BANNER (1280 x 570 px) (4)

Photo Essay

สานเสวนา

ปัจจัยความสำเร็จในการสอนเสวนา ชุดที่ 2

อ่าน 46 นาที

ข้อคิด ข้อสังเกต ข้อเสนอแนะ ที่เป็นปัจจัยความสำเร็จในการสอนเสวนาจากผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งจะช่วยให้ครูผู้สอนที่สนใจ ได้เรียนรู้และเข้าใจมากขึ้นผ่านบทบันทึกการแลกเปลี่ยนเรียนรู้จาก “เวทีสานเสวนาเพื่อพัฒนาครู”

เรียบเรียงโดย WinWin
22 ธันวาคม 2564
429
ข้อคิด ข้อสังเกต ข้อเสนอแนะ ที่เป็นปัจจัยความสำเร็จในการสอนเสวนาจากผู้ทรงคุณวุฒิ  ซึ่งจะช่วยให้ครูผู้สอนที่สนใจได้เรียนรู้และเข้าใจ ผ่านบทบันทึกการแลกเปลี่ยนเรียนรู้จาก “เวทีสานเสวนาเพื่อพัฒนาครู” ตามหัวข้อดังนี้

  • เรื่องของคุณค่า เป็นเรื่องที่นักเรียนต้องได้ไปในทุกครั้งของการเรียนรู้
    เมื่อนักเรียนได้ใช้เวลาในการเรียนแล้ว ครูควรพาไปให้ถึงคุณค่า

  • ครูได้สอน หรือ นักเรียนได้เรียน
    การจัดการของครูเมื่อพบความไม่เข้าใจของนักเรียน

  • ปัจจัยความสำเร็จเกิดจากความเข้าใจของครู
    ครูต้องเรียนรู้จากการความไม่เข้าใจ เพื่อไปเข้าใจนักเรียน

  • แค่พูดคุยกันในเรื่องราว ยังไม่ใช่การสานเสวนา
    จุดสังเกตที่ช่วยให้ครูเข้าใจการสานเสวนาที่แท้จริง

  • ปลอดภัยในการแสดงตัวตน จุดเริ่มของการเป็นเจ้าของการเรียนรู้
    เมื่อทุกคนรู้สึกปลอดภัย ตัวตนจึงจะถูกนำออกมาประสานกัน

  • ให้เวลาในการใช้ตัวตนเพื่อเกิดการเรียนรู้ที่แท้จริง
    การไม่รีบเร่งเกินไป จะช่วยให้เกิดการเรียนรู้ที่แท้จริง

  • ให้ความหลากหลายของคาแรกเตอร์หลั่งไหลเข้าหากัน
    ครูต้องกระตุ้นให้นักเรียนได้เป็นตัวเอง เพื่อนำออกมาเรียนรู้ร่วมกัน

  • เราจะเห็นตัวตนในการสานเสวนาเมื่อต่างฝ่ายได้แสดงความคิด
    ความคิดสะท้อนตัวตน และเป็นประโยชน์เมื่อถูกนำมาแลกเปลี่ยนกัน

  • Creative Thinking จากวงสอนเสวนา
    การแตกประเด็นแล้วรวบรวมจนเกิดการเรียนรู้ใหม่ ความคิดใหม่ทำอย่างไร

  • ชาดก เรื่องยากที่นักเรียนควรได้เรียนรู้
    ตัวอย่างการเรียนรู้ผ่านเรื่องยากๆ ของนักเรียน

----------------

1.เรื่องของคุณค่า เป็นเรื่องที่นักเรียนต้องได้ไปในทุกครั้งของการเรียนรู้ (เวทีที่ 3)

เรื่องของคุณค่า เป็นเรื่องที่นักเรียนต้องได้ไปในทุกครั้งของการเรียนรู้.png

“เรื่องของคุณค่า เป็นเรื่องที่เด็กต้องได้ไปในทุกครั้งของการเรียนรู้ ไม่ว่าจะเรียนอะไรก็ตาม”

“แต่พอเรารีบเร่งรัดจะเอาชิ้นงานแล้วบอกว่าวันนี้เขียนมาส่ง ปรากฏว่าเหมือนเกิดการต่อต้าน”

“ทีนี้เราเห็นอยู่ชัดมากเลยว่าเด็กๆ มีทุนในเรื่องร้อยกรองอยู่ แล้วเด็กกลุ่มเดิมที่เคยไม่มีงานส่งกลายเป็นงานที่ดีมาก เราเห็นเลยว่าพอมีแรงบันดาลใจ พอเราเริ่มคุยกับเขาจริงจังว่า โจทย์ที่น่าสนใจ ความคิดสร้างสรรค์ลงไปในร้อยกรอง จะทำให้ภาษางามขึ้นขนาดไหน หรือตั้งแต่บทสนทนาแรกที่เขาพูดกันถึงเรื่องว่าร้อยกรองคืออะไร เด็กเขาพูดได้ดีมากๆ” 

“จังหวะที่ครูจะคว้าไปสานเสวนาต่อ เยอะไปหมดเลย ถ้าหากว่าเราลงไปสู่ตัวของคุณค่าที่แท้ และเราใจเย็นอีกนิดหนึ่ง เหมือนที่เขาบอกว่าต้องช้าๆ ไม่รีบแล้วจะสวย นั่นล่ะค่ะ” คุณครูใหม่ - วิมลศรี ศุษิลวรณ์ ชี้ให้เห็นความสำคัญของการเข้าถึงคุณค่าของสิ่งที่เรียน
.
.
2.ครูได้สอน หรือ นักเรียนได้เรียน (เวทีที่ 3)

ครูได้สอน หรือ นักเรียนได้เรียน.png

“เรื่องแรกเลยขอชื่นชมที่ครูกิ๊ก (นินฤนาท นาคบุญช่วย) ตัดสินใจถูกที่จะไม่เดินหน้าต่อไป อันนี้เป็นเรื่องใหญ่เลยนะ ระหว่างครูได้สอนกับเด็กได้เรียน ถ้าคุณครูมัวห่วงว่าครูจะได้สอนไหม แล้วไม่ได้ดูว่าเราลากเด็กถูลู่ถูกังไปอย่างไร อันนั้นมีแต่ความเสียหายนะ ผมรู้ว่าคุณครูทุกคนมีความกังวลอยู่ว่าจะสอนทันหรือไม่ทัน แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่เด็กเขาไปไม่ได้ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็แล้วแต่ เรื่องนี้สำคัญกว่า เรื่องที่ว่าเด็กได้เรียนเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด” คุณครูปาด - ศีลวัต ศุษิลวรณ์ ผู้ทรงคุณวุฒิ แลกเปลี่ยนประเด็นการตัดสินใจปรับกระบวนการสอนของคุณครูต้นเรื่อง
.
.
3.ปัจจัยความสำเร็จเกิดจากความเข้าใจของครู (เวทีที่ 3)

ปัจจัยความสำเร็จเกิดจากความเข้าใจของครู.png

“ผมเข้าใจว่าความสำเร็จของครูกิ๊กเกิดขึ้นจากการสร้างอารมณ์ร่วม ดึงอารมณ์ของเด็กขึ้นมา สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของอารมณ์ต่อการเรียน ต่อความมุ่งมั่น และต่อการเรียนด้วย ไม่ทราบว่าครูกิ๊กจะช่วยอธิบายว่าตัวเองตั้งใจอย่างไรในการใช้วิธีการดึงอารมณ์เด็ก” (ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช)

“เริ่มจากตัวเองก่อนค่ะ” คุณครูกิ๊ก - นินฤนาท นาคบุญช่วย สะท้อนประสบการณ์ และแลกเปลี่ยนว่า ครูต้องมีการดูแลสภาพจิตใจของครูก่อนที่จะก้าวเข้าสู่ชั้นเรียน เพราะเด็กๆ สามารถรับรู้ความรู้สึกของครูได้ หากครูมีความกังวล พลังงานที่ส่งต่อให้เด็ก ก็จะไม่เป็นธรรมชาติ ซึ่งตนมีคุณครูใหม่ - วิมลศรี ศุษิลวรณ์ เป็นที่ปรึกษาในการปรับความเข้าใจของครูเกี่ยวกับการสอนเรื่อง “ร้อยกรอง” ก่อนที่ครูจะนำไปถ่ายทอดกับเด็กต่อ

“มานั่งอยู่กับพี่ใหม่ มาลองเล่นคำ ลองปรับคำ ลองเจียระไนกันเองก่อน จนความรู้สึกของคุณครูเริ่มคลี่คลาย เราเริ่มอ๋อ แค่นี้เอง ร้อยกรอง ไม่เห็นยากเลย แล้วเรานำอารมณ์ความรู้สึกของเราที่คลี่คลายตัวเองแล้วไปใช้กับเด็ก”

“เหมือนกับว่าถ้าเราเปลี่ยน เด็กก็เปลี่ยนได้ ถ้าเราเปลี่ยนจากข้างในของเราจริงๆ คิดว่าเด็กจะสัมผัสตรงนี้ได้ เพราะก่อนหน้านี้ครูกิ๊กเคยบอกเด็กตรงๆ ว่าเรื่องนี้ยากใช่ไหม ครูกิ๊กก็เข้าใจ เหมือนเราลากถูกันไป ไม่ได้มีความสุข ก็เริ่มปรับจากตัวเองก่อนแล้วคิดว่าถ้าครูปรับจริงๆ ด้วยหัวใจจริงๆ เด็กๆ จะสัมผัสได้ และเขาน่าจะอยากเรียนกับเรามากขึ้น” ครูกิ๊ก ขยายความให้วงสานเสวนาได้รับฟัง

“โค้ชคุยกับครู คล้ายๆ กับโค้ชสร้าง Active Learning ให้กับครูก่อน ทั้งการปรับจิตใจใหม่ ทั้งการสร้างวิธีและทางเดินใหม่ แล้วพอคุณครูได้ทดลองเอาเรื่องที่เราคุยกันไปใช้อย่างเข้าใจ ความเข้าใจตัวนี้มันจะส่งต่อถึงเด็ก” 

“เพราะฉะนั้นสิ่งที่ขาดไปคือแรงบันดาลใจและความเข้าใจในความหมายที่แท้จริงว่า ร้อยกรองคืออะไรกันนะ พอเขาเข้าใจแล้ว เขาก็รู้ว่าเขาจะเล่นอะไรอย่างไรได้บ้าง” คุณครูใหม่ - วิมลศรี ศุษิลวรณ์ ผู้ทรงคุณวุฒิ กล่าวเสริมให้เห็นบทบาทของโค้ช
.
.
4.แค่พูดคุยกันในเรื่องราว ยังไม่ใช่การสานเสวนา  (เวทีที่ 4)

แค่พูดคุยกันในเรื่องราว ยังไม่ใช่การสานเสวนา.png

“Dialogue ในบทละครเป็นการสนทนาระหว่างคาแรกเตอร์กับคาแรกเตอร์ ไม่ใช่ว่ามีแค่การพูดกันแล้วจะเรียกว่าเป็น Dialogue ได้นะครับ” คุณครูปาด - ศีลวัต ศุษิลวรณ์ ผู้ทรงคุณวุฒิ ชี้ให้เห็นจุดสังเกตการเรียนรู้ด้วยการสอนเสวนา

“คาแรกเตอร์กับคาแรกเตอร์ปฏิสัมพันธ์กัน พูดง่ายๆ ว่าตัวตนกับตัวตนปฏิสัมพันธ์กัน ทีนี้ ถ้าเราจะให้ Dialogue ในการเรียนรู้ก่อให้เกิดการเรียนรู้ที่สูง ต้องเอาส่วนที่เป็นคาแรกเตอร์กับคาแรกเตอร์เจอกัน”

“เป็นคาแรกเตอร์กับคาแรกเตอร์มาสนทนาแล้วเกิดพลวัต เกิดการเปลี่ยนแปลงของคาแรกเตอร์ทั้งคู่ไปบนเส้นทางของ Dialogue” 

“ผมมองว่าในทางการศึกษาก็คล้ายกับทฤษฎีทางละครเหมือนกัน คือถ้าเราให้การสนทนานั้นนำไปสู่คาแรกเตอร์ของเด็กแต่ละคน รวมทั้งของคุณครูด้วย ที่มีความแตกต่าง”

“ถ้าการสนทนานั้นนำไปสู่คาแรกเตอร์ซึ่งมีความแตกต่างกันทางความรู้สึก ทางเจตนารมณ์ ทางความเชื่อ ทางความรู้ ความคิด และความเห็น แล้วความแตกต่างเหล่านั้นเกิดการปะทะประสานกัน ไปสู่การเปลี่ยนแปลงของทั้ง 2 ฝ่าย หรือหลายฝ่ายก็แล้วแต่ ผมคิดว่าหัวใจของ Dialogue หมายถึงสิ่งนี้ Dialogue เป็นแค่สะพานที่ทำให้คาแรกเตอร์กับคาแรกเตอร์เกิดการปะทะประสาน และเกิดพลวัต ถ้าในทางการศึกษาก็เกิด Dynamic ในทางที่ดี ในทางที่พัฒนา” คุณครูศีลวัต กล่าวสรุปหัวใจของการสานเสวนา
.
.
5.ปลอดภัยในการแสดงตัวตน จุดเริ่มของการเป็นเจ้าของการเรียนรู้ (เวทีที่ 4)

ปลอดภัยในการแสดงตัวตน จุดเริ่มของการเป็นเจ้าของการเรียนรู้.png

“จุดแรกคือคุณครูต้องให้เด็กเขารู้สึกปลอดภัย และครูมีทั้งทักษะและความเคยชินที่จะคลี่คลายคาแรกเตอร์ของแต่ละคน ทั้งความเชื่อ ความเห็น ความรู้สึก ความคิด ความรู้ ให้เขาค่อยๆ ลำเลียงสิ่งเหล่านี้ออกมาแล้วปะทะประสานกัน คุณครูจะเห็นพลวัตเกิดขึ้นกับตัวเด็ก” 

“ถ้าเราสังเกตดีๆ ตรงนั้นคือจุดที่สำคัญที่ความเป็นเจ้าของการเรียนรู้ (Ownership) ทั้งหมดจะกลายเป็นของเขา และพลังงานในการขับเคลื่อนทั้งหมดจะเป็นของเขา ให้ตัวนี้หมุนไปอย่างมั่นคงก่อน แล้วหลังจากนั้นเราจะใช้คำถามหรืออะไรขับเคลื่อนไปสู่นวัตกรรมก็ได้ แต่ว่าจุดตรงนี้ผมคิดว่าต้องเอาให้อยู่ก่อน” คุณครูปาด - ศีลวัต ศุษิลวรณ์ ผู้ทรงคุณวุฒิ เสนอแนวทางการสร้างบรรยากาศให้เกิดการสานเสวนา
.
.
6.ให้เวลาในการใช้ตัวตนเพื่อเกิดการเรียนรู้ที่แท้จริง (เวทีที่ 4)

ให้เวลาในการใช้ตัวตนเพื่อเกิดการเรียนรู้ที่แท้จริง.png

“ผมคิดว่าข้อเรียนรู้เพื่อที่ครูจะนำไปปฏิบัติกับนักเรียนในการตั้งวงสานเสวนา Dialogue ของนักเรียนก็คือว่าครูต้องเรียกว่าใจเย็นๆ” ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ผู้ทรงคุณวุฒิ แลกเปลี่ยนกับวงสานเสวนาเพื่อพัฒนาครู

“ต้องมีเวลาพอสมควรที่จะให้เด็กเขาได้ปล่อยความเป็นตัวตนที่แท้จริงของเขาออกมา มีปฏิสัมพันธ์กัน คือไม่พยายามที่จะลากหรือจูงเข้าไปสู่ข้อสรุปหรือคำตอบใดคำตอบหนึ่งอย่างรวดเร็ว ผมว่าตรงนี้สำคัญนะ” 

“คือในวงการศึกษา โดยเฉพาะในวงการศึกษาไทยนี้ เรามักจะมีเป้าหมายว่าให้เด็กได้เรียนรู้อันนี้ แล้วก็พยายามที่จะลากเข้าสู่ข้อสรุปเพื่อให้เด็กได้เรียนรู้ตรงนั้นอย่างเร็ว แล้วเด็กไม่ได้เห็นคุณค่าของการเข้าใจความต่าง ที่ครูปาดบอกว่าความคิด ความเชื่อ ความรู้ ความเห็น เจตนารมณ์ ที่ต่างกัน ปฏิสัมพันธ์กัน ผมคิดว่าเด็กไทยมีโอกาสน้อย เนื่องจากว่าวงการศึกษาเราก็ไม่คุ้นกับการใช้ Dialogue” 

“เรามุ่งเป้าเร็ว มุ่งเป้าเพื่อให้เกิดการเรียนรู้เร็ว ตัวเร่งตัวหนึ่งคือว่าปีการศึกษาหนึ่งต้องสอนให้จบตามเป้าหมายนั้น - นี้ อันนี้ที่ผมคิดว่าเป็นหัวใจสำคัญเลยของการศึกษา”
.
.
7.ให้ความหลากหลายของคาแรกเตอร์หลั่งไหลเข้าหากัน (เวทีที่ 4)

ให้ความหลากหลายของคาแรกเตอร์หลั่งไหลเข้าหากัน.png

“ตอนนี้เราพบว่า เด็กมีความรู้ไม่เท่ากัน มีประเภทรู้บ้าง กลุ่มที่ไม่รู้ อาจจะแยกได้อีก ถ้าเราเปิดเกมโดยการให้เด็กสงสัย เอาของมาวางไว้เลย แล้วก็ให้เด็กแต่ละคนเขียนข้อสงสัยของตัวเองลงในกระดาษ สงสัยแม้กระทั่งว่าวันนี้คุณครูจะทำอะไรก็ได้ แล้วจากนั้นก็เอาความสงสัยนี้มาถามกัน แล้วคุณครูลองให้เด็กเขาตอบกันเอง คนหนึ่งถาม คนหนึ่งตอบ ถ้าเราสังเกตไปเรื่อยๆ ระหว่างที่เด็กถามกับตอบกันนี้ คุณครูจะเริ่มมองเห็นความแตกต่างมากขึ้น”

“ที่ผมพูดเอาไว้คราวก่อนๆ คือ Divergent (แตกขยายออก) กับ Convergent (ขมวดรวม) ช่วงแรกเราก็ให้เด็กถามตอบกันโดยที่เราขับเคลื่อนไปให้แตกขยายออกให้เยอะ เพื่อที่จะลองดูว่าต่างกันเยอะแค่ไหน หลากหลายอย่างไร มีข้อขัดแย้งกันไหม”

“พอเราเห็นภาพเหล่านี้ เราก็เริ่มที่จะขมวดรวม เช่น เลือกให้โจทย์ว่าสุดท้ายเราอยากได้ความรู้อะไรชุดหนึ่งหรือผลิตภัณฑ์อะไรชุดหนึ่ง อย่างนี้ เป็นต้น เด็กจะเริ่มเอาความหลากหลาย ความแตกต่างเข้ามาแก้ไขโจทย์” 

“ให้แตกขยายออก คุณครูจะเริ่มเห็นความรู้อีกมากมายซึ่งเด็กกลุ่มที่เคยรู้นี้ อาจจะไม่รู้ เด็กกลุ่มซึ่งดูเหมือนแรกเริ่มจะไม่รู้อาจจะมีความรู้อื่น แล้วคุณครูจะเริ่มเห็นสิ่งเหล่านี้มาปะทะประสานกัน เราก็พยายามที่จะเป็นโค้ช ซึ่งคอยดูแลให้ความขัดแย้ง ความหลากหลายพวกนี้ดำเนินไปแบบสร้างสรรค์ในระดับที่เหมาะสม” คุณครูปาด-ศีลวัต ศุษิลวรณ์ เสนอสร้างการเรียนรู้โดยการใช้หลักการ Divergent และConvergent
.
.
8.เราจะเห็นตัวตนในการสานเสวนาเมื่อต่างฝ่ายได้แสดงความคิด (เวทีที่ 4)

เราจะเห็นตัวตนในการสานเสวนาเมื่อต่างฝ่ายได้แสดงความคิด.png

“ก็เห็นได้ว่ามีความต่างมากเลยนะ จากที่ครูถามแล้วเด็กตอบเฉพาะสิ่งที่ครูถาม มาสู่การที่เด็กเป็นคนถืองานทั้งหมดเลย อันนี้ภาพจะเปลี่ยนไป ครูแบงก์ (ภิญโญ เสาร์วันดี) ก็จะเห็นว่า Flow ดี ถึงแม้ว่าจะแบบเด็กๆ แต่ว่าเราเห็นแล้ว Flow ของเด็กทำให้ครูแบงก์เป็นอิสระที่จะมองเด็กได้ยาวๆ แล้วบันทึกไว้ไหมว่าครูแบงก์ได้เห็นอะไรจากเด็กคนไหนบ้าง” 

“วิธีที่ Reggio บันทึก ตรงไหนที่เป็นคำ ที่เป็นคีย์เวิร์ดสำคัญของเด็ก เขาก็จะเก็บไว้ทั้งหมดเลย ดูซิว่าคีย์เวิร์ดพวกนั้น จริงๆ แล้วเด็กคิดอะไรอยู่ อันนี้จะเห็นว่าถ้ามองในมุมของ Flow คือการไหลของการที่เด็กเป็นเจ้าของวงสนทนา”

“ถ้าคุณครูทุกท่านอยากจะเห็น Dialogue ที่ชัดๆ ต้องเลี่ยงช่วงที่เด็กมารายงานและประมวลและเรียบเรียง ช่วงการรายงาน รวบรวม เรียบเรียงนี้ โอกาสจะให้เห็น Dialogue ที่เกิดพลวัตระหว่างคาแรกเตอร์กับคาแรกเตอร์จะมีน้อย”

“ตอนที่เด็กเอาข้อมูลซึ่งเรียบเรียงแล้วมาจัดจำแนกเป็นหมวดเป็นหมู่ เขียนเป็นผัง Mind Map เป็น Diagram เป็น Flowchart ตอนจะมาสร้าง Flowchart ว่าภาคสนามจะทำอย่างไร เริ่มอย่างไร ใครอย่างไร แบ่งงานอย่างไร เป้าหมายเป็นอย่างไร จะทำภาคสนามอย่างไรเพื่อให้ได้ผลลัพธ์สูงสุด ตอนนี้ล่ะที่เราจะเห็น Debate ตอนที่เด็กเอาข้อมูลแล้วมาช่วยกันคิด  Design ภาคสนามให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุดในเวลาอันจำกัด เราจะเห็นในความแตกต่างที่จะปะทะประสานกันนะครับ” คุณครูปาด - ศีลวัต ศุษิลวรณ์ ผู้ทรงคุณวุฒิ ชวนให้เห็นโอกาสและจังหวะในการสร้างการสานเสวนาระหว่างผู้เรียนด้วยกัน
.
.
9.Creative Thinking จากวงสอนเสวนา (เวทีที่ 4)

Creative Thinking จากวงสอนเสวนา.png

 “เรื่องวง Dialogue ที่จะช่วยกระตุ้นเด็กไทยให้มีความคิดและกล้าคิด กล้าพูด ในสิ่งที่แตกต่างออกมา ตรงนี้สำคัญนะ”

“ผมคิดว่าวงการศึกษาไทยน่าจะพยายามที่จะช่วยกันคิด ช่วยกันหาวิธี คือพยายามอย่าให้เด็กและครู รีบหาข้อสรุป แต่ว่าช่วยกันหามุมมองที่แตกต่าง”

“คือพอเด็กเห็นไซ ครูก็ Facilitate ว่า ตอนนี้เราช่วยกันตั้งคำถาม ช่วยกันตั้งข้อสงสัยซิ ใครคิดข้อสงสัยอะไรบ้าง ตอนนี้สงสัยก่อนนะ ยังไม่มีคำตอบนะ เอาแค่สงสัยก่อน อย่างนี้ก็จะ Divergent อย่างเป็นธรรมชาติ ข้อสงสัยนี้อาจจะสงสัยแบบที่มีคำตอบอยู่ในนั้นด้วย”

“เอ๊ะอย่างนั้น เอ๊ะอย่างนี้ เอ๊ะอย่างโน้น อย่างนี้จะทำให้เด็กกล้าคิดแตกต่างกันออกไป แล้วพอหลังจากนั้นเราจะหาคำตอบแล้ว ใครจะตอบคำถามไหนบ้าง ใครจะตอบข้อสงสัยไหนบ้าง ใครมีแนวความคิด มีข้อมูลหลักฐาน เคยเห็นอะไรอย่างไร ช่วยๆ กันตอบ อันนี้จะเป็น Convergent ทั้งหมดนี้เป็นกระบวนการของ Creative Thinking หรือ Creativity คือ ความคิดสร้างสรรค์ อันนี้เป็นหัวใจซึ่งสำคัญมากของโลกสมัยใหม่” 

“มนุษย์เราที่จะมีชีวิตต่อไปข้างหน้าในอนาคต การฝึกตรงนี้มีคุณค่าอย่างยิ่งต่อชีวิตเขาข้างหน้า ผมคิดว่าที่เรากำลังคุยกันนี้ ผมว่าสำคัญมากนะครับ” ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ผู้ทรงคุณวุฒิ ชี้ให้เห็นความสำคัญของการสร้างความคิดสร้างสรรค์ผ่านการสอนเสวนา
.
.
10.ชาดก เรื่องยากที่นักเรียนควรได้เรียนรู้ (เวทีที่ 4)

ชาดก เรื่องยากที่นักเรียนควรได้เรียนรู้.png

คุณครูปาด - ศีลวัต ศุษิลวรณ์ ได้ชวนให้เห็นโอกาสในการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นจากการเลือกชาดกขึ้นมาให้เป็นหัวข้อเรียนรู้ ไว้ว่าเป็นเรื่องที่ช่วยให้เด็กมีทักษะในการเผชิญกับคำถามที่เป็น Big Question ซึ่งพบได้ในชีวิตจริง

การถกกันว่าอะไรจริง อะไรไม่จริง อะไรดี อะไรไม่ดี แล้วอะไรงาม อะไรไม่งาม 3 สิ่งนี้เรียกว่า Virtue แล้วเป็นข้อ Debate อมตะ นิรันกาลของวิชาปรัชญา ในวิชาปรัชญาเรียกคำถามพวกนี้ว่า ‘Big Question’

ชาดกนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของ Big Question ตั้งแต่อดีต เราหยิบเรื่อง Virtue ที่ยิ่งใหญ่ ดังนั้นต้องไปให้ถึงครับ คำถามประเภทว่าความดีคืออะไร ความไม่ดีคืออะไร ความจริงคืออะไร ไม่จริงคืออะไร งามเป็นอย่างไร ไม่งามเป็นอย่างไร เด็กจะได้เรียนรู้ที่จะเข้าถึงว่า Big Question เป็นอย่างไร

วิธีที่อารยธรรมบนโลกนี้ใช้กับ Big Question จะมีอยู่ 2 แบบ แบบหนึ่ง คือทิ้งชายไปเลย  Never Ending กับอีกแบบหนึ่งจะพูดถึงการปฏิบัติที่จะนำไปสู่ความเข้าใจในอีกชนิดหนึ่ง โดยส่วนตัวผม คิดว่า Big Question ใช้ได้กับเด็ก ไม่จำเป็นจะต้องเป็นของผู้ใหญ่ ยิ่งเรื่องชาดกด้วย

อยากเชียร์คุณครูทุกท่านว่า Big Question ใช้ได้กับเด็กในบริบทและคำศัพท์ที่เหมาะสม ใช้ได้ เด็กเล็กๆ ยังถามบ่อยไปว่า เกิดมาทำไม ตายแล้วไปไหน Big Question ทั้งนั้นเลย
.
.
.

รับชมวิดีโอเวทีสานเสวนาเพื่อพัฒนาครูครั้งที่ 1 Click

 

รับชมวิดีโอเวทีสานเสวนาเพื่พัฒนาครูครั้งที่ 2 Click

รับชมวิดีโอเวทีสานเสวนาเพื่พัฒนาครูครั้งที่ 3 Click

รับชมวิดีโอเวทีสานเสวนาเพื่พัฒนาครูครั้งที่ 4 Click

โครงการสานเสวนาเพื่อพัฒนาครู
สอนเสวนาสู่การเรียนรู้เชิงรุก
สอนเสวนา
Dialogue
Dialogic Teaching
156213908_1856319284535586_7967657720299606802_n
นักเขียน
WinWin
อยากให้เรื่องการศึกษา...เข้าใจง่าย
แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน
profile
กรุณา Login ก่อน comment