได้และตัดสินใจในขณะนั้นได้” ครูศีลวัต กล่าวทิ้งท้าย

“การเสวนาในชั้นเรียนต้องอยู่ที่ว่าเป้าหมายในคาบนั้น เราต้องการให้ Mood & Tone มันเป็นแบบไหน ก็อยู่ที่ว่า พอเรามีเป้าหมายในการที่จะจริงจัง บุคลิกกับคำถามของครูต้องเปลี่ยนไปตามบริบท เมื่อไหร่ที่เรามาเป็นเชิงความรู้สึก เล่นกับน้ำ เล่นกับสีน้ำ ก็จะเป็น Mood & Tone ที่สบายๆ น้ำเสียง ท่าที หรือว่าการขับเคลื่อนมันจะเปลี่ยนไป อยู่ที่เป้าหมายเหมือนกัน และคำถามของครู ครูเองต้องเป็นนักแสดง ต้องปรับได้ทุกบทบาท ว่าเราจะจริงจังเป็นนักวิชาการที่เราต้องได้ตรงนี้ตามเวลาที่เรากำหนด หรือว่าเราจะผ่อนคลายสบายๆ ก็อยู่ที่เป้าหมายของชั้นเรียน” คุณครูกลอย-เกศรัตน์ มาศรี ครูต้นเรื่องกล่าวเสริม
.
.

4.High Expectation, High Support (เวทีที่ 1)

High Expectation , High Support .png

ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ผู้ทรงคุณวุฒิ ได้ชี้ให้เห็นว่า การเรียนรู้นั้น ครูต้องสร้างสภาพที่นักเรียนทุกคนมีความคาดหวังสูง (High Expectation) โดยครูมีหน้าที่เปิดทาง ชี้ทาง หรือเอื้อให้เกิดสภาพแวดล้อมดังกล่าว (High Support)

“ผมตีความว่าครูกลอยใช้วิธี Scaffolding เพื่อที่จะให้นักเรียนมีผลงานที่คุณภาพสูง โดยการเอาผลงานของนักเรียนที่ทำล้ำหน้าไปแล้ว เอามาให้เพื่อนดู เอามาแชร์กับเพื่อน เพื่อจะ กระตุ้น (Induce) ให้เกิด 2 อย่าง อย่างที่ 1 คือ กระตุ้นจุดมุ่งหมายหรือเป้าหมายที่จะต้องผลิตผลงานที่คุณภาพสูง กับอย่างที่ 2 คือ กระตุ้นว่าวิธีการที่จะทำให้ดีขึ้นจะเป็นอย่างไรเป็นการกระตุ้น 2 ส่วน คือส่วนเป้าหมายกับส่วนวิธีการ”

ครูรักเด็ก จนไม่ยอมให้เด็กเผชิญความคาดหวังที่สูง

ศ.นพ.วิจารณ์เล่าว่า ครั้งหนึ่งในวง workshop เคยมีครูตั้งคำถามว่า ระหว่างความสุขในห้องเรียน กับการได้ผลลัพธ์ทางการเรียนรู้ที่สูง สิ่งไหนสำคัญกว่ากัน

“ผมว่าเขาเป็นครูที่ดีคนหนึ่ง ตั้งคำถามว่าถ้าเอาโจทย์ยากๆ มาให้นักเรียนทำ นักเรียนก็เครียดและไม่มีความสุข เขาตั้งคำถามอย่างนั้นนะครับ นำมาสู่การพูดคุยระหว่าง Paul Collard (OECD) กับผม ข้อสังเกตของเขา คิดว่าสิ่งนี้เป็นจุดอ่อนของการศึกษาไทยอย่างยิ่ง คือครูรักเด็กและกลัวเด็กจะเครียด เลยไม่ชวนให้เด็กทำอะไรยากๆ ลงท้ายเด็กทำผลงานหรือเรียนรู้อะไรทั้งหลายแค่ผิวเผิน”

ผลลัพธ์จากการที่ครูทำให้เด็กไม่รู้จักว่า ‘ผลงานที่คุณภาพสูง’ คืออะไร นอกจากจะทำให้ทักษะและความรู้เขาตื้นแล้ว ยังทำให้เป็นคนที่ไม่มีจุดมุ่งหมายที่จะทำอะไรให้บรรลุผลที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่อันตรายมาก

ศ.นพ.วิจารณ์ใช้คำว่า "นักเรียนขาดแคลน" หมายถึงเด็กด้อยโอกาส ในการเรียนรู้สาระที่ลึก ขาดโอกาสที่จะมีเป้าหมายที่สูงในชีวิต ไม่มีเป้าหมายที่จะบรรลุอะไรที่ยากในชีวิต เพราะคิดว่าตัวเองไปไม่ถึง ไม่มีความกล้าที่จะหวังสูง

หนังสือ “สอนเข้มเพื่อศิษย์ขาดแคลน” จะมีวิธีที่จะช่วยให้เด็กเหล่านี้สามารถที่จะก้าวข้ามสิ่งกีดขวางการเรียนรู้นี้ไปได้

“เพราะฉะนั้นผมเลยมาตีความโยงกับของครูกลอยว่า ที่ครูกลอยทำมีค่าอย่างยิ่งเลยนะครับในสายตาผม การทำให้เด็กมีความมุ่งมั่นต่อการทำอะไรก็แล้วแต่ ต้องทำให้มีคุณภาพสูง ผมว่าอันนี้สำหรับผมยิ่งใหญ่ที่สุดนะครับ” ศ.นพ.วิจารณ์ กล่าวทิ้งท้ายการแลกเปลี่ยนในช่วงนี้

.
.

5.ปักธงคุณภาพการเรียนรู้ขั้นสูง (เวทีที่ 2)

ปักธงคุณภาพการเรียนรู้ขั้นสูง .png

“Activity ที่เป็นโจทย์เรื่องครัวอันนี้ถือเป็น Activity ที่มีทรัพยากรสูงมากในการเรียนรู้ทุกมิติครัว เป็นพื้นที่ที่มีการเรียนรู้สูงที่สุดแห่งหนึ่งที่มนุษย์พึงมีได้เลยในความเห็นของผม”

“ผมมีความคิดเห็นว่าถ้าเราปักธงเรื่องคุณภาพให้มากกว่านี้ เช่น ตอนนี้โจทย์คือไปทำอะไรสักอย่างหนึ่งที่มีวัตถุดิบที่บ้านแล้วก็เสร็จ แต่เราปักธงเรื่องคุณภาพลงไป เช่นที่คุณสมพลพูดถึงความอร่อย เราจะทำสิ่งซึ่งเลิศรสที่สุดที่เคยมีในบ้านของเรา อย่างนี้เป็นต้น หรือที่พี่เปาพูดถึงสุขภาพกายของคนในบ้าน ตอนนี้คนในบ้านเรามีสุขภาพกายเป็นอย่างไรบ้าง มีความเจ็บป่วยอะไรไหม หรือฤดูนี้เป็นอย่างไร จะเป็นหวัดไหม ท้องเสีย ท้องอืดไหม อะไรอย่างนี้ แล้วเราจะรักษาสุขภาพของคนในบ้านเราได้อย่างไร”

“หรือสุขภาพใจ ความสุขทางใจของคนในบ้านเรา มีคุณค่าอะไรที่เราให้คุณค่าตรงกัน มีอดีต มีประวัติศาสตร์อะไรที่เราเคยเดินทางร่วมกันมา มีคุณค่าความหมายกับชีวิตของครอบครัวเรา แล้วอาหารอะไรที่นำไปสู่ความรู้สึกนั้นได้ อันนี้ก็เป็นเรื่องคุณค่าทางใจของคนกิน”

“หรือจะสร้างความสัมพันธ์ของคนในบ้าน อาหารอะไรที่จะทำให้คนโกรธกัน เข้าใจกันได้ ซึ่งสามารถเป็นที่ตัวอาหารเองก็ได้ หรือจะเป็นที่ตัวกระบวนการในการทำอาหารก็ได้ ที่จะทำให้คนที่ผิดใจกัน กลับมาเข้าใจกันอย่างนี้”

“ผมเรียกว่า ‘ธงคุณภาพขั้นสูง’ ทำได้ตั้งแต่เด็กเล็กๆ ในการปักธงคุณภาพขั้นสูงเอาไว้

“คือพอเรามีโจทย์ที่มีคุณภาพสูง การเรียนจะเปลี่ยนจากที่เป็น Project Approach กลายเป็น Project วิจัยทันที”

“แค่เราปักธงว่าเราจะทำอาหารเพื่อสร้างสุขภาพกาย สุขภาพใจ มันจะเกิดคำถามประเภท if and then ขึ้นมา ถ้าต้องการให้ได้โจทย์นี้ if คืออะไร then คืออะไร แสดงว่าจะเริ่มมีการตั้งสมมติฐานและเริ่มมีการทดสอบสมมติฐานแล้ว อันนี้จะยกระดับการเรียนเชิง Project พื้นๆ  ไปสู่ Project วิจัยได้”

“พอการเรียนยกระดับขนาดนี้ เด็กจะมีเรื่องคุยกันอีกหลายมิติเลย แล้วคุณครูจะมีเรื่องคุยกับเด็กอีกหลายมิติ มันจะเป็นทรัพยากรที่จะก่อให้เกิด Dialogue ที่จะตามมาอีกอย่างมากมาย”
.
.

6.การประสานความหลากหลายทางวัฒนธรรมในการสอนเสวนา (เวทีที่ 1)

การประสานความหลากหลายทางวัฒนธรรมในการสอนเสวนา .png

เนื่องจากการสอนเสวนาเน้นความร่วมมือ ครูจึงต้องระมัดระวังไม่ให้บรรยากาศแข่งขัน หรือเล่นเกม การเอาชนะระหว่างนักเรียนเข้ายึดครองห้องเรียน ครูต้องมีวิธีทำให้นักเรียนทุกคนมีโอกาสพูดเท่าๆ กัน รวมทั้งการสร้างโอกาสและความกล้า (ของทั้งนักเรียนและครู) ในการเข้าสู่การเสวนาประเด็นที่มีข้อโต้แย้ง มีความล่อแหลม หรืออ่อนไหวทางสังคมหรือความเชื่อ

“อย่างหนึ่งเราก็แบบเหมือนเราได้ความรู้ใหม่ๆ ด้วยค่ะ เพราะว่าตัวเองไม่ได้เป็นคนชนเผ่า เหมือนเราจะต้องไปศึกษาเพิ่มเติมว่าแต่ละท้องถิ่น เขามีอัตลักษณ์อะไรอย่างไร” คุณครูแนนนี่- กนกวรรณ แหวนเพ็ชร์ ครูต้นเรื่องจากโรงเรียนบ้านปลาดาว จ.เชียงใหม่

คุณครูแนนนี่ เล่าว่าโรงเรียนบ้านปลาดาวนั้น ประกอบด้วยเด็กจากหลายชนเผ่า หลากชาติพันธุ์ ซึ่งครูต้องทำการบ้านพอสมควรในการเตรียมสอนเสวนา

“น่าสนใจตรงที่ว่ากลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ที่มีทั้งม้ง มีทั้งลีซู มีทั้งกระเหรี่ยง ซึ่งเขาจะมีเอกลักษณ์ประจำเผ่าของตัวเอง ซึ่งก็เป็นสิ่งที่น่าสนใจว่าเราจะหยิบยกส่วนต่างๆ ที่เป็นเอกลักษณ์ เป็นอัตลักษณ์ของเขาเข้ามาบวกกับการเรียนการสอนของเราให้เขาเกิดความสนใจมากยิ่งขึ้น และมีความภาคภูมิใจในอัตลักษณ์ของตัวเอง”

คุณครูใหม่-วิมลศรี ศุษิลวรณ์ ผู้ทรงคุณวุฒิ จึงแลกเปลี่ยนชวนเชิญให้คุณครูแนนนี่มองเห็นโอกาสทางการเรียนรู้บนความหลากหลายนี้

“เรื่องนี้ก็เป็นมิติของการสานความมีอัตลักษณ์ ความภาคภูมิใจในตนเข้าไปในการศึกษาเรียนรู้ ซึ่งจริงๆ แล้ววัฒนธรรมจากภาคกลาง หรือหลักสูตรกลางที่จัดไปให้ ถ้าเรามองว่าจริงๆ คนภาคกลางก็กลุ่มชาติพันธุ์อีกกลุ่มหนึ่ง ทำให้เด็กเขาเห็นว่าจริงๆ ความหลากหลายมันก็มีอยู่ ทำให้เขารู้สึกว่ามันไม่ได้มีอะไรแตกต่างนะ แต่ความหลากหลายที่สวยงามตรงนี้เราจะเรียนรู้อย่างไร ก็เป็นเรื่องที่ท้าทายอยู่”

“อะไรก็ตามที่ครูหยิบเข้ามาในชั้นเรียนและหยิบมาให้คุณค่า เหมือนอยู่บนเวทีแล้วมี Spotlight ทันที ทั้งๆ ที่อาจจะเป็นเรื่องเดิม กระดาษแผ่นเดียว เมื่อวางอยู่บนโต๊ะเป็นอย่างหนึ่ง แต่เมื่อครูถือหยิบขึ้นมาแล้วถามว่ากระดาษแผ่นนี้เอาไปเล่นสนุกอะไรได้บ้าง ทุกอย่างเปลี่ยนไปเลยค่ะ”
.
.

7.ความภาคภูมิใจในวัฒนธรรมและรากเหง้าของตนเอง (เวทีที่ 3)

ความภาคภูมิใจในวัฒนธรรมและรากเหง้าของตนเอง.png

“การสร้างความภาคภูมิใจในวัฒนธรรมของตนเอง อันนี้เป็นเรื่องสำคัญมากนะครับ เป็นเรื่องสำคัญมากทางด้านการศึกษา ทำให้เขามี Self Esteem มีความภาคภูมิใจในตัวตนของเขา ในที่มาที่ไปของเขา ครอบครัว หรือว่าชนเผ่าของเขา”

“เด็กเหล่านี้พอโตขึ้น พอไปเรียนมัธยม อาจต้องไปเรียนในเมือง เด็กที่มีวัฒนธรรมต่างจากเพื่อนก็อาจจะถูก Bully เพราะว่าเสียงสำเนียงก็เพี้ยน กิริยาท่าทาง ตรงนี้ที่ผมคิดว่าจริงๆ แล้วโรงเรียนต้องเอาใจใส่ อันนี้ไม่ได้พูดแต่กับบ้านปลาดาว แต่พูดกับโรงเรียนอื่นๆ ว่าต้องเอาใจใส่เรื่องนี้ว่าโรงเรียนต้องเป็นที่ที่จะให้คนมีความมั่นใจในพื้นเพของตนเอง แล้วขณะเดียวกัน เคารพในพื้นเพของคนอื่นในลักษณะพิเศษของเขาซึ่งไม่เหมือนกัน ผมคิดว่าอันนี้สำคัญมาก”

“แต่คงไม่ใช่เรื่องของโรงเรียนบ้านปลาดาวเป็นหลักนะ ผมคิดว่าประเด็นนี้ทางการศึกษาน่าจะได้คำนึงไว้”
.
.
8.การรับรู้การมีอยู่ซึ่งกันและกัน (เวทีที่ 2)

การรับรู้การมีอยู่ซึ่งกันและกัน.png

“ที่ผมว่าสำคัญมากๆ เลย คือ ถ้าเป็นการสนทนาที่มีความตั้งใจ ที่เราเรียกว่า Dialogue หรือสุนทรียสนทนา จะทำให้การมีอยู่ของผู้พูดและผู้ฟังปรากฏขึ้นอย่างชัดเจนในบรรยากาศของความเป็นมิตร”

“สิ่งแรกที่เรารู้สึก คือ การมีอยู่ของตัวเราเอง สิ่งที่สองที่เราจะรู้สึก เราจะแคร์ผู้ฟัง เพราะเราจะมีความรู้สึกถึงการมีอยู่ของผู้ฟัง ขณะเดียวกันผู้ที่ฟัง พอเขาตั้งใจฟัง เขาจะรู้สึกถึงการมีอยู่ของตัวเขาในฐานะผู้ฟัง แล้วเขาจะระลึกถึงการมีอยู่ของผู้พูดด้วย” 

“ผมคิดว่าปัญหาเรื่อง Existing (การมีอยู่) สำคัญมาก โยงใยไปถึงการสร้าง Self (ตัวตน) การสร้างคุณภาพของชีวิตของแต่ละคน การสร้างคุณภาพของสังคม เป็นการเรียนรู้ที่ลึกมาก ก็อยากจะเรียนคุณครูว่าอยากให้ทุกท่านพยายามตระหนักในใจว่า ช่วงเวลาแห่งการสนทนาที่ต่อเนื่องและลึกซึ้งเป็นช่วงเวลาที่ยิ่งใหญ่ อย่าให้ขาดตอน”
.
.
9.Sociocultural การเรียนรู้ทางด้านสังคมวัฒนธรรมของการอยู่ร่วมกัน (เวทีที่ 3)

Sociocultural.png

ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ผู้ทรงคุณวุฒิ ตั้งคำถามเกี่ยวกับเทคนิคที่คุณครูกิ๊ฟ -จิตตินันท์ มากผล ใช้ในการรักษาบรรยากาศชั้นเรียนกรณีที่มีเด็กที่คล่องแคล่วว่องไว พร้อมจะตอบอยู่ตลอดเวลา 

“มีนักเรียนที่แตกต่างไปทางตรงกันข้ามไหม คือคล่องปรื๋อเลย ครูกิ๊ฟทำอย่างไร คือ ตอบเก่ง หัวไว อะไรอย่างนี้ครูกิ๊ฟทำอย่างไร”

“ถ้าสมมติว่าบางครั้งคำตอบของเขามากเกินไป หรือไปรบกวนคำตอบของเพื่อนคนอื่นก็จะใช้วิธีการบอกว่า ครูกิ๊ฟรู้ว่าหนูเข้าใจ แต่เดี๋ยวลองเปิดโอกาสให้กับเพื่อนบ้างนะ พอเราทำให้เป็นแบบนี้ ในครั้งต่อไปเขาจะบอกว่า โอเคเดี๋ยวให้เพื่อนคนอื่นตอบบ้าง คือเขารู้อยู่แล้วว่าเราสอนอะไร คือเหมือนตอนแรกจะมีการพูดแทรก ชอบตอบคำถามออกมาเลย แต่พอกติกาชัดเจน ยกมือตอบคำถาม ช่วยเหลือกันนะ เขาจะรู้ว่าให้เพื่อนคนอื่นตอบบ้าง” คุณครูกิ๊ฟ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ต่อวงสานเสวนา

“ดีมากเลยครับ ได้การเรียนรู้ในลักษณะที่เป็น Sociocultural เป็นการเรียนรู้ทางด้านสังคมวัฒนธรรมของการอยู่ร่วมกัน โดยที่ครูหาทางที่จะพูดเพื่อที่จะให้ทั้งชั้นเดินไปด้วยกัน แล้วนักเรียน เด็กเล็ก แค่ ป.2 ได้เข้าใจเรื่องนี้ ผมคิดว่าเป็นการวางพื้นฐานทางด้านสังคมอารมณ์ที่ดีมากนะครับ”

“ผมคิดว่าเป็นประเด็นที่อยากย้ำกับครูท่านอื่นๆ โรงเรียนอื่นๆ ว่าให้สังเกตประเด็นนี้ว่ามันเกิดขึ้นอย่างไรบ้าง โดยวิธีการที่ครูใช้การสอนเสวนามันช่วยทางด้าน Sociocultural ไหมนะครับ” ศ.นพ.วิจารณ์ ได้ย้ำความสำคัญของการสอนเสวนาให้คุณครูที่เข้าร่วมวงสานเสวนาเพื่อพัฒนาครูได้ใคร่ครวญ
.
.

10.ทักษะทางสังคมที่จะอยู่ร่วมกันอย่างสร้างสรรค์ (เวทีที่ 3)

ทักษะทางสังคมที่จะอยู่ร่วมกันอย่างสร้างสรรค์ .png

ผมมองว่าทักษะทางสังคมที่จะอยู่ร่วมกันอย่างสร้างสรรค์ เป็นทักษะอันดับหนึ่งของโลกใหม่ สังคมที่กำลังดำเนินไปสู่ความเสียหายทั่วโลกเลย คือทุกคนจะเอาแต่ใจตัวเอง แล้วโลกกำลังแตกกระจายในลักษณะนั้น ในอนาคตโลกจะอยู่รอด ผมคิดว่าทักษะที่ท่านอาจารย์วิจารณ์พูดสำคัญมาก คือการอยู่ร่วมกันอย่างหลากหลายและสร้างสรรค์ ผมคิดว่าอันนี้เป็นหัวใจของการเรียนทุกรูปแบบ โดยเฉพาะการเรียนแบบ Dialogue” คุณครูปาด - ศีลวัต ศุษิลวรณ์ ผู้ทรงคุณวุฒิ กล่าวย้ำความสำคัญของการเรียนรู้ Sociocultural ผ่านการสอนเสวนา
.
.

11.การเรียนรู้ผ่านความขัดแย้ง (เวทีที่ 4)

การเรียนรู้ผ่านความขัดแย้ง .png

“เราต้องอยู่กับความขัดแย้งครับ” คุณสมพล ชัยสิริโรจน์ ผู้ทรงคุณวุฒิ แลกเปลี่ยนมุมมอง

“ความแตกต่างของเด็กแต่ละคน ความแตกต่างระหว่างเรากับเด็ก ความแตกต่างระหว่างเนื้อหาสาระที่กำลังเรียนอยู่ ความแตกต่างระหว่างฤดูกาล ความแตกต่างเหล่านี้สร้างความขัดแย้ง จริงๆ แม้กระทั่งคำถามประเภทที่ว่า มีใครไม่ชอบหน้าฝน อาจจะมีคนบางคนชอบหน้าฝน และมีบางคนไม่ชอบหน้าฝน แล้วถ้าเกิดเด็ก 2 คน คนหนึ่งพูดถึงเรื่องหน้าฝนอย่างน่าตื่นเต้นสนุกสนาน แต่อีกคนหนึ่งไม่ชอบหน้าฝน ผมว่า 2 เรื่องนี้พอต่างคนต่างพูดขึ้นมาจะเกิดพลวัตที่ครูปาดหมายถึง”

“แล้วการเรียนรู้ที่อยู่กับความแตกต่าง ผมว่านี่เป็นทักษะสำคัญของอนาคตทีเดียว” คุณสมพล ชัยสิริโรจน์ ผู้ทรงคุณวุฒิ ย้ำความสำคัญของการเรียนรู้ที่จะอยู่กับความแตกต่าง
.
.
12.ช่วงเวลาแห่งการปฏิสัมพันธ์ (เวทีที่ 3)

ช่วงเวลาแห่งการปฏิสัมพันธ์.png

“อีกเรื่องหนึ่งที่สานเสวนาต้องนำพาไปให้ถึง ในขณะที่เราสอนเด็กให้รู้จักลำดับการพูด และรู้จักการรอคอย แต่จะยังมีอีกจังหวะหนึ่งที่สำคัญกว่านั้น” 

“พอความคิดทั้งหมดสานต่อเป็นเรื่องเดียวกันแล้ว คุณครูจะต้องคืนโอกาสนั้นให้เด็กทั้งหมด ได้สานเสวนากันโดยที่คุณครูไม่เข้าไปแทรกแซง แต่ถอยออกมาเป็นผู้เฝ้ามองว่าความคิดต่างๆ กำลังสอดประสานกันอย่างไร อันนี้เป็นทักษะ” 

“ถ้าดูในกรอบของแผนการเรียนรู้ จะมีช่วงสุดท้ายที่เราปล่อยไว้ เรียกว่า ‘ช่วงปฏิสัมพันธ์’ เราปล่อยเวลานั้นให้เด็กๆ ได้ฟัง หยุด เข้าใจ นำเสนอ อย่างเป็นธรรมชาติ โดยที่ไม่ต้องเข้าไปแทรกแซง ตัวนี้เป็นอีกจุดหนึ่งที่คิดว่าคุณครูไปต่อได้ และเด็กๆ จะพบโอกาสทองของการสานเสวนาที่แท้จริง” คุณครูใหม่ - วิมลศรี ศุษิลวรณ์ ชี้ประเด็นการจัดช่วงเวลาให้เกิดการสานเสวนา
.
.
13.ยกชั้นเรียนให้เป็นของนักเรียน (เวทีที่ 4)

ยกชั้นเรียนให้เป็นของนักเรียน.png

บางครั้งคำตอบก็มาจากครู หรือว่าบางครั้งก็มาจากการสานคำตอบของเด็กอีกคนหนึ่ง เพื่อที่จะไปพูดกับเด็กอีกคนหนึ่ง กลายเป็นว่าวง Dialogue ไม่จำเป็นต้องยึดโยงอยู่กับครูเป็นหลัก แต่ว่าเมื่อห้องเรียนถามตอบกันไป ครูติดเครื่องให้จนถึงระดับหนึ่งแล้ว ยกชั้นเรียนให้เป็นของเด็กไปเลย แล้วก็คอยติดตามมองต่อไปว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับคำถาม คำตอบหลังจากที่คุณครูได้มอบชั้นเรียนให้กับพวกเขาไปแล้ว ก็เป็นเรื่องที่คุณครูต้องวางใจและท้าทายอยู่พอสมควร” คุณครูใหม่- วิมลศรี ศุษิลวรณ์ ผู้ทรงคุณวุฒิ ชวนให้เห็นภาพห้องเรียนสอนเสวนาที่ควรจะเป็น
.
.
.

รับชมวิดีโอเวทีสานเสวนาเพื่อพัฒนาครูครั้งที่ 1 Click

 

รับชมวิดีโอเวทีสานเสวนาเพื่พัฒนาครูครั้งที่ 2 Click

รับชมวิดีโอเวทีสานเสวนาเพื่พัฒนาครูครั้งที่ 3 Click

รับชมวิดีโอเวทีสานเสวนาเพื่พัฒนาครูครั้งที่ 4 Click







โครงการสานเสวนาเพื่อพัฒนาครู
สอนเสวนาสู่การเรียนรู้เชิงรุก
สอนเสวนา
Dialogue
Dialogic Teaching
156213908_1856319284535586_7967657720299606802_n
นักเขียน
WinWin
อยากให้เรื่องการศึกษา...เข้าใจง่าย
แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน
profile
กรุณา Login ก่อน comment